เรื่องเล่าชาวประมงพื้นบ้าน จ.กระบี่ ตอนที่ 3
ที่บ้านคลองรั้ว-แหลมหิน มีเฒ่าทะเล หรือชาวประมงสูงวัย อายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนสิบกว่าคน ชาวประมงสูงวัยสะท้อนถึงแรงจูงใจในการทำประมงพื้นบ้านว่าเกิดจากความผูกพันกับทะเลและอาชีพประมง รวมถึงแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ ที่อยากมีรายได้และเงินออมไว้ดูแลตนเองและจุนเจือลูกหลาน เมื่อมีรายได้ก็มีความภาคภูมิใจ เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และสามารถแบ่งเบาภาระของลูกหลานได้อีกด้วย
“ลูกห้ามไม่ให้ทำ แต่เราจะขอลูกกินไปเพ่อ มันก็รักษาครอบครัว ถ้านอนกินเบี้ยคนแก่ เดือน 700 ก็ไม่ไหว ไม่พอกิน ออกเลได้ช่วยลูกด้วย ไปเช้า ๆ หลบมาตีหนึ่งตีสอง พอเหนื่อย พอเนือยก็หลบมา ไม่หาญไปมาก ไม่รอดแล้ว ถ้าไปไม่รอดก็นอนเอง ไม่ต้องมีใครมาห้ามไม่ให้ออกเล” ยายยามีซะ เล่า
ยายยามีซะ อายุ 78 ปี ทำประมงกับตาเจริญ อายุ 84 ปี ซึ่งเป็นสามี ทั้งสองคนเป็นเฒ่าทะเลที่อายุมากที่สุดในชุมชน เริ่มทำประมงหลังจากแต่งงาน โดยทำประมงในคลองมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการทำสวนยางพารา เนื้อที่ 10 ไร่ ดูแลลูก 10 คน บ้านของยายตั้งอยู่ริมคลองของหมู่บ้าน
ปัจจุบันยายยามีซะจับปลามากินเป็นหลัก เพราะอายุมากแล้ว จะเลือกวันที่พร้อม ทั้งสภาพร่างกาย สภาพอากาศ และสภาพน้ำ เมื่อเดือนที่แล้วทำประมง 2 วัน ได้ปลากระบอกมากิน และขาย 100 กว่าบาท บางวันจับปลาได้มาก ได้ปลามากสุดประมาณ 10 กิโลกรัม
“วางอวนปลาบอกตั้งแต่โล 8 บาท ตอนนี้โล 80 บาท ก็ยังไปวางอวน ชอบออกเล หาปลาเองกินง่ายใช้คล่องนะลูก” ยายยามีซะ เล่า
ยายยามีซะใช้เรือขนาดเล็กที่สุดในชุมชน วางอวนปลากระบอก และตกปลา เคยไปไกลสุดบริเวณแหลมกรวด ตำบลคลองขนาน ซึ่งอยู่ติดกับตำบลตลิ่งชัน การวางอวนปลากระบอกจะวางอวนสาวอวนริมคลองอยู่หลายรอบ น้ำลึกประมาณ 1-2 วา
เฒ่าทะเลโดยส่วนใหญ่ทำประมงใกล้บ้าน ทั้งในคลอง และชายฝั่งทะเล โดยใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาทำงานไม่นาน เช่น อวนปลากระบอก อวนปลาทราย อวนปลาหลังเขียว อวนปู แต่ก็มีชาวประมงสูงวัยบางคนเดินทางไปจับแมงกะพรุนในพื้นที่อำเภอใกล้เคียง และจังหวัดใกล้เคียง ในช่วง 1-2 เดือน
ตาซ่าย อายุประมาณ 70 ปี ทำประมงเดือนละประมาณ 20 วัน โดยใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด หมุนเวียนตามฤดูกาล ในช่วง 10-11 เดือน จะทำประมงใกล้บ้าน ส่วนอีก 1-2 เดือน จะไปจับแมงกะพรุน ในพื้นที่ต่างอำเภอ และจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียง ตาซ่ายมีลูกหรือหลานเป็นผู้ช่วย แต่ในบางครั้งก็ไปวางอวนปลาทรายคนเดียว เนื่องจากเป็นเครื่องมือประมงที่สามารถทำงานคนเดียวได้
นอกจากการทำประมง ชาวประมงสูงวัยบางส่วนมีรายได้จากการแปรรูปอาหารทะเล อาทิ ยายสาว อายุ 63 ปี มีรายได้จากการแปรรูปอาหาร ได้แก่ ปลาเค็ม ปลาหลังเขียวย่างรมควัน ควบคู่ไปกับการจำหน่ายน้ำกะทิสด สามารถเลี้ยงดูตนเอง ซึ่งเป็นหญิงม่ายได้
ในขณะที่มีการพูดถึงสังคมสูงวัยอย่างห่วงใย ทั้งด้านรายได้ ปัญหาสุขภาพ และสุขภาพจิต ผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งในชุมชนประมงบอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ โดยมีอาชีพประมงและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประมงเป็นความหวัง อยากทำงานไปให้นานที่สุด จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว นอกจากนั้น เฒ่าทะเลอยากให้ทะเลคงความสมบูรณ์ไปนานๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของคนในชุมชนไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
หมายเหตุ
1. ตัดตอนและเรียบเรียงจากหนังสือชาวประมงกระบี่ในวันที่ไม่มีถ่านหิน พิมพ์ครั้งแรก เดือนมีนาคม 2563
2. อธิบายคำศัพท์
(2.1) ไปเพ่อ หมายถึง ไปเรื่อยๆ เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.2) ออกเล หมายถึง ทำประมง เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.3) เนือย หมายถึง หิว เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.4) ไม่หาญ หมายถึง ไม่กล้า เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.5) ไหร หมายถึง อย่างไร เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
3. ข้อมูลชุมชน
ชุมชนบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ตั้งอยู่ริมทะเล อยู่ในเขตการปกครอง หมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีประชากร 317 ครัวเรือน 1,117 คน