พัฒนากรุงเทพฯ ยังไง ให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากย้ายประเทศหนี

พัฒนากรุงเทพฯ ยังไง ให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากย้ายประเทศหนี

ภาพ : ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์

เริ่มแรกถ้าเราพูดถึงเด็กและเยาวชนสิ่งที่เราจะคิดถึงคือกลุ่มวัยที่ มี energy เยอะ มีความฝัน มีความที่อยากจะทดลองอะไรใหม่ ๆ จากตัวตนของตัวเอง อยากส่งเสียงตัวเองออกมาดัง ๆ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาไปไม่ถึง หรือยังเป็นข้อจำกัดคือเรื่องทุน นั่นส่งผลให้คนเหล่านี้ ถ้าอยากจะเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเองคงเป็นเรื่องยาก อย่างถ้าอยากจะไปพบปะกับเพื่อน ไปอ่านหนังสือ หลายคนตอนนี้ต้องหันไปพึ่งคาเฟ่ ที่มีค่าใช้จ่าย จะเล่นกีฬาหรือเล่นดนตรีก็ต้องไปจ่ายค่าเช่าสถานที่ อุปกรณ์  การที่จะเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับพวกเขา

“ปัญหาหลายอย่างในการแก้ปัญหาของเมือง มีประเด็นหลายอย่างที่สำหรับผู้ใหญ่แล้ว นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล แต่สำหรับเด็กเป็นปัญหาใหญ่”

อชิระ ศิริมงคลเกษม กลุ่มริทัศน์บางกอก ตัวแทนคนรุ่นใหม่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้อีกสิ่งที่ทำให้เป็นข้อจำกัดของการเข้าใช้พื้นที่ คือกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยซอยตันเยอะ และระบบขนส่งที่ไม่ได้ครอบคลุมมาก นั่นก็ยิ่งสร้างความยากในการจะเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว  ทำให้เด็กหลาย ๆ คน ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางสังคมได้มากเท่าที่ควร ทั้งที่เมืองมีศักยภาพทำได้

“พวกเราหลายคนรู้สึกหมดหวัง และท้อแท้กับอนาคตของตัวเองในกรุงเทพฯ อยากจะย้ายประเทศไปอยู่ที่อื่น ที่ที่มั่นใจว่าจะสามารถเปิดโอกาสให้เขาได้ทำตามฝันของตัวเอง”

อชิระ ศิริมงคลเกษม กลุ่มริทัศน์บางกอก ตัวแทนคนรุ่นใหม่กรุงเทพฯ

คำถามถึง (ว่าที่) ผู้ว่ากรุงเทพฯ

ผู้สมัครแต่ละท่านจะมีนโยบายหรือว่ากลไกอะไรที่จะสามารถทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ และมีความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นเมืองที่ทำให้รู้สึกว่ามีอนาคตและเติบโตได้ ทั้งเชิงกายภาพของเมือง ความสัมพันธ์ทางสังคม โอกาสทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความมั่นคงทางด้านสุขภาพจิต

วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ | อิสระ หมายเลข 5

กรุงเทพต้องเป็นเมือง smart city นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากร ผมเห็นว่าจุดเด่นของกรุงเทพ คือเป็นเมืองของการท่องเที่ยว street foods เอานโยบายส่วนนี้เข้ามา ส่วนเด็ก ๆ จะมีส่วนร่วมยังไง ผมอยากเสนอให้เด็ก ๆ ไปฝึกงานกับทางบริษัทเอกชนที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ จะได้มีเงินใช้

กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมือง smart people การพัฒนาการเรียนรู้ ผมจะมีนโยบายเรื่องของโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่อยากให้เด็กเดินทางไกล และใช้สื่อดิจิทัลมาประยุกต์ในการเรียนการสอน ซึ่งข้อดีของมันก็คือ คุณจะมาเรียนเมื่อไรก็ได้ ต่อให้คุณไม่ได้เลือกเรียนสายวิทย์ หรือสายศิลป์ เมื่อคุณอยากเรียนรู้ คุณแค่เข้าไปในระบบก็สามารถที่จะเรียนได้แล้ว

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ | พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4

ต้องเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ให้เป็นต้นแบบของอาเซียน พี่จะเริ่มต้นด้วยสวัสดิการ เพราะสวัสดิการที่มีอยู่ต่อให้มันฟรี ต่อให้มันมันราคาถูก แต่คุณภาพมันไม่ได้ บ้านอื่นเมืองอื่นที่เขาพัฒนาแล้ว เขาเริ่มต้นจากคน ให้คนได้ยืนเท่ากันก่อน ทั้งเรื่องสาธารณะสุข เรื่องการศึกษา (โรงเรียนดี ใกล้บ้าน) และเรื่องที่เน้นคือเรื่องอินเตอร์เน็ตฟรี เพราะคนรุ่นใหม่หาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตและให้เข้าถึงธุรกิจ  และเรื่องกายภาพ พี่ก็ตั้งใจอยากจะเปลี่ยนให้เป็นมาตรฐานสากล

น.ต. ศิธา ทิวารี | พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11

เราจะเป็นนั่งร้านให้กับคนรุ่นใหม่ เราจะมาพัฒนาร่วมกันสร้างการพัฒนาให้กับประเทศไทย สิ่งที่ผมจะทำ คือกรุงเทพฯ แซนด์บ็อก เราจะทำ New economy hub เราต้องเป็นสมาร์ทซิตี้ เราจะใช้องค์กรที่อยู่ในกทม. อย่างกรุงเทพฯ ธนาคม สร้างโอกาสให้คนกรุงเทพ ทำเป็นสตาร์ทอัพ สนับสนุนในเรื่องสินทรัพย์แบบดิจิทัล กรุงเทพจะต้องเป็นเมือง Crypto Friendly City

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง | อิสระ หมายเลข 6

เราจะเปิดช่องทางสำหรับคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น ทั้งในสวนสาธารณะหรือสื่อสาธารณะต่าง ๆ เราจะมี “สภาออนไลน์ของคนรุ่นใหม่” ที่จะมาร่วมสื่อสารกับเรา ซึ่งตอนนี้เราก็ได้มีการรวมคนรุ่นใหม่ในมุมมองต่าง ๆ ไว้บ้างแล้ว เราจะเปิดโอกาสให้เขามาร่วมออกแบบนโยบายกับเรา และร่วมเป็นผู้บริหารกรุงเทพฯ กับเรา

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร | พรรคก้าวไกล หมายเลข 1

เป้าหมายสำคัญสูงสุดของเราคือ เราต้องการให้คนเมืองนี้ เมื่อหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือเพิ่มขึ้น ทำไมเราถึงต้องพูดสวัสดิการ เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม คนที่มีสวัสดิการดีขึ้น กำลังซื้อมากขึ้น ก็จะกล้าซื้อมากขึ้น เมืองที่มีกำลังซื้อก็จะเป็นเมืองที่น่าลงทุน และเมืองที่น่าลงทุนก็จะเกิดธุรกิจใหม่ ๆ เกิดการจ้างงานใหม่ ๆ คนทุกคนที่อยู่ในเมืองก็จะมีโอกาสในการตั้งตัว มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากความยากจนเสมอภาคกัน

ฟังเต็ม ๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/3188835661350295/

“ถ้าเป็นแบบนี้ได้จริง ๆ ความอยากย้ายปะเทศก็น้อยลงครับ สุดท้ายเมืองที่เด็กสามารถอยู่ได้แล้วรู้สึกดี และปลอดภัยก็จะไม่ได้ส่งผลดีแค่เด็กอย่างเดียว แต่มันรวม ๆ ไปทุกกลุ่มในเมืองหลวงของประเทศไทยที่อยากมาตามหาฝัน”

อชิระ ศิริมงคลเกษม กลุ่มริทัศน์บางกอก ตัวแทนคนรุ่นใหม่กรุงเทพฯ

เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ New Voter ที่มีอายุตั้งแต่ 18-27 ปี มีมากถึง 7 แสนเสียง ที่คิดเป็น 15.48% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในกรุงเทพฯ น่าสนใจว่าคนกลุ่มนี้เขามองกรุงเทพยังไง และอยากเปลี่ยนเมืองหลวงไปในทิศทางไหน เพราะสำคัญที่สุด นั่นคือชีวิตของพวกเขาที่ในวันนี้พอจะมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง

ข้อมูล : Bangkok Active ฟังเสียงกรุงเทพฯ #เมืองน่าอยู่ (7 เม.ย. 65)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ