ชาวประมงกระบี่ในวันที่ไม่มีถ่านหิน ตอนที่ 1
ภาพของชาวประมงพื้นบ้าน หรือชาวประมงขนาดเล็ก ที่บางคนจินตนาการอาจจะเป็นภาพชาวประมงสองสามีภรรยา หรือไม่ก็พ่อกับลูกชาย นั่งเรือหัวโทงลำเล็ก ๆ ไปวางอวนที่ทะเลหน้าบ้าน ห่างจากริมฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 5 กิโลเมตร ออกจากบ้านตอนรุ่งเช้า กลับมาถึงบ้านตอนบ่าย หรือตอนเย็น
ชาวประมงบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ส่วนหนึ่งก็มีรูปแบบการทำประมงแบบเดิมเช่นนั้น แต่บางส่วนก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำประมงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทำประมงใกล้บ้านประมาณครึ่งปี ส่วนอีกครึ่งปีมีการทำประมงในพื้นที่ต่างตำบล ต่างอำเภอ รวมถึงจังหวัดข้างเคียง
ทำไมต้องทำประมงไกลขึ้น?
“ตั้งแต่มีเรือน้ำมันเตาก็ออกเลยากขึ้น ชาวบ้านจะวางอวนกุ้งแถวช่องแหลมหินตามฤดูกาลประมาณครึ่งปี หลังจากนั้นก็ออกเลกันหลากหลาย บ้านหาดยาวบ้านปากหราชอบวางอวนริมฝั่ง บ้านคลองยวนชอบจับปูดำโล๊ะกุ้งในคลอง บ้านคลองรั้ว-แหลมหิน”
“ส่วนหนึ่งไม่ชอบทำตามใคร ก็ไปวางอวนถ่วง วางเบ็ดราวปลาอินทรี แถวเกาะพีพี แต่คนแก่ คนที่ต้องแลลูกก็วางอวนปูม้า วางอวนปลาทรายอยู่แถวนี้ มันก็ดีที่ทำไม่เหมือนกัน ไม่ต้องชิงกัน ไม่ต้องทะเลาะกัน พอมีแมงกะพรุน ส่วนใหญ่จะเลือกจับแมงกะพรุน” บังบีหรีน ชาวประมงบ้านคลองรั้ว เล่าให้ฟัง
“ตอนที่เรือน้ำมันเตายังไม่มากุ้งหาง่าย กุ้งมีมาก ช่วง 8-9 ค่ำ จะน็อคทุกวัน พอเรือน้ำมันเตามา กุ้งก็หายไป ต้องท่า 2-3 วันจึงจะวางอวนได้หล่าว” นะ คนจับกุ้ง เล่าให้ฟัง
“ก่อนเรือน้ำมันเตาเข้ามา มีคนมาขายกุ้งที่แพวันละประมาณ 500 กิโล บางลำได้ 50 กิโล พอมีเรือน้ำมันเตาลดลงเหลือวันละประมาณ 100 กิโล” มะหญิงเซาะ เจ้าของแพในชุมชน เล่าให้ฟัง
ชาวบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน สะท้อนตรงกันว่าเมื่อก่อนทะเลบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มากกว่าปัจจุบัน แต่เมื่อมีการสร้างท่าเทียบเรือห่างจากบ้านแหลมหินเพียงประมาณ 500 เมตร และมีการเดินเรือขนาด 3,000 ตัน สัปดาห์ละ 1-3 เที่ยว เพื่อขนส่งน้ำมันเตาจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าขนาด 340 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาประมาณ 20 ปี ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำบริเวณช่องแหลมหิน อ่าวแหลมหิน-คลองรั้ว ลดปริมาณลง และสูญหายไปในหลายช่วง ชาวบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ต้องไปจับสัตว์น้ำไกลบ้านบ่อยขึ้น อีกทั้งเจ้าของโครงการไม่ได้แจ้งล่วงหน้าก่อนเดินเรือ ส่งผลให้ชาวบ้านเก็บกู้เครื่องมือประมงไม่ทัน อวน และไซของชาวบ้านหลายรายถูกกวาดทำลายไปในหลายครั้ง โดยมักจะไม่ได้รับการชดเชย
เจ้าของโครงการไม่สนใจแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่าเดิม ขนาด 870 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ใช้เรือบรรทุกถ่านหินขนาด 10,000 เดทเวทตัน บรรทุกถ่านหินจากต่างประเทศวันละประมาณ 2 ลำ ลำละประมาณ 8,000 ตัน ในขณะที่จังหวัดกระบี่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลขายเข้าระบบ จำนวน 44.51 เมกะวัตต์ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล และพลังงานอื่น ๆ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานแก๊สชีวภาพ พลังงานน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้น 1,676 เมกะวัตต์ สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของจังหวัด จำนวน 11 เท่า
ชาวบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน มีความรู้สึกเดียวกันว่า พวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากการขนส่งน้ำมันเตาแล้ว หากมีการขนส่งถ่านหินจะต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว เพราะผลกระทบจากถ่านหินมากกว่าน้ำมันเตา อีกทั้ง น้ำหนักของเรือ และจำนวนเที่ยวของการขนส่งก็มากขึ้นกว่าเดิมด้วย
“เราได้บทเรียนจากเรือขนน้ำมันเตามาแล้ว กระบี่มีทางออก มีพลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวมวล อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะรับฟังไหม ถ้าต้องการเก็บกระบี่ไว้เป็นพื้นที่สวยงาม พื้นที่สิ่งแวดล้อมดีธรรมชาติดี ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” บังหลี บอก
ชาวประมงบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานหมุนเวียน ร่วมกับชาวสวน นักธุรกิจ นักอนุรักษ์ คนหลากหลายสาขาอาชีพในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และภูมินิเวศอันดามัน รวมถึงคนรักกระบี่ทั่วประเทศและทั่วโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐบาลชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หลายครั้ง แต่ยังไม่ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ในขณะที่กระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานหมุนเวียนในทุกมุมโลกดังขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนจากต้นเหตุของปัญหา แต่รัฐบาลไทยยังคงเน้นการแก้ไขปัญหาทางอ้อม เช่น การปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้น ภายใน พ.ศ.2565 เพื่อดูดซับคาร์บอน ไม่ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในทันทีทันใด แม้ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาวในอันดับที่ 9 ของโลก ก็ตาม ดังนั้น จึงยังต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไป
หมายเหตุ
1. ตัดตอนและเรียบเรียงจากหนังสือชาวประมงกระบี่ในวันที่ไม่มีถ่านหิน พิมพ์ครั้งแรก เดือนมีนาคม 2563
2. อธิบายคำศัพท์
(2.1) ออกเล หมายถึง ทำประมง เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.2) น้อยหวา หมายถึง น้อยกว่า เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.3) โล๊ะกุ้ง หมายถึง การจับกุ้งโดยส่องไฟหาในเวลากลางคืน เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.4) บัง หมายถึง พี่ชาย เป็นคำเรียกชื่อของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม
(2.5) มะหญิง หมายถึง ยาย เป็นคำเรียกชื่อของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม
(2.6) ท่า หมายถึง รอ เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.7) เล หมายถึง ทะเล เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.8) จ๊ะ หมายถึง พี่สาว เป็นคำเรียกชื่อของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม
3. ข้อมูลชุมชน
ชุมชนบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ตั้งอยู่ริมทะเล อยู่ในเขตการปกครอง หมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีประชากร 317 ครัวเรือน 1,117 คน