“มันเป็นรายได้หลักของคนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป เพราะว่าคนเหล่านี้ ถ้าเป็นคนที่ทำงานก็คือเกษียณไม่ได้ทำงานแล้ว ถ้าเป็นคนที่ทำงาน ไม่เคยมีบำเหน็จบำนาญ ไม่ได้เป็นข้าราชการ เขาก็ไม่มีรายได้” นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ย้ำถึงความสำคัญของเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นรายได้หลักโดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นาทีนี้
“เพราะฉะนั้นเบี้ยยังชีพถือเป็นรายได้ประจำ รายได้สม่ำเสมอ ที่ให้เขาในช่วงเกษียณอายุ ซึ่งถามว่าพอไหม ไม่พอ นี่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นความสำคัญ คือ ช่องทางรายรับหลัก ๆ ของผู้สูงอายุ รายรับรอง ๆ ที่เขาจะได้ ก็ต้องไปหารับจ้าง วันไหนมีคนจ้างก็มีรายได้ กับอีกอันหนึ่งก็ต้องอาศัยลูกหลาน แล้วถ้าวันที่ลูกหลาน ไม่มีก็แย่กันไปใหญ่ เพราะฉะนั้นเราถึงเห็นภาพว่ามีคนสูงอายุที่ยังต้องออกมาดิ้นรนทำงาน เพราะนี่เป็นปัญหาเพราะเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรียกว่า จน ตั้งแต่หนุ่มยันสาว แก่แล้วก็จน นี่เป็นปัญหา
สิ่งที่สำคัญ คือว่าเราจะทำยังไงที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ รูปธรรมที่ชัดที่สุดของเรื่องนี้ที่เป็นปัญหาของผู้สูงอายุ ถ้าเขาไม่มีรายรับตรงนี้ จะอยู่จะกินยังไง อาศัยลูกหลานในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ก็เห็นอยู่ว่าลูกหลานลำบากมาก คุณเล่นปิดเมือง เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ คนตกงาน แล้วรัฐยังมาซ้ำเติม ด้วยการคัดกรองอีกเหรอ ให้เฉพาะคนจนอีกเหรอ แค่นี้ยังจนไม่พอใช่ไหม นี่คือเป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญกันอยู่”
เครือข่ายภาคประชาสังคมจะส่งสัญญาณถึงรัฐอย่างไร?
“ประเด็นที่หนึ่ง ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ Fake news ไม่ใช่ความตื่นตระหนกหรือการแต่งเรื่องขึ้นมา เป็นสิ่งที่่ประชาชนขวนขวาย ติดตามเรื่องนี้ เราถึงรู้มาว่ามีการประชุมและพิจารณาเรื่องนี้ อยากลดงบประมาณที่ต้องจ่ายให้ผู้สูงอายุที่เป็นเบี้ยยังชีพ มีการพิจารณาการจ่ายซ้ำซ้อน จะลดปัญหาการจ่ายซ้ำซ้อนอย่างไร
ถ้าอย่างนั้นถอยเป็นการถอยหลัง ว่าจะจ่ายเบี้ยยังชีพเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจนเท่านั้น รัฐไม่เคยจริงใจต่อเรื่องนี้ รัฐอธิบายมาว่าสิ ว่าคุณคิดอะไรอยู่ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วมันคือเรื่องจริง มีการประชุมจริง มีวาระ การบันทึกประชุมจริง ๆ ว่ามีการพิจารณาเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราจะทำคือ จับตามองเรื่องนี้ ไม่ให้คลาดสายตาไป แล้วสิ่งที่พวกเราทำ คือมีการยื่นจดหมายเข้าไปว่าขอให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมติดตาม รับฟังการประชุม ขอให้เปิดเผยผลการประชุมตลอดทุกครั้ง ที่มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ เพราะมันมีผลกระทบกับชีวิตของผู้สูงอายุ”
หากลดเบี้ยผู้สูงอายุจะมีผลกระทบประชาชนกว่า 10 ล้านครัวเรือน
“ถ้าพูดถึงครัวเรือนก็เป็น 10 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนหมายถึง มีลูกหลานที่อาศัยอยู่มากกว่า 2 คน เป็นคนเฒ่าคนแก่ สิ่งที่เราต้องการคือขอติดตาม ขอฟังรายงานประชุม ขอรู้ว่าคุณกำลังพิจารณาเรื่องอะไร ขอเข้าไปมีส่วนร่วมได้ไหม เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน ที่เป็นประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่ข้าราชการบำนาญเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาได้ไหม ที่มีความคิดเห็นที่เป็นอิสระจริง ๆ ต่อเรื่องนี้
สุดท้ายเราอยากจะสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ลองคิดง่าย ๆ ว่ารัฐไม่มีปัญญาที่มาสร้างโครงการอะไรไปเรื่อย ๆ แต่ว่ารัฐเปลี่ยนวิธีคิด บริหารจัดการงบประมาณใหม่ให้ดี แล้วสร้างรัฐสวัสดิการที่เราชอบเรียก Safety Net เราอยากเห็นจริง ๆ ว่าเราควรจะมีตาข่ายที่มารองรับปัญหาของประชาชน ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริง ๆ ไม่ว่ามันจะเกิดวิกฤติอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีหลักประกันด้านรายได้ มาช่วยเหลือเยียวยา อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอนโยบาย ไม่ต้องรอประชุม ไม่ต้องรอเงินกู้ แต่ว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณใหม่ที่เป็นธรรม แล้วก็สร้างความถ้วนหน้า เรื่องของความถ้วนหน้าสำคัญมากจริง ๆ
คุณไม่มีช่องทางหรือเครื่องมือใดที่จะคัดกรองคนอย่างถี่ถ้วนและถูกต้อง เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญคือถ้วนหน้า เท่าเทียม”
30 กันยายน ยื่นหนังสือติดตามที่กระทรวง พม.?
ใช่ครับ ยังไงก็ต้องไปแสดงให้เห็นภาพว่านี่คือความประสงค์จริง ๆ ของประชาชน ที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เราไม่เห็นชอบอย่างยิ่งที่คุณจะแก้ไขเลือกให้เฉพาะกลุ่มครับ
ปิ่นโต 3 ชั้น รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเท่าเทียมต้องมีสำหรับทุกคน
โดยหลักการในสังคมต้องมีปิ่นโตหลายชั้น คือ ชั้นที่หนึ่งเป็นตาข่ายรองรับ ที่เป็นสิทธิที่ควรจะได้ เรายึดโยงกันอยู่ที่เส้นความยากจน เราถือว่าเป็นเถาที่หนึ่งทุกคนควรได้ ชั้นที่สองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสภาพทางสังคม สถาพการจ้างงาน ถ้าอยู่ในการจ้างงาน ถ้าคุณอยู่ในการจ้างงานในระบบคุณก็ได้จากประชาสังคม ถ้าคุณอยู่การจ้างงานโดยรัฐคุณก็ได้จากรัฐแล้วมันมาประกอบช่วยกัน คนที่ทำงานจะมีชั้นที่สอง คนที่ไม่ได้ทำงานในระบบการจ้างงาน มีนายจ้าง เรามีคนเยอะมากที่เป็นแรงงานอิสระ เป็นแรงงานภาคเกษตร ที่ต้องอาศัย ดิน ฟ้า อากาศ คนเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการอะไร เมื่อเขาอายุ 60 ปี ชั้นที่หนึ่งจึงสำคัญว่าทุกคนควรได้ ส่วนชั้นที่สองเกิดจากเงื่อนไขการจ้างงาน ส่วนชั้นที่สามใครก็แล้วแต่ที่มีโอกาสของชีวิตที่ดี คุณอยู่ในโครงสร้างสังคมที่เอื้อ มีเงินออม เงินสะสม คุณสะสมเพื่อการออม เพื่ออนาคตในช่วงสูงวัย เป็นเรื่องที่แต่ละคนทำ แต่ว่าสังคมมันควรจะมีชั้นล่างสุดเพื่อรองรับคนไม่ให้แย่ไปกว่านี้ครับ
สังคมมันควรจะปิ่นโตรัฐสวัสดิการมีชั้นล่างสุดเพื่อรองรับคนไม่ให้แย่ไปกว่านี้
คลิกชมรายการ ประชาชนพร้อม : เบี้ยผู้สูงอายุลดกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว? (27 ก.ย. 64)