การตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือพัฒนาประเทศของเราตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มักเกิดที่ใจกลางประเทศ ด้วยกลไกที่อยู่ส่วนกลาง อันเนื่องจากการรวมศูนย์อำนาจและการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย พื้นที่ และผู้คนในประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทำให้แนวคิดปฏิรูปประเทศเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจนั้นดังขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมต้องปฏิรูป ?
แต่ละพื้นที่พร้อมที่จะปกครองตนเองจริงหรือ ?
คนในภาคเหนือจาก 17 จังหวัดได้มาล้อมวงคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมองสังคมอนาคต พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์และวางแนวทางเดินไปด้วยกันเพราะไม่ว่าวิกฤตความขัดแย้งจะจบลงอย่างไร บ้านหลังนี้จำเป็นต้องปฏิรูป นัยยะอะไรกันแน่ที่ประชาชนสนใจ ในการปฏิรูป
เทวันฏฐ์ อัครศิลาชัย ผอ.สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม :
“สวัสดีครับ ผมขอนำพวกเราเข้าสู่เวทีเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทยสู่สังคมอนาคตนะครับ วันนี้พวกเราได้มาพบกันที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเครือข่ายจากภาคประชาสังคม 17 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งตอนบนและตอนล่าง และยังมีภาควิชาการมาร่วมเสวนาพูดคุยกันถึงทิศทางอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรดี สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้มันเกิดอะไรขึ้น ความขัดแย้งต่างๆขณะนี้ มากับวาทะกรรมที่สำคัญ เช่น ปฏิรูปประเทศไทย สมัชชาประชาชน สภาประชาชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น วาทกรรมเหล่านี้ หลายคนบอกว่า เรื่องนี้เราพูดมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และพวกเราได้มาพูดคุยกันอีกครั้งเราสรุปอะไรบ้าง ในสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ สาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แล้ววาทกรรมต่างๆมันมีที่มาที่ไปอย่างไรนะครับ”
สวิง ตันอุด เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.เชียงใหม่ :
“ที่จริงเราวิเคราะห์กันมานานแล้วนะครับ ว่าสถานการณ์วิกฤตการณ์การเมืองเดี๋ยวนี้ มันจะต้องเกิดขึ้นอีก จริงๆด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างทางการเมือง มันเป็นอย่างนี้ แล้วก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก รอบที่ผ่านมาเป็นรอบ 10 กว่าปี ตอนหลังนี้เป็นรอบ 2 ปีก่อน หรือ 3 ปีเท่านั้นเอง จริงๆแล้วรอบวิกฤตทางการเมือง จะสั้นไปอีกถ้าหากว่าศูนย์อำนาจหรือโครงสร้างทางการเมืองมันเป็นแบบนี้ เพราะว่ารูปแบบโครงสร้างของเราทุกวันนี้มันเป็นโครงสร้างลักษณะที่เราใช้มาร้อยกว่าปีแล้วนะครับ คือโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ พอรวมศูนย์อำนาจก็หมายความว่า ต้นทุนในลักษณะที่เดิมพันมันสูง พอเดิมพันสูงการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจก็สูง พอมันสูงแล้วก็เทหน้าตักใส่กันก็สูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอันนี้ถ้าเราไม่ปฏิรูป เป็นคำที่ทุกคนพูดกันตอนนี้ มันก็จะกลับมาอีก วิกฤตเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก อันนี้คือเรื่องที่เราไม่ได้พูดกันเท่านั้นเอง เราพูดกันมา สี่ ห้าปีแล้ว แล้วก็ต้นทุนที่เราอยู่ในพื้นที่ก็มากมาย คือว่าตำบลจัดการตนเอง ลุ่มน้ำจัดการตนเอง ประชาชนจัดการตนเอง ในเชิงประเด็น จังหวัดทั้งหลายร่วมมือกัน อันนี้ก็มีมานาน “
จำรูญ คำปันนา เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.ลำพูน :
“ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องป่าชุมชน เรื่องน้ำ จริงๆเราได้แก้ไขปัญหาสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชุมชนอยู่ รวมถึงหลายเรื่องนะครับ ในเรื่องกรณีใหม่ๆ เรื่องสวัสดิการชุมชนต่างๆเหล่านี้ ขบวนการของภาคประชาชนทั้งหลายเหล่านี้ พยายามแก้ไขปัญหาของตัวเองอยู่ “
ณธรรม เบญจวิทยาธรรม ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปภาคเหนือ:
“กระแสของการปฏิรูปดูเหมือนจะได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วนทั่วทั้งประเทศนะครับ ฉะนั้นปีนี้ก็น่าจะเป็นปีแห่งการปฏิรูปในปี 2557 แล้วก็ภาคประชนชนควรจะมีบทบาทที่สำคัญมากกว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเมือง ข้าราชการ ภาคกลุ่มทุนธุรกิจ ควรจะต้องถอยออกไป “
อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ :
“สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าคือผลผลิตเกิดขึ้นตลอดในช่วงเวลา 80 กว่าปีที่ผ่านมา คือการสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบพึ่งพาประชาชน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นรากที่ลึกไปกว่าเรื่องของโครงสร้างอย่างเดียว โครงสร้างแก้โดยการปรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแง่ของตัวองค์กรต่างๆไม่ยาก แต่จุดที่ยากก็คือว่าจะแก้วัฒนธรรมทางการเมือง ที่มันถูกสร้างโดยบริบทของระบบราชการแบบรวมศูนย์นี้อย่างไร ตรงนี้ผมคิดเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องนำไปสู่การเป็นประเด็นหนึ่งการปฏิรูปด้วยคือว่า ทำยังไงที่จะทำให้บริบทของการปฏิรูปไม่ทิ้งการสร้างบรรยากาศให้ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วตรงนี้ผมว่าเป็นเซลล์สำคัญ ต่อให้เราไปก๊อบปี้ระบบการปกครองจากประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ถ้าเราไม่สร้างวัฒนธรรมความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมา แล้วก็รับผิดชอบต่อปัญหาเรื่องต่างๆ ร่วมกันไม่ใช่ผลักให้เป็นระบบราชการหรือว่าไปพึ่งพิงราชการการเมือง ตรงนี้ก็จะล้มเหลวอีก “
รากเหง้าปัญหา และ ความพิกลพิการ
วิไล นาไพวรรณ์ เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.เชียงราย:
“เป็นเกษตรค่ะ จะโดนด่าทั้งขาขึ้นขาล่องค่ะ โง่บ้าง ซื้อสิทธิขายเสียงบ้างนะค่ะ แล้วก็ปล่อยให้เขาจูงบ้าง ซึ่งในเกษตร ในความรู้สึกของตัวเองก็คือว่า คือผู้รับชะตากรรมจากนโยบายทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา อย่างตัวเองอยู่เชียงรายเองจะเห็นสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านที่ดินเยอะมาก จาก 2 ปีที่แล้ว ไร่ละ 8 หมื่น แต่ปีนี้ขึ้น 4 แสน แต่พื้นที่ที่ทาง R3A ผ่านหรือพื้นที่ชายแดนอยู่ที่ 10 ถึง 12 ล้านนะค่ะ เกษตรบางรายถูกบีบขายที่ดิน แล้วก็ที่ดินหลุดมือ แล้วก็ไม่มีปัญญาซื้อที่ดิน เช่าที่ดินเป็นของตัวเอง รวมไปจนถึงมันพันกันกับระบบหนี้สิน ซึ่งเกษตรเมื่อที่ดินหลุดมือ หนี้สินตามมา เราไม่มีปัญญาที่จะไปซื้อได้อีก มันเป็นวัฏจักรเกษตรกรรายย่อยที่ปัจจัยการผลิตหลุดมือไป”
วิชิต ถิ่นวัฒนากูล เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.พะเยา :
“มันไม่เคยมีใครจับที่ต้นเหตุของปัญหา เรื่องของการเกษตรก็ถูกผูกขาด เพราะว่าโครงสร้างอำนาจมันเอื้อให้ผูกขาด และการผลิตนั้นมันก็ทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายป่าไปทั่วครับ ตั้งแต่เมืองน่านถึงแม่ฮ่องสอน เราจะเห็นว่ามีแต่พืชเชิงเดี่ยว ทำแบบนี้เกษตรกรก็ไม่ได้อะไร ในขณะที่บริษัทก็รับไปเต็มๆ แล้วสิ่งที่ตามมา คือผลกระทบต่อตัวเกษตรกรเอง ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องหนี้สิน เรื่องครอบครัว เกิดปัญหาตามมาหมด เพราะว่ามันล้มเหลว พอเกษตรกรเลี้ยงตัวเองไม่รอด ก็เริ่มขายที่ ขายให้กับพี่น้องทางใต้ที่ขึ้นมาทำสวนยาง มาทำก็เยอะครับ ขายให้ต่างชาติก็เยอะครับ เพียงแต่เป็นในรูปของ นอมีนี อันที่เราเตือนมานานแล้วก็คือ ถูกกลุ่มทุนใหญ่เข้ามารวบที่ดิน เราคงจะเห็นว่าหลายๆบริษัทแล้วตอนนี้ รวบที่เป็นหมื่นๆไร่ที่งามๆทั้งนั้น แล้วตัวเกษตรกรก็กลายเป็นลูกจ้าง ของบริษัท ซึ่งตอนนี้เรื่องนี้เกิดขึ้นตลอดนะครับ วันดีคืนดีถ้าเกิดได้ราคาดีขึ้นมา บริษัทนี้ก็อาจจะขายให้ชาวต่างชาติก็ได้ แต่ฉายในรูปของ นอมีนี เรื่องแบบนี้มันพัฒนาการมาโดยตลอด เป็นเรื่องที่พวกเราเตือนมา 20 กว่าปีแล้ว ฉะนั้นมันไม่ได้เป็นแค่อำนาจทางการเมือง ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น เกิดการทะเลอะกันอยู่ แต่มันเป็นปัญหาที่เกิดรากฝังลึกมานาน แล้วการเมืองที่เป็นอยู่นั้นมันไม่เกิดไปตอบสนองเรื่องพวกนี้ เมื่อรัฐส่วนกลางกุมอำนาจอยู่แบบนี้ แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย แล้วก็ปล่อยให้ตายไป แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ก็มารวบที ห้า หกพันไร่ไป นั้นคือชะตากรรมที่มันเกิดขึ้นอยู่ แล้วก็ถูกปล่อยให้เป็นไป”
อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:
“ตัวอย่างอันหนึ่งของการรวมศูนย์ยังไม่พอ บริษัทข้ามชาติ บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาครอบงำอำนาจรัฐด้วยซ้ำไป กระทรวงหลายกระทรวงแทบจะถูกผูกขาดโดยบริษัท ไม่ต้องพูดถึงรัฐบาล หรือนักการเมืองทุกพรรคที่มีกลไกธุรกิจขนาดใหญ่ครอบงำอยู่ เพราะนั้นคนที่รับเคราะห์คือระดับล่าง พี่น้องเกษตรกรนะครับ วงจรที่ทำให้พี่น้องเกษตรกร เข้าไปอยู่ภายใต้วงขจรแบบนี้วงจรที่เราเรียกว่าเป็นเรื่องของการจัดการสมัยใหม่ของ ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เรียกได้ว่าเป็นเกษตรพันธสัญญา ดูมันดีนะครับ แต่จริงๆแล้วยิ่งทำไปเกษตรกรอยู่ในฐานะเป็นแรงงานที่อยู่ในที่ดินของตัวเองนะครับ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าตัวอย่างนี้ชัดเจนที่สุดว่า การรวมศูนย์มันไม่ได้มีผลแต่เฉพาะกระทบต่อคนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองผู้บริโภคเท่านั้น แต่มันเป็นการทำลายรากฐานความมั่นคงทางอาหารของประเทศเลย เพราะฉะนั้นการฟื้นขึ้นมาของกลุ่มเกษตรกรในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับรัฐต่อรองกับบริษัท หรือแม้กระทั่งชนชั้นกลางในเมืองที่อยากจะอยู่แบบปัจเจก อาจจำเป็นต้องมารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผู้บริโภค ทำยังไงที่จะทำให้การมีอาหารกิน ไม่แพงเกินแล้วก็เป็นอาหารปลอดภัย อันนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปฏิรูปหมด ทำยังไงให้ประเด็นต่างๆที่เราพูดกันในมิติต่างๆมันสามารถร้อยให้เห็นว่ามันมีประเด็นร่วมกันอยู่และตรงนี้จะเป็นพลังสำคัญในการปฏิรูปนะครับ”
ธงชัย ช่อประเสริฐ เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.ลำพูน:
“แนวทางของผมนอกจากจะออกกฎหมายโครงสร้างใหม่แล้วผมอยากจะให้ยกเลิกกฎหมายต่างๆที่รองสังคยานากันดูว่า ที่มันยึดอำนาจเราไปหมด น้ำเคยเป็นของเราก็ไม่ใช่ ทรายที่ดูดที่เขาประมูลไปแล้ว ผมก็ไปถาม สตง.ว่าจริงหรือเปล่า เขาก็บอกยังไม่มีระเบียบ มันต้องมีระเบียบว่าดูมาเท่าไหร่ ได้ทรายเท่าไหร่แล้วจะประมูลเท่าไหร่ เขาก็อ้างว่าประมูลไปหมดแล้ว เราก็หมดสิทธิ”
บุญส่ง ไคร้แค เครือข่ายจัดการตนเอง จ.อุตรดิตถ์:
“อย่างสมมติว่ามีการตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดกับพี่น้องภาคประชาชนแล้วก็ราษฎรว่า แนวเขตป่า วันนี้ราษฎรทำกินอยู่นานแล้วต้องการเป็นที่ยอมรับ จังหวัดก็เป็นที่ยอมรับว่าต้องแก้ไข แต่พอจะแก้ไขปุบต้องส่งไปที่กระทรวง ต้องให้กรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติประชุมแต่ปีละ 2 ครั้ง ให้คนที่ไม่รู้เรื่องจัดการ วันนี้ถ้าเราพูดถึงการกระจายอำนาจ มันจะต้องพูดถึงว่ามันจะต้องถึงอะไรกลับมาสู่ท้องถิ่นบ้าง อันนี้ในเชิงของอำนาจและหน้าที่ ขณะเดียวกันในเชิงงบประมาณเราต้องยอมรับความจริงว่า อบต.เทศบาลทั้งหมด วันนี้ผมคิดว่าเหมือนถูกตอน เราดูง่ายๆนะครับ ไป 40 บอกจะให้ 35 เปอร์เซ็น วันนี้ 27 เปอร์เซ็นกว่า พี่น้องอบต.ไปประท้วงไม่ถึง 28 ได้ไม่ถึง 28 แต่เรามาดูวันนี้งบกลาง เราคิดง่ายๆ ถ้าความจริงมีงบกลางอยู่ ซึ่งวันนี้กลายเป็นว่าคนที่มีงบ อบต. อย่างท่านสำรวย ต้องวิ่งไปหา สส. กลายเป็นว่าบังคับให้ตัวแทนของพี่น้องประชาชนทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ต้องไปซุฮกกับ สส. มันเป็นกระบวนการที่ดูพิกลพิการไป เราเรียกตัวเองว่าเครือข่ายประชาชน ที่จะผลักดันขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง มันต้องมาแยกว่าส่วนใดที่รัฐบาลกลางควรจะทำ ส่วนใดที่คนในท้องถิ่นเป็นคนดูแล “
ต้นทุนท้องถิ่น รูปธรรมการจัดการตนเอง
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผอ.สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม :
“ตรงนี้ผมอยากจะมาเพิ่มเลยว่า ในส่วนของพวกเราที่ทำเรื่องภาคประชาสังคมขับเคลื่อนปัญหาต่างๆมานานแล้ว เราถึงจะมาให้รายละเอียดนิดหนึ่งว่า เนื้อหาสาระที่สำคัญๆในภาคประชาสังคมของเราจะต้องขับเคลื่อนปฏิรูป เมื่อกี้เราได้แล้วว่าโครงสร้างต้องกระจายมาสู่ท้องถิ่นนะครับ ผมอยากจะให้พวกเราสรุปเอาที่เราคุยกันมา สาระทางประเด็นที่สำคัญนะครับ”
ธงชัย ช่อประเสริฐ เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.ลำพูน
“ที่เราทำกันมาเยอะแล้วก็เข้มแข็ง อย่างลำพูนเราเรื่อสวัสดิการชุมชนทุกพื้นที่ 57 พื้นที่ ที่มีตัวตนมีรูปธรรม มีคนที่บริหารจัดการอยู่ แล้วเราก็ช่วยเหลือกัน เราไม่ได้แบ่งสี แบ่งค่ายนะครับ เป็นความสมานฉัน มีทางของชุมชนของพี่น้องเรียกว่าอย่างนั้นนะ เป็นพี่น้องเดียวกัน ทำกันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสื่อก็ทำกันมา ก็จะเห็นว่าหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน พ่อหลวงสุขแก้วนี้ แก้ไขปัญหากันมาก็ไม่หยุดนะครับ ก็ยังทำกันอยู่”
วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.แม่ฮ่องสอน :
“ในส่วนแม่ฮ่องสอนนะครับ เรามองเรื่องของการเคลื่อนงานผ่านเครือข่ายเรื่องของปากท้อง เรื่องทรัพยากร เรื่องดิน น้ำ ป่า ซึ่งแม่ฮ่องสอนมีปัญหาเยอะมากในเรื่องของการจัดการที่ดินในเขตป่านะครับ รวมถึงประเด็นอื่นๆพ่วงลงมาตามมาด้วยก็มีการผลักดันอยู่นะครับ จริงๆก่อนหน้าที่จะมีกระแสเรื่องการปฏิรูป มีเรื่องของการจัดทำข้อบัญญัติตำบล ซึ่งมันมีการ ซายเอ็มโอยู กับสถาบันการศึกษา ทั้งในส่วนของ อปท. อบจ. ทั้งหลาย 14 แห่งนะครับ เป็นต้น รวมถึงสถาบันพระปกเกล้าอย่างนี้ ยกตัวอย่าง นะครับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ก็มีการพัฒนาเขาเรียกว่ากระบวนการสมานฉันแบบมีส่วนร่วมแบบนี้ละครับ จริงๆเป็นการปฏิรูประดับหนึ่งแล้ว แต่เป็นการปฏิรูปเปิดจากข้างในโดยไม่ใช้กระบวนการที่ใช้ HardPowerหรือพลังรุนแรงในการที่จะไปรวมตัวกันในการประท้วงต่อต้าน แต่ก็มีการเคลื่อนกันอยู่ครับ เป็นลักษณะของการสร้างกันไป เรียนรู้กันไป แต่เราก็มีการวิจัยกันเป็นระยะๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีการบูรณาการกับอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สกว. สสส. นะครับ พอช. อย่างนี้เป็นต้น ก็เห็นว่ามีการขับเคลื่อนแต่ว่าที่ผ่านมายังไม่มีการเชื่อมร้อยเกิดการขับเคลื่อนในลักษณะที่เป็นเอกภาพ แล้วไปเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจได้อย่างไร เป็นระบบและเป็นรูปธรรม จังหวะนี้ผมคิดว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่จะผ่าทางตันการเมืองแบบแบ่งขั้ว ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายทั้งบ้านเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้คนและทรัพย์สินต่อไป “
วิไล นาไพวรรณ์ เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.เชียงราย :
“ทางพี่น้องที่เชียงรายหรือพี่น้องทางภาคเหนือตอนนี้เริ่มใช้กฎหมายตัวหนึ่งค่ะ ที่ใช้ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ซึ่งพอเรามีพื้นที่กลาง มีเวทีพูดคุยกันบ่อยๆ พี่น้องเชียงรายตอนนี้ก็เริ่มปรับวิถี ว่าทำไมเราถึงถูกจำกัดโดยคนอื่น เช่น ทำไมเราต้องไปซื้อปุ๋ย ต้องไปซื้อยา ต้องไปจ้างรถเกี่ยวข้าว ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ แล้วเมล็ดพันธุ์ดีไม่ดีไม่รู้ จากรุ่นพ่อรุ่นแม่เราที่จะเก็บไว้ปลูกต่อทุกปี แต่ยุกต์นี้ทำไมเราจ้างทุกอย่าง ซื้อทุกอย่าง หักลงกลบหนี้แล้ว ไม่เหลือ เราเหมือนแรงงานให้กับคนอื่นที่เราไม่ได้เงินเดือน หรือได้ค่าตอบแทนอะไรเลย เผลอๆพันธุ์พืชพื้นถิ่นเราหายไปอีก ปัญหาหนักของพี่น้องเราตอนนี้ก็คือว่า พอใช้เมล็ดพันธุ์ของคนอื่นนะค่ะ ไปหว่านกล้าไว้ 20 วันออกรวงหมดเลยค่ะ ใช้ไม่ได้ต้องไถทิ้ง มันทำให้พี่น้องสภาองค์กรชุมชนตั้งวงคุยกัน ตอนนี้ก็คือว่าเราสามารถสร้างทางเลือกใหม่ โดยปรับวิธีคิดของตัวเอง 1 เราจะไม่ขายข้าวให้รัฐบาล ไปขึ้นจำนำแล้วหนูเองก็ยังไม่ได้ตังค์ค่ะปีนี้ ยังไม่ได้ตังค์ เศร้าใจอยู่ ก็เพิ่งคิดได้ปีนี้หละค่ะ เมื่อไม่กี่เดือนด้วยค่ะ ก็เลยว่าปีหน้าจะไม่ขายข้าวให้รัฐบาล ก็จะมาผลิตพันธุ์ข้าวเอง เปลี่ยนจากขายข้าวให้รัฐบาล เปลี่ยนเป็นขายข้าวให้กับเกษตรกร สร้างการตลาดใหม่ 2 รองทำมาแล้วเมื่อปีที่แล้วนะค่ะ คือปลูกข้าวก่ำหรือข้าวหมอนิล ตลาดคือทุกที่ที่เราไป สีนิลข้าวกล้องทำสติ๊กเกอร์นิดหน่อย ไปประชุมที่ไหนก็หอบไปด้วย ห้าถุง สิบถุง หมดค่ะ มีพี่น้องที่เคยกินข้าวเราแบบปลอดสารพิษนี้แหละค่ะ ก็โทรมาสั่ง ตอนนี้ข้าวหมดแล้ว เริ่มจากตัวเองก็ไปชวนพี่ๆน้องๆ ในสภาว่าปีนี้เราทำข้าวขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง แล้วอันนี้ก็เริ่มปรับวิธีคิด ก็เป็นตัวหนึ่งที่สามารถปรับตัวเอง ก็จัดการตัวเอง พึ่งตัวเองในสถานการณ์แบบนี้”
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผอ.สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม :
“ขอบคุณมากนะครับผมคิดว่าเป็นต้นทุนของชาวบ้านที่ทำกันขึ้นมานะครับ ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกฎหมายตัวหนึ่งที่เปิดขึ้นมา ให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน”
สำรวย ผัดผล เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.น่าน :
“ผมอยากเสนอว่า เรายังเป็นพื้นที่ที่กลางๆและมีความหลากหลายนะครับ เรามีรูปธรรมที่จับต้องได้หลายรูปแบบ มีทั้งเรื่องของ ดิน น้ำ ป่า รวมถึงการจัดการการเรียนรู้เรื่องของชุมชน ผมอยากเสนอว่าให้ใช้บริการของภาคประชาชน ให้ใช้บริการของภาคชุมชนเราให้เป็นบทเรียนก่อน ก่อนที่จะมีการถกเถียงถึงพิมพ์เขียวของฝ่ายต่างๆที่กำลังว่ากันในวาทะกรรมขณะนี้ครับ “
ปฏิรูปอย่างไร
ชูพินิจ เกษมณี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ:
“เกรงจะมีคนเข้าใจว่า “นี่เรากำลังเสนอแนวคิดใหม่ๆซึ่งความจริงก็ไม่ใช่” เพราะว่าถ้าเราย้อนไปดู ตั้งแต่ประเทศประกาศว่า ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ผ่านมาตั้ง 80 ปี เราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริง โดยที่เราลอกเลียนแบบมาจากต่างประเทศ เราจะเห็นว่าเขามีเส้นแบ่งชัดเจน ระหว่างอำนาจท้องถิ่นกับอำนาจของรัฐส่วนกลาง ซึ่งของเราที่มีผู้บริหารรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือน ก็มักจะกล่าวอ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง อ้างมา 80 ปี 80 ปีนี้ต่อสู้ได้แค่จังหวัดเดียว คือ กรุงเทพมหานครที่จะสามารถปกครองตนเองได้ระดับหนี่ง ก็ยังไม่เหมือนอารยะประเทศ แต่ขณะนี้ผมคิดว่า ฝ่ายที่ไม่พร้อมที่สุด คือผู้บริหารรัฐ ที่ไม่ยอมรับว่าท้องถิ่นมีความพร้อมเต็มที่แล้ว”
ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ:
“แต่จริงๆแล้วปฏิรูปใช้ไปในทางที่เข้าใจว่า ถ้าทำแบบนี้คือการปฏิรูป แต่ผมมองว่าเป็นเหมือนลอยกระทงหลงทาง เพราะผิดทิศ ผิดทาง เท่าที่ผ่านมาและปัจจุบันนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายที่กำลังชูขึ้นมา ก็มองเรื่องเฉพาะระดับบนเท่านั้นเอง เปลี่ยนโครงสร้างระดับบน เช่น ส.ว.เลือกตั้งไม่เลือกตั้ง สรรหาเท่าไหร่ มีกี่เขต อะไรก็ได้ เป็นระดับบนหมด ไม่มีระดับล่างเลย ทั้งๆที่การเมืองการปกครองการเรียนรัฐศาสตร์ ก็มองอยู่แล้วและพูดเป็นอมตะเลยว่า No State Without City ถ้าแปลโดยอัตถะนะ ไม่แปลตรงๆ หรือการเมืองระดับชาติ ไม่มีความมั่นคงได้ ถ้าระดับล่างไม่มั่นคง สิ่งที่เราอย่างนี้ถูกแล้ว อย่างการจัดการตนเอง เริ่มจากการพึ่งตนเอง เราส่งเสริมเรียกร้องดังๆออกไปว่าอย่างไรก็ให้ตาย ปฏิรูปอย่างไรก็ให้ตาย จะมีโครงสร้างสภา หรือจะไมมี ส.ส. เลือกตั้งเลย เอาบัญชีรายชื่อทั้งหมดเลย ก็ยังไม่ได้ ถ้าข้างล่างไม่แน่น เสนอเลือกตั้งผู้ว่าโดยโครงสร้างด้านล่างก็ยังไม่เปลี่ยน ก็ยิ่งหนักกว่าเดิมอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำได้ คือปฏิรูปอย่างไร แต่แน่นอนข้างบนก็ต้องทำ ไม่ใช่ว่าปฏิเสธเลย ต้องทำคู่กันไป
ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป หรือทางทหาร ทั้งทุกยุคทุกสมัย พูดถึงเรื่องการปฏิรูปหมดเลย เหมือนว่าเป็นการปฏิรูปบนศูนย์อำนาจ ซึ่งจะให้ปฏิรูปแทบตายก็ไม่มีทาง เลยต้องเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นครั้งนี้ประชาชนระดับฐานรากนั้นมีการตื่นตัวแล้ว อยากเห็นการปฏิรูปที่มาจากข้างล่างจริงๆ แล้วมาจากทุกภาคส่วน”
สมรวย ผัดผล เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.น่าน :
“ข้อเท็จจริงในการปฏิรูปในขณะนี้มีหลายคนว่า ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแล้วไง ตั้งแต่ปี 2537 มาแล้ว โอกาสของประชาชนก็ได้เลือกนายกใกล้บ้านของตัวเองแล้ว มีสมาชิกสภาท้องถิ่นต่างๆแล้ว แล้วจะเอาอะไรอีก ใช่ไหมครับ
คำถามใหญ่มากที่การพูดคุยการสนับสนุนแนวคิด ที่ทางคณะผู้ยกร่างจังหวัดจัดการตนเองบอกว่าระบบงบประมาณท้องถิ่นที่เรียกร้องมาตลอด ว่าอย่างน้อย 35% ของงบประมาณแผ่นดิน จนถึงปัจจุบันไม่มีรูปแบบเชิงสัมฤทธิ์นั่นว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ ก็อยู่ที่ระดับ 20% กว่าๆ และภาระที่ท้องถิ่น สมมุติ ว่าคิดถึงท้องถิ่นว่าอย่างไร ครู คลัง ช่าง หมอ เหล่านี้ท้องถิ่นทำเองได้ ประชาชนสามารถที่จะจัดการท้องถิ่นเองได้ แล้วรัฐบาลกลางถือไว้อีกทำไม
สมมุติพลังท้องถิ่น ใกล้บ้าน มีครอบครัวห้อมล้อมอยู่ คือท้องถิ่น ชุมชน กับตัวพนักงานที่เขาเลือกสรรเข้ามาเหล่านี้ คือที่จะใช้ระบบงบประมาณตามภาระ หรือตามภารกิจ
ที่นี้คำถามใหม่ คือ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่นเป็นเนื้อเดียวกัน ท้องถิ่นไม่ใช่เป็นการกระจายอำนาจมาแค่ของรัฐบาลกลาง เอามาไว้ในนามของท้องถิ่นแล้วผ่านช่องงบประมาณมาที่ท้องถิ่น แล้วมากำกับตัวพี่น้องชุมชน งานปฏิรูปครั้งนี้ต้องกลายมาเป็นชุมชนต้องควบคุมท้องถิ่นต่างๆ ด้วยตัวของชุมชนเอง”
สวิง ตันอุด เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.เชียงใหม่ :
“ที่จริงที่จะปฏิรูปผมเข้าใจว่า ต้องเปลี่ยนแนวคิดสองเรื่อง คือ
1.แต่เดิมเราใช้คำว่าการมีส่วนร่วม ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าจะปฏิรูป ผมว่าต้องสถาปนาใหม่ คือคำว่าเป็นเจ้าของ ดังนั้นประชาชนเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามีใครเป็นเจ้าของ ทุกพื้นที่มีประชาชน มีชุมชนเป็นเจ้าของ ทรัพยากรทั้งหลาย ดิน น้ำ ป่าเป็นของเขา แล้วก็เปลี่ยนจากการมีส่วนร่วม ให้มาเป็นเจ้าของ
2.ผมคิดว่าที่สำคัญ ต้องเปลี่ยนศูนย์กลาง ระบบวิธีคิดแบบศูนย์กลาง ใช้ไม่ได้แล้วในวันนี้ เราต้องปรับวิธีใหม่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ขณะนี้ที่คุยกันก็คือว่า พื้นที่ใคร พื้นที่มัน จังหวัดใครจังหวัดมัน คิดบนพื้นฐานนี้ แล้วเคลื่อนในตัวจังหวัด ที่ผ่านมาเรายกระดับจากตำบล มาเป็นอำเภอ มาเป็นจังหวัด เชียงใหม่ก็เสนอเรื่อง เชียงใหม่มหานคร เป็นพระราชบัญญัติในฐานะที่ใช้จังหวัดเป็นตัวตั้ง ทุกวันนี้เนื้อหาก็ขยับเป็นพระราชบัญญัติระดับชาติ ที่เรียกว่าจังหวัดปกครองตนเอง ผมคิดว่าตรงนี้ต้องต่อยอดต่อไป แล้วที่นี้ถามว่าเนื้อหาคืออะไร มีอยู่ 2-3 เรื่องแค่นั้นเอง คือ
1.งบประมาณ100% ที่อยู่ในส่วนกลาง เอาออกมา 70% ได้ไหม ส่วน 30% เอาไว้ส่วนกลาง
2.ภาระกิจที่ส่วนกลางทำบางเรื่องได้ไหม ไม่ต้องทำทุกเรื่อง ทุกวันนี้ส่วนกลางทำทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ แล้วอยู่ที่บ้านหลังเดียว คือทำเนียบรัฐบาล เรามีอะไรก็ไปล้อมที่ทำเนียบ ซึ่งจริงๆแล้วไปไม่ได้แล้วในทุกวันนี้ เพราะต่อไปเราจะสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันเราเปลี่ยนวิธีคิดจาก G to G เปลี่ยนเป็น T to T คือ Town to Town จากเมืองสู่เมือง ไม่ใช่รัฐบาลกับรัฐบาลแล้ว เพราะว่าสังคมแบ่งย่อยลงมา อย่างเชียงใหม่ ลำพูนสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านไม่ได้เลย ตกลงเซ็นสัญญาไม่ได้เลย เพราะเขาอำนาจเต็ม แต่เราไม่มีอำนาจเต็ม ดังนั้น รูปแบบเช่นนี้สังคมโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
เปรียบอย่างรถ เราเป็นรถคันเก่า ปะผุตลอด ซึ่งไปไม่ได้เพราะเป็นเส้นทางซุปเปอร์ไฮเวย์ที่หมายว่าขนาดใหญ่แล้ว เราต้องใช้รถอีกแบบหนึ่ง ที่หมายความว่าทันสมัยแล้ว จัดการได้เลย ที่เดียวจัดการได้ทุกเรื่อง ดังนั้นระบบวิธีคิดแบบนี้เอง ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะพูด ก็คือว่า ระหว่างโครงสร้างกับรูปการสำนึก จริงๆจะบอกว่ารูปการสำนึกไม่ได้พัฒนา ก็พูดไม่ถูก เพราะว่าอยู่ในโครงสร้างเก่า ก็เลยต้องอุปถัมภ์อยู่อย่างนี้ เพราะโครงสร้างเก่าเป็นระบบอุปถัมภ์ แต่ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์กันนะ เมื่อไหร่เราเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รูปการสำนึกก็จะเปลี่ยนด้วย แต่ถ้ารูปการสำนึกไม่สำนึกโครงสร้างก็ไม่เปลี่ยน ทั้งสองอย่างเป็นไก่กับไข่ ถามว่าอะไรถูกไหม ก็ยังไม่ถูก เพราะต้องเปลี่ยนทั้งสองอย่าง คือต้องเปลี่ยนทั้งรูปการสำนึกและโครงสร้างใหม่ และเมื่อไหร่ที่เราเปลี่ยนรูปการความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รูปการสำนึกก็จะเปลี่ยนไปด้วย
ถามว่าทำไมประเทศอื่น ถึงมีสำนึกมากกว่านั้น ก็เพราะว่าเขาได้เป็นเจ้าของชุมชน เขาก็เลยสำนึกมากกว่า แต่ของเราไม่เลย เก็บภาษีไม่รู้ไปไหน การพัฒนาเราก็ไม่ได้คิดเอง คนอื่นก็คิดหมด ดังนั้นชุมชนนี้จึงไม่ใช่ของเรา เราต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้ คือ
1.เอาอำนาจออกมา
2.เอางบประมาณออกมา
3.ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ ให้จัดการด้วยตัวเอง
ถามว่าทุกวันนี้พัฒนาไปถึงขั้นไหน มีกฎหมายสามารถที่จะพัฒนาได้ แล้วก็การสนับสนุนกฎหมายที่เราเรียกว่า จังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งผมคิดว่า นี้จะเป็นคำตอบสำหรับการปฏิรูปในยุคใหม่ข้างหน้า
จังหวัดปกครองตนเอง ถือว่าเป็นความก้าวหน้าเหมือนกันนะ ไปไกลมาก ผมสนใจว่า การกระจายอำนาจ ทั้งงบประมาณ การกระจายหน้าที่ให้เข้ามาอยู่ในการจัดการ และที่สำคัญ ใช้คำว่าเปลี่ยนสำนึก เปลี่ยนมุมมองใหม่จากการมีส่วนร่วมอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้คำว่าเป็นเจ้าของ”
สวิง ตันอุด เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.เชียงใหม่:
“ตอนนี้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งหลาย เวลาเคลื่อนตัวไปในพื้นที่ก็ถูกประชาชนต่อต้านไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น 3.2 แสนล้าน เรื่องน้ำ อะไรต่างๆ เหตุผลมีอยู่เรื่องเดียวครับ ก็คือการรวมศูนย์อำนาจ และการรวมผลประโยชน์ไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้นเอง ถ้าเมื่อไหร่เราปลดล็อกเรื่องนี้มาไว้ในท้องถิ่น สามารถที่จะทำให้ท้องถิ่นจังหวัดออกข้อบัญญัติตัวเองได้ เช่น ตรงนี้ห้ามขายให้กับคนอื่น สามารถที่จะคุมที่ดิน หรือสร้างผังเมืองหรือระบบผังเมืองให้กับตัวเองได้ ซึ่งส่วนนี้จะเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ไม่ได้
ในต่างประเทศเป็นแบบนั้น บริษัทจะเข้ามาตั้งเมืองไม่ได้ จะต้องออกไป 30 กิโลเมตร เพราะว่าเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดไว้ ไม่ใช่ว่าคุณไปเจาะตรงกลาง แล้วไปกินเรียบแบบไม่ใช่ เพราะว่าเขาสามารถที่จะปกป้องตนเองได้ หรือโครงการขนาดใหญ่ที่ลงไปในพื้นที่ ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้าน เพราะเหตุผลสองเรื่องครับ คือ ผลประโยชน์กับผลกระทบ
ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับแต่ผลกระทบ แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์ ผลโยชน์ที่ขุดแร่เอาไปขายทั้งหมด รายได้ส่งส่วนกลางหมดเลย การลงทุนทุกชนิด ภาษีที่เกิดขึ้นกลับส่งส่วนกลางหมดเลย เขาได้แต่ผลกระทบแต่ไม่ได้ผลประโยชน์ เมื่อไหร่ที่เขาสามารถคุมผลกระทบได้ และผลประโยชน์ตกอยู่กับเขาได้ ซึ่งทั่วโลกก็เป็นแบบนั้น 70%อยู่ในพื้นที่ภาษีที่เกิดขึ้น รายได้ที่รายได้เกิดขึ้น 30 เปอร์เซ็นส่งส่วนกลาง เป็นแบบนี้ท้องถิ่นก็สามารถจัดการเจรจากับผู้ลงทุนได้ว่ามาลงทุนด้วยกัน ดังนั้นเราเห็นได้ขัดเลยว่ารูปธรรมที่เราพัฒนาต่อไปได้ ปัญหาทั้งหลายที่เราขับเคลื่อนเพราะเรื่องเดียวคือการรวมศูนย์อำนาจ ในจังหวัดเชียงใหม่มีอยู่ 250 หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานส่วนกลางที่ลงมาปฏิบัติการในพื้นที่ แล้วในพื้นที่ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งผมคิดว่าอันนี้แหละคือเรื่องที่เราจะต้องแกะปมเพื่อจะนำไปสู้การปฏิรูป
บุญส่ง ไคร้แค เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ. อุตรดิตถ์
พี่น้องที่ฟังอยู่อาจจะสงสัยครับว่า เราจะร่วมปฏิรูปครั้งนี้ได้อย่างไร อย่างนี้นะครับ เรามองชัดเจนนะครับว่า มันถึงเวลาแล้วจังหวัดที่มีความพร้อมจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดของตัวเอง”
ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ :
“เราจะวัดความพร้อมของเราได้จากไหน ความพร้อมที่จะวัดประชาชนในจังหวัดนั้น เอาด้วยหรือเปล่านั้นแหละคือความพร้อม ใช่ไหม ถ้าประชาชนยังไม่เอา อะไรก็ไม่รู้ ทำอะไรกันไม่รู้พวกเอ็งทำอะไรกันอยู่ มีแต่ NGO มีแต่อาจารย์มหาวิทยาลัย อันนั้นยังไม่พร้อม แต่เรากำหนดยุทธศาสตร์กันแล้วนะครับ ว่าเราก็ต้องไปรณรงค์ความรู้ความเข้าใจ แต่แน่นอนในเรื่องรายละเอียดมันเป็นไปไม่ได้ แต่หลักการ หลักการแบบนี้ที่เราเสนอ ผมว่าทั้ง 77 จังหวัด ใครเห็นใครก็เอา เพียงแต่ว่าเราจะทำยังไง พร้อมไม่พร้อมจะยกตัวอย่างเชียงใหม่ เพราะมันเริ่มจากเชียงใหม่น้อ เราเดินมาจากครูบาศรีวิชัย ไปที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อยื่นร่างพรบ.ให้แก่รองสภาผู้แทนราษฎร ผมว่าน่าจะมีม็อบเดียวของประเทศไทยนะที่เดินผ่านมีคนโบกไม้โบกมือยกนิ้วชูป้ายไม่มีใครมาด่า อันนี้แหละคือความพร้อม ผมจะบอกว่าความพร้อมคือประชาชนเอาด้วย ท้องถิ่นเอาด้วยใช่ไหม เราทำจังหวัดปกครองตนเอง แต่ท้องถิ่นไม่เอา อบต.ไม่เอา เทศบาลไม่เอาก็จบ”
บุญส่ง ไคร้แค เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.อุตรดิตถ์:
“ขณะเดียวกันพี่น้องหลายคน ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วอย่างนี้นักเลือกตั้งก็กลับมาเลือกตั้งอีกใช่ไหม ฉะนั้นเราไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งที่มีอยู่ แต่ขณะเดียวกันเรานำเสนอเรื่องของสภาพลเมือง ทีนี้ถามว่าสภาพลเมืองมันจะมาจากไหน ที่ผมแยกให้ฟังเมื่อกี้ว่าที่เราสรุปกันว่า 1 เป็นประชาธิปไตยที่มีตัวแทน สภาพลเมืองนั้นเป็นประชาธิปไตยทางตรงได้ไหม อย่างน้องแต๋วเมื่อกี้ เป็นตัวแทนของภาคได้ไหม คนนี้ที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นตัวสภาพลเมือง ซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง กำหนดนโยบาย ทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าจังหวัดของตัวเองจะขับเคลื่อนไปอย่างไร กำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด แล้วประชาชนทั้งหมดก็เลือกตั้ง ในส่วนของผู้ว่ากลางขึ้นมา เลือกตั้งสภาของจังหวัดขึ้นมาของสภาผู้แทนจังหวัดขึ้นมา แล้วทั้งสภาและผู้ว่าการก็มีหน้าที่ตอบสนองนโยบาย และยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งกำหนดโดยสภาพลเมือง แล้วสภาพลเมืองก็สร้างอำนาจของตัวเองขึ้นมา ที่จะตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าการ ของสภาจังหวัดอย่างนี้ ในส่วนหนึ่งเรียกว่า เราแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ท้องถิ่นส่วนบน คือส่วนจังหวัด ขณะเดียวกัน ในท้องถิ่นคือส่วนล่าง คือของเทศบาลของตำบลยังมีเหมือนเดิม แต่ก็จะมีสภาพลเมืองของตำบล ของเทศบาลขึ้นมาดูแลสอดคล้องล้อไปกับสภาพลเมืองของจังหวัด”
ชูพินิจ เกษมณี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ:
“ถึงแม้เราจะปกครองตนเองในระดับจังหวัด แน่นอนมันคง มันคงไม่สามารถจะหยุดยั้งการคอรัปชั่นได้ แต่เราเชื่อว่า พื้นที่ทางการเมืองที่เล็กลง การตรวจสอบการคอรัปชั่นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าพื้นที่ระดับชาติ ผมว่าอันนี้เป็นประเด็นที่เราต้องคำนึงถึงให้มากนะครับ”
บุญส่ง ไคร้แค เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.อุตรดิตถ์ :
“นี่คือสิ่งที่เรากำลังนำเสนอต่อสังคม และคิดว่าใน สอง สามเดือน ซึ่งในที่ประชุมกำหนดว่าวันที่ 24 มิถุนายน ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือเรา จะร่วมกันรณรงค์พร้อมกันทั้งหมด แล้ววันนี้ ผมในฐานะตัวแทน ก็จะเชื่อมโยงไปตามภาคต่างๆ เพื่อให้เป็นมิติของภาคประชาชนทั้งหมด “
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนับจากนี้ “ประชาชนเดินหน้าต่อ”
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผอ.สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม :
“ผมคิดว่ามาถึงตอนนี้นั้นเราเริ่มเห็นภาพทิศทางชัดเจนว่า เรามีพื้นที่รูปธรรมมากมาย และวันนี้เราก็ได้สรุปร่วมกันว่าปัญหาทั้งหมดมันต้องขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือเราเรียกว่ากระจายอำนาจสู่จังหวัดจัดการตนเอง ปกครองตนเอง เราได้สรุปสาระทิศทางที่จะก้าวไปข้างหน้าเป็นรูปธรรมที่จะต้อง พี่น้องเราทั้ง 17 จังหวัดจะต้องขับเคลื่อนเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกัน ห้า หกยุทธศาสตร์ เชิญคุณสวิงครับ “
สวิง ตันอุด เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง จ.เชียงใหม่:
“ยุทธศาสตร์อย่างที่ว่าผมเข้าใจว่าเรามีอยู่แล้วคือ 1 เพื่อนที่จะให้ความรู้เรื่องนี้ กับประชาชนโดยสถาปนาหรือจะคิดว่าอะไรก็แล้วแต่ ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพื้นที่ อันที่ 2 เรามีกฎหมายที่ยกร่างกันอยู่แล้วในตอนนี้โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อเรียกว่ากฎหมายการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งอันนี้จะเผยแพร่ลงไปพูดคุยกับประชาชนต่อไป แล้วขับเคลื่อนให้ประกาศใช้ในอนาคต อันที่ 3 ก็คือหมายความว่าเคลื่อนเกี่ยวกับความรู้เรื่องสื่อทั้งหลายในการกระจายสู่พื้นที่ มีวงเสวนาที่จะคุยกันเรื่องนี้นะครับ แล้วจริงๆเครือข่ายทำอยู่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ 17 จังหวัดนะครับ อีสานก็ประกาศไปแล้ว 20 จังหวัดภาคใต้ภาคไร ตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 50 จังหวัดที่จะขับเคลื่อนเรื่องอันนี้ ผมก็คิดว่าเรื่องนี้อยากจะฝากให้ท่านผู้ชมทั้งหลายได้ไปพิจารณาด้วยว่าการปฏิรูป ตอนนี้ปฏิรูปเฉพาะว่า สว.จะมาจากการเลือกตั้ง มันไม่มีนัยยะอะไรสำคัญกับประชาชนเลยนะครับ นัยยะของประชาชนตอนนี้คือเอาอำนาจออกมา เอางบประมาณออกมาแล้วให้ประชาชนจัดการตนเองปกครองตนเอง เท่านั้นเองมันถึงจะแกะปม ถ้าทำได้แบบนี้ เราท้าได้เลยครับ 1 ปฏิวัติไม่มี อันที่ 2 วิกฤตทางการเมืองไม่เกิด ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายจะถูกเอาออกมากระจาย เพราะทุกวันนี้เวลาเอางบประมาณเข้าไปที่ส่วนกลาง ปรากฏว่ายังไงครับ เราก็รวยกระจุก จนกระจาย เพราะว่างบประมาณบางอย่างมันก็ถูกเอาไปพัฒนาบางเมืองหรือบางจุดเท่านั้นเอง ซึ่งอันนี้มันจะถูกสร้างให้ประชาชนเป็นเจ้าของและสำนึกของตัวเองในท้องถิ่นจะกลับคืนมา ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ในตอนนี้ก็คือว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ วิกฤตทางการเมืองจะจบลงยังไง ก็แล้วแต่ แต่การปฏิรูปเพื่อให้เกิดเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นและเราอยากจะขึ้นรูปแบบนี้กับประชาชนทุกพื้นที่ทุกจังหวัดตอนนี้อยู่วงเสวนาทุกภาคแล้วมีแกนในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นทิศทางและนโยบายในการปฏิรูปภาคประชาชนต่อไป”
*บันทึกการพูดคุย เวทีเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทยสู่สังคมอนาคต เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2556
โดยทีมสื่ออาสาภาคเหนือ
- เจริญกูล เฉลียวเกรียงไกร โปรดิวเซอร์อาสา
- จอม ป้าจิ่ง ทีมผลิตรายการบ้านเธอก็บ้านฉัน
- สุกัญญา อุ่นใจ นักศึกษา ม.เชียงใหม่
- บุษกร มโนรี นักศึกษา ม.เชียงใหม่
- เกล็ดเเก้ว จอมคำ นักศึกษา ม.พะเยา
- รวิษฏา ธรรมวงค์ นักศึกษา ม.พะเยา