ชื่อบทความเดิม: โครงการเหมืองแร่โพแทชอำเภอวานรนิวาส และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดสกลนคร [1]
บำเพ็ญ ไชยรักษ์
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
แหล่งแร่โพแทชวานรนิวาส ในเขตจังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานซึ่ง พบว่ามีหมวดหินมหาสารคามอยู่ทางด้านเหนือของพื้นที่เป็นแอ่งถัดจากเทือกเขาภูพานเป็นต้นมา นักสำรวจทางธรณีวิทยาเห็นว่าในพื้นที่อำเภอวานรนิวาสซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาภูพานเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการที่จะพบแหล่งโพแทช สอดคล้องกับผลจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2519 – 2520 ซึ่งเจาะสำรวจบริเวณนี้จำนวน 2 หลุมได้แก่ หลุมเจาะ K-48 และ K-55 ซึ่งมีข้อมูลว่าหลุมเจาะที่ K-48 เป็นหลุมเจาะที่พบแร่โพแทชชนิดซิลไวต์ที่เชื่อถือได้ และพบว่าชั้นแร่ซิลไวต์มีความหนามากว่า 19 – 20 เมตร (ปกรณ์ สุวานิช, 2550: 174 – 175) รายละเอียดดังตารางแสดงผลการเจาะสำรวจแร่โพแทชในท้ายบทความนี้
จากผลการเจาะสำรวจกรมทรัพยากรธรณีในหลุมเจาะที่ K-48 และ K-55 พบว่าแนวโน้มที่จะพบแหล่งแร่โพแทชชนิดซิลไวต์จะอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอำเภอวานรนิวาส ตามทฤษฎีการเกิดแหล่งแร่ซิลไวต์ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณไหล่โดมเกลือ และมีปริมาณเพียงพอที่จะประกอบการทำเหมืองได้ เพราะไหล่โดมเกลือมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง (ปกรณ์ สุวนิช, 2550 : 181) จากการประเมินชั้นหินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาจากหลุมเจาะ K-48 และ K-55 พบว่าชั้นหินทุกชั้นในหมวดหินมหาสารคามค่อนข้างจะเทียบเคียง (Conform) กันได้ทั้งหมดยกเว้นชั้นแร่ซิลไวต์ที่พบในหลุม K-48 เป็นชั้นแร่ซิลไวต์ชั้นล่าง(Lower Sylvite) ทำให้สามารถมองได้ว่าโครงสร้างของโดมเกลือที่น่าสนใจควรจะอยู่ทางใต้ของตัวอำเภอวานรนิวาสและมีแนวอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ
ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาโครงการเหมืองแร่โดยนักลงทุนจีน
ปัจจุบันนี้โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดสกลนคร โดย บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแหล่งแร่เพื่อพัฒนาเหมืองแร่ในเชิงพาณิชย์ในต้นปี2558 โดยสามารถลำดับความเคลื่อนไหวของโครงการดังนี้เป็นระยะนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจแร่ดังนี้
ปี 2519 – 2520 กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการเจาะสำรวจแร่ที่ อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม และอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พบแร่โพแทชชนิด Carnallite และ Sylvite
6 กุมภาพันธ์ 2522 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้พื้นที่แอ่งสกลนครและแอ่งโคราชเป็นพื้นที่เพื่อการสำรวจ ทดลอง ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
ปี 2539 กรมทรัพยากรธรณีมีความร่วมมือด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีกับกระทรวงธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี (Ministry of Geology and Mineral Resources) สาธารณรัฐประชาชนจีน (ปัจจุบันคือกระทรวงที่ดินและทรัพยากร หรือ Ministry of Land and Resources) ซึ่งระบุถึงเรื่องการพัฒนาแหล่งแร่โพแทชและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โดยมีการทำบันทึกการประชุมหารือร่วมกัน (MOM) โดยมีกรอบความร่วมมือด้านการสำรวจธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนขอมูลในการพัฒนาทรัพยากรธรณี การศึกษาวิจัย ซึ่งมีสาระเรื่องการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมปุ๋ย โดยเน้นด้านแหล่งทรัพยากรโพแทชในประเทศไทยและแหล่งทรัพยากรฟอสเฟตในสาธารณรัฐประชาชนจีน
2 เมษายน 2540 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ชักชวนให้จีนมาลงทุนโครงการเหมืองแร่โพแทชในไทย โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน
16 พฤษภาคม 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด[2] ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โพแทชใน อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ ประมาณ 120,000 ไร่
17 กันยายน 2547 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเปิดพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายบริษัทไชน่า หมิงต้า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัดและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันเริ่มลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่โครงการตามแผนการให้ความรู้ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ใต้ดินเพื่อเตรียมการประชาสัมพันธ์โครงการ
21 กันยายน 2554 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศกระทรวงอนุญาตให้ยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่จังหวัดสกลนครเป็นกรณีพิเศษเนื้อที่ประมาณ 187 ตร.กม. เรื่องนี้ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ประกาศดังกล่าวระบุว่าเป็นพื้นที่นี้มีศักยภาพแร่เพียงพอที่จะพัฒนานำแร่มาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับเป็นแร่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมควรเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์ยื่นคำขออาชญาบัตรแร่โพแทชเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ในแผนที่แนบท้ายประกาศดังกล่าวพบว่าการเปิดพื้นที่ให้สามารถยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่โพแทชนั้นครอบคลุมพื้นที่ 187 ตร.กม.
17 มีนาคม 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีเต็มคณะกับนายเวิน เจียเปานายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่มีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายลิว ซิกุย ผู้ช่วยรัฐมนตรีทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (State Oceanic Administration: SOA) ร่วมอยู่ในการหารือในครั้งนั้น
ในช่วงเวลาดังกล่าวสื่อมวลชนได้รายงานว่าฝ่ายจีนมีความเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีแร่โพแทชที่มีคุณภาพสูงและปริมาณมหาศาลแต่กลับไม่นำมาใช้ประโยชน์ เพราะแร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยที่สำคัญต่อขยายตัวของธุรกิจการเกษตรซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นความมั่นคงทางอาหารของโลก ที่ผ่านมาประเทศตะวันตกเป็นฝ่ายผูกขาดในการกำหนดราคาแร่โพแทช จนทำให้ประเทศผู้ใช้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงมาก จีนจึงต้องการแสวงหาแหล่งแร่โพแทชใหม่ ๆ อีกทั้งในปัจจุบันประเทศจีนขยับขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแร่โพแทชได้มากเป็นลำดับที่ 3 ของโลกโดยผลิตภายในประเทศเอง และใน สปป.ลาว
ทั้งนี้ แม้บริษัทของฝ่ายจีนจะมีความสนใจลงทุนเหมืองแร่โพแทชในภาคอีสานของไทยอย่างมากแต่กระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ของรัฐบาลไทยต้องล่าช้า[3] จนทำให้ฝ่ายนายกรัฐมนตรีของจีนได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือและขอให้ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกด้านข้อกฎหมายต่าง ๆ พร้อมทั้งขอให้สนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปพัฒนาแร่โปแตสเซียมในไทย
มกราคม 2558 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมต.ที่ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเหมืองแร่แห่งหนึ่งเพียง 12 วันก่อนจะมารับตำแหน่ง รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม) ลงนามในอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช ให้บริษัทไชน่า หมิ๋งตา โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด[4] พื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ประมาณ 100 ล้านตัน (อาชญาบัตรนี้ได้รับอนุมัติหลังจากที่นายส้าง หงหลิน อธิบดีกรมธรณีวิทยาทางเคมีและการเหมืองแร่ ประเทศจีนเข้าพบเป็นรัฐมนตรีท่านนี้เพียงไม่นาน ก่อนที่ท่านจะได้ลงนามอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชให้บริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้) ทำให้บริษัทฯ ตั้งเป้าจะทำการสำรวจในพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลศรีวิชัย ตำบลคอนสวรรค์ ตำบลนาคำ ตำบลวานรนิวาส ตำบลขัวก่าย ตำบลโพธิ์ชัย ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 120,000 ไร่ ในเขตอำเภอวานรนิวาส
มิถุนายน 2558 โครงการสำรวจแร่โพแทช ของบริษัท ไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในด้านเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน
นอกจากนี้ในลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดสกลนครยังพบว่ามีอีก 3 บริษัท (จากทั้งหมด 30 บริษัทที่ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ และยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองโพแทชในภาคอีสานรวมพื้นที่ประมาณ 3.5 ล้านไร่) ทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวปัจจุบันคำขอสำรวจยังอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้แก่บริษัทพีที มายด์ แอน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ยื่นขอสำรวจในเขตอำเภอสว่างแดนดิน 12 แปลงพื้นที่ 120,000 ไร่ และบริษัทโรงปัง ไมนิง จำกัด ยื่นขอสำรวจในเขตอำเภอวานรนิวาส อำเภอพังโคน และอำเภอพรรณานิคม
สืบเนื่องกับการเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ ให้เอกชนสามารถเข้าสำรวจแร่ในภาคอีสานได้ทำให้มีบริษัทต่าง ๆ กว่า 30 บริษัทกำลังดำเนินการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ บางแห่งได้รับอาชญาบัตรพิเศษไปแล้ว บริษัทบางแห่งสำรวจแล้วเสร็จแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ เช่น โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี และโครงการเหมืองโพแทชอาเซียน จังหวัดชัยภูมิ รวมแล้วครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดในภาคอีสาน จะมีการสำรวจหรือพัฒนาเหมืองแร่บนเนื้อที่ประมาณ 3.5 ล้านไร่
ทั้งนี้นอกจากเหมืองแร่โพแทชแล้วนักลงทุนจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ยังมีความสนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานแม่ปุ๋ย (NPK) ในประทศไทย เพราะนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจเหมืองแร่ฟอสเฟตที่ใหญ่ที่สุดของโลก หากมีการพัฒนาโรงงานแม่ปุ๋ยขึ้นในประเทศไทยก็จะสามารถนำเอานำแร่โพแทสเซียม (K) ในไทย และแร่ไนโตรเจน (N) จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างปิโตรเคมีทางภาคตะวันออกของไทย และนำเข้าแร่ฟอสเฟต (P) จากยูนนาน เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าโรงงานแม่ปุ๋ยที่จะพัฒนาขึ้นในไทย จะเป็นโรงแม่ปุ๋ยที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีกำลังการผลิตที่ 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้มีการตั้งเป้าจะสร้างโรงงานปุ๋ยขนาดใหญ่ขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 3 โรงนี้ มียอดเงินลงทุนโรงละไม่ต่ำกว่า 330,000 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าจะมียอดรวมการลงทุนจากเหมืองแร่โพแทช มูลค่ารวมประมาณ 100,000 ล้านบาท
กล่าวเฉพาะในพื้นที่ที่บริษัทไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับอาชญาบัตรในการสำรวจแล้วนั้น ลักษณะของพื้นที่จากแผนที่ภูมิประเทศ 1: 50,000 กรมแผนที่ทหารและการลงพื้นที่สำรวจระบบนิเวศพื้นที่นี้พบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่โคกสลับพื้นที่ราบลุ่มที่มีลำห้วย โนต ลำน้ำยาม ซึ่งมีลำห้วยสาขามากกว่า 20 สาย เช่น ห้วยชมเพ็ง ห้วยค้อ ห้วยไร่ ห้วยโทง ห้วยหินกรอง ห้วยทิง เป็นต้น และสายห้วยจึงถือว่าเป็นห้วยสาขาของแม่น้ำสงคราม โดยที่ลำน้ำยามไหล ผ่านอำเภออากาศอำนวยก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำสงครามที่บ้านปากยาม ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
พื้นที่ยื่นขอสำรวจแร่ดังกล่าวปัจจุบันมีสภาพเป็นที่ตั้งของชุมชนเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาข้าวที่มีทั้งนาโคก (นาดอน) และนาลุ่ม สลับกันไปโดยชุมชนจะตั้งอยู่บนที่ดอนที่ล้อมรอบด้วยนาข้าวในที่ราบลุ่ม นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามริมห้วยโดยเฉพาะริมลำน้ำยาม นอกจากนี้ยังมีป่าหัวไร่ปลายนามีลักษณะเป็นป่าโคก มีบางแห่งมีการดูแลรักษาจัดการเป็นชุมชนเช่น ป่าโคกหนองกุง ป่าชุมชนโสกขุมเงิน และพื้นที่ปลูกป่าประชาอาสา อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
นอกเหนือจากพื้นที่ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษที่อำเภอวานรนิวาส ของบริษัทไชน่า หมิ๋งตาโปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว หากพิจารณาภาพรวมทางนิเวศลุ่มน้ำของในพื้นที่ที่กำลังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ใน อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม พบว่าแหล่งแร่โปแตชในเขตจังหวัดสกลนครตั้งอยู่ครอบคลุมพื้นที่สายน้ำสำคัญที่สุดของจังหวัดสกลนครได้แก่ ห้วยโนต ลำน้ำน้ำยาม ห้วยปลาหาง และลำน้ำอูน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำสงคราม สายน้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคอีสาน ซึ่งหากจะมีการพัฒนาทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินเป็นบริเวณกว้างของลุ่มน้ำ ตลอดจนมีเป้าหมายในการอุตสาหกรรมเคมีต่อเนื่อง โรงงานปุ๋ยเคมี หรือโรงงานชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเกลือและแร่โพแทช พื้นที่แห่งนี้จึงจัดว่ามีความอุดมสมบูรณ์และอ่อนไหวทางนิเวศวิทยามากที่สุดในแอ่งสกลนคร
ว่าด้วยเรื่องชั้นเกลือหินและแนวโน้มความเหมาะสมในการทิ้งกากนิวเคลียร์
ในช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวด้านการลงทุนของฝ่ายทุนเหมืองแร่อย่างต่อเนื่องนั้นได้มีงานวิจัยของ คมกริช เวชสัสถ์ (2545: 2) ซึ่งระบุว่าการศึกษาของเขามีจุดประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพเชิงกลศาสตร์ของชั้นเกลือหินเพื่อการทิ้งกากนิวเคลียร์ โดยอาศัยแนวคิดของเหมืองเกลือแบบละลายเพื่อเป็นแหล่งทิ้งกากนิวเคลียร์ระดับต่ำ การออกแบบพิจารณาถึงรูปทรงของโพรง การวิเคราะห์จะมุ่งไปที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวให้น้อยที่สุดคือ กำหนดให้มีการทรุดตัวของพื้นดินเหนือโพรงและการหดตัวของโพรงน้อยที่สุด ขอบเขตของงานวิจัยมุ่งเน้นเฉพาะชั้นเกลือหินในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและระดับน้ำใต้ดิน (ความซึมผ่าน) อุณหภูมิของชั้นเกลือหินจะถือว่ามีค่าคงที่ตลอดระยะเวลาการทิ้งกากนิวเคลียร์ 500 ปี การคำนวณเพื่อการออกแบบจะใช้สมมุติฐานแบบอนุรักษ์เพื่อผลของการออกแบบที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผลที่จากการศึกษานั้นระบุว่าพื้นที่ที่เหมาะสมมีอยู่ 5 กลุ่มพื้นที่ ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์คำนวณแบบจำลองพบว่า โพรงรูปทรงกลมขนาดรัศมีเท่ากับ 20 เมตร (ปริมาตร 33,000 ลูกบาศก์เมตร) ที่มีความเหมาะสมควรอยู่ที่ระดับความลึกเท่ากับ 585 เมตร การหดตัวของโพรงในแนวดิ่งและแนวระดับควรน้อยกว่าร้อยละ 0.5 และการทรุดตัวของผิวดินควรน้อยกว่า 0.22 เมตร ในช่วง 500 ปี
หลังจากสร้างโพรงจึงเหมาะสมที่จะทำการศึกษาเบื้องต้นทางกลศาสตร์ของเกลือหินเพื่อการทิ้งกากนิวเคลียร์ โดยระบุพื้นที่ที่เหมาะสม 5 กลุ่มพื้นที่ได้แก่ 1) บ้านเก่าอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 2) บ้านศรีเมือง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 3) บ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 4) บ้านโพธิ์พาน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม และ 5) บ้านหนองปู อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม(คมกริช เวชสัสถ์.2545 : 1)
ผลการวิจัยสรุปจากการวิเคราะห์คำนวณแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ โพรงทรงกลมจะมีเสถียรภาพสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับโพรงทรงรีและทรงกระบอก จากผลกระทบความต่างทางโครงสร้างธรณีวิทยาซึ่งมีโพรงทรงกลมขนาดรัศมีเท่ากับ 20 เมตร (ปริมาตรเท่ากับ 33,000 ลูกบาศก์เมตร) พบว่าทุกกลุ่มพื้นที่มีแนวโน้มความเหมาะสมในการทิ้งกากนิวเคลียร์ ได้แก่ กลุ่มพื้นที่บ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี, บ้านศรีเมือง และบ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร,บ้านโพธิ์พาน และบ้านหนองปู อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ที่ระดับความลึกถึงหลังคาโพรงเท่ากับ 484, 610, 585, 680 และ 799 เมตร ตามลำดับ โดยการหดตัวของโพรงในแนวดิ่งและแนวระดับควรน้อยกว่าร้อยละ 1 และการทรุดตัวของผิวดินเหนือโพรงละลายเกลือควรน้อยกว่า 0.22 เมตร ตลอดระยะเวลา 500 ปี หลังการทิ้งกากนิวเคลียร์ (คมกริช เวชสัสถ์, 2548: 2)
ผลการวิจัยยังพบว่าศักยภาพทางกลศาสตร์ของชั้นเกลือหินมีแนวโน้มความเหมาะสมในการทิ้งกากนิวเคลียร์หรือของเสียจากวัตถุกัมมันตรังสี แต่ยังต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพต่อไป
นอกจากนี้ในงานศึกษาศักยภาพเชิงกลศาสตร์ของโพรงใต้ดินในชั้นเกลือหินสำหรับการทิ้งกากนิวเคลียร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (Mechanical Performance of Underground Cavern in Rock Salt Formations for Nuclear Waste Repository in Northeastern Thailand)[5] ระบุด้วยว่าการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศทางซีกโลกเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ได้ใช้วิธีการทิ้งในชั้นหินลึกที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บซึ่งได้พิสูจน์ว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดและถูกที่สุด ในภาคอีสานมีชั้นหินเกลือแพร่กระจายอยู่มากและมีคุณสมบัติในการกักเก็บ เกลือหินมีคุณสมบัติเด่น คือ มีค่าความซึมผ่านต่ำ มีความสามารถในการเชื่อมประสานตัวเอง และทนความร้อนได้สูง จึงมีแนวโน้มเหมาะสมในการทิ้งกากนิวเคลียร์หรือของเสียจากวัตถุกัมมันตรังสี นอกจากนี้เสถียรภาพของโพรงละลายเกลือยังสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการทิ้งของเสียอันตรายได้อีก เช่น ของเสียเคมี ของเสียติดเชื้อโรค และของเสียอุตสาหกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Exploitation Partnership Agreement: JTEPA) หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ระหว่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย และนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีข้อผูกมัดให้ไทยต้องยอมรับหรืออนุญาตหรือส่งเสริมให้ญี่ปุ่นส่งขยะของเสียอันตรายเข้ามาทิ้งในไทย จึงน่าจะพอมองเห็นรางๆ ได้ว่าแนวนโยบายการพัฒนาเหมืองแร่เกลือหินและโพแทชในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้เป็นสถานที่ทิ้งกากนิวเคลียร์หรือของเสียจากวัตถุกัมมันตรังสี และขยะของเสียอันตราย ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น (จรัญญา วงษ์พรหม และคณะ, 2550: 205)
ตารางผลการเจาะสำรวจแร่โพแทชของกรมทรัพยากรธรณี
ในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ตารางที่ 1 ผลการเจาะสำรวจแร่โพแทชหลุม K-48 วัดโนนวิเวกศรีเมือง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ระยะ (เมตร) |
ความหนา (เมตร) |
ชั้นหิน |
รายละเอียด |
0.00 – 6.10 |
6.1 |
Top soil ดินชั้นบน |
ส่วนใหญ่เป็นดินทรายขนาดละเอียดถึงละเอียดมาก มีสีน้ำตาลปนเหลือง ดินเหนียวพบน้อยมาก |
6.10 – 141.12 |
135.02 |
Claystone หินโคลน |
เป็นชั้นหินโคลนสีน้ำตาลแดง หนามากอาจพบเม็ดประสีเทาหรือสีเทาเขียว บางครั้งสลับด้วยชั้นหินทรายแป้งตอนล่าง ๆ ของชั้นนี้มักพบแร่ยิปซัมเกิดแทรกในรอยแตกของหินอยู่เสมอ |
141.13-144.93 |
3.81 |
Anhydrite แอนไฮไดรต์ |
มีชั้นแร่แอนไฮไดรต์สีเทาถึงเทาดำมีชั้นที่ปนด้วยสารอินทรีย์จำนวนพอประมาณแทรกอยู่ในรอยชั้นหิน |
144.93-207.64 |
62.71 |
Clay ดินเหนียว |
เป็นดินเหนียวสีน้ำตาลแดง เนื้อเหนียวเป็นแบบพลาสติกไม่แข็งตัว |
207.64-215.49 |
7.85 |
Clay ดินเหนียว |
เป็นชั้นดินเหนียวสีเทา ไม่แข็งตัว เนื้อดินเหนียวเป็นพลาสติก |
215.49-312.19 |
96.7 |
Rock salt เกลือหิน |
ส่วนใหญ่ตอนบนเป็นเกลือหินใส ถัดลงมาเป็นเกลือหินใสปนเกลือหินสีขาวน้ำนม และเกลือหินสีควันดำมีแอนไฮไดรต์ชั้นบาง ๆ แทรกสลับเป็นระยะ ๆ ตอนล่างสุดพบร่องรอยของแร่ซิลไวต์เกิดปนในเกลือหินเล็กน้อย เช่น ที่ระดับความลึก 219.3 เมตร |
312.19-313.27 |
1.08 |
Anhydrite แอนไฮไดรต์ |
สีเทาถึงดำเนื้อแน่น แต่บางช่วงเกิดเป็นชั้นสีดำของคาร์บอนแทรกสลับ |
313.27-327.90 |
14.63 |
Rock salt เกลือหิน |
ส่วนใหญ่เป็นเกลือหินสกปรกสีควันดำคล้ายเกลือหินข้างพบแต่ไม่พบซิลไวต์ |
ที่มา: ปกรณ์ สุวานิช, ธรณีวิทยาแหล่งแร่โพแทช-เกลือหินของไทย (ม.ป.ท.:บริษัทคัมภีร์วรรณ จำกัด, 2550), 176 – 178.
ตารางที่ 1 ผลการเจาะสำรวจแร่โพแทชหลุม K-48 วัดโนนวิเวกศรีเมือง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร (ต่อ)
ระยะ (เมตร) |
ความหนา (เมตร) |
ชั้นหิน |
รายละเอียด |
327.90-388.01 |
60.11 |
Clay ดินเหนียว |
เป็นดินเหนียวสีน้ำตาลแดง เนื้อเหนียวเป็นแบบพลาสติกไม่แข็งตัวมีสีเทาเขียวเห็นเป็นจุดประ มีเกลือหินสีส้มแทรกเป็นเลนส์บางครั้งแทรกอยู่ในรอยแตกทำให้เกิดเป็นสายแร่ นอกจากนั้นยังพบแร่คาร์นัลไลต์เกิดแบบเดียวกับเกลือหิน แต่ไม่พบเป็นเลนส์ |
388.01 – 395.68 |
7.16 |
Clay ดินเหนียว |
เป็นชั้นดินเหนียวสีเทา ไม่แข็งตัวเนื้อดินเหนียวเป็นพลาสติก |
398.68- 407.21 |
8.53 |
Carnallite คาร์นัลไลต์ |
ส่วนใหญ่เป็นเกลือหินสีขาวใสประมาณร้อยละ 90 อาจมีแอนไฮไดรต์ ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นแร่คาร์นัลไลต์ส่วนใหญ่เป็นสีขาวใสปนเม็ดสีชมพูและม่วงอ่อน พบร่องรอยแร่แทชชีไฮไดรต์ |
407.21-477.72 |
70.51 |
Carnallite & Tachyhydrite คาร์นัลไลต์-แทชชีไฮไดรต์ |
ชั้นโพแทชที่มีส่วนประกอบของแร่ 3 ชนิดหลักได้แก่เหลือหิน คาร์นัลไลต์และแทชชีไฮไดรต์โดยร้อยละ 60 เป็นแร่คาร์นัลไลต์สีชมพูปนม่วงอ่อนแต่บางตอนเป็นชั้นคาร์นัลไลต์บริสุทธิ์ปนอีกร้อยละ 30 เป็นแร่แทชชีไฮไดรต์สีเหลืองผลึกแร่ขนาดใหญ่อีกร้อยละ 10 |
477.72-497.28 |
19.56 |
Syvite ซิลไวต์ |
เป็นชิลไวต์ชั้นล่างเกิดปนกับเม็ดเหลือสีขาวใสประมาณร้อยละ 60 ส่วนซิลไวต์ซึ่งมีประมาณร้อยละ 40 เกิดเป็นเม็ดคล้ายตัวอมีบา สีขาวขุ่นคล้ายเทียนไข |
497.28- 765.22 |
265.94 |
Rock salt เกลือหิน |
เป็นเกลือหินชั้นล่างตอนบนสีขาวใสสะอาด ส่วนตอนล่างสีควันดำเพราะมีสารอินทรีย์ปน มีชั้นแอนไฮไดรต์ชั้นบางแทรกสลับโดยเฉพาะตอนล่างมากขึ้น เรื่อย ๆ |
ที่มา: ปกรณ์ สุวานิช, ธรณีวิทยาแหล่งแร่โพแทช-เกลือหินของไทย (ม.ป.ท.:บริษัทคัมภีร์วรรณ จำกัด, 2550), 176 – 178.
ตารางที่ 2 ผลการเจาะสำรวจแร่โพแทชหลุม K-55 วัดอัมพวา บ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ระยะ (เมตร) |
ความหนา(เมตร) |
ชั้นหิน |
รายละเอียด |
0.00 – 6.10 |
6.1 |
Top soil ดินชั้นบน |
ดินปนทรายสีน้ำตาลแดงถึงสีเหลืองปนน้ำตาล ทรายขนาดละเอียด |
6.10 – 133.50 |
127.4 |
Claystone หินโคลน |
สีน้ำตาลแดง มีหินทรายแป้งแทรกสลับ มีจุดประสีเทาเขียวกระจัดกระจาย ในรอยแตกมียิปซัมสีขาวใสพบช่วงล่าง ๆ |
133.50 -137.16 |
3.66 |
Anhydrite แอนไฮไดรต์ |
มีสีเทาดำ มีสารอินทรีย์แทรกตามชั้นหินมาก |
137.16-208.18 |
71.02 |
Clay ดินเหนียว |
เป็นดินเหนียวสีน้ำตาลแดง เนื้อค่อนข้างเหนียวมีสีเทาดำแทรกสลับ |
208.18-306.02 |
97.84 |
Rock salt เกลือหิน |
ส่วนใหญ่เป็นเกลือหินสีขาวใสตอนบน ตอนล่างถัดลงไปเริ่มมีสีคล้ำ และมีชั้นแอนไฮไดรต์บาง ๆ แทรกสลับมากขึ้น |
306.02-306.97 |
0.95 |
Anhydrite |
สีเทาถึงสีดำมีสารอินทรีย์สีดำแทรกตามชั้นบาง ๆ |
306.97-320.55 |
13.58 |
Rock salt เกลือหิน |
เหมือนระยะที่ 208.18-306.02 |
320.55-387.10 |
66.55 |
Clay |
สีน้ำตาลแดง เนื้อค่อนข้างเหนียวมีสีเทาดำแทรกสลับ มีเกลือหินสีส้มแทรกเป็นเลนส์หรือสายในรอยแตก บางครั้งเป็นแร่คาร์นัลไลต์สีส้ม |
387.10-393.19 |
6.09 |
Rock salt เกลือหิน |
ส่วนใหญ่เป็นเกลือหินสีขาวใสแทรกสลับด้วยแอนไฮไดรต์ชั้นบาง ๆ |
393.19 – 438.91 |
45.72 |
Carnallite คาร์นัลไลต์ |
ส่วนใหญ่เป็นคาร์นัลไลต์ค่อนข้างบริสุทธิ์ไม่มีสีจนถึงสีม่วงอ่อนใส ความสมบูรณ์ของคาร์นัลไลต์มีประมาณร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นเกลือสีขาวใส |
ที่มา: ปกรณ์ สุวานิช, ธรณีวิทยาแหล่งแร่โพแทช-เกลือหินของไทย (ม.ป.ท.: บริษัทคัมภีร์วรรณ จำกัด, 2550), 176 – 178.
ตารางที่ 2 ผลการเจาะสำรวจแร่โพแทชหลุม K-55 วัดอัมพวา บ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร (ต่อ)
ระยะ (เมตร) |
ความหนา(เมตร) |
ชั้นหิน |
รายละเอียด |
438.91- 475.49 |
36.58 |
Carnallite & Halite คาร์นัลไลต์และฮาไลต์ |
คาร์นัลไลต์ส่วนนี้มีความบริสุทธิ์ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากมีเกลือหินสีขาวปนอยู่ประมาณร้อยละ 30 คาร์นัลไลต์มีสีส้มปน |
475.49 – 824.42 |
348.23 |
Rack salt เกลือหิน |
ส่วนใหญ่เป็นเกลือหินสีขาวใสตอนบน ถัดลงมาเกลือหินเริ่มมีสีเทาและสีควันดำ แทรกสลับด้วยแอนไฮไดรต์ชั้นบาง |
824.42-824.18 |
0.76 |
Anhydrite แอนไฮไดรต์ |
สีเทาถึงดำมีสารคาร์บอนสีดำบาง ๆ สลับ |
824.18-826.92 |
2.74 |
Siltstone หินทรายแป้ง |
เป็นหินทรายแป้งสีเทาเขียว เนื้อแน่น สลับด้วยหินทรายชั้นบาง ๆ |
826.92-827.23 |
0.31 |
Siltstone หินทรายแป้ง |
เป็นหินทรายแป้งสีน้ำตาลแดง |
ที่มา: ปกรณ์ สุวานิช, ธรณีวิทยาแหล่งแร่โพแทช-เกลือหินของไทย. (ม.ป.ท.:บริษัทคัมภีร์วรรณ จำกัด, 2550), 179 – 180.
[1] เอกสารนี้ปรับปรุงขึ้นจากเนื้อหาบางส่วนในวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ของบำเพ็ญ ไชยรักษ์ เรื่อง “บทบาทของเกลือ ที่มีต่อนิเวศวัฒนธรรมและสุขภาวะ ของชุมชนในลุ่มน้ำสงคราม” ปีการศึกษา 2554.
[2] บริษัท ไชน่า หมิงต้า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียน 6 กุมภาพันธ์ 2547 ทุน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 238/110 อาคารศรีวราแมนชั่น 2 ซอยนาทอง ถนนรัชดา แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจทางธรณีวิทยา วิเคราะห์และตรวจสอบแร่ จัดการเกี่ยวกับกระบวนการซื้อ-ขายแร่ ปรากฎชื่อ นายเจียง ซู่เอี้ย และ นายถาน เติงหัว เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย สื่อ หมินจื้อ ถือหุ้นใหญ่สุด นางสาว กมลพรรณ ประดิษฐ์ นาย สมชาย หวังวงศ์สิริ นาง สุนันท์ ฮ้อแสงชัย นางสาว จิรภา ฉัตรสุวรรณสิริ ร่วมถือหุ้น
[3] ความล่าช้าเรื่องการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชนั้นเกี่ยงเนื่องจากมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พรบ. ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (2545) ทำให้หน่วยงานเดิมของไทยที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ กรมทรัพยากรธรณี ถูกแยกออกเป็น 4 กรมและกระจายออกไปอยู่ใน 3 กระทรวง ได้แก่ (1) กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม และ (4) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และหลังการปฏิรูประบบราชการดังกล่าวทำให้คำยื่นขออาชญาบัตรพิเศษในการขออนุญาตสำรวจแร่ฯ ต้องถูกโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ฝ่ายทุนจีนต้องเสียเวลาในการเริ่มกระบวนการยื่นเรื่องใหม่หลายปี
[4]บริษัทไชน่า หมิ๋งตาโปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งผลประกอบการธุรกิจ ปี 2556 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 บริษัทฯ นำส่งงบการเงินแจ้งแจ้งว่ามีรายได้รวม 169,541.60 บาท มีรายจ่ายรวม 8,409,652.38 บาท ขาดทุน 8,240,110.78 บาท
[5] ข้อมูลนี้อ้างอิงจากบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต โปรแกรมวิชาวิศวกรรมธรณี สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2545 ของ คมกริช เวสสัสถ์ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) ได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างเกลือหินเพื่อการทดสอบทางกลศาสตร์ของหินจาก Mr.Kieth S. Crosby, Asia Pacific Potash Co.,Ltd. โดยมี รศ.ดร. กิตติเทพ เฟื่องขจร หัวหน้าโครงการการประเมินศักยภาพทางกลศาสตร์ของเกลือหินเพื่อทิ้งกากนิวเคลียร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่ปรึกษาในการทำวิจัยชิ้นนี้