เรื่อง / ภาพ : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
ไขปัญหาอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงเสริมความสูงปากกระโถนสปิลเวย์ ทำน้ำท่วมที่อยู่อาศัยชาวบ้านโคกสำราญ หมู่ 10 ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา สู่การพัฒนาความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลตะขบ กุญแจไขปัญหา เชื่อมโยงหน่วยงานจังหวัด กระทรวง พม. ชลประทาน ป่าไม้ สปก. พอช. ร่วมเยียวยาผลกระทบ ย้ายจากบุกรุกที่ชลประทานไปอยู่อาศัยในที่ดิน สปก.ใกล้ที่เดิมอยู่อาศัยอย่างมั่นคง ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่บ้านมั่นคงชนบทตำบลตะขบ บ้านมั่นคงท้ายเขื่อนลำพระเพลิง
แม่ลำดวน ฉัตรตะขบ ชาวบ้านโคกสำราญที่ประสบภัยน้ำท่วม บอกความรู้สึกให้ฟังว่า “ยายดีใจที่ได้ย้ายขึ้นมาเพระาไม่ต้องลำบากกับน้ำท่วม ดีใจสุดๆที่ทางการเค้ามาดูแล ไม่ต้องเดือดร้อนกับน้ำขึ้นท่วมบ้าน มดกัด งูขึ้นบ้าน อะไรประมาณนั้นนะ”
นายวิโรจน์ โคกเกษม ชาวบ้านโคกสำราญ ช่างชุมชนบอกเล่าการสร้างบ้านที่นี่ว่า “ชาวบ้านช่วยกันขนขึ้นมาจากข้างล่าง แล้วคนให้หมู่บ้านมาช่วยกันขึ้นโครงสร้าง เสร็จจากโครงสร้างเจ้าของบ้านก็จ้างช่างมาช่วยนิดหน่อย และเวียนขึ้นไปทีละหลังจนครบทุกหลัง ดีใจที่เขาจัดสรรที่ให้ ภูมิใจครับ”
ไม่ต่างจากนางสุกัญญา พูลเกษม ชาวบ้านโคกสำราญที่ประสบภัยน้ำท่วม “อยากขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด และทีม พอช.ที่หางบประมาณมาให้ ชาวบ้านรายได้น้อยไม่มีเงินพอที่จะรื้อย้ายขึ้นมาค่าใช้จ่ายมันเยอะ อยากขอบคุณ พอช.ที่หางบประมาณมาให้
คนบ้านโคกสำราญมาพร้อมกับการสร้างเขื่อนลำพระเพลิงเมื่อปี 2510 ชาวบ้านมาสร้างทับหาปลาอยู่ไปอยู่มาจนเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำไร่มัน ไร่ข้าวโพด รายได้จากการหาปลาวันละ 200-300 บาท ไม่มีหนี้สินก็ทำให้พออยู่ได้ บางช่วงไม่ปิดเขื่อนรายได้เป็นพัน
หลังความเดือนร้อนของชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อนลำพระเพลิง ที่เริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่ปี 2553 และยิ่งมีการเสริมคันดินกั้นน้ำ และเสริมความสูงของปากกระโถนสปิลเวย์ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ทำให้ปี 2563 ชาวบ้าน 38 ครัวเรือนบ้านโคกสำราญได้รับผลกระทบ
นางสุกัญญา พูลเกษม เล่าให้ฟังต่อว่า จากการที่น้ำท่วมหนักเมื่อปี 2553 ถึงต้นปี 54 และมีโครงการที่จะย้ายชาวบ้านมาอยู่สูงในบริเวณใกล้เคียง ทางผู้นำชุมชนไปติดต่อกับป่าไม้ กับสปก.ให้มาจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านที่หนีน้ำท่วมจำนวน 38 หลังคาเรือน ครั้งแรกที่ท่วมหนักแต่ลดเร็ว แต่ปี 63 ท่วมนาน 3-4 เดือนกว่าน้ำจะลดจากบ้านที่อยู่ เป็นจากการที่ชลประทานเสริมปากกระโถนให้สูงขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำให้มากเพราะน้ำต้องนำไปใช้ในการเกษตร ทำน้ำปะปา พอเสริมปากกระโถนน้ำก็เอ่อขึ้นท่วมบ้านที่อยู่ริมชายน้ำ
ซึ่งโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่นี่เริ่มประมาณเดือนมีนาคม 2564 ที่เริ่มทำโครงการ ที่เริ่มก่อสร้างบ้านเดือนกรกฏาคม 2564 ตอนนี้สร้างเสร็จไปแล้วประมาณ 80 % โดยชาวบ้านได้รับงบประมาณหลังคาเรือนละ 58,000 บาท รื้อบ้านเก่า สมทบกับที่ได้รับมาทำบ้าน โดยได้รับการจัดสรรแปลงที่ดินที่อยู่อาศัย หลังคาเรือนละ 122 ตารางวา ใช้วิธีแบ่งล็อคเขียนเบอร์จับสลาก ใครอยากสลับอยู่ใกล้พ่อใกล้แม่ก็แลกกันเอง ไม่มีการทะเลาะ นางสุกัญญา เล่าก่อนจบ อย่างไรก็ตาม 8 ธันวาคม 2564 นี้ แม่ลำดวน และเพื่อนบ้านอีก 38 ครอบครัวจะถือโอกาสขึ้นบ้านใหม่พร้อมกัน หลังจากภาคีหน่วยงาน ท้องที่ท้องถิ่นประสานความร่วมมือ โดยพอช.สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ปะปา จำนวน 2,682,800 บาท (สองล้านหกแสนแปดหมื่นสองพันแปดร้อยบาทถ้วน)