วันนี้ 1 เม.ย. 2565 ตัวแทนสภาพลเมืองและสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ เข้าพบนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามทวงถามความคืบหน้าในการชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีต้นยางนาบนถนนเชียงใหม่-ลำพูนล้มทับทรัพยสินของประชาชนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา และการดำเนินงานตามแผนระยะสั้น กลาง ยาวที่อบจ. หลังจากการเปิดสภาพลเมืองเชียงใหม่ “วิกฤตยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูน : จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564
นางศรีเพชร ณ เชียงใหม่ ตัวแทนสมาคมยางนาขี้เหล็ก-สยาม กล่าวว่า ตนอยากขอปรึกษากับทุกฝ่าย เพราะพายุฤดูร้อนกำลังจะมาถึง หากมีกิ่งแห้ง กิ่งเสี่ยง ทางอบจ.ได้เตรียมการ และจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเพื่อรองรับอย่างไร ซึ่งชาวบ้านที่อยู่กับต้นยางที่มีความกังวล ก็สำรวจและร้องเรียนกันในไลน์กลุ่มอยู่ตลอด แม้จะแจ้งไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ แต่ก็ได้รับการตอบสนองที่แตกต่างกันไป และความเสี่ยงเหล่านี้มันอยู่นอกเหนือความเข้าใจและควรเตรียมการให้พร้อม
ด้านนางสาวเกวลิน ทะสังขา กองเลขาสภาพลเมือง กล่าวว่า การเยียวยาถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะนี้มีชาวบ้านบางคนได้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไปแล้ว แต่กลุ่มนี้ยังมีข้อสงสัยว่าต้องเตรียมเอกสารอย่างไร และจะได้รับเงินเมื่อไหร่ ขณะที่รายที่ยังไม่ดำเนินการก็เพราะไม่แน่ใจเรื่องการจัดการเอกสาร เรื่องระยะสั้น คือการตัดแต่งกิ่งลดทอนความสูงซึ่งมีการประเมินไว้ 30 ต้นและมีการตัดแต่งไปแล้วจำนวน 20 กว่าต้น ทราบว่าทางอบจ.ร่วมกับกรมป่าไม้ ประเมินว่าต้องตัดแต่งกิ่งเพิ่มเติม 80 ต้น แต่ยังไม่ทราบว่าความชัดเจนของแผนการตัดแต่งกิ่งยางนา นอกจากนี้ยังมีต้นยางนาจำนวน 3 ต้นที่ยืนต้นตายบริเวณแยกกองทราย อยู่ในแผนดังกล่าวหรือไม่
เปิดแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ปรับแผนลดทอนความสูงยางนาปี 65 ทอน 80 ต้น
หัวหน้าฝ่ายนิติการและการพาณิชย์ ชี้แจงว่า หลังเกิดเหตุ 1 ตุลาคม 2564 ได้ลงสำรวจเพื่อเยียวยาประชาชนพบว่ามีผู้ได้รับความเสียหายจำนวน 74 ราย จากนั้นได้ประกาศสาธารณภัย และเขตให้การช่วยเหลือตามลำดับ จากการคัดกรองความซ้ำซ้อนของการช่วยเหลือของเทศบาลสารภี หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอและจังหวัด พบว่ามีประชาชนที่อบจ.ต้องดูแลจำนวนทั้งสิ้น 43 ราย ซึ่งนายกอบจ. เชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด มีระยะเวลาในการสอบสวนข้อเท็จจริง 180 วัน หลังจากรับคำร้อง (25 ก.พ. 2565) อย่างไรก็ตามตนคาดว่าคณะกรรมการจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น เพราะได้ลงสำรวจข้อมูล ถ่ายภาพหลักฐานต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่เกิดเหตุวันแรก
“กรณีของ 7 หลังที่เสียหายหนัก ทางอบจ.ได้อำนวยความสะดวกตั้งแต่เบื้องต้น โดยส่งทีมช่างเข้าไปถอดแบบบ้านเพื่อประเมินความเสียหาย โดยที่ประชาชนไม่ต้องดำเนินการเอง เพียงแต่ว่าในทางกฎหมายทางอบจ.ไม่อยากให้เกิดความซ้ำซ้อน ขัดแย้ง ต้องแก้ไขในภายหลัง”
คลายข้อสงสัยชดเชยความเสียหายเป็นตัวเงิน – เครื่องสแกนต้นไม้มาแล้วแต่ยังต้องอบรมก่อนใช้งาน
ผู้แทนฝ่ายนิติการและการพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการชดเชยนั้นจะเป็นเงินตามหลักประกาศกระทรวงการคลัง หรือหากไม่มีการซ่อมแซมก็จะชดเชยเป็นค่าเสื่อม ชาวบ้านสามารถดำเนินการรื้อถอน หรือบรรเทาความเสียหายของตนเองได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้บ้านเรือนทรัพย์สินอยู่ในสภาพทรุดโทรมไปเรื่อย ๆ และขอย้ำว่าอบจ.ไม่ได้ลงไปก่อสร้างให้ตามที่มีชาวบ้านบางคนเข้าใจ
ด้านนายนาวิน สินธุสอาด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในบางจุดทางส่วนราชการอาจจะด้อยการประชาสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากที่รับรู้รับทราบและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องรอนาน และจะเร่งรัดดำเนินการ ส่วนการตัดแต่งกิ่งยางนาที่มีความเสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการและรายงานว่าตัดแต่งกิ่งไปแล้ว 29 ต้น อยู่ในกระบวนการตั้งงบประมาณอีก 1 ต้น ซึ่งจะรวมกับโครงการตัดติ่งกิ่งไม้แห้งที่เป็นอันตรายจำนวน 80 ต้น จะดำเนินการภายในปีนี้และจะมีการเปิดประมูลออนไลน์ในวันที่ 4 เม.ย. ที่จะถึงนี้
- เดือนเมษายน หนองผึ้ง จำนวน 20 ต้น
- เดือนพฤษภาคม ยางเนิ้ง จำนวน 20 ต้น
- เดือนมิถุนายน หนองหอย จำนวน 20 ต้น
- เดือนกรกฎาคม สารภี จำนวน 20 ต้น
สำหรับเครื่อง Tree Radar Scan ที่อบจ.ได้สั่งซื้อไป นับเป็นเครื่องที่ 2 ของประเทศไทย ทางอบจ.ได้รับเครื่องซึ่งเป็นเทคโนโลยีของประเทศสวีเดน แต่ยังต้องมีการตรวจเช็คและฝึกอบรมการใช้เครื่องมือจากทางบริษัท คาดว่าอบรมภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนประเด็นเรื่องระบบตรวจวัดสภาพอากาศและแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบนถนนเชียงใหม่ – ลำพูน จัดอยู่ในแผนการดำเนินการระยะยาว จะดำเนินการในปี 2566
เสนออบจ. ทำศูนย์ข้อมูลเชิงรุกโควิด-19 สื่อสารเชิงรุก เตรียมชุมชนให้อยู่กับโควิด-19
นางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กล่าวว่า สถานการณ์ของผลกระทบโควิด-19 ในเขตเมืองจะมีผลกระทบต่อคนชายขอบ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานเพื่อนบ้าน และกลุ่มที่ไม่มีสถานะบุคคล ซึ่งทางทีมงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่างบ้านเตื่อมฝัน ซึ่งทำงานร่วมกับพมจ.จะจัดทำรายชื่อ และเตรียมความพร้อมของคนเพื่อเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ประมาณ 200 – 300 คน เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีเครื่องมือในการลงทะเบียนออนไลน์ หรืออาจพบความยุ่งยากในการตรวจเอกสารในกรณีเดินวอล์คอินเข้ามาเอง
จากข้อมูลวันที่ 29 มีนาคม 2565 เราติดเชื้อวันละ 4,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในเขตเมือง ขณะระบบการดูแลในปัจจุบันจะใช้ระบบ self isolation โดยข้อมูลของหลายหน่วยงาน พบว่าผู้ป่วยในเขตเมืองมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะคนกลุ่ม 608 ไม่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานตามสมควร ได้รับการจ่ายยาตามอากาศและกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้รับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการติดตามอาการของตนเอง เช่น เครื่องออกซิเจนปลายนิ้วมือ ปรอทวัดไข้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของการทำงานของเราพบว่า ต้องเตรียมชุมชนของเราให้อยู่กับโควิดให้ได้ อยู่ร่วมกับโควิดอย่างมีความเข้าใจ แต่ตอนนี้ประชาชนกำลังสับสนกับข้อมูล เช่น เดิมบอกว่าทุกคนที่ติดเชื้อต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ตอนนี้บอกว่าไม่ต้องจ่ายให้กับทุกคน ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับการสื่อสาร จนทำให้เกิดช่องว่าง และมีการขายฟาวิฯในตลาดมืด ทางอบจ.จะทำหน้าที่สนับสนุน และปิดรอยต่อของพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอเมืองนี้ได้อย่างไร และนายกอบจ.เคยกล่าวว่าจะจัดการระบบ 1669 ซึ่งก็คือระบบศูนย์ข้อมูลที่สามารถสื่อสารกับประชาชน เช่นเดียวกับอบจ.ทำเรื่อง pm2.5 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นศูนย์ข้อมูลที่ดำเนินการสื่อสารเชิงรุกกับประชาชน ไม่ใช่เชิงรับ
นายเสรี เพ็งสาท ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ. เชียงใหม่ ชี้แจงว่า วัคซีนที่อบจ.ดูแลรับผิดชอบมีสองส่วน ส่วนที่รับซื้อมาสภากาชาดไทยจำนวน 1 แสนโดส ขณะนี้เหลืออยู่ 3 หมื่นโดส ซึ่งเกณฑ์การเข้ารับวัคซีนนี้จะให้บริการกับกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ บุคลากรด่านหน้า บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งทางอบจ.ได้ทำเรื่องขอผ่อนปรนเพื่อให้ฉีดได้กับคนทุกกลุ่ม นอกจากนี้อบจ.ยังได้ซื้อจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6 หมื่นโดส ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ยังเหลือวัคซีนอีกประมาณ 4 หมื่น ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีข้อกำหนด ขณะนี้ทางอบจ.ได้ประสานงานกับศูนย์ฉีดและอปท. เพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อจัดสรรการกระจายวัคซีน รวมถึงเปิดรับกรณีวอล์คอิน โดยวัคซีนของอบจ.จะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2565
“ส่วนกรณีระบบ 1669 ทางอบจ.จะได้รับการถ่ายโอนภายในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมความพร้อมในการดำเนินการในทุกมิติ ตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจความชำนาญของเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และทำความร่วมมืออบรมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยทั่วจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 200 คัน เพื่อให้รถฉุกเฉินไปถึงที่เกิดเหตุและสถานพยาบาลภายใน 8 นาที โดยของเชียงใหม่จะใช้ 1669 ทั้งระบบโทรศัพท์และวิทยุสื่อสาร เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา โดยระยะเปลี่ยนผ่านจะได้รับการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลนครพิงค์”
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดไทม์ไลน์ต้นยางนา บนถนนสายปวศ. การหักโค่นระหว่างปี 57 – 64
ยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูน จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย ปชช. ถาม หน่วยงานตอบ จากสภาพลเมือง
ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตถนนยางนา