สิ่งแวดล้อมโลกจะไปทางไหน สำรวจผ่านการประชุม COP26

สิ่งแวดล้อมโลกจะไปทางไหน สำรวจผ่านการประชุม COP26

แม้จะเปิดเวที COP26 คุยกันเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม มีผู้นำประเทศเดินทางไปร่วมประชุมเกือบครบ แต่เมื่อต้องร่วมลงนามในข้อตกลงสำคัญๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายประเทศ แต่ปรากฏว่าประเทศที่เป็นตัวหลักในการแก้ปัญหานั้น ๆ ได้กลับไม่ลงนามเสียอย่างนั้น Rocket Media Lab ชวนไปดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นในการประชุม COP26 แล้วประเทศไหนบ้างที่ลงนาม และไม่ลงนาม 

000

การประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ซึ่งจบลงไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการหารือและร่วมลงนาม เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังต้องเผชิญ 

Rocket Media Lab ลองหยิบข้อตกลงใหญ่ ๆ 4 ข้อมาดูในรายละเอียด 

ยุติการทำลายป่า – จาก 197 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม มี 140 ประเทศร่วมลงนามในข้อตกลง Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use เพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใน 2030 

ทั้งนี้ ประเทศที่ลงนาม 140 ประเทศ มีการสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติ/พื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ในปี 2020 รวมกัน 218,932.27 ตร.กม. คิดเป็น 93% (ไม่ปรากฏข้อมูล 9 ประเทศ) และประเทศที่ไม่ลงนาม 57 ประเทศ มีการสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติ/พื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ในปี 2020 รวมกัน 16,069.86 ตร.กม. คิดเป็น 7% (ไม่ปรากฏข้อมูล 22 ประเทศ) 

โดยประเทศที่สูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติ/พื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้มากที่สุด ในปี 2020 ใน 5 อันดับแรก (รวม 138,500 ตร.กม.) คือ รัสเซีย (54,400 ตร.กม.) บราซิล (32,000  ตร.กม.) ออสเตรเลีย (23,100 ตร.กม.) สหรัฐอเมริกา (15,900 ตร.กม.) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (13,100 ตร.กม.) ร่วมลงนามทั้งหมด ขณะที่ไทยซึ่งสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติ/พื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ 1,190 ตร.กม. ไม่ได้ร่วมลงนาม

จะเห็นได้ว่าในประเด็นเรื่องการทำลายป่าไม้ ประเทศส่วนใหญ่ลงนามในข้อตกลงเพื่อผลักดันให้เกิดการยุติการทำลายป่า และเป็นข้อตกลงใหญ่ในการประชุม COP26 ที่มีการลงนามร่วมมากที่สุด ที่สำคัญประเทศที่เผชิญปัญหาการสูญเสียป่าไม้จากการทำลายป่าในลำดับต้นๆ ของโลกลงนามร่วมในข้อตกลงนี้ทั้งหมดเช่นเดียวกัน (ดูเพิ่มเติมที่นี่)

ลดการปล่อยมีเทน – จาก 197 ประเทศ มี 105 ประเทศร่วมลงนามใน Global Methane Pledge เพื่อลดการปล่อยมีเทน ลง 30% ในปี 2030

แม้จำนวนประเทศที่ลงนามกับไม่ลงนามจะมีสัดส่วนต่างกันไม่มาก แต่จากข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนในปี 2020 จะพบว่า 105 ประเทศที่ร่วมลงนาม มีการปล่อยก๊าซมีเทนคิดเป็นเพียง 42.4% ของทั้งโลก (ไม่ปรากฏข้อมูล 71 ประเทศ) ส่วน 92 ประเทศที่ไม่ได้ลงนาม พบว่าปล่อยก๊าซมีเทน 55.8% ของทั้งโลก (ไม่ปรากฏข้อมูล 61 ประเทศ) โดยเมื่อดูไปที่ 5 อันดับแรกของประเทศที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากสุด จะพบว่า มีสัดส่วนมากถึง 54% ของทั้งโลก ได้แก่ รัสเซีย (14,804 กิโลตัน) สหรัฐอเมริกา (12,311 กิโลตัน) อิหร่าน (6,360 กิโลตัน) อิรัก (4,284 กิโลตัน) เติร์กเมนิสถาน (3,543 กิโลตัน) ซึ่งกลับไม่มีใครลงนามเพื่อลดการปล่อยมีเทนเลยนอกจากอิรัก ส่วนไทยที่ปล่อยมีเทน 288 กิโลตัน ก็ไม่ได้ลงนามเช่นกัน

ทั้งนี้ เครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดก๊าซมีเทน (Global Methane Pledge) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในการประชุม COP26 นำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา โดยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ที่ผ่านมาก๊าซมีเทนอาจไม่ได้รับความสนใจมากนักเมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนในฐานะที่เป็นก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามมีงานศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นที่ชี้ให้เห็นว่า ควรจะให้ความสำคัญกับการควบคุมก๊าซมีเทนซึ่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์บอนด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ชี้ให้เห็นว่าก๊าซมีเทนถูกปล่อยออกมาในปริมาณมากจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งจากภาคเกษตรกรรม และข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)  ระบุว่า มีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสนับจากจากทศวรรษ 1850 

หนุนพลังงานหมุนเวียน – จาก 197 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม มี 88 ประเทศร่วมลงนาม Green Grids Initiative – One Sun One World One Grid: ONE SUN DECLARATION  มีเป้าหมายเพื่อส่งมอบพลังงานสะอาดที่เพียงพอต่อความต้องการของทุกคนบนโลก โดยจะลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ 

จากข้อมูลปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2019 จะพบว่า ประเทศที่ลงนาม 88 ประเทศ ผลิตได้รวมกัน 2,145,492 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือแค่ 31% ของทั้งหมด (ไม่ปรากฏข้อมูล 1 ประเทศ) ขณะที่อีก 109 ประเทศที่ไม่ลงนามว่าจะช่วยกันผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ผลิตได้มากกว่าเท่าตัว คือ 4,799,808 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 69% (ไม่ปรากฏข้อมูล 6 ประเทศ)  

ขณะที่ 4 ประเทศท้ายตารางที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้น้อยที่สุดในโลก อยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ได้แก่ ซูดานใต้ นาอูรู บรูไน และจิบูตี กลับร่วมลงนามเกือบหมดยกเว้นเพียงบรูไนเท่านั้น ขณะที่ไทยที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 47,243 กิกะวัตต์ชั่วโมงไม่ได้ลงนามด้วย

ทั้งนี้ Green Grids Initiative – One Sun One World One Grid: ONE SUN DECLARATION (GGI-OSOWOG) ริเริ่มโดยนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียในการประชุมพันธมิตรพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศ (ISA) ในปี 2018 ต่อมารวมกับ Green Grids Initiative (GGI) สหราชอาณาจักรนำโดยบอริส จอห์นสัน โครงการนี้ตั้งเป้าไปที่การสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 24 ชั่วโมง และส่งไปยังพื้นที่ซึ่งต้องการไฟฟ้า

หยุดพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน – จาก 197 ประเทศ มี 45 ประเทศ ร่วมลงนาม Global Coal to Clean Power Transition Statement โดยตกลงร่วมกันที่จะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาด ยกระดับเทคโนโลยีและนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน รวมถึงหยุดออกใบอนุญาตและหยุดสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอน และภาครัฐหยุดสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าถ่านหิน

ทั้งนี้ เมื่อดูข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินในปี 2020 ของ 45 ประเทศที่ร่วมลงนาม พบว่าทั้งหมดใช้ไป 11% ของทั้งโลกเท่านั้น (ไม่ปรากฏข้อมูล 14 ประเทศ) ขณะที่ 152 ประเทศที่ไม่ร่วมลงนามนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินไปถึง 85.80% (ไม่ปรากฏข้อมูล 112 ประเทศ) 

และเมื่อดูเจาะไปที่ 5 อันดับแรกของประเทศที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินมากสุดในปี 2020 ซึ่งใช้รวมกันถึง 77.30% ก็พบว่าไม่มีใครร่วมลงนามเลย ทั้ง จีน  (54.30%) อินเดีย (11.60%) สหรัฐฯ (6.10%)

 ญี่ปุ่น (3.00%) และ แอฟริกาใต้ (2.30%) ส่วนไทยซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน 0.5% ไม่ได้ร่วมลงนามเช่นกัน

โดยสรุปจาก 197 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม COP26 มี 13 ประเทศที่ลงนามทั้งสี่ฉบับที่ยกมา คือ แอลเบเนีย เบลเยี่ยม ไอวอรี่โคสต์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนปาล เนเธอร์แลนด์ เซเนกัล สหราชอาณาจักรและแซมเบีย ลงนามสามฉบับ 49 ประเทศ ลงนามสองฉบับ 65 ประเทศประเทศที่ลงนามเพียงฉบับใดฉบับเดียว 49 ประเทศ และมี 21 ประเทศที่ไม่ลงนามเลย คือ อัฟกานิสถาน แอนทีกาและบาร์บิวดา บาฮามาส บาห์เรน เบลารุส โบลิเวีย กาบูเวร์ดี หมู่เกาะคุก เกาหลีเหนือ เอริเทรีย อิหร่าน ลาว เลโซโท กาตาร์ หมู่เกาะโซโลมอน แอฟริกาใต้ ปาเลสไตน์ ทาจิกิสถาน ไทย ติมอร์-เลสเต และเยเมน

นอกจากข้อตกลงข้างต้น ยังมีข้อตกลงอื่นๆ อาทิ ผู้นำกว่า 40 ประเทศเห็นชอบในแผนที่เสนอโดยสหราชอาณาจักร ที่จะเร่งให้เกิดเทคโนโลยีสะอาดที่ราคาไม่แพงภายในปี 2030 ซึ่งรวมถึงยานพาหนะที่ปลอดมลพิษ ขณะที่สถาบันการเงินราว 450 แห่งตกลงที่จะสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

45 ประเทศรับปากว่าจะทำให้การทำฟาร์มมีความยั่งยืนมากขึ้นและลงทุนในแนวทางด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ 22 ประเทศลงนามในคำประกาศที่จะสร้างเส้นทางเดินเรือทางทะเลปลอดมลพิษ

สุดท้าย ที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลงด้านภูมิอากาศของโลกฉบับล่าสุดคือ ข้อตกลงกลาสโกว์ว่าด้วยการแก้ไขสภาพอากาศ (Glasgow Climate Pact) ที่ประเทศผู้ร่วมเจรจาทั้งหมดให้ความเห็นชอบเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงถ่านหินและพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในที่ประชุม COP มีข้อถกเถียงประเด็นการเลิกใช้พลังงานจากถ่านหินในแง่ที่ว่า ประเทศที่ยากจนกว่ามองว่า การเลิกใช้ถ่านหินไม่ยุติธรรมสำหรับตนเองที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศร่ำรวยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมานานแล้ว อินเดียซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีนให้เหตุผลว่า นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมชาติตะวันตกอื่นๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าต้องเลือกระหว่างการขาดแคลนพลังงานกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนเลือกพลังงานที่ถูก นอกจากนี้มีประเด็นว่าระหว่างการร่างข้อตกลง จีนและอินเดียต้องการแก้คำจากการยุติการใช้ถ่านหิน (phasing-out) เป็นค่อยๆ ลด (phasing-down) การใช้ถ่านหินแทน ซึ่งสุดท้าย ที่ประชุมเห็นชอบตามที่มีการทักท้วง

ไกลแค่ไหนจะใกล้ Net Zero

ก่อนหน้านี้ในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศต้องปรับแก้แผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) หรือ NDCs เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายในปี 2030  ทุก 5 ปี แต่ในการประชุมที่กลาสโกลว์ครั้งนี้ ได้ระบุให้แต่ละชาติปรับแผนถี่ขึ้น จากเดิมที่ต้องเสนออีกครั้งในปี 2025 เป็นเสนอในการประชุมปีถัดไปที่อียิปต์ เพื่อปรับแผนให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ แผน  NDCs ล่าสุดของแต่ละประเทศขณะนี้ มี 6 ประเทศที่ประกาศว่าตนเองประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว คือ เบนิน กายอานา ไลบีเลีย กัมพูชา มาดากัสการ์ และภูฏาน ขณะที่มี 4 ประเทศที่ประกาศแผนว่าจะสำเร็จเร็วที่สุดคือในปี 2030 คือ  กินี-บิสเซา มัลดีฟส์ บาบาโดส และบังกลาเทศ ส่วนปีที่มีประเทศประกาศว่าจะทำให้สำเร็จมากที่สุดคือ ปี 2050 โดยมีถึง 107 ประเทศ ส่วนไทยนั้นประกาศไว้ที่ปี 2065 และปีที่ไกลที่สุดที่มีการประกาศคือ 2070 โดยอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเป็นเจ้าของเป้าหมายนี้  

ข้อมูลจาก:

https://www.bp.com/en/global/corporate/energy-economics/statistical-review-of-world-energy.html
https://www.globalforestwatch.org/dashboards/global/
https://www.iea.org/articles/methane-tracker-database
https://www.irena.org/Statistics/View-Data-by-Topic/Capacity-and-Generation/Country-Rankings
https://zerotracker.net/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ