เรื่องเล่าชาวประมงพื้นบ้าน จ.กระบี่ ตอนที่ 1
ที่ร้านค้าในชุมชนแหลมหิน ฉันสะดุดตาคุณยาย ซึ่งเตรียมตัวไปทำประมง เธอชื่อ “มะหญิง (ยาย) แหมะ” เป็นหญิงชราร่างเล็ก ผิวคล้ำกร้านแดด แววตาเข้มแข็งแต่แฝงรอยหม่น ดูเป็นคนสู้ชีวิต เธอดึงดูดฉันให้ไปทำความรู้จัก
“หม้อข้าวอยู่ในเล ค่ากิน ค่าน้ำ อยู่ในเล” มะหญิงแหมะบอก สะท้อนถึงวิถีประมง และแรงจูงใจในการทำประมง
บ้านของมะหญิงแหมะเป็นบ้านแฝดติดกับบ้านของลูก เป็นเรือนไม้เก่าหลังเล็กยกพื้นยื่นลงไปในทะเล มุงหลังคาด้วยกระเบื้องผสมกับสังกะสี บนบ้านมีพื้นที่ทำครัว มีทีวีให้ความบันเทิง มีอุปกรณ์ทำประมง ทั้งอวนปู อวนกุ้ง เบ็ดตกปลา
มะหญิงแหมะอยู่กับ “ป๊ะชาย (ตา) เหม” ผู้เป็นสามี บางคืนมีหลานมานอนด้วย นอกจากนั้น ในหมู่บ้านก็มีบ้านของลูก ๆ อีกหลายคน
ปีนี้มะหญิงแหมะ อายุ 73 ปี ส่วนป๊ะชายเหมอายุ 74 ปี มีโรครุมเร้าตามประสาวัยชรา ในบางวันที่ลมฟ้าอากาศ และสุขภาพเอื้ออำนวย มะหญิงแหมะกับป๊ะชายจะออกทะเล โดยไปเป็นผู้ช่วยของลูก
“ก็แก่แล้วเหมือนกัน มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ ความดันสูง ไขมันสูง แต่ออกเลได้ เลือกงานที่ไม่เหนื่อย ทำงานตอนกลางวัน” มะหญิงแหมะบอก ส่วนป๊ะชายเหม มะหญิงแหมะเล่าว่า ในปีนี้ป๊ะชายเหมเป็นลมบ่อย ช่วงไหนอาการดีขึ้นก็จะออกทะเล
“ไม่ออกเล อยู่ไม่ได้ เครียด รู้สึกว่ายังแข็งแรง ยังทำงานได้” ป๊ะชายเหมบอก
ป๊ะชายเหมเป็นคนปากหรา อยู่ในพื้นที่ตำบลเดียวกันกับบ้านแหลมหิน หลังจากแต่งงานกันก็มาอยู่ที่บ้านแหลมหิน ซึ่งเป็นบ้านของมะหญิงแหมะ ป๊ะชายเริ่มเรียนรู้วิชาชาวประมงตั้งแต่อายุ 14 ปี เริ่มจากนั่งเรือใบไปตกปลาแถว ๆ เกาะพีพีกับพ่อแม่ ไปวันเดียวก็กลับ ป๊ะชายใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำมาหลายชนิดแล้ว หลังจากแต่งงานจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 50 ปีที่สองตายายออกทะเลด้วยกัน ส่วนลูก ๆ ก็สืบทอดภูมิปัญญาการทำประมงต่อจากพ่อแม่
เมื่อปีก่อนๆ ตอนเช้าตรู่ของทุกวัน สองตายายจะขี่เรือหัวโทง เรือไม้ติดเครื่องยนต์หางยาว ออกไปวางอวนบริเวณใกล้บ้าน ลำเรือมีขนาด 17 กง ไม่มีหลังคา เหมาะกับการทำประมงบริเวณน้ำตื้น เป็นเรือลำเล็กที่สุดของบ้านแหลมหิน
ในตอนนั้นป๊ะชายนั่งอยู่ท้ายเรือทำหน้าที่ขับเรือ ส่วนมะหญิงนั่งอยู่หัวเรือ พอถึงจุดที่มีธงแสดงพิกัดอวนปู ซึ่งถ่วงอวนไว้ข้ามคืนเพื่อให้ปูมาติดกับ ป๊ะชายจะย้ายมาทำหน้าที่สาวอวนขึ้นมาจากน้ำ แล้วสองตายายจะช่วยกันปลดปูม้าตัวเป็น ๆ รวมทั้งอาหารทะเลที่เป็นกับข้าวออกมาจากอวน หากติดหอยหนาม หรือเศษใบไม้ติดอวนมาไม่มากก็จะปลดออกให้หมดตั้งแต่อยู่ในเรือ แล้วก็วางอวนอีกครั้ง และจะกลับมากู้คืนอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น แต่หากมีเปลือกหอย เศษใบไม้ติดอวนอยู่มาก ต้องใช้เวลาปลดไปจนเที่ยง ก็จะเอาอวนกลับมาปลดปูที่บ้าน แทนการนั่งตากแดดอยู่บนเรือ เสร็จงานก็พักผ่อนนอนหลับสักงีบ แล้วไปวางอวนปูอีกครั้งในช่วงเย็น เป็นเช่นนี้หมุนเวียนกันไป
“เลเป็นของพระเจ้า หากินได้ทุกคน แรกก่อนออกเลกันสองคนตลอด ช่วยกันทำมาหากิน ไม่เคยจากกัน ทำงานเอง กินง่าย กินคล่อง ลูกก็อยู่เล แต่เขาก็มีภาระของเขา ไม่อยากรบกวน ไม่ขอเงินลูก แต่ถ้าลูกให้ก็เอา ค่าไฟลูกจ่ายให้” มะหญิงแหมะเล่า
มะหญิงออกทะเลไปไกลสุดแถวไหน ? ฉันถาม
“แรกก่อนไปตกเบ็ดที่เกาะปลา จ.ระนอง แล้วก็เกาะปันหยี จ.พังงา ตกปลาพงแดงได้ 3 กิโล ฤดูลมออก สัก 5-6 ปีก่อนไปวางอวนปูที่เกาะพีพี ไปอาทิตย์หนึ่งก็หลบ ได้ปูได้กั้งเหล็กขูดตัวใหญ่ บางทีก็ไปวางอวนปูที่อ่าวนาง แต่ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว จะออกอวนปูกับตกปลามอหลอดแถวช่องแหลมหิน แล้วก็ในอ่าวแถวนี้ ไปไกลสุด 2 กิโล ฤดูลมพลัดปีที่แล้วบางวันโชคดีตกปลามอหลอดได้ 10 กิโล”
แล้วจะออกเลไปถึงวันไหน ? ฉันถามต่อ
“ออกเลไปจนไปไม่รอด ถ้าไปรอดก็ไปเพ่อ”
คำพูด และแววตาของมะหญิงสะท้อนหัวใจนักสู้ได้ดี
– – –
หมายเหตุ
1. ตัดตอนจากหนังสือชาวประมงกระบี่ในวันที่ไม่มีถ่านหิน พิมพ์ครั้งแรก เดือนมีนาคม 2563
2. อธิบายคำศัพท์
(2.1) เล หมายถึง ทะเล เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.2) ออกเล หมายถึง ทำประมง เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
(2.3) กง
กงคือไม้ที่มีลักษณะคล้ายตัวยู (U) ที่วางขวางอยู่ในลำเรือตามขนาดความโค้งของเรือตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ กงเปรียบเหมือนโครงสร้างหรือซี่โครงของเรือ กงจะวางบนกระดูกงู ซึ่งเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเรือ เรือหัวโทงจำแนกขนาดของเรือโดยการนับจำนวนกง ชาวบ้านแหลมหินนิยมใช้เรือขนาด 19 กง 21 กง และ 23 กง โดยเรือขนาด 23 กง มีความยาวประมาณ 11 เมตร กว้างประมาณ 2.7 เมตร
(2.4) ไปเพ่อ หมายถึง หาไปเรื่อย ๆ เป็นภาษาถิ่นภาคใต้
3. ข้อมูลชุมชน
บ้านแหลมหิน เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของชุมชนบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน
ชุมชนบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน ตั้งอยู่ริมทะเล อยู่ในเขตการปกครอง หมู่ที่ 1 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีประชากร 317 ครัวเรือน 1,117 คน