บทสัมภาษณ์ขนาดสั้นของนักสื่อสารแรงงาน ระหว่าง “สมหมาย ประไว” และเพื่อนแรงงานย่านแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ในวันที่ทุกคนพูดถึงแต่เรื่องเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง คำถามก็คือ ในมุมมองของกลุ่มแรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศนั้น เขามองเรื่องการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้อย่างไร
คนแรก “มาลัย ชลธี” พื้นเพเป็นคน จ.อุบลราชธานี แต่มาอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ชลธีเป็นพนักงานผลิตยางรถยนต์แห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
+มาทำงานที่นี่กีปีแล้วครับ
9 ปี
+เลือกตั้งครั้งนี้จะไปใช้สิทธิไหม
ไม่ไปครับ
+มีเหตุผลอะไรที่เราไม่ไปใช้สิทธิในครั้งนี้
เพราะไกลและต้องทำงาน
ระยะทางไป 650 กิโล เลือกแล้วไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ความวุ่นวายก็คงมีต่อ แล้วไปแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายสูง แค่ค่าเดินทางก็ประมาณ 1,500 บาท แต่การไปแต่ละครั้งหมดอย่างต่ำก็ 5-6 พันบาท
+เห็นด้วยกับการเลือกตั้งหรือไม่
เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่ไกล เบื่อ วุ่นวาย เลยอยู่เฉยๆ อยากให้ชัดเจน อยากให้ปฏิรูปการเมือง
+มีข้อเสนอแนะอย่างไร
ถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้รัฐบาลให้เราเลือก ส.ส. ในพื้นที่ เพราะเราอยู่ที่นี่มานเรารู้จักแต่ ส.ส. ที่นี่ ถึงแม้ว่าสิทธิของเราอยู่ต่างจังหวัดก็จริง แต่เรามาทำงานที่นี่นานแล้ว แต่เราไม้ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาแค่นั้นเอง การเดินทางก็ลำบาก มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งเราก็ไม่รู้ว่า ส.ส. ที่เราไปเลือกนั้นเป็นใคร เราอยากเลือก ส.ส.ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ เลือกพร้อมกับชุมชนในเขตที่ตัวเองอาศัย ไม่ต้องไปเลือกตามอำเภอ หรือจังหวัด อยู่ที่ไหนก็เลือก ส.ส. ที่นั่น เพราะเรารู้และเราเห็นการทำงานของ ส.ส. ในพื้นที่
////////////////////////////
“ณรงค์ศักดิ์ เขียวเล็ก” ชาว จ.นครศรีธรรมราช พนักงานระดับฝ่ายบริหารของโรงงานผลิตยางรถยนต์ชื่อดังในอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และนี่คือคำถาม/คำตอบขนาดสั้น ทว่าแฝงด้วยมุมมองขนาดขนาดยาวที่อยากเห็นการเมืองไทยพัฒนา
+มาทำงานที่นี่กี่ปีแล้วครับ
21 ปี
+การเลือกตั้งครั้งนี้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือเปล่าครับและใช้สิทธิเลือกตั้งที่ไหน
ไปครับ ในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่งและเป็นหน้าที่ของประชาชน ส่วนจะใช้สิทธิอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ตัวผมเลือกที่ชลบุรีนี่แหละครับเพราะผมซื้อบ้านและย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ที่นี่ครับ
+ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ มีมุมมองอย่างไร
มุมมองขณะนี้ผมไม่เห็นด้วยกับปัญหา และความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ไม่เห็นด้วยกับระบบสุเทพ และระบบทักษิน พวกเรารักในหลวง
+ทำไมถึงคิดอย่างนั้นครับ
เรารักในหลวงเรารักพระมหากษัตริย์ หากมองย้อนไป องค์มหาราชันย์ของเราแต่ละยุคแต่ละราชการ ล้วนแต่เป็นผู้สร้างประเทศ ผู้กอบกู้ประเทศ ทรงเสียสละเพื่อราษฎร เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ พระองค์ทรงนำพาประเทศรอดพ้นภัยพิบัติทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง และผมไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิน เนื่องจากว่ารัฐบาลพากันเดินตามระบอบทักษิน ทำไมผมถึงพูดอย่างนั้น
ผมยอมรับเลยนะครับว่าเลือกตั้งคราวก่อนๆ ผมเลือกทักษิน เพราะนโยบายเขาดีมาก และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ แต่มาพักหลังนี่ มีการพยายามที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจและเรื่องของพลังงาน เรื่องของระบบสื่อสาร เรื่องการรวบรวม ส.ส. ในแต่ละพื้นที่มาอยู่ในสังกัดตนเองว่าจะด้วยวิธีไหน ส่อให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลและเกิดกระแสการทุจริตคอรัปชั่น ดังที่เราเห็นชัดเจนในปัจจุบัน เช่นเรื่อง การโกงการรับจำนำข้าว หรือเรื่องของพลังงานน้ำมัน
+แล้วประเด็นเรื่องของการเดินทางไปเลือกตั้งสำหรับคนงานที่อยู่ต่างจังหวัดพี่มีความคิดเห็นอย่างไร
ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการที่ให้คนงานกลับไปเลือกตั้งที่พื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง รัฐควรเปิดศูนย์ตามแหล่งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ให้พวกเขาเลือก ส.ส.ที่ศูนย์ฯนั้นๆหรือตามที่อยู่ที่เขาอาศัยอยู่ เพราะการเดินทางแต่ละครั้งของคนทำงานนั้นมีความยากลำบาก ทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีผลกระทบต่อนายจ้างด้วย
+หลายๆ คนมีความเห็นว่าการไปเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต่างจังหวัดนั้น บางคนให้ความเห็นว่าคนงานไม่เคยสัมผัสและไม่เคยรับรู้หรือรู้จักเลยว่า ส.ส. แต่ละคนที่ลงสมัครนั้นเป็นคนอย่างไร เป็นคนดีหรือทำคุณประโยชน์ให้กับประชาชนจริงหรือไม่อีกทั้งไปเลือกแล้วคนงานก็ไม่ได้อยู่ในถิ่นนั้นๆ ต้องกลับมาทำงานเหมือนเดิม
เป็นไปไม่ได้ครับ หากเราจะเลือกตั้งเราต้องศึกษาและต้องรู้ว่าใครลงสมัครและมีนโยบายอะไรบ้าง ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราและสิทธิของเราที่จะต้องเลือกคนที่เราต้องการเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ ครับ