น้ำท่วมย่านเศรษฐกิจ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ด้าน ปภ.แจ้ง 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา-กรุงเทพฯ เฝ้าระวังน้ำหลาก

น้ำท่วมย่านเศรษฐกิจ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ด้าน ปภ.แจ้ง 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา-กรุงเทพฯ เฝ้าระวังน้ำหลาก

26 ก.ย. 2564 – จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี มา 2 วัน ทำให้เช้าวันนี้ (26 ก.ย. 2564) น้ำจากภูเขาตะเภาและพื้นที่ไร่นาใน ต.เพนียด และ ต.คลองเกตุ ที่ระบายไม่ทัน ไหลตามถนนเข้าท่วมในตัวอำเภอ ซึ่งเป็นย่านการค้าและสถานที่ราชการ ทำให้ประชาชนชาวอำเภอโคกสำโรงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักทั้งพืชไร่ นา และพ่อค้าแม่ค้าในตลาด อ.โคกสำโรง ตอนนี้ยังไม่มีการสรุปความเสียหาย

สนอง แท่นสูงเนิน นักข่าวพลเมือง จ.ลพบุรี รายงานข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ว่า ได้รับผลกระทบจากแบริเออร์คอนกรีตกลางถนนที่กลายเป็นตัวกั้นทางน้ำ ทำให้น้ำระบายไม่สะดวกและเกิดการท่วมขัง เป็นอุปสรรค์ในการเดินทาง ถนนบางสายรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ หลังมีการร้องเรียน เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. นายอำเภอโคกสำโรงได้สังการให้มีการยกแบริเออร์คอนกรีตบางส่วนออกแล้ว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าวันนี้ปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเพราะยังคงมีฝนตกในพื้นที่ ล่าสุดมวลน้ำไหลจาก อ.โคกสำโรง ไปสู่ อ.บ้านหมี่ คาดว่าจะไหลลงสู่คลองชลประทานชลประทานชัยนาท-ลพบุรี ใน อ.บ้านหมี่ ต่อไป

ทั้งนี้ มีการประกาศแจ้งเตือนจากผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีและอำเภอโคกสำโรง ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 ก.ย. 2564 เพราะในพื่นที่ อ.ลำสนธิ ที่อยู่ด้านบนได้เกิดน้ำท่วมไปแล้ว โดยประกาศให้ขนของขึ้นที่สูง และเตรียมอาหารและเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นสำหรับเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อไว้ใช้ในยามน้ำมา

ภาพ: น้ำท่วมใน ต.เพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

เหตุการณ์นำท่วมครั้งนี้ เกิดจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 64 – ปัจจุบันส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่

ด้านเพจเฟซบุ๊ก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM รายงานว่า วันนี้ (26 ก.ย.64) เวลา 17.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำ และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประสาน อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

บุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน พบว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกสะสมอย่างต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน และคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 26-30 ก.ย. 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานได้ใช้การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่ง แต่ยังจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระหว่าง 2,400-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30-1.00 เมตร ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ย. 2564 ในบริเวณลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ แพเรือโดยสารสาธารณะ เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ