เรียนออนไลน์ ไร้ปฏิสัมพันธ์ เด็กเสี่ยงโตตามลำพัง สร้างความไม่เท่าเทียมระยะยาว

เรียนออนไลน์ ไร้ปฏิสัมพันธ์ เด็กเสี่ยงโตตามลำพัง สร้างความไม่เท่าเทียมระยะยาว

มากกว่า 2 ปี ที่โรงเรียนในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ในขณะที่ครอบครัวขาดความพร้อมสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงต้องเผชิญ ภาวะยากลำบากตามลำพัง และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในอนาคต จำเป็นต้องมีแผนการรองรับ ในปีการศึกษา 2565 ที่กำลังจะมาถึง

“แม่มาขอให้ลูกเรียนซ้ำชั้น บอกว่าปีนี้ไม่เรียนได้ไหม ค่อยไปเรียนซ้ำชั้นปีหน้า เพราะทั้งเทอมที่เรียนออนไลน์ ลูกไม่เรียนเลยสักวิชา แม่ซื้ออินเตอร์เน็ต ซื้อมือถือให้ คิดว่าลูกอยู่บ้านจะเรียนหนังสือ มารู้ทีหลังว่า ลูกนอนตื่นสายตลอด กลางวันก็เล่นเกม แม่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร จำเป็นต้องออกไปทำงานทุกวัน และที่บ้านไม่มีใคร เด็กอยู่กับแม่สองคน”

สาธิต วรรณพบ อาจารย์ที่ปรึกษาระดับชั้นมัธยม 1 สะท้อนสถานการณ์ปัญหา สอดคล้องกับความเห็นของ นพสโรชา สุขทองแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและงบประมาณ ที่สรุปจากข้อมูลของโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอว่า

“ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เด็กชั้น ม.1 มีปัญหามากที่สุดโดยเปรียบเทียบกับชั้นอื่นๆ เป็นกลุ่มที่ยากลำบากมาก เพราะเขาต้องก้าวข้ามจากเด็กเล็กเป็นเด็กโต จากเด็ก ป.6 พอขึ้นมัธยมผู้ปกครองก็คาดหมายให้เขาโต รับผิดชอบตัวเองได้  ซึ่งถ้าเขามาโรงเรียนก็จะได้พัฒนาไปพร้อมกับเพื่อน ๆ มีครูช่วยเหลือ มีรุ่นพี่ แต่การเรียนออนไลน์หมายถึงเขาต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองในทุกเรื่อง ทั้งการเรียน เรื่องความปลอดภัยของตัวเอง และอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะสามารถทำได้ หรืออยู่ในครอบครัว ที่มีความพร้อมให้ความช่วยเหลือ”

ระยะเวลา 2 ปี สำหรับเด็กต่างจากผู้ใหญ่ เพราะเด็กอยู่ในช่วงวัยการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจและสมอง ต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา รายงานการสำรวจขององค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กและเยาวชนในสถานการณ์โควิดมีความเครียด วิตกกังวล และอยู่ในภาวะเสี่ยง ต้องการการดูแลใกล้ชิด จากผู้ใหญ่ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุน

ในปีการศึกษา 2563  สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 ภายในจังหวัดไม่รุนแรงโรงเรียนสามารถเปิดเรียนเป็นระยะ สลับกับการเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีปัญหา ต่างกับปีการศึกษา 2564 ที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ตลอดเทอมที่ 1 ส่งผลให้เด็กอยู่บ้านยาวนาน ต่อเนื่องจากช่วงปิดเทอม

“ตอนชั้น ป.6 เขายังเป็นเด็กประถม ปิดเทอม ก็นอนตื่นสาย ออกไปไหนไม่ได้มาก ก็เล่นเกม พอเปิดเทอมขึ้น ม.1 เรียนออนไลน์ เขายังไม่ได้ปรับพฤติกรรม ไม่สามารถรับผิดชอบตัวเอง ส่วนผู้ปกครอง เจอปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีเวลาดูแล หรือมองว่าลูกโตแล้ว ดูแลตัวเองได้ ทำให้เด็กส่วนหนึ่งต้องอยู่บ้านคนเดียว ในขณะที่เด็กบางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เปิดเทอมแล้วพ่อแม่เห็นไม่ไปโรงเรียนก็ใช้งาน กรีดยาง เก็บขี้ยางบ้าง ใช้งานบ้าน หรืออื่น ๆ เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียน”

วรอิศรา พรหมภัทร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ แห่งนี้ นักเรียนสองพันคนเศษมีพื้นฐานหลากหลาย และมีนักเรียนมากกว่าครึ่งที่พ่อกับแม่แยกกันอยู่ หรือต้องพักอยู่กับญาติ

“ส่วนใหญ่เด็กถ้าไม่อยู่กับพ่อหรือแม่ ก็จะอยู่กับย่า ยาย หรือญาติผู้ใหญ่ ซึ่งไม่อยู่ในภาวะที่จะติดตาม ดูแลเด็กวัยรุ่นได้ อย่างเด็กช่วงมัธยม 2 ที่จะมีประเด็นเรื่องชู้สาวตามวัย อยู่ในโรงเรียนครูก็จะช่วยดูแล มีการวางระบบ ตรวจตราบริเวณโรงเรียน ดูแลความปลอดภัยของนักเรียน รวมถึงปัญหายาเสพติดและอื่นๆ” 

รายงานข่าวจากชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) โดยเบนาร์นิวส์ ระบุว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กออนไลน์ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดการระบาดของโควิด 

สำหรับประเด็นนี้ รองผู้อำนวยการฝ่านบริหารเล่าว่า ยังไม่พบปัญหานี้ในโรงเรียน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สามารถสรุปได้ว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเด็กอยู่กับบ้านครูไม่สามารถทราบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง ต่างจากเวลาเด็กมาโรงเรียน ซึ่งเคยมีกรณีเด็กประสบปัญหาถูกข่มขู่ผ่านพื้นที่ออนไลน์ และขอ ความช่วยเหลือจากครู จนสามารถแก้ไขปัญหาได้ 

“เขาไม่ได้บอกพ่อแม่ แต่เขาบอกกับครู เพราะเขาวางใจและเชื่อว่าครูจะช่วยเขาได้”

ในประเด็นนี้ สาธิตให้ความเห็นในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาในทางเดียวกันว่า ความวางใจระหว่าง ครูกับเด็ก เป็นเรื่องสำคัญ แต่การเรียนออนไลน์ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน “เวลาสอนในชั้นเรียนเราสังเกตเขา เขาก็สังเกตเรา ครูคนนี้เป็นอย่างไร ต่างก็เรียนรู้กัน อย่างเด็กที่แม่จะให้ซ้ำชั้น ตอนเรียนออนไลน์ครูจะพูดอะไรก็ลำบาก ได้แต่บอกให้แม่ใจเย็น ๆ พอเทอม 2 โรงเรียนเปิดโดยแบ่งนักเรียนเป็น 2 ชุดสลับกันมาเรียน ครูกับเด็กก็ได้เจอกัน ทำให้เขามีความวางใจ เราก็ตกลงกับแม่เด็ก ให้เขาปรับ mindset (วิธีคิด) ก่อน ให้เปลี่ยนมุมมอง พยายามทำความเข้าใจลูก แทนการดุด่าว่ากล่าว ครูก็ช่วยหาวิธีการ เช่น ตอนเย็นก็โทรหาชวนคุยว่า วันนี้ลูกเรียนอะไรบ้าง เล่าให้ครูฟังหน่อย ไม่ให้เขารู้สึกว่าเขาถูกควบคุม ก็สามารถผ่านปีนี้ไปได้ในที่สุด”

“เด็กบางคนที่เขามีเป้าหมายชัดเจน เขาสามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนออนไลน์เลือกเรียนสิ่งที่ ตอบเป้าหมายเขา อย่างเด็กรุ่นก่อนหน้าเขามีเป้าหมายว่า จะสอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม ที่กรุงเทพให้ได้ เขาก็ใช้เวลาไปเรียนสิ่งที่เขาต้องใช้สอบเข้า ส่วนที่เรียนออนไลน์กับโรงเรียน เขาก็เรียนแค่พอผ่าน สุดท้ายเขาสอบเข้าได้ ทั้งที่เกรดแค่สองกว่า ๆ แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีความชัดเจน ครูต้องช่วยให้เขาเข้าใจว่า เรียนไปทำไม ถ้าเด็กตอบตัวเองตรงนี้ไม่ได้ เขาก็ไม่อยากเรียน” 

ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องยากลำบาก สำหรับเด็ก ม.1  ที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยว ด้วยหตุที่ต้องออกจาก สายสัมพันธ์ในโรงเรียนเดิม แต่ยังไม่สามารถเริ่มต้นสร้างสายสัมพันธ์ใหม่กับครูและเพื่อนในโรงเรียนใหม่ อีกทั้งไม่มีครอบครัวรองรับ ในทัศนะของสาธิต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในการเรียนออนไลน์ คือปฏิสัมพันธ์ ระหว่างครูกับนักเรียน และเด็กกับเพื่อนๆ ที่ส่งผลอย่างสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สอดคล้องกับ ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่พบว่า กลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทุนทางสังคม น้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า และความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มนี้ก็น้อยกว่า หากปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก 

นักเรียนชั้นประถม 6 และมัธยม 3 จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลตรงกันว่า พวกเขาเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจ “ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเลยสักนิด” บางคนบอกว่าส่วนใหญ่ก็จะเข้ารายงานตัวออนไลน์แล้วออกไปเล่นเกม ทั้งหมดไม่ชอบเรียนออนไลน์ เหตุผลก็คือ เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย “เวลาเรียนที่บ้าน พ่อแม่ก็จะเรียกใช้ตลอดเวลา เหมือนเขามองว่าเราว่างไม่ได้ไปโรงเรียน”

ในขณะที่ผู้ปกครองยอมรับว่า ตนเองไม่มีเวลาและมีปัญหาด้านเศรษฐกิจรัดตัว มีความเครียดทำให้ไม่สามารถให้เวลากับลูกได้เต็มที่ ในขณะที่บางคนบอกว่า ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะช่วยเหลือลูก “พ่อแม่จะสอนได้อย่างไร แค่ ป.3 ยากแล้ว ภาษาอังกฤษไม่ต้องพูดถึงบางครั้งสอนการบ้านก็กลาย เป็นเรื่องทะเลาะกัน หรือสอนไปเด็กก็ไม่เชื่อ เขาเชื่อครู ” 

เกษม วรสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัด เทศบาล ที่มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 6 รวมกว่า 2,500 คน เล่าถึงปัญหาและสรุปว่า “ความยากจน คือปัญหาหลักของการเรียนออนไลน์ ไม่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ บางคนจะกินยังไม่มี โทรมาขอยืมเงิน เราก็ต้องให้ เพราะถ้าเขากล้าเอ่ยปาก หมายความว่าเขาลำบากจริงๆ”                 

โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอก็พบปัญหาเดียวกัน นพสโรชา รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและงบประมาณ เล่าว่า “ปีที่ผ่านมามีผู้ปกครองมาขอผ่อนกันค่าเทอมมากเป็นประวัติการ ทางโรงเรียนก็ลดหย่อน ค่าเทอมจาก 1,200 เหลือ 1,000 บาท และให้ผ่อนส่งได้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวพันกับ ธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อท่องเที่ยวชะงักลงก็ตกงาน ต้องหางานใหม่ ซึ่งก็หายาก”                                      

ด้าน จรีรัตน์ สามารถ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ให้รายละเอียดถึงแนวทางของโรงเรียน ที่พยายามให้การเรียนออนไลน์เกิดผลกระทบต่อเด็กน้อยที่สุดว่า “ครูยึดหลักสอนเต็มที่ สอนหลากหลาย และการวัดผลที่ยืดหยุ่นตามสภาพจริง เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนมาโรงเรียน เรียนหน้าจอโทรศัพท์ ก็เบื่อ ขาดสมาธิ ในห้องมีพื่อน มีครู มีปัญหาก็ช่วยกันถาม ไม่เหมือนออนไลน์ ครูตอบปัญหาได้ที่ละคน เด็กบางคนไม่เข้าใจก็ไม่อยากถาม ส่วนเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ ครูใช้วิธีนำเอกสารประกอบ การเรียนไปแจก”  ซึ่งการเรียนจากเอกสารก็จะยิ่งหวังผลยาก แต่ก็ดีกว่า “ไม่ได้เรียนเลย”        

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ปาจารีย์ สุวัตถิกุลในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวถึง แนวทางของโรงเรียนในการรับมือว่า “นอกจากสอนเต็มที่ ทันทีที่เปิดเรียน ในส่วนเด็กส่วนที่มีปัญหา เพราะความรู้พื้นฐานไม่พอ ก็จะมีการสอนเพิ่มเติมในช่วงปิดเทอมนี้ เพื่อให้เขาสามารถเรียนพร้อม กับเพื่อนในช่วงเปิดเทอม นอกจากนี้ครูจัดทำคลิปวิดิโอสำหรับนักเรียน ได้มาติดตามภายหลัง อีกทั้งโรงเรียนขยายจำนวนห้องเรียนเพิ่มชั้นละหนึ่งห้องเรียน เพื่อรองรับกลุ่มคนกลับคืนถิ่น นอกจากนี้ทางโรงเรียนก็พยายามหาทุนการศึกษา มาช่วยเด็กมากขึ้น และในปีนี้ทางภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ มีทุนมาสนับสนุนเด็กมากเป็นพิเศษ”                                                                                 

ในประเด็นเดียวกัน เกษม วรสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดเทศบาล ให้ความเห็นว่า“ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่อยากให้เรียนออนไลน์เพราะไม่ได้ผล เด็กไม่เรียน ผู้ปกครองเอาไม่อยู่  เด็กบางคนไม่เก่งทางด้านวิชาการ แต่เขามีจิตอาสามาก บางคนก็ถนัดเล่นดนตรี กีฬา มาโรงเรียนเขามีทางเลือกในการพัฒนาตัวเอง แต่โควิดก็เหมือนภาวะสงครามเราก็ต้องยืดหยุ่นเด็กที่เขาไม่มีความพร้อม เราต้องประคอง ค่อยมาเสริมมาเก็บตก ครูต้องรู้ให้หมดว่า เด็ก แต่ละคนมีปัญหาอะไร ซึ่งถ้าใส่ใจจริงๆก็แก้ได้ เด็กไม่ได้โง่ เราต้องหาว่าเขาพร่องตรงไหน ก็เติมให้ ปิดเทอมก็สอนเสริม เพราะครูยังรับเงินเดือนอยู่                                                                           

ประการสำคัญ ครูต้องไม่อาศัยสถานการณ์ ผลักเด็กขึ้นชั้น โดยไม่มีความรู้ อย่างนั้นเป็นบาปกรรม ถ้าปล่อยไปก็จะเป็นปัญหาในอนาคต อย่างเด็กเล็ก ถ้าอ่านไม่ออกเขาก็เรียนอย่างอื่นไม่ได้ กลายเป็นปัญหาในห้อง ไม่ก็หนีเรียน ก่อปัญหาอื่นๆ ในอนาคต” โดยนัยนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่มีต้นทุนทางสังคมต่ำ มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของคนในสังคม และส่งผลต่อเนื่องถึงความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมในระยะยาว                                                                                                                         

ในฐานะผู้บริหารที่เพิ่มจำนวนเด็กในโรงเรียนจากหนี่งพันเป็นสองพันคน ด้วยการเพิ่มคุณภาพ การเรียนการสอน พร้อมเปลี่ยนแปลงทรงผมและเครื่องแบบนักเรียน ที่เปิดโอกาสให้เด็กโรงเรียนเทศบาลซึ่งมักถูกมองว่าเป็นเด็ก ‘จนจน’ ได้ไว้ผมลองทรงและใส่ชุดนักเรียนผูกเน็คไท

“สุดท้าย ไม่อยากให้โควิดกลายเป็นข้ออ้าง ปัญหาหลาย ๆ อย่าง เป็นปัญหาที่มีอยู่แล้วแต่เดิม ที่เราจะต้องแก้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโควิดก็ตาม” 

เกษม วรสิทธิชัย ให้ความเห็นเพิ่มเติม

ในแง่มุมนี้การปิดโรงเรียนช่วง การระบาดของโควิด 19 แสดงให้เห็นชัดเจนถึง สภาวะของเด็กในสังคมไทย ที่ต้องพัฒนาตนภายใต้ภาวะที่ สถาบันครอบครัว ขาดความเข้มแข็ง เหลือเพียงโรงเรียนเป็นที่มั่นสุดท้าย

ข้อมูลอ้างอิง

ยูนิเซฟเผยผลกระทบโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย พบเยาวชน 8 ใน 10 คนเครียดด้านปัญหาการเงินของครอบครัวมากที่สุด

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก

ประเทศไทย : คดีละเมิดทางเพศต่อเด็กเพิ่มเป็นสองเท่า ช่วงระบาดโควิด

ผู้เขียน สุพิตา เริงจิต รายงานข่าวชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Internews’ Earth Journalism Network.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ