ช่วยกัน ..สวมหมวก – ใส่รองเท้า ให้ภูเขาหัวโล้น จ.น่าน
“คนเลี้ยงชีพด้วยการเกษตรก็ต้องการพื้นที่ทำเกษตร เมื่อคนมากขึ้น ความต้องการผลผลิตมากขึ้น ก็มีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านเป็นเขา เป็นคลื่น เป็นลอน เมื่อขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรมไปตามเขาซึ่งเป็นต้นน้ำก็กลายเป็นเรื่องแปลก ขณะที่เกษตรกรพื้นที่อื่นขยายที่ทำการเกษตรตามแนวราบ ไม่เป็นเรื่องแปลกใช่ไหม ” คุณฌัชชภัทร พานิช ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนน่านเอ่ยขึ้นให้ชวนคิดและแลกเปลี่ยนกับเรา เมื่อ “ทีมข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส” เดินทางไปเยือนเมืองน่านพร้อมกับตั้งคำถามถึงรากของปัญหาบนวิถีเกษตรกรรมของเกษตรกรที่ถูกมองว่าทำให้ภูเขาที่น่านหัวโล้น
ความแปลก เพิ่มดีกรีไปอีกขั้น เมื่อ “ข้าวโพด” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ราคาดีเข้ามาในพื้นที่เมื่อราวปี 2535 ทำให้เกษตรกรชาวน่านที่จากเคยปลูกข้าวในเหล่าบ้าน ทำไร่หมุนเวียนบนเขาและที่เนินลูกคลื่นลอนลาดตามลุ่มน้ำ เปลี่ยนมาเป็นทำไร่ข้าวโพดที่ได้ราคาดี เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วในระยะ 3 เดือนเท่านั้น จึงทำให้พากันขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างรวดเร็ว เสริมด้วยแรงกระตุ้นของระบบธุรกิจเกี่ยวเนื่องรวมไปถึงธนาคารของรัฐเองด้วย เช่นการให้สินเชื่อเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าหญ้า และการรับซื้อของพ่อค้าที่ทำธุรกิจต่อเนื่องแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อประกอบกับพื้นที่อันเป็นต้นทุนชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดน่านที่พวกเขาใม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง การจะทำกินด้วยพืชยืนต้นที่ใช้ระยะเวลาปลูกนานกว่าจะเก็บเกี่ยว เกษตรกรก็ไม่มีทุนรอนพอที่จะรอคอยผลผลิต และไม่มีความมั่นใจในอนาคตว่าจะถูกทวงคืนผืนป่าหรือไม่
สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดน่าน พื้นที่มากกว่า 80% เป็นภูเขาสูง สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ 4 ส่วนนี้ ส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดคือส่วนพื้นที่ทำกิน การขยายพื้นที่ทำกินของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผืนป่าถูกรุกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวโพดซึ่งขณะนี้มีกว่า 800,000 ไร่ เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดให้ผลกำไรต่อไร่ต่ำ ดังนั้น หากเกษตรกรต้องการมีรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพก็จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกให้ได้มาก ภาพภูเขาหัวโล้นจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ถูกหลักคือการเผาซากไร่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พื้นที่คงสภาพภูเขาหัวโล้น อีกทั้งยังเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูร้อนของทุกปี และทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ที่ผ่านการเพาะปลูกไปได้ระยะหนึ่งก็จะถูกทิ้งร้างเพื่อให้ดินได้พักตัวสะสมธาตุอาหาร พื้นที่ส่วนนี้เกษตรกรจะไม่ปลูกพืชยืนต้นทดแทนแต่จะใช้สารเคมีทำลายวัชพืชหรือใช้วิธีเผา ทั้งนี้เพราะเกรงว่ารัฐจะไม่อนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ทำกินได้อีก
ทั้งหมดเป็นข้ออธิบายได้ว่าทำไมภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านจึงยังคงสภาพเดิมและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มีการรณรงค์ปลูกป่ากันหลายต่อหลายโครงการในหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นหากมองอย่างผิวเผินเมื่อเราเห็นภูเขาหัวโล้น เราอาจสรุปว่าปัญหาเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดตามสภาพภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะเห็นว่าต้องใช้เวลาและต้องลงลึกไปถึงการแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนเสียก่อนจึงจะเห็นผล
“ต้องเริ่มในระดับครัวเรือน และหาทางออกให้เกษตรกรในการประกอบอาชีพ โดยหลีกเลี่ยงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและให้มีการรุกพื้นที่ป่าให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำการฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายเพื่อให้ภาพภูเขาสีเขียวกลับคืนมา”ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนน่านเล่า
เมื่อเป้าหมายเป็นเช่นนี้ คนน่านจากหลายเครือข่ายและหน่วยงานได้ร่วมกันหาทางแก้ไข
ขั้นตอนแรก เริ่มต้นให้เกษตรกรมั่นใจในพื้นที่ทำกิน มีหลักการและแนวทางดูแลพื้นที่ของตนเองได้ โดยทำข้อบัญญัติในการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและพัฒนาพื้นที่ทำกิน ผ่านการเก็บพิกัดพื้นที่รายแปลงให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้มีเป้าหมายจำนวน 34 ตำบล การทำข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจว่าพื้นที่ที่ตนลงแรงหรือทำกินอยู่จะไม่โดยยึด สามารถทำกินเลี้ยงชีวิตได้ เป็นเหมือนเอกสารสิทธิชุมชน โดยกำลังเริ่มต้นดำเนินการที่ ต.นาน้อย ต.บัวใหญ่ ต.เปือ ต.งอบเป็นต้น
ขั้นตอนต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้เป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะหลักการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำผสมผสานกับข้อเท็จจริงในหลักภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมของเกษตรกรในพื้นที่
“เรานำศาสตร์พระราชากำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ ต้นน้ำพัฒนาป่าไม้ กลางน้ำพัฒนาการเกษตร และปลายน้ำพัฒนาประมง ก็จะสอดคล้อง แต่ตอนนี้ ต้นน้ำของประเทศกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ดังนั้นจังหวัดน่านจะทำศาสตร์นี้มาทำในพื้นที่จังหวัด ให้เป็นโมเดล สวมหมวก ใส่รองเท้าให้ภูเขา” ผอ.วิทยาลัยชุมชนกล่าว
โมเดลนี้มีกำหนดระยะเวลาและรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนการทำงาน โดยแบ่งพื้นที่ภูเขาหัวโล้นออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนยอดดอย (ต้นน้ำ) ส่วนกลางดอย (กลางน้ำ) และส่วนเชิงดอย (ปลายน้ำ)
ส่วนยอดดอย: ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่ต้องเร่งแก้ไขด่วนที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายและเกษตรกรในพื้นที่ ที่จะเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่ให้เป็นพื้นที่ป่าตามหลักการศาสตร์พระราชา “ต้นน้ำ คือ ป่าไม้” การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการสวมหมวกสีเขียวให้ภูเขาหัวโล้นนั่นเอง ทางออกในเรื่องนี้ต้องเป็นวิธีที่ประนีประนอมโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของคนในชุมชน การให้ความรู้ถึงประโยชน์ของป่าไม้ที่ให้ผลโดยตรงต่อครอบครัวเกษตรกร และการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในด้านรายได้เพื่อการยังชีพของครอบครัว
ส่วนกลางดอย: พื้นที่ส่วนนี้กำหนดให้คงไว้เป็นส่วนพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ตามศาสตร์พระราชาถือเป็นพื้นที่ส่วน “กลางน้ำ” ที่ควรกันไว้สำหรับการกสิกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพดและยังขาดความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์และการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชัน น้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลจะไหลลงสู่แหล่งน้ำหมด ดังนั้น เมื่อถึงหน้าแล้งปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงพบได้บ่อย การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกพืชไร่ที่ถูกต้องและการบริหารจัดการน้ำจึงถือเป็นภาระงานที่สำคัญในลำดับต่อไป
ส่วนเชิงดอย: พื้นที่เชิงเขาเมื่อเทียบกับส่วนบนแล้วผืนดินจะเก็บกักน้ำได้มากกว่า กระแสน้ำที่ไหลบ่าจากบนดอยลงมาจะรวมกันเป็นสายน้ำ เล็กบ้างใหญ่บ้างทำให้เกิดลำน้ำ ลำห้วย หรือแม่น้ำ ไหลเป็นสายไปสู่พื้นที่ราบต่อเนื่องไปจนถึงภาคกลาง พื้นที่ส่วนนี้เปรียบได้กับส่วน “ปลายน้ำ” ควรจะอุดมสมบูรณ์กว่าส่วนอื่นและเป็นพื้นที่เหมาะกับการประมง หากระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ส่วนนี้ยังมีความลาดชันและเป็นลอนคลื่น อีกทั้งยังถูกใช้งานจากคนในชุมชนทั้งเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และการประมงน้ำจืด ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น การปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่การเกษตรทำให้จำนวนไม้ยืนต้นมีไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาน้ำป่าหลากในฤดูฝนและน้ำแห้งขอดในฤดูแล้ง การใช้สารเคมีต่อเนื่องสะสมทำให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการประมงน้ำจืด การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ส่วนนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อลดกำลังของกระแสน้ำหลากในฤดูฝน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กและปลูกพืชชุ่มน้ำเพื่อรักษาดินให้อุ้มน้ำเป็นการแก้ปัญหาน้ำแล้งในฤดูร้อนอย่างยั่งยืน สนับสนุนส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมี เมื่อแหล่งน้ำสะอาดขึ้นและตะกอนดินที่ถูกกระแสน้ำพัดลงมาทับถมลดน้อยลง ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำรวมถึงปลาน้ำจืดสายพันธุ์ต่างๆจะเพิ่มมากขึ้นเป็นผลพวงต่อเนื่อง ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้การประมงในพื้นที่ส่วนนี้เป็นผลดียิ่งขึ้น การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการสวมรองเท้าให้ภูเขานั่นเอง
ระยะการทำงาน
แผนการทำงานภายใต้โมเดลนี้ คณะทำงานตั้งเป้าหมายพื้นที่ปฏิบัติงานในเบื้องต้น ประมาณ 100 ไร่ โดยแบ่งการทำงานออกได้เป็น 2 ระยะคือ
1.ระยะชดเชย (ช่วง 1 – 3 ปีแรก): การปฏิบัติงานในระยะนี้จะต้องอาศัยเงินทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกร
คณะทำงานเข้าพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ส่วนยอดดอยและเชิงดอย ในเรื่องหลักการเบื้องต้น แผนการทำงาน และแผนการช่วยเหลือในด้านการเงิน เมื่อเกษตรกรตกลงใจเข้าร่วมในการทำงานภายใต้โมเดลนี้ จะต้องทำการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ทำกินของตนเอง ในส่วนของพันธุ์ไม้และการปลูกนั้นเกษตรกรเป็นผู้คัดเลือกและจัดการด้วยตนเอง คณะทำงานจัดหาเงินทดแทนรายได้ที่เกษตรกรเสียไปจากการไม่ได้ปลูกพืชไร่ คิดเป็นจำนวนเงิน 1,600 บาท ต่อไร่ ต่อปี
2.ระยะตอบแทน (ช่วง ปีที่ 4 – 5): การปฏิบัติงานในระยะนี้เป็นระยะติดตามผล
นับแต่เมื่อเกษตรกรตกลงเข้าร่วมในการทำงานภายใต้โมเดลนี้ จนกระทั่งไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้มีอายุล่วงเข้าปีที่ 4 เป็นต้นไปก็จะนำต้นไม้เหล่านั้นเข้าสู่ “โครงการธนาคารต้นไม้” หรือ โครงการ Credit Carbon ซึ่งเกษตรกรจะมีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนที่มาจากการคำนวณโดยใช้เส้นรอบวงของต้นไม้เหล่านั้น
และด้วยพันธกิจหลักและกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา ของ วิทยาลัยชุมชนน่าน ที่มุ่งหวังพัฒนาท้องถิ่นให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสภาพระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม และคนในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิต มีอาชีพการงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิต ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.) รวมทั้งสิ้น 10 วิชา รายวิชาละ 60 ชั่วโมงโดยประมาณ สำหรับจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Family Base Learning ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมในโมเดล“สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน” โดยมีลำดับการเรียนรู้ตามลักษณะขั้นบันไดทั้งหมด 5 ขั้น เริ่มจาก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ถอดบทเรียน และขยายผล
ใช้ระยะเวลาเรียนตลอดหลักสูตร 5 ปี ผู้เรียนจะเป็นสมาชิกของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ที่กำหนดในเบื้องต้น 100 ไร่ หรือ 8 – 15 ครอบครัวโดยประมาณ เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งจะมีสมาชิกประมาณ 4 – 5 คน สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 1 ห้องเรียน ครูผู้สอนจะเป็นคนในท้องถิ่นที่มีความรู้ทักษะความชำนาญในด้านการเกษตร โดย วิทยาลัยชุมชนน่าน จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาครูผู้สอน ค่าสอน หลักสูตรและรายวิชารวมถึงแผนการเรียนการสอน ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้เรียน
การออกแบบโมเดล “สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน” พร้อมทั้งจัดการเรียนรู้ หลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่สีเขียวถูกทำลายอย่างรวดเร็วในเขตจังหวัดน่านต่อไปด้วย
“ตอนนี้เราเริ่มในพื้นที่ ต.งอบ อ.ทุ่งช้างที่กดพิกัดระยะแปลง 100 ไร่ ต่อ 1 แปลงที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีครอบครัวเกษตรกร 8-15 ครัวเรือนเพื่อสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้ได้ และคาดหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในจังหวัดน่านเอง หรือแม้แต่คนภายนอก หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่จะมีส่วนร่วมสวมหมวกและสวมรองเท้าให้กับภูเขาหัวโล้นเมืองน่าน กลับมาเป็นสีเขียวไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนค่าชดเชยเกษตรกรที่ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่หรือข้าวโพดและหันมาปลูกป่าหรือสวมหมวกให้ภูเขาเป็นต้น” คุณฌัชชภัทร พานิช ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนน่านกล่าวในที่สุด
ติดตามและร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะ สวมหมวก – ใส่รองเท้า ให้ภูเขาหัวโล้น จ.น่าน ได้จากวิทยาลัยชุมชน จ.น่าน https://www.facebook.com/nancommunitycollege?fref=ts