จับตาอ่าวระยอง กับข้อพิจารณาทางกม. หลังผู้ก่อมลพิษจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น?

จับตาอ่าวระยอง กับข้อพิจารณาทางกม. หลังผู้ก่อมลพิษจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น?

จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้กว่า 1 เดือนกว่า ๆ ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีแนวทางฟื้นฟูทะเล และเยียวยาชาวบ้านที่ชัดเจน จากบริษัทหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีเพียงการจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 45,000 บาท ต่อเรือประมงหนึ่งลำ โดยบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่บอกว่าการรับเงินครั้งนี้ จะไม่มีข้อผูกพัน เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับกลุ่มประมงท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

กลุ่มชาวประมงทยอยมารับเงินกันตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตของสมาชิกชาวประมงที่เข้าไปรับเงิน ว่าหนังสือรับเงินที่เซ็นกับทาง SPRC อาจถูกตีความได้ว่าเป็นการรับค่าเสียหายทั้งหมดแล้ว

ทางกลุ่มสมาชิกประมงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว จึงมีข้อเสนอปรับใบรับเงิน ที่ควรจะมีข้อความเขียนเพิ่มเติม ดังนี้

ข้าพเจ้า นาย/นาง/นางสาว……………………. ได้รับเงินค่าเสียหายกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลในอ่าวระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 จากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน…….บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ได้รับความเสียหาย โดยข้าพเจ้ายังคงสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้บริษัทผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้นต่อไป

ในมุมมองของ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ชี้ว่าหนังสือฉบับนี้ตีความได้หลากหลาย และอาจกลายเป็นการตัดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นมากไปกว่านี้ในอนาคตได้

“ขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายอันแท้จริง อันเป็นผลเนื่องมาจากเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเล ข้าพเจ้าตกลงยอมรับเงินจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าและบุคคลที่เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ดังกล่าว”

ทนายความ ส.รัตนมณี พลกล้า ระบุว่า หากดูจากข้อความนี้ เท่ากับว่า คนลงชื่อ ตกลงยอมรับเงินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อตัวเองและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง นั่นอาจจะหมายถึงว่า ยอมรับเงินตามจำนวนเท่านี้ ที่เกิดความเสียหายขึ้น ไม่ว่าจะเสียหายมากน้อยเท่าใด อาจจะกลายเป็นตัดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นมากไปกว่านี้ในอนาคตได้ เพราะข้อความมันผูกมัดว่า ตกลงยอมรับเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบ และยังมีผลผูกพันถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น คนในครอบครัวของคน ๆ นั้นด้วยหรือไม่

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

หากบริษัทจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา และเห็นว่าควรจะต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบ บริษัทก็ควรจะใช้คำว่าเป็น “การเยียวยาเบื้องต้น” เพราะความเสียหายยังไม่อาจคำนวณได้ว่า จะเสียหายมากไปกว่านี้หรือไม่ และต้องไม่มีคำว่า “บุคคลที่เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ดังกล่าว” เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าความหมายกว้างเพียงใด และจะมีใครได้รับผลกระทบอย่างไร หากประชาชนจะไปรับเงินเยียวยานี้ ก็ควรจะต้องเพิ่มว่า “เป็นการเยียวยาเบื้องต้น ไม่ตัดสิทธิเรียกร้องหากมีความเสียหายเกิดขึ้นมากกว่าที่รับเงินไปในวันนี้”

ส.รัตนมณี พลกล้า กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตามไม่ใช่กลุ่มประมงทุกกลุ่ม ที่เข้ารับเงินเยียวยาดังกล่าว เพราะมองว่า สถานการณ์ทะเลยังไม่ดีขึ้น และยังพบปัญหาทุกวัน อย่างตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่าน ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ก็ร่วมกันจับตา จับภาพความผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้งในทะเลและริมชายหาด ทรัพยากรที่เลี้ยงปากท้องของพวกเขา พบทั้งเต่าที่ตายแบบผิดปกติ ริมหาดมีก้อนดำ ๆ ลอยขึ้นมาติด และในทะเลยังเป็นสีดำจากคราบน้ำมัน

ภาพนี้ก็กำลังสะท้อนว่าน้ำมันยังคงไหลลงสู่ทะเลไม่หยุด อาจเพราะจากการเก็บน้ำมันจากท่อเดิมที่เคยรั่วไป และย้อนกลับมาที่คำถามแรกที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องการข้อมูลที่ชัดเจนตั้งแต่เมื่อครั้งน้ำมันรั่วครั้งแรก คือตอนนี้ น้ำมันไหลลงไปทะเลเท่าไร เพราะนั่นจะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปสร้างระบบการฟื้นฟู การคำนวณการเยียวยา สู่แผนการฟื้นฟูต่อไป

คุณก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับชาวประมงในการร่วมจับตา ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง จากคราบน้ำมันในทะเลอาจมีการเคลื่อนตัวหรือตกค้างส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ 5 ขั้นตอน

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันค้นหา C-site (ไลน์กดเพิ่มเพื่อนค้นหา @csite)
  2. สมัครสมาชิกครอบครัว C-site
  3. โพสต์ข่าว
  4. พิมพ์รายละเอียด / โลเคชัน/ใส่รูปภาพ
  5. กดโพสต์ข่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ