ก่อร่างสร้างสื่อ “อยู่ดีมีแฮง” กับชาวอีสานออนไลน์

ก่อร่างสร้างสื่อ “อยู่ดีมีแฮง” กับชาวอีสานออนไลน์

“เพราะที่ผ่านมามีสายตามองว่า อีสานแล้ง คนอีสานโง่ จน เจ็บ แต่อยู่ดีมีแฮงเรากำลังจะบอกว่า นี่คืออีสานมีสิ่งที่ดี ๆ เพื่อจะบอกให้คนทั่วทั้งประเทศหรือคนที่กำลังดูให้ได้เห็น”

“เบิ่งอีสานให้ซอด ฮู้อีสานให้ลึก” คือ สโลแกนการทำงานของทีมอยู่ดีมีแฮงออนไลน์อีกแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส พื้นที่สื่อสารภายใต้การทำงานของกองบรรณาธิการเครือข่ายสื่อพลเมืองภาคอีสาน ซึ่งเริ่มต้นทำงานตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นมา และออกอากาศหน้าจอทีวีในเดือนมกราคม ปี 2559

แต่…ก่อนจะเป็น “อยู่ดีมีแฮง” พื้นที่สื่อสารอย่างมีส่วนร่วม ทั้ง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสื่อสาร เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ รากเหง้าที่มาของอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ คือ “นักข่าวพลเมือง” ที่เชื่อว่าพลังการสื่อสารอยู่ในมือของทุกคนซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีนี้ 15 ไปพร้อมกับ Thai PBS “เดชา คำเบ้าเมือง” และ “มิ่งขวัญ ถือเหมาะ” นักข่าวพลเมืองทีมกระติ๊บบาย คือหนึ่งในทีมผลิตสื่อพลเมืองที่ทำงานร่วมกับไทยพีบีเอสมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี วันนี้ ทั้งสองคนในนามตัวแทนผู้ผลิตภาคพลเมืองและทีมกองบรรณาธิการ ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงที่มา ว่ากว่าจะเป็นอยู่ดีมีแฮงเป็นอย่างไรและฝันถึงที่ไปในวันที่อำนาจการสื่อสารอยู่ในมือของพลเมืองกับรายการ “ก่อร่างสร้างสื่อ”

กว่าจะเป็นทีมผลิตรายการอยู่ดีมีแฮง

“เดิมทีผมทำงานชุมชน ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคอีสานอยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องของแม่น้ำโขง เรื่องของเหมืองแร่ น้ำ เรื่องที่ดินป่าไม้ ตามประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในอีสานมาอยู่แล้ว” เดชา คำเบ้าเมือง นักข่าวพลเมืองทีมกระติ๊บบาย ย้อนอดีตการเป็นนักสื่อสารสาธารณะในระดับชุมชนเรามองว่างานชุมชนเองเรื่่องการสื่อสาร มันเป็นเรื่องที่สำคัญ ตอนนั้นที่ยังไม่มีไทยพีบีเอส พวกเราก็เริ่มจากงานการเขียนข่าวแล้วก็ส่งไปสำนักข่าวต่าง ๆ ได้ลงหนังสือพิมพ์บ้าง ข่าวท้องถิ่นบ้าง ก็เอามาให้ชาวบ้านดูก็ดีใจกัน จนกระทั่งชาวบ้านก็เริ่มมีวิทยุชุมชนที่จะเป็นเครื่องมือหรือกระบอกเสียงในการสื่อสาร ชาวบ้านก็ใช้มาตลอด ก็ใช้งานเขียน งานเสียง

แล้วทีนี้ก็มาถึงงานภาพ คือทางผมเองและเครือข่ายหลายท่านในภาคอีสานที่ได้เป็นนักข่าวพลเมือง คือร่วมอบรมกับทางไทยพีบีเอส  ช่วงนั้นน่าจะประมาณปี 2553 ทางไทยพีบีเอสก็เริ่มไปอบรมทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งผมเองก็เป็นคนที่ทำงานสื่อพวกนี้มา คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปร่วมเป็นคนหนึ่งที่ได้สื่อสารเรื่องราวของชุมชนออกไป”

จากนักข่าวพลเมืองขยับมาเป็นผู้ผลิตภาคพลเมืองต่างกันอย่างไร

“หนึ่งคือว่าการเป็นนักข่าวพลเมืองเราสื่อสารเรื่องของเราที่อยากรู้อยากเห็นก็ส่งข่าวเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีอบรมของอยู่ดีมีแฮง เลยคิดว่าอยากพัฒนาตนเองยกระดับขึ้นมา เริ่มเข้าไปอบรมกับอยู่ดีมีแฮงเพิ่มทักษะเข้ามาอีก เพราะว่าอยู่ดีมีแฮงหรือการผลิตเป็นผู้ผลิตอิสระทักษะมันก็สูงขึ้นกว่าของนักข่าวพลเมืองเรื่องมุมมองภาพ เรื่องของการเล่า การมองประเด็น เรื่องการคิด Content ต่าง ๆ มันก็จะมียกระดับขึ้นมาอีก”

เดชา คำเบ้าเมือง นักข่าวพลเมืองทีมกระติ๊บบาย ไล่เรียงประวัติศาสตร์การสื่อสารของชุมชนที่ซ้อนทับขนานมากับการทำหน้าที่ตั้งแต่ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ข่าวพลเมือง และปัจจุบันกับบทบาทผู้ผลิตภาคเมือง ซึ่งมีสมาชิกในทีมรวมเป็น 2 คน กับ มิ่งขวัญ ถือเหมาะ บัณฑิตจากสาขาพัฒนาสังคม  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่แม้ไม่ใช่สายตรงสื่อสารมวลชน แต่เธอคือช่างภาพสารคดี ช่างตัดต่อเล่าเรื่องลำดับภาพที่ร่วมสร้างความอยู่ดีมีแฮงกับ Thai PBS

กว่าจะเป็นผู้ผลิตรายการอยู่ดีมีแฮง

“จริง ๆ คือหยกเองก็เติบโตมาจากการที่ไปเรียนรู้ในชุมชน ก็ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์โดยตรงแต่ว่ามีโอกาสลงไปเรียนรู้ในพื้นที่แล้วเราก็มีโอกาสถ่ายภาพ สื่อสารออกมาบ้าง” มิ่งขวัญ ถือเหมาะ เล่าถึงต้นทุนความสนใจต่อประเด็นชุมชนก่อนจะมาเป็นผู้ผลิตสารคดีและทีมงานอยู่ดีมีแฮง “พอมีการเปิดอบรมอยู่ดีมีแฮงเราก็รู้สึกว่าเราก็สนใจด้านนี้มาเราก็เลยเข้าร่วมอบรมกับอยู่ดีมีแฮง ไม่ได้เน้นของเรื่องเทคนิคมาก แต่เป็นการเข้าไปเรียนรู้ประเด็นเนื้อหาที่จะสื่อสารออกมาเป็นเรื่องราวของชาวบ้าน ชุมชน ไปทำความเข้าใจ

ชิ้นแรกเป็นเรื่องแรงงานไทยในเกาหลี คือตอนที่่เข้าอบรมจะทำงานเป็นชิ้นงานยาว 25 นาที อยู่ดีมีแฮง ตอน โซลอุดร เล่าเรื่องของแรงงานไทยในเกาหลีที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี เล่าเรื่องราวในพื้นที่ออกมา ถือว่าเป็นชิ้นแรกที่ทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการทำงานแบบทางสื่อที่ลึกมากขึ้น ต้องทำข้อมูล คิดต่อยอดว่าเราจะนำเสนอประเด็นอย่างไร ทำให้เราเข้าใจกระบวนการผลิตแบบงานสื่อมากขึ้นค่ะ”

มิ่งขวัญ ถือเหมาะ อธิบายเพิ่มว่าที่เลือกทำเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจาก “ซาอุดร” ที่ออกไปทำงานต่างประเทศเห็นว่าในอุดรธานีมีคนที่ออกไปขายแรงงานเยอะ แล้วก็มันมีทั้งเรื่องของของ “ผีน้อย” ก็ทำให้เราอยากนำเสนอให้เห็นว่าคนออกไปหาเงินต่างประเทศแล้วส่งกลับมา มันไม่ได้แค่มีความสุขอย่างเดียวแต่ว่ามีความทุกข์ยากหรือว่าการดิ้นรนของคนอีสานอยู่ในนั้นด้วย

อะไรคือ “อยู่ดีมีแฮง” เนื้อหาที่ใช่และการพัฒนาข้อมูล

เดชา คำเบ้าเมือง “อยู่ดีมีแฮงสโลแกนของเราก็คือพูดง่าย ๆ ว่า “เบิ่งอีสานให้สอด ฮู้อีสานให้ลึก” หมายถึงว่าต้องเอาความอีสานออกมา ความเป็นอีสาน คนอีสาน วิถีชีวิตคนอีสานรวมทั้งทรัพยากรที่อีสานมี ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือมายาคติของคนข้างนอกมองคนอีสาน อันนี้เป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมามีสายตามองว่า อีสานแล้ง คนอีสานโง่ จน เจ็บ แต่อยู่ดีมีแฮงเรากำลังจะบอกว่า นี่คืออีสานมีสิ่งที่ดี ๆ เพื่อจะบอกให้คนทั่วทั้งประเทศหรือคนที่กำลังดูให้ได้เห็น อย่างเช่น แรงงานที่ว่า ที่เขาไปเขามีเหตุผลเพราะอะไร เรื่องทรัพยากรเราจะมองอีสานแต่ว่าแล้ง แต่มันคือนิเวศของอีสาน ที่มีหน้าแล้ง มีหน้าฝน มีทรัพยากร มีอาหาร  อันอุดมสมบูรณ์ในแต่ละช่วง มองอีสานให้ลึกถึงวัฒนธรรมของคนอีสาน ว่าคนอีสานมีวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดกันมาที่เป็นสิ่งที่ดีงาม ผมก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องของ “เบิ่งอีสานให้สอด รู้อีสานให้ลึก” คือสิ่งที่เราจะต้องนำเสนอออกมาในอยู่ดีมีแฮงครับ”

มีประเด็นไหนบ้างที่สื่อสารและขยายผลต่อยอด

ผมคิดว่ามีหลายประเด็น ถ้าเอาจากใกล้หรือล่าสุดเลย คือ เรื่องของคนรุ่นใหม่กลับบ้าน เรื่องช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผมเชื่อว่าได้รับผลกระทบกันทั่วโลก แต่ถ้าโฟกัสมาที่อีสาน เราเห็นคนอีสานกลับบ้านหรือคืนถิ่นไป เขาสามารถที่จะอยู่โดยการพึ่งพาทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่อย่างไร พึ่งภูมิปัญญา นวัตกรรมหรือวิถีชีวิตที่เป็นอยู่อย่างไร

ในงานของเราก็เห็นว่าในเพจอยู่ดีมีแฮง อย่างเช่น คนรุ่นใหม่กลับบ้านไป แต่เขายังต่อสู้ ก็บอกได้อย่างภาคภูมิใจว่าฉันคือคนอีสานแล้วฉันอยู่ได้ในภาวะวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 โดยมีทรัพยากร มีการพึ่งพาทรัพยากรของคนอีสาน นี่คือประเด็นอันที่หนึ่ง

อันที่สองผมคิดว่าในประเด็นเรื่องของการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน อย่างเช่น กรณีเหมืองแร่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่โปแตช หรือ เหมืองหิน เหมืองทองที่จังหวัดเลย เราเชื่อว่าในเพจอยู่ดีมีแฮง ในทีมพวกเราทั้งหมดที่สื่อสารออกไปแล้วเห็นรายการใหญ่ ๆ หรือช่องอื่นก็ตามไปเล่นประเด็นนี้ต่อ อย่างเช่น เหมืองทอง เหมืองหิน Big story ก็ลงไปใช่ไหม เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ที่ถูกหยิบจับออกไปเล่นเยอะ

ประเด็นแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงผมคิดว่าเป็นประเด็นหลักของเราอยู่ดีมีแฮงที่เล่าด้วย เพราะว่าแม่น้ำโขงมันไหลลงมาประเทศไทย  มีทั้งหมด  7 จังหวัดในภาคอีสาน ทีนี้พอเราสื่อสารเรื่องของแม่น้ำโขงออกไป ทั้งรายการใหญ่ ทั้งไทยพีบีเอส หรือช่องอื่นลงไปตามทั้งมีรายยการเสวนนาออนไลน์ล่าสุดประเด็นเรื่อง “ไก” ใช่ไหมครับ ก็ได้สื่อสารออกไป สู่สาธารณะได้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ออกไปจากอยู่ดีมีแฮงของพวกเราด้วย

สื่อพลเมืองเป็นข้อต่อในพื้นที่

ถูกต้องครับ ล่าสุดอย่างประเด็นน้ำท่วมที่น้ำท่วมลงไปจากชัยภูมิไปขอนแก่น จนถึงแม่น้ำชีถึง จ.ร้อยเอ็ด พอเราลงไป นอกจากจะเผยแพร่ในอยู่ดีมีแฮง ออกอากาศในรายการคุณเล่าเราขยาย พอเราบอกชาวบ้านก็รอที่จะดู ผมคิดว่าถึงแม้ว่าโลกออนไลน์มันไปไกล แต่การดูทีวีของชุมชนมันยังเป็นพลังหนึ่งที่เขาตั้งตารอดู อย่างเช่น กรณีที่เขาสานกระติบข้าวเป็นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ที่พวกเราลงไปแล้วเอามาเล่าผ่านรายการคุณเล่าเราขยาย  ก็โทรบอกชาวบ้าน ชาวบ้านตื่นเต้นกันใหญ่ แล้วก็โทรบอกญาติพี่น้องที่อยู่ที่จังหวัดอื่นด้วย  เพื่อรอชมรอดูว่าชุมชนเรามีของดีมีกระติบข้าวเหนียว มีการจักสานที่เป็นภูมิปัญญาแล้วมันต่อยอดสร้างอาชีพให้ชุมชนเขาได้ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ทีมอยู่ดีมีแฮงเรารู้สึกภูมิใจมากเลยครับ”

อยู่ดีมีแฮงเพื่อความอยู่ดีมีแฮงทำให้ได้เรียนรู้และแบ่งปัน

จริง ๆ ก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างมากเลย ตั้งแต่กระบวนการเข้ามาเริ่มแรกเลย” มิ่งขวัญ ถือเหมาะ ย้ำถึงพื้นที่เรียนรู้ผ่านสื่ออยู่ดีมีแฮง “ในการทำสื่อแล้วก็ทำให้เรารู้จักความเป็นอีสานมากขึ้นคืออย่างหยกเป็นอีสานใต้นะ ก็อาจจะพูดภาษาอีสานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง วิถีวัฒนธรรมบางอย่างเองก็ต่างกันกับอีสานทางตอนบน ทำให้เราได้เรียนรู้ในวิถีวัฒนธรรมมากขึ้นแล้วก็รู้จักทรัพยากรที่อยู่ในอีสานมากขึ้น ซึ่งมันส่งผลต่อคนที่อยู่ในชุมชนหรือว่าคนที่เขาพึ่งพาทรัพยากร ทรัพยากรก็พึ่งพาชุมชน ทำให้เราได้เรียนรู้หลากหลายขึ้น สุดท้ายก็อยากฝากเพจอยู่ดีมีแฮงด้วยนะคะ ถ้าคุณอยากรู้จักอีสานมากขึ้นนะคะ ก็ฝากติดตามเพจอยู่ดีมีแฮงด้วยค่ะ”

“เบิ่งอีสานให้ซอด ฮู้อีสานให้ลึก”
อยู่ ดี มี แฮง รายการชุดออนไลน์ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ผลิตภาคพลเมืองในอีสาน เป็นอีกพื้นที่ที่จะพาไปสำรวจสิ่งรอบตัว มองให้รอบด้าน เบิ่งอีสานให้ซอดทั้งทางลึกและทางกว้าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจส่งเสริมคุณค่าในอีสานบ้านเฮา เป็นรายการที่ผลิตโดยคนอีสาน เล่าเรื่องอีสาน เพื่อคนอีสานและขยายมุมมองของอีสานสู่สากลให้ชุมชนร่วมคิด ร่วมผลิตและร่วมสื่อสาร เพื่อนำไปสู่การ “รู้จัก เข้าใจ และหวงแหน” อีสานบ้านเรา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อร่างสร้างสื่อโดยไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะด้วยคุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ