น้ำท่วม ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่งที่ชาวบ้านตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ประสบพบเจอมากที่สุด บางครั้งท่วมแค่หัวเข่า แต่บางครั้งก็ท่วมจนมิดหลังคาบ้าน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนทุกข์ยาก ให้กับชาวบ้านมาหลายครั้งหลายครา การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง
และนับตั้งแต่พายุ “เตี้ยนหมู่” ที่เข้าเขตประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายต่าง ๆ ในภาคอีสาน แม้ตอนนี้ในจังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมาน้ำที่ท่วมจะแห้งไปแล้ว แต่ผ่านมากว่า 3 เดือนผลกระทบจากมวลน้ำไหลไปตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ก็ยังคงส่งผลต่อชาวบ้านตามลุ่มน้ำในภาคอีสาน ทั้ง ลุ่มน้ำพอง ลุ่มน้ำชี และ ลุ่มน้ำมูล ที่จะต้องรับมวลน้ำที่ไหลผ่านมา
สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ตั้งขอสังเกตว่า “น้ำในเดือน 12 จะต้องไปอยู่ในแม่น้ำชีแล้วไม่ควรที่จะท่วมนาข้าว ซึ่งตอนที่แม่น้ำชียังไม่มีการสร้างเขื่อน มันจะทำหน้าที่ของมัน คือ แม่น้ำชีจะเป็นตัวกลางในการพร่องน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเพื่อลงสู่แม่น้ำมูล ต้นทุนน้ำเดิมจะไม่เยอะขนาดนี้ ฉะนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในแม่น้ำชี ผมมองว่า คือเรื่องการจัดการน้ำโดยเฉพาะเขื่อน พอมีการทำเขื่อนกั้นในแม่น้ำชีตามโครงการโขง ชี มูล เดิม ส่งผลให้แม่น้ำชีมีเขื่อนมากถึง 6 จุดในลำน้ำชี ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2543 และเกิดปรากฏการน้ำท่วมเป็นเวลานานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าผิดปกติที่เกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน 1-2 เดือน โดยเฉพาะปีนี้เราเห็นว่ามีพายุ แต่เขื่อนที่อยู่ตามลำน้ำไม่พร่องน้ำออก ทำให้น้ำจากต้นน้ำมาสมทบกับน้ำต้นทุนเดิมที่มันมากอยู่แล้ว จึงส่งผลให้นำท่วมนาชาวบ้านกระทบกับชาวนา ทำให้ข้าวตาย เกษตรกรเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก”
จากของสังเกตของ สิริศักดิ์ สะดวก ทำให้เห็นว่าการจัดบริหารจัดการน้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับชาวบ้านได้ และนอกจากลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมายาวนานนับเดือน ในลุ่มน้ำพองเองก็เป็นอีกหนึ่งจุด ที่มักจะได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำ
โดย สวาท อุปฮาด แกนนำสมัชชาคนและผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ คือ ผู้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ลุ่มน้ำพอง และได้รับผลกระโดยตรง ซึ่ง สวาท อุปฮาด เล่าว่า
“ลุ่มน้ำพอง เป็นอีกลุ่มน้ำที่มักจะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมจากการปล่อยน้ำของเขื่อน ที่พูดแบบนั้นเพราะว่า ช่วงที่มีน้ำท่วมจะไม่มีฝนในพื้นที่เลย แต่เขื่อนก็จะบอกว่าเกิดจากพายุมันก็ไม่ใช่ครับ เพราะช่วงที่ผ่านมาน้ำฝนแทบจะไม่ส่งผลอะไรเลย แต่พอเขื่อนปล่อยน้ำมาก็ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยที่ไม่ได้มีความเห็นจากชาวบ้าน มันจึงส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ทำให้ชุมชนเป็นชุมชนกำพร้า เพราะเมื่อเจอน้ำท่วมแต่ละครั้ง ก็ทำให้หลายคนต้องร่อนเร่ไปขายแรง เพื่อจะให้กลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวได้อีกครั้ง”
เมื่อภัยน้ำท่วม ไม่ได้ท่วมแค่บ้านเรือน นาข้าว แต่เป็นการท่วมวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากร อาชีพ และรายได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาอาศัยลำน้ำสายต่าง ๆ ในการหล่อเลี้ยงชีวิต การหาทางออกในการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ยังคงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังว่าจะได้มีสิทธิ์ และมีเสียงในการร่วมออกแบบการจัดการน้ำ
ติดตามรายละเอียดวงเสวนาอยู่ดีมีแฮงโสเหล่ เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งร่วมเสวนาโดย 1.สวาท อุปฮาด แกนนำสมัชชาคนจน ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ 2.สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง 3.ธงชัย พูดเพราะ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ 4.วิศณ์ ประสานพันธ์ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และ 5.ชยพล ถิลา ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินวงเสวนาโดย วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง ฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง ThaiPBS