“แม่น้ำสงคราม” มดลูกสำคัญของแม่น้ำโขง ถ้ามดลูกพังโขงจะอยู่อย่างไร?

“แม่น้ำสงคราม” มดลูกสำคัญของแม่น้ำโขง ถ้ามดลูกพังโขงจะอยู่อย่างไร?

วานนี้ 18 มีนาคม 2565 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักข่าว Bangkok Tribune, มูลนิธิคอนราด, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง จัดเวทีเสวนาคน-เขื่อน-โขง และลุ่มน้ำสงคราม, The Mekong’s Womb แลกเปลี่ยนความคิดและเนื้อหาเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในความสำคัญและรู้จักแม่น้ำสงครามไม่ให้ถูกมองข้ามและเพิกเฉย สดจาก Curved Wall ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีวิภาพร วัฒนวิทย์ รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นชวนพูดคุยให้ได้เข้าใจและสัมผัสถึงชีวิตที่แม่น้ำสงคราม

รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่านี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักกวี ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ ได้มาร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อที่จะทำความเข้าความสำคัญของลำน้ำสาขาว่ามันสำคัญอย่างไร ถ้าไม่พูดคุยจะเกิดอะไรขึ้น แล้วสถานะแบบไหน วิกฤตหรือยัง จึงอยากขอพูดอยู่ 4 ประเด็น

ประเด็นแรก เห็นว่า ลำน้ำสงคราม ลำน้ำมูล ลำน้ำชีที่อยู่ในภาคอีสาน หรือแม้กระทั่งลำน้ำอื่น ๆ ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศ สปป.ลาว ล้วนมีความสำคัญที่เรียกว่ามันเป็นเขตสะสม อาณาบริเวณสะสมความอุดมสมบูรณ์ และความสมดุลของระบบนิเวศที่กล่าวเช่นนี้ เพราะว่าลำน้ำสาขามีต้นน้ำจากยอดเขา อย่างเช่น น้ำมูลน้ำมาจากเทือกเขาที่โคราช มันไหลผ่านทุ่งกว้าง มันไหลผ่านป่าต้นน้ำรวมเอาน้ำใต้ดินบนดิน แร่ธาตุต่าง ๆ มาหลอมหลวมกัน กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์ปลาต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อคนริมน้ำทั้งในเมือง นอกเมือง ชนบท ทั้งอยู่ใกล้อยู่ไกล และภาคอุตสาหกรรมด้วย

“เขตสะสมของความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศ ถ้าไม่มีแม่น้ำสาขา แม่น้ำสายหลักจะอยู่ไม่ได้ แม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำโขงมันถูกเติมด้วยแม่น้ำสาขา”

ถ้าเราเข้าใจข้อมูลของคณะกรรมการธิการแม่น้ำโขง ประเทศ สปป. ลาว มีแม่น้ำสาขาเยอะมากแล้วก็ส่งน้ำลงแม่น้ำโขงมากที่สุดในประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมด

ประเทศไทยก็โขง ชี เลย และแม่น้ำมูล อันนี้ประเด็นแรกมันเป็นเขตสะสมความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศ สร้างระบบภาคบริการให้กับระบบนิเวศด้วยกันเอง ปลาที่อยู่อาศัยได้ พืชพันธุ์สามารถอยู่ได้ ทำให้แม่น้ำสายหลักสามารถอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะแร่ธาตุมันไหลลงโดยเฉพาะจุดบรรจบหรือปากแม่น้ำจะเห็นว่าเป็นจุดที่แม่น้ำสองกระแสมันปะทะกันจะมีความสมดุลของระบบนิเวศ

ประเด็นสอง ลำน้ำสาขาเป็นภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ชีวิต ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง และใช้แม่น้ำโขงในฐานะวิถีชีวิต พิธีกรรมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นหลายพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสายหลัก หรือแม่น้ำสาขา พิธีสงกรานต์ วิถีความเชื่อเรื่องผี ความเชื่อเรื่องนาค ซึ่งเหล่านี้มันเป็นความเชื่อร่วมของคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ  

ทรัพยากรที่อยู่ในลำน้ำสาขาเป็นพื้นที่บุ่งทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ มันสร้างรายได้ มันสร้างความมั่นคงทางอาหาร มันหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คน สร้างวิถีความเชื่อวัฒนธรรมร่วมกันกลายเป็นสายใยความเชื่อของคนลุ่มน้ำโดยที่ไม่ได้แบ่งเหมือนการปกครอง แต่มันเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันของคนในพื้นที่   

ประเด็นสาม เป็นพื้นที่ที่สะท้อนสิทธิและอำนาจของคนในท้องถิ่น สิทธิอำนาจและความรู้ การที่จะสร้างชีวิตได้มันต้องอาศัยความรู้ที่มันสะสม ระหว่างเรากับธรรมชาติที่มันสัมพันธ์กัน ชาวบ้านสัมพันธ์กับแม่น้ำมูล หรือแม่น้ำสงคราม มันมีความรู้ชนิดนึงที่เรียกว่า วัฒนธรรมปลาแดก ปลาแดกมันคือวัฒนธรรมของคนอีสาน และปลาแดกจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีวัฒนธรรมเกลือ เหล่านี้มันสะท้อนทั้งความรู้ท้องถิ่น ทั้งสิทธิอำนาจของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการ เพื่อสร้างวิถีชีวิต สร้างรายได้การกินดีอยู่ดี

ในขณะเดียวกันสิทธิอำนาจเหล่านั้น มักจะถูกลดทอนจากภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐมองไม่เห็นสิทธิอำนาจของชาวบ้านมากนัก มองเห็นแต่มองอย่างไม่ทะลุ มองอย่างไม่เข้าใจว่ามันมีความสำคัญอย่างไร สิทธิอำนาจเหล่านี้มันเป็นอำนาจตามประเพณีที่สะสมถ่ายทอดมาให้คนในพื้นที่สามารถเข้าไปใช้และจัดการทรัพยากรร่วมกัน

“อย่างไรก็ตาม การปะทะของสิทธิ อำนาจ และความรู้จะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อรัฐเข้ามาจัดการแม่น้ำ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ โขง เลย ชี มูล”

อำนาจรัฐที่มีเหนือดินแดนทำให้มองข้ามสิทธิอำนาจและความรู้ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรก่อให้เกิดผลกระทบ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน ขณะเดียวกันก็จะเกิดพื้นที่ถกเถียงเพื่อความประนีประนอมและหาทางออกร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามด้วยอำนาจรัฐที่มันไม่เท่าเทียมกันเป็นคำถามใหญ่ว่า แล้วอำนาจของใครแน่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน

ประเด็นสี่ แล้วแม่น้ำสาขาจะอยู่อย่างไร ถ้าวิกฤตมันก็ส่งผลต่อวิกฤตแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำโขงหรือถ้าแม่น้ำโขงมีวิกฤตมันก็ส่งผลกระทบกลับมาที่ลำน้ำสาขาเช่นเดียวกัน

เราไม่ได้มองแยกกันมันต้องมองระดับลุ่มน้ำ ดังนั้นถ้าวิกฤตใดเกิดขึ้น ณ จุดใดมันย่อมส่งผลกระทบ เพราะลุ่มน้ำมันไหลรวมกันหมด

“ปัจจุบันสถานการณ์ที่เราเจอก็คือว่า น้ำถูกตัด ถูกหั่น ถูกบังคับให้มันหยุดไหล และบังคับให้มันไหลเป็นบางครั้งบางคราว”

เช่น แม่น้ำมูลก็เปิด ๆ ปิด ๆ ราษีไศลก็เปิด ๆ ปิด ๆ เขื่อนหัวนาก็เปิด ๆ ปิด ๆ แล้วโครงการโขง เลย ชี มูลก็มีประตูระบายเปิด ๆ ปิด ๆ เหล่านี้ ถูกทำให้แม่น้ำขาดความเป็นธรรมชาติ มันถูกตัดตอนมันถูกทำให้หยุดถูกทำให้ไหล สิ่งเหล่านี้ มันส่งผลวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำมันจะเกินจุดรองรับได้ หรือเกินจุดที่จะจัดการตัวเองได้หรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะพูดถึงวิกฤต และยกระบบนิเวศมาเป็นตัวตั้งมากขึ้น  

รศ.ดร.กนกวรรณ เสนอเพิ่มเติมว่า ถ้าต้องจัดการแม่น้ำโขง ลำน้ำสาขาโดยเฉพาะลำน้ำสงคราม ซึ่งยังไม่ได้มีเขื่อนมีฝายมากนัก เราจะทำอย่างไรให้ที่ลำน้ำสงครามกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่มันปลอดภัยทั้งระบบนิเวศและปลอดภัยทั้งกับผู้คนที่อาศัยระบบนิเวศที่อยู่ในลุ่มน้ำสงคราม

ทางออกเช่นอาจจะต้องมีการประเมินผลกระทบระดับกลยุทธ์ขึ้นมา ทำใหม่หมดทั้งภาคอีสาน ซึ่งเข้าใจว่าบางส่วนทำอยู่แล้ว แต่เราต้องมาดูว่าการประเมินผลกระทบเชิงกลยุทธ์ที่มันครอบคลุมพื้นที่อีสานทั้งหมด แม่น้ำสงครามมันสัมพันธ์กับแม่น้ำอื่นด้วยจะทำอย่างไรที่จะมีการประเมินโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการประเมินผลเชิงกลยุทธ์ หรือ SEA  ทั้งปัจจุบันและก็การมองไปข้างหน้าที่จะให้ระบบนิเวศยังคงอยู่

อีกเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่อย่างอ้อมบุญ ทิพย์สุนา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน มองว่า ณ วันนี้แม่น้ำโขงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว คาดการณ์อะไรไม่ได้ หน้าแล้งไม่เป็นหน้าแล้ง หน้าฝนไม่เป็นหน้าฝน โขงสีปูน มูลสีคราม ตอนนี้แม่น้ำโขงกลายเป็นสีคราม เปลี่ยนไปตามสีของท้องฟ้า วันไหนมืดครึ้มก็มืดครึ้มไปด้วย วันไหนแสงจ้าก็กลายเป็นสีครามเป็นสีน้ำทะเล สาเหตุจากเขื่อนในประเทศต้นน้ำกักน้ำไว้และตะกอนก็ตกอยู่หน้าเขื่อนแล้วแม่น้ำโขงก็ใสมาก เป็นสิ่งที่เราเฝ้าสังเกตเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่มันกระทบกับแม่น้ำสาขา

“แม่น้ำโขงหายจากสายน้ำท้องน้ำของเราไปมากกว่าครึ่ง ปีที่น้ำหลากมากที่สุดหลากเข้าไปแม่น้ำสงครามเป็นปีสุดท้ายที่เราเห็นคือปี 2561”

คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว น้ำมาเอาปลามาฝาก น้ำหลากปลาก็จากไป คนแม่น้ำสงครามกับแม่น้ำโขงจะรู้จักกันดีในฐานะมดลูกแม่น้ำโขง

สิ่งที่เราเจอตอนนี้คาดเดาอะไรไม่ได้ เรามีกลุ่มไลน์ที่คุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและมีกลุ่มไลน์ของพี่น้องเจ็ดถึงแปดจังหวัด ตั้งแต่เชียงรายยาวไปถึงอุบลราชธานี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ บึงกาฬ สื่อสารเข้ามาทุกวัน  

ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำต่ำกว่าระดับปกติอยู่แล้ว แต่ตอนนี้น้ำขึ้นลงรายวัน เป็นไปตามจังหวะการปิดเปิดของเขื่อน ซึ่งตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองทั้ง สทนช. และหลายหน่วยพยายามจะแจ้งเตือนระดับน้ำ ปรากฏว่า ระดับน้ำที่มันขึ้นลงรายวันส่งผลกระทบมากในตอนนี้เลย โดยเฉพาะกับทรัพยากรปลา ทรัพยากรสัตว์น้ำ

“ปลาหลงฤดู นึกว่าน้ำใหม่มา นึกว่าฝนตก เป็นสัญญาณให้ฉันอพยพ ฉันจะไปวางไข่ได้ ฉันจะต้องเข้าแม่น้ำสงครามแล้วล่ะ”

ปรากฏว่าไม่ใช่ เช้าขึ้น เย็นลงก็ทำให้หลงฤดู และชาวบ้านก็ยังไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ ถามองค์ความรู้ของชาวประมงในแม่น้ำโขงก็งง ๆ กัน เคยไล่กันว่าตั้งแต่เดือนมกราคมปลาจะมาจนถึงธันวาคมเป็นปลาอะไร เครื่องมือหาปลาวิถีชีวิตองค์ความรู้ของชาวบ้านตอนนี้ใช้ไม่ได้ ปลาก็งง คนก็งง

ในส่วนที่เกี่ยวกับแม่น้ำสงครามคือว่า เนื่องจากแม่น้ำมันหายจากท้องน้ำไปมากกว่าครึ่ง น้ำหลากไม่มีอีกแล้ว น้ำมีไม่ถึงที่จะหลากเข้าไปในลำน้ำสาขาทุกสาย โดยเฉพาะแม่น้ำสงคราม ตอนนี้มดลูกของแม่น้ำโขงกำลังแห้งไม่สามารถที่จะผสมพันธุ์ได้ ไม่สามารถที่จะติดลูกปลากลับคืนมาที่แม่น้ำโขง หรือว่าหล่อเลี้ยงคนในสี่ห้าจังหวัดของคนในแม่น้ำสงครามได้อีกต่อไป  

อ้อมบุญ บอกว่า ตนเองได้จดจำข้อมูลในส่วนที่ทางกรมประมง และตนเองเป็นกรรมการประมงแห่งชาติ ด้านผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำจืดด้วย กรมประมงบอกเราเองว่าแม่น้ำสงครามเป็นโรงเพาะฝักขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตลูกปลาแม่น้ำจืดในฤดูน้ำแดงผลิตได้มากกว่ากรมประมงผลิตลูกปลาน้ำจืดได้ทั้งประเทศ นี่คือความสัมพันธ์ที่มันสูญเสียไป

ยรรยง ศรีเจริญ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด และผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนบน-ล่าง WWF ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า แม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดใหญ่ในสายน้ำเอเชียของเรา ซึ่งปัจจุบันนี้ แม่น้ำโขงของเรา ถูกพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจมากเกินไปที่ไม่เกิดความสมบูรณ์ แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมากมาย รวมทั้งปรากฏการณ์ในเรื่องของภาวะโลกร้อนหรือว่า Climate Change อันนี้ก็เป็นสาเหตุหลักอันนึงที่แม่น้ำโขงของเราเปลี่ยนไป ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันจะกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีตหรือเปล่า เป็นสิ่งที่กังวลกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง ห้าหกประเทศด้วยกันกว่า 60 ล้านคน

ทีนี้มาดูแม่น้ำสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ถ้าเรามองไปที่ทางภาคเหนือไล่ตั้งแต่แม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย ถัดลงมาแม่อิง จังหวัดพะยา และแม่น้ำเลย จังหวัดเลย ถัดลงมาก็แม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนม สุดท้ายก็ไปที่แม่น้ำมูล ค่อนข้างที่จะอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน เนื่องจากว่าความต้องการในเรื่องของการใช้น้ำ การกิจการ การจัดสรรน้ำ ผลกระทบทาง Climate Change เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเหตุผลอันนึงที่ แม่น้ำสาขาในบ้านเราสถานการณ์ก็แย่หมดเหมือนกัน  

อันนี้เป็นภาพลุ่มน้ำสงคราม รวมประมาณ 6,400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4 ล้านไร่และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 จังหวัดใน 33 อำเภอ ต้นน้ำเกิดจากทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ผ่านอุดรธานีมาลงแม่น้ำสงครามที่ตำบลไชยบุรี ระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร มีคนอยู่ประมาณ 1.45 ล้านคน จับปลาได้เยอะแยะมากมาย เป็นพื้นที่ป่าบุ่ง ป่าทามที่สำคัญ แม่น้ำสงครามทำหน้าที่เป็นมดลูกของแม่น้ำโขง เพราะไม่ว่าสัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิดก็จะเข้ามาวางไข่ และหลาย ๆ ชนิดก็จะกลับไปเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแม่น้ำโขง

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือว่าน้ำแห้งน้ำแล้งอะไรต่าง ๆ สิ่งที่น่ากังวลคือว่าหน่วยงานภาครัฐก็มีนโยบายหรือว่าเจตนารมณ์ที่จะช่วยในเรื่องของการจัดการระบบการจัดสรรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโนนนี้นั้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราหรือว่าชุมชนก็มีความเป็นห่วงแม่น้ำสงครามอยู่ว่าถ้าหากเกิดการก่อสร้างอะไรต่าง ๆ ขว้างในแม่น้ำสงครามแล้วจะส่งผลกระทบอะไรอย่างไร

ในเรื่องนี้ส่วนของเราเองได้พาชุมชนไปเรียนรู้จากเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา หรือว่าเขื่อนน้ำมูล เพื่อจะให้ชุมชนได้ตัดสินใจเองว่า ณ วันนั้น ถ้าหากหน่วยงานระดับภาครัฐเข้ามาดำเนินการให้ชุมชนมีข้อมูลได้ตัดสินใจกันเอง

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เล่าถึงสิ่งที่ค้นพบว่า ชุมชนในภาคอีสาน ประเทศไทยหรือว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งอารยธรรมจะอยู่ในเขตที่เป็นหนองน้ำ ยกตัวอย่าง หนองหาร จังหวัดสกลนคร

นี่เป็นภาพของคุณประสาท ตงสิริ ท่านเสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสกลนครที่เก็บเรื่องเหล่านี้และก็ทำงานสนับสนุนผู้คนที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำต่าง ๆ ในทางภาคอีสานตอนบน ภาพต่าง ๆ เป็นการเก็บภาพในตระกูล

ซ้ายบน เป็นภาพแข่งเรือที่หนองหารซึ่งไม่มีแล้ว ด้านขวา คือเรือโดยสารที่ไปเที่ยวกัน เขาเรียกกันว่าดอนสวรรค์ ส่วนด้านซ้ายล่าง คือนาทาม คือนาน้ำท่วม เสี่ยงเอา ถ้าปีไหนมีน้ำมามันก็จะท่วมได้ข้าว ถ้าปีไหนน้ำพอดีกะถูกระดับน้ำขนาดนี้ภูมิอากาศไม่เปลี่ยนมากก็จะได้ข้าวตรงนี้ ภาพนี้คือนาทามแหล่งสุดท้ายของหนองหาร ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว

การไปศึกษาแม่น้ำสงครามสู้กันมาหลายยก การทำประตูน้ำอย่างนึง เขื่อนอีกอย่างนึง ตอนนี้มันเป็นวาทกรรมไปแล้วว่าแม่น้ำสงครามจะทำเขื่อน แต่ในช่วงนั้นมันยังไม่มี EIA ไม่มี EHIA ที่เป็นกฎหมายรองรับ

ถ้าเรามองว่าแม่น้ำโขงเป็นน้ำหลัก เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไม่เท่ากับข้างใน ทุกประเทศต้องการกันน้ำไม่ให้ลงหมด เพราะว่าน้ำเป็นต้นทุนสำคัญของอารยธรรมของแหล่งประวัติศาสตร์ของชีวิตต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องยาวนานมา

ในช่วงนั้นเราเข้าไปก็พบว่า เราจะเห็นว่าแหล่งสำคัญ สองจุดตรงนั้นมีลำน้ำสายเล็กจากภูพานลงแม่น้ำสงครามอีกเยอะแยะ ที่สำคัญมีสองที่บริเวณแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญ ต้องบอกว่าแม่น้ำสงคราม ประกอบไปด้วยสองพื้นที่ คือแม่น้ำสงครามตอนบน แถวส่องดาว อุดรธานี ซึ่งมันจะต่อกับในเขตที่สูงบริเวณนั้นเป็นแหล่งอารยธรรมของโลก ก็คือเรื่องของบ้านเชียง พอพื้นที่เข้าสู่หนองคาย พื้นที่จะราบลงมาแล้ว จะเป็นแอ่งน้ำและมีรูปแบบ น้ำโขงจะดันเข้ามาในช่วงหน้าน้ำ (ในระบบปกติ) แต่ถ้าเป็นหน้าแล้ง น้ำแห้งผากเลยจะเป็นทราย ไม่มีใครเข้าไปอยู่อาศัยกัน อาศัยกันน้อยมาก

ภาพซ้ายจะอยู่ที่ไชยบุรี เป็นกลุ่มยอ คนสกลจะพูดเนิบ ๆ เพราะ ๆ เป็นกลุ่มยอหมด พื้นที่ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญในเรื่องของพระยอดเมืองขวาง รัชกาลที่ 5 เรื่องการเสียดินแดน ลึกไปเรื่องของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 3 คนยอมาจากเมืองหงสา หงสาติดกับน่าน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผู้คนที่สกลนครและทางนครพนม

ศรัณย์ บุญประเสริฐ บรรณาธิการบทความหนังสือลุ่มน้ำสงคราม The Mekong’s Womb และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เล่าเพิ่มเติมว่า สงคราม ภาษาอีสานก็คือ ดงไม้ สงเปื่อย คือดงต้นตะแบก  สงยาง ก็คือดงต้นยาง สงครามคือดงของต้นคราม แต่คนอีสานเขาไม่ออกเสียงว่า ร ด้วยซ้ำไป ก็คือดงคามนั่นเอง

ปัจจุบันนี้เราอาจจะใช้ครามน้อย สมัยก่อนใช้ย้อมผ้า มันเป็นตระกูลเดียวกับต้นฮ่อมทางเหนือที่ทำเสื้อม่อฮ่อม แต่ทุกวันนี้ตลาดคราม แห่งผลิตครามที่ใหญ่ที่สุดและสนับสนุนตลาดในประเทศไทยมาจากอำเภออากาศอำนวยในเขตลุ่มน้ำสงคราม ชาวบ้านก็มีความเชื่อว่าต้นครามต้องเก็บเวลาไหน เช้ามืดขนาดไหน

ส่วนบุ่งกับทาม ชาวบ้านมักจะแยกกัน บุ่งคล้ายกับบึงพื้นที่ที่มันจะมีน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าน้ำมันจะมีการขึ้นลงตามระดับน้ำของในแม่น้ำ เพราะว่าบุ่งมันเชื่อมกับน้ำหลักผ่านตามน้ำใต้ดิน แต่ถ้าบึงบางครั้งมันจะไม่เชื่อมเลยจะขึ้นลงตามน้ำฝน

คราม คือป่าบุ่ง คือน้ำ ลักษณะของทามเป็นป่าที่มีน้ำท่วมระยะเวลาหนึ่งของปี ทีนี้ ถ้าพูดถึงความจำกัดความของป่าทาม ตอนนี้ยังมีหลายแบบ นักวิชาการป่าไม้ไทยบางคน ใช้คำว่า “Seasonal flooded forest“ ป่าน้ำท่วมตามฤดูกาล แต่ถ้าในกัมพูชารอบ ๆ โตนเลสาบ เขาใช้คำว่า “Freshwater swamp forest“ ก็คือป่าบึงน้ำจืด แต่จริง ๆ ผมคิดว่าป่าทามไม่ควรเรียกว่า “Swamp forest“ น้ำมันจะคล้าย ๆ กับพลุ น้ำมันจะต้องมีตลอดปี

เราจะเห็นว่าแม่น้ำสงครามมันโค้ง ๆ โค้งไปโค้งมา จริง ๆ แม่น้ำในอีสานจะเป็นรูปแบบนี้ โค้งแทบจะเป็นอักษร O เลย นี่คือลักษณะของลำน้ำในพื้นที่ราบที่มีระดับความสูงต่ำไม่ห่างกันมาก

น้ำมีหน้าที่เดียวคือไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำออกทะเลให้เร็วที่สุดยิ่งเร็วยิ่งดี ทีนี้ถ้าน้ำเปรียบเหมือนรถที่มีมากมันก็ยิ่งติด รถติดเราแก้ปัญหาอย่างไร ก็คือสร้างพื้นที่ให้รถมันวิ่งให้มันมากขึ้น ตัดถนนให้มันมากขึ้น เช่น เดียวกันในฤดูน้ำ น้ำจะออกมามากทำให้ในพื้นที่ราบน้ำออกไม่ทัน

แน่นอนว่าลำนำในอีสานเกือบทั้งหมดมาลงในแม่น้ำโขง แต่พื้นที่อีสานส่วนใหญ่มันค่อนข้างราบ และจะเทจากตะวันตกไปตะวันออกลงแม่น้ำโขงเกือบหมด แต่มันค่อย ๆ เทเพราะมันไม่ได้ชันมาก ยิ่งในฤดูน้ำเยอะ ต้องหาพื้นที่ให้น้ำมากขึ้น เพราะฉะนั้นแม่น้ำมันก็ยาวขึ้น ทำตัวเองให้ยาวขึ้น ด้วยการโค้ง โค้งเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับต้วงรับน้ำตรงนี้ได้มากขึ้นก็จะเกิดแม่น้ำที่โค้งไปโค้งมา

ทีนี้พอมีการพัฒนาการของภูมิประเทศ ในบางปีที่น้ำไม่มากบางครั้งมันจะไม่ไปตามเส้นโค้งมันจะตัดตรงกิ่ว มันก็จะเกิดลำน้ำสายใหม่ตัดขึ้นมาอีกที ตรงที่โดนตัดพอนานไปมันก็จะกลายเป็นแผ่นดินตรงส่วนโค้งมันก็จะกลายเป็นแม่น้ำด้วน ซึ่งคนอีสานจะเรียกว่ากุด กุดคือแม่น้ำเก่า ซึ่งสมัยก่อนในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาก็มี เช่น ตรงเกาะเกร็ดเป็นต้น เดิมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเก่า หรือบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ก็เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าแต่ตรงนั้นคนขุดเพราะมันอ้อม พอมันอ้อมมากก็ขุดตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็ขุดคลองลัด เราก็เรียกว่ารัดบางกอกบ้าง รัดเกาะเกร็ดบ้าง และตัวแม่น้ำเจ้าพระยาเก่าเราก็เรียกเป็นคลองอ้อมเกร็ดเหมือนกัน เพียงแต่ในอีสานจะเยอะมากเพราะพื้นที่อีสานค่อนข้างราบ

ส่วนในมุมมองการจัดการภาครัฐ พัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มองว่า น้ำคือชีวิต และเป็นภารกิจของพวกเราทุกคนที่จะช่วยกันดูแลรักษา แต่ก่อนที่จะไปในเรื่องของแผนงานภาครัฐในลุ่มน้ำสงคราม จะขอเกริ่นนำในห้วงสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของน้ำแล้ง น้ำท่วมหรือคุณภาพของน้ำ ทั้งในแง่ของน้ำเค็มรุก ทั้งในแง่ของน้ำเสีย ก็ได้มีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ถือเป็นกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีเจตนารมณ์เพื่อบูรณาการ ทั้งในมิติของผู้คน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงบูรณาการเรื่องของทรัพยากรน้ำ นั่นหมายถึงตั้งแต่การจัดสรรการใช้การพัฒนาการบำรุงรักษาการอนุรักษ์และการฟื้นฟู รวมอยู่ในพระราชบัญญัติเล่มนี้

โดยหลัก ๆ แล้วพระราชบัญญัตินี้จะกล่าวถึงในเรื่องขององค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คำว่าทรัพยากรน้ำ จะหมายถึง ตัวน้ำเองและสิ่งที่น้ำบรรจุอยู่ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นและเป็นที่เป็นธรรมชาติ ส่วนทรัพยากรน้ำสาธารณะ หมายถึง น้ำที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

พ.ร.บ. นี้มีในเรื่องขององค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตั้งแต่ในระดับเล็กที่สุด คือองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะประกอบไปด้วย คนที่ใช้น้ำที่อยู่ใกล้เคียงกันรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ขององค์กรเอง เพื่อที่จะมีเสียงสะท้อนต่อไปยังระดับนโยบาย ขยับขึ้นมาคือระดับของพื้นที่ลุ่มน้ำก็คือกรรมการลุ่มน้ำ แล้วก็ขยับขึ้นมาสู่ระดับนโยบาย ก็คือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  

หากพูดถึงในระดับแรกสุดคือองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน 30 คน จดทะเบียนเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำใช้ประโยชน์ร่วมกัน รักษาผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มนั้น เป็นองค์กรที่ถูกใช้ พ.ร.บ.น้ำนี้ จะแบ่งเป็นภาคเกษตร พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ประโยชน์ขององค์กรผู้ใช้น้ำนอกจากรวมตัวกัน เพื่อรักษาการใช้การพัฒนาในพื้นที่ที่ตัวเองดูแลอยู่แล้ว ส่วนนึงจะส่งผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำในบอร์ดของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

บอร์ดของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะประกอบไปด้วยสองส่วนคือ ส่วนของภาครัฐและส่วนของภาคประชาชนสัดส่วนเท่า ๆ กัน เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ต้องการให้มีสัดส่วนของภาคประชาชน และภาครัฐใกล้เคียงกัน

ประชาชนมาจากไหน มาจากองค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ และมาจากตัวแทนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่ขับเคลื่อน กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ทำเรื่องของแผน ทำเรื่องของการแก้ไขภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ทำเรื่องของการให้อนุญาตใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำตัวเอง

หลังจากนั้นในกรณีที่มีข้อพิพาทก็ยังไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกัน ในการกำหนดการ หรือการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำต่าง ๆ ในกรณีที่มีการผันน้ำระหว่างลุ่ม ในกรณีที่ข้ามลุ่มน้ำ ก็จะมีการเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการทรัพยากรลุ่มน้ำแห่งชาติ  

คณะกรรมการทรัพยากรลุ่มน้ำแห่งชาติจะดูในเรื่องของนโยบายแผนแม่บททรัพยากรน้ำแห่งชาติของประเทศ คณะกรรมการทรัพยากรลุ่มน้ำแห่งชาติ ท่านนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน ประกอบไปด้วยท่านผู้แทนจากในระดับปลัดกระทรวง

“ณ ตอนนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำของเรา หลังจากที่ได้มีการกำหนดเป็น 22 ลุ่มน้ำแล้ว อยู่ในระหว่างการจัดตั้ง เรายังไม่มีคณะกรรมการลุ่มน้ำในขณะนี้ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นมาอีกสองเดือนข้างหน้า เดือนเมษายน 65”

ตอนนี้เราได้ผู้แทนจากภาคประชาชนครบทุกภาคส่วนแล้ว กำลังจะได้คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งเมื่อได้คณะกรรมการลุ่มน้ำแล้ว คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นชุดเดิมอยู่จะมีการปรุบปรุงชุดนี้ใหม่ ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีประมาณหกกระทรวง, สำนักงานสภาพัฒน์, สำนักงาน กปร., สำนักงบประมาณ รวมทั้งผู้แทนจากกรรมการลุ่มน้ำที่เป็นภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในบอร์ดนี้ด้วยอีก 6 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำด้วย อันนี้จะเป็นในเรื่องของการมีส่วนร่วมที่จะบริหารจัดการ

ส่วนที่ผ่านมาในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างในหน่วยงานภาครัฐ สภาพปัญหาที่เราได้รับข้อมูล เรื่องของน้ำท่วม เรื่องของน้ำแล้งเรื่องของคุณภาพน้ำ เพราะฉะนั้นเรื่องของป่าบุง ป่าทามที่ลดน้อยถอยลง แนวทางในการแก้ไขปัญหา เราก็จัดโซนนิ่งเป็นโซนที่น้ำท่วม น้ำแห้งซ้ำซากเกิดเป็นประจำที่ค่อนข้างเยอะบ่อย ๆ

เหนือขึ้นไปก็จะเป็นพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง เลยจากลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ก็จะเป็นพื้นที่ที่แล้งซ้ำซาก น้ำท่วมอาจจะมีไม่มาก เหนือขึ้นไปอีกก็จะเป็นโซนที่แล้งไปแล้ว

โซนที่ 4 ก็จะเป็นพื้นที่โครงการพระราชทานน้ำอูน ที่มีการส่งน้ำโดยกรมชลประทาน และโซนห้าจะเป็นพื้นที่สงวนและอนุรักษ์ต้นน้ำธรรมชาติ จากการจัดโซนนิ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามรวมถึงมีแผนงานโครงการ ภายใต้พื้นที่เหล่านี้ ประมาณ 28 แผนงาน ซึ่งจะรวมถึงตั้งแต่การใช้การพัฒนา การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูด้วย รวมเบ็ดเสร็จอยู่ในแผนงาน

โดยแผนงานจะแบ่งออกเป็น 8 ด้านด้วยกัน ด้านแรกจะเป็นในเรื่องน้ำเพื่อการผลิตเพื่อการบริโภค ด้านที่สองก็คือเรื่องของการป้องกันน้ำท่วม ด้านที่สามเป็นเรื่องของคุณภาพน้ำ ด้านสี่เรื่องของป่าต้นน้ำและการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน ห้า เรื่องของการบริหารจัดการ อีกสองสามด้านที่เหลือเป็นในเรื่องของการอนุรักษ์การประมงท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามแผนงานต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องผ่านกระบวนการ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ผ่านกระบวนการพิจารณาของตั้งแต่อนุกรรมการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ กว่าที่จะได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการจะต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม ทุกอย่างจะต้องมีกระบวนการการวิเคราะห์และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่  

ขณะที่ตัวแทนภาคประชาสังคม อ้อมบุญ ทิพย์สุนา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ให้ความเห็นเพิ่มว่า เรื่องของการมองแผนการพัฒนา สทนช. เราจะเห็นว่าภาพทั้งหมด มองแค่มิติเดียว ซึ่งทางสมาคมเครือข่ายพี่น้องประชาชนเป็นห่วงมาก มองน้ำเป็นเรื่องน้ำท่วม เป็นเรื่องน้ำแล้ง ในน้ำมีปลา ในน้ำมีเตาเผา ในน้ำมีเกลือ ในน้ำมีวิถีวัฒนธรรม แม่น้ำสงครามมีแหล่งท่องเที่ยว มีแพท่องเที่ยว แม่น้ำสงครามมีพืชพันธุ์อาหาร มีพืชพันธุ์ไม้น้ำ มีปลาไม่รู้กี่ร้อยชนิด พวกนั้นได้ถูกนำมามองประกอบในการจัดทำแผนโซนนิ่งบ้างหรือเปล่า

ที่ผ่านมาเห็นโครงการพัฒนาที่ทางหน่วยงานคิดและออกแบบ ชาวบ้านมีส่วนร่วมน้อยและก็ขาดมิติการมองเรื่ององค์รวมแถบทั้งตัวแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำ

“ย้ำว่าเรื่องของแม่น้ำไม่ควรสับออกเป็นชิ้น ๆ เป็นท่อน ๆ แม่น้ำต้องไหลอย่างอิสระ”

แม่น้ำโขง 60 ล้านคนที่ใช้แม่น้ำโขงรวมกันหกประเทศ ตอนนี้แม่น้ำสงครามมีประตูระบายห้วยทราย เขตรอยต่อของอำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย เขตอนุรักษ์แถวนั่นเริ่มมีปัญหาหมด เพราะเวลาเปิดปิดของน้ำ  

ในเรื่องของการมององค์รวมยังเป็นเรื่องที่จำเป็น ขอฝากทิ้งท้ายว่าตอนนี้แม่น้ำสงครามมันเป็นเหมือนสนามรบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และก็เฉพาะแรมซาไซต์ยังคงไม่พอ ต้องพูดเรื่องสิทธิของแม่น้ำแล้ว เหมือนแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนาในอินเดียด้วย  

รับชมย้อนหลังวงเสวนา เสวนาคน-เขื่อน-โขง และลุ่มน้ำสงคราม, The Mekong’s Womb

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ