อยู่ดีมีแฮง : เพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกที่ชุมชนเหล่าโพนค้อ จ.สกลนคร

อยู่ดีมีแฮง : เพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกที่ชุมชนเหล่าโพนค้อ จ.สกลนคร

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

สถานการณ์ปัญหาขยะ นับว่าเป็นวิกฤติของโลก ซึ่งบ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นข่าวว่าสัตว์ตายแล้วมีการผ่าพิสูจน์ปรากฏว่ามีถุงพลาสติกติดอยู่ในท้องจำนวนมาก ดังเช่นพะยูนมาเรียมที่พบถุงพลาสติกอุดตันลำไส้เล็ก กวางป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพลาสติกเข้าไปอัดอยู่ในท้องถึง 3 กิโลกรัม หรือกรณีปลาวาฬครีบสั้นเกยตื้นมาตาย ซึ่งหลังการฝ่าซากพิสูจน์พบว่ามีถุงขยะพลาสติก 80 ใบในท้อง รวมถึงเต่าทะเลที่ตาย เพราะกินเชือกอวนและพลาสติกเข้าไป ฯลฯ อะไรทำนองนี้ โดย UNESCO ได้ประมาณการว่ามีสิ่งมีชีวิตในทะเลกว่า 100,000 สายพันธุ์ เสียชีวิตเพราะพลาสติก โดยสาเหตุหลักมาจากการเข้าใจผิดคิดว่าขยะพลาสติกเป็นอาหาร ทำให้สัตว์ทะเลกินเข้าไป จนพลาสติกเข้าไปอุดตันลำไส้ สะสมในกระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยสลายได้ เป็นเหตุให้เสียชีวิต

จากรายงานของ Waste Generation and Recycling Indices 2019 ที่จัดทำโดย Verisk Maplecroft Environment Dataset ระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลก มีขยะมูลฝอยชุมชน เกิดขึ้นปีละมากกว่า 2.1 พันล้านตัน แต่มีเพียง 16% หรือราว 323 ล้านตันเท่านั้น ที่จะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดังนั้นปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองที่ไหลลงสู่ทะเลจึงกลายเป็นปัญหาระดับโลก ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย ซึ่งขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจและร่วมมือกันหาวิธีแก้ไข ทั้งการกำหนดนโยบายในการจัดการขยะ รวมถึงมาตรการลดเลิกใช้ถุงพลาสติก และการรณรงค์รีไซเคิล เพื่อร่วมมือกันกำจัดหรือลดจำนวนขยะพลาสติกลง และหันมาเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเทศไทยเอง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปริมาณขยะในปี 2561 มีมากถึง 27.93 ล้านตัน นับว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 2.05% โดยทั้งหมดถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องประมาณ 10.85 ล้านตัน นำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 9.76 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 7.32 ล้านตัน ได้รับการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งกลายเป็นต้นเหตุที่สร้างปัญหาให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินมาตรการตามโรดแม็ป การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561 – 2573 โดยยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้ง รวมถึงถุงพลาสติกหูหิ้ว ทั้งนี้มุ่งลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในสิ้นปี 2563 และตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2565 จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลพวงจากมาตรการล็อกดาวน์ และขณะเดียวกันมีมาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home กลับทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าในปี 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณ 6,300 ตัน/วัน (เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15) จากในช่วงสถานการณ์ปกติมีขยะพลาสติกประมาณ 5,500 ตัน/วัน

อย่างไรก็ดี หากส่องลงไปในหน่วยย่อยระดับชุมชน ก็พบว่ายังมีความตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากขยะ พร้อมทั้งหาแนวทางในการจัดการ การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการสร้างมูลค่าจากขยะเพื่อให้เกิดรายได้และประโยชน์ใช้สอยแก่คนในชุมชน ดังเช่นที่ ต.เหล่าโพนค้อ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ซึ่ง “อยู่ดีมีแฮง” จะชวนมาพูดคุยกับ เกียรติศักดิ์  ขันทีท้าว ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เหล่าโพนค้อ ถึงการจัดการปัญหาขยะของคนที่นี่ ซึ่งนอกจากจะสามารถจัดการปัญหาขยะโดยการคัดแยกก่อนนำไปขายสร้างรายได้ และเอามาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้แล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังปลูกจิตสำนึกและเสริมสร้างความรู้เพื่อให้เห็นความสำคัญของปัญหาขยะตั้งแต่ระดับอนุบาลอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำกันเลยทีเดียว

เกียรติศักดิ์  ขันทีท้าว ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เหล่าโพนค้อ

มองเรื่องปัญหาขยะในชุมชนอย่างไรบ้าง

ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งชุมชนหลายที่ประสบปัญหาและมีแนวทางการแก้ไขที่แตกต่างกันไปแต่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกวิธีการเผา ฝังกลบ หรือเช่าที่ทิ้ง เป็นต้น แต่ก็ยังมีปัญหามลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าเรามีความรู้ความเข้าใจและจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร และพอเราเจอทางออก อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแก้ปัญหาได้ คือการเอามาทำนวัตกรรม เอามาแปรรูป เอาขยะมาล้าง มาเก็บ มันก็เกิดการเรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน แทนที่ขยะจะออกไปข้างนอกก็หมุนเวียนอยู่ในนี้ครับ เอามาใช้แล้วเกิดรายได้

ที่ชุมชนเหล่าโพนค้อ มีการแปรรูปขยะพลาสติกให้เกิดมูลค่าได้อย่างไร

เดิมทีเราทำเรื่องธนาคารขยะ ก็เหมือนที่อื่น ๆ การทำธนาคารขยะ คือเอาขยะมารวมกัน ขยะรีไซเคิลมารวมกัน แล้วก็เอาไปขายร้านรับซื้อ ใช่ไหมครับ ทีนี้พอเอาไปขายร้านมันจะมีบางช่วง บางเวลา และขยะบางประเภทที่ทางร้านเขาจะไม่ซื้อขยะ อย่างเช่น ถุงนม ขวดพลาสติกสี อันนี้คือปัญหาที่ อบต.เหล่าโพนค้อเจอ พอเขาไม่ซื้อ แต่เราซื้อขยะจากชาวบ้านมาแล้ว ซื้อจากสมาชิกขยะมาแล้ว จะเอาไปเผาทิ้ง เอาไปฝังทิ้งก็ต้องใช้เงินอีก ไปเผาก็เกิดมลภาวะอีก ทำให้เจ้าหน้าที่ อบต. ต้องหาทางออก หาทางแก้ปัญหา ก็พยายามคิดค้นนวัตกรรม ตอนนี้ขวดพลาสติกสีที่เป็นปัญหาแต่ก่อน เราสามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เอามาแปรรูปเป็นไม้กวาดส่งขาย จนไม่พอขาย ทีนี้พออยู่ต่อมา ๆ ครับ ปรากฏว่าจากที่เคยขายถุงนมได้ ถุงพลาสติกได้ แล้วเรามีสิ่งที่เหลือจากการทำไม้กวาดคือฝาขวด ปรากฏว่าเขาประกาศงดซื้อกล่องนม อ้าวทำอย่างไรครับ เราซื้อกล่องนมมาแล้ว ก็พยายามไปศึกษาหานวัตกรรม จึงไปพบว่า เราเอามาอบต่อทำเป็นผลงาน ชิ้นงานเป็นแผ่น เรียกว่าเป็นแผ่นพลาสติก หรือแผ่นอีโคบอร์ด เป็นแผ่นออกมา เสร็จแล้วเอามาตัด เป็นรูป เป็นโต๊ะ เก้าอี้

การแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นโต๊ะ เก้าอี้ มีขั้นตอนหรือวิธีการอย่างไรบ้าง

การทำเก้าอี้จะใช้ฝาขวดประมาณ 1 กิโลกรัม แต่ถ้าทำโต๊ะใช้ 7-8 กิโลกรัม ซึ่งมันจะต้องใช้เวลารวบรวม แต่ถ้ามองในเรื่องของการจัดการขยะก็ถือว่าเป็นการจัดการได้เยอะพอสมควร มันช่วยลดปริมาณที่จะไปสู่บ่อขยะไปเผา หรือไปฝังเป็นการจัดการที่ต้นทางแถมยังทำเงินได้อีก

เริ่มต้นโดยการเอาวัสดุที่จะใช้ มีหลอดดูด มีฝาขวด มีถุงนม มีถุงพลาสติก ถุงพลาสติก ถุงหูหิ้ว เอามาผสมกัน ทั้ง 4 อย่างเอามาผสมกัน เสร็จแล้ว เข้าอบ เข้าไปในตู้อบ ในอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบ 1 ชั่วโมงครึ่ง อบเพื่อให้มันอ่อนตัวและเชื่อมติดกัน หลังจากที่เราอบเสร็จก็เอามาขัด ขัดตกแต่ง เนื่องจากว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีมันเป็นเครื่องมือพื้นฐาน ที่ทุกชุมชนสามารถเข้าถึงได้ มันไม่ได้ทำยุ่งยากอะไร พอเราขัดเสร็จเราก็เอามาเคลือบ เคลือบให้มันสวยงาม อาจจะใช้ยูริเทนหรือเรซิน แต่เราใช้เรซิน เพราะว่าเรซินมันจะมันวาวกว่า พอเคลือบเสร็จก็ไปประกอบกับขา ขาเก้าอี้ ก็แล้วแต่ว่าลูกค้าหรือคนที่อยากได้ จะชอบแบบไหนครับ

ขยะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนที่นี่อย่างไรบ้าง

การมีรายได้เพิ่ม อันนี้คือเราพบว่าเวลาชาวบ้านเขาขายขยะคนที่รับซื้อจะเป็นคนกำหนดราคาว่าจะให้กิโลกรัมละกี่บาท หรือขยะบางอย่างเขาก็ไม่รับซื้อเลย ยกตัวอย่างฝาขวดพลาสติก และถุงนมเขาไม่ซื้อ แต่ที่นี่เรารับซื้อมาและสามารถตั้งราคาขยะได้เองได้ โดยเราสามารถกำหนดได้ว่าเราจะซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท 15 บาท หรือบางช่วงที่มันขาดแคลนจริงๆ เราเคยให้ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งตอนนี้ราคาฝาขวดพลาสติกเราให้กิโลกรัมละ 12 บาท ส่วนถุงพลาสติกที่พับแล้วกิโลกรัมละ 5 บาท ดังนั้นมันจึงเป็นแรงจูงใจและเกิดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดการขยะ อยากเก็บขยะมาขาย และอยากแปรรูปขยะเพราะว่ามันมีรายได้เพิ่ม

นอกจากนี้เราก็ยังมีการซื้อขายขยะผ่านทางแอพพลิเคชั่น Green2Get ซึ่งใครสนใจเข้าไปดูได้เลย ส่วนการขายชิ้นงานแปรรูปโต๊ะเก้าอี้ ส่วนใหญ่เราจะรับเป็นพรีออเดอร์ คือลูกค้าสั่งมาแล้วค่อยทำ เช่น ร้านกาแฟ จะสั่งมาให้ทำเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้ เพราะเขาจะบอกว่าต้องการลวดลายนั้น ลวดลายนี้ ราคาก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความประณีตของงานด้วย และอีกช่องทางก็คือเราโพสต์ขายออนไลน์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะมี หนึ่งคนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อม สองเขาอยากช่วยผู้สูงอายุให้มีงานทำ และสามเขาอยากช่วยจัดการขยะ อันนี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีลูกค้าอยู่จนถึงทุกวันนี้

โรคโควิด-19 กระทบเรา กระทบชุมชนอย่างไร

ผลกระทบจากโควิด-19 จะมีผลคือเราไม่สามารถรับคณะที่จะมาดูงานได้ ต้องหยุดไว้ก่อน แต่ในเรื่องการขายสินค้ากลับสวนทาง เพราะว่าเราปรับเปลี่ยนรูปแบบมาขายออนไลน์ และทำให้ฉุกคิดขึ้นว่าเราได้เจอตลาดใหม่ เพราะแต่ก่อนเราก็ไม่เคยขายออนไลน์คิดแต่ว่าจะเอาไปวางขายตลาดข้างทาง แต่มันไม่เวิร์คครับ พอเราขายออนไลน์มันขายดีกว่า ลูกค้าเข้าถึงมากกว่า ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเรียนรู้การขายแบบใหม่ ๆ รวมถึงสถานการณ์ที่คนอยู่บ้านทำให้เรารู้ว่าการขายแบบออนไลน์มันง่ายกว่า และก็ยังสร้างรายได้ให้กับเราเหมือนเดิมไม่ได้ลดลงเลย

ความยั่งยืนของการจัดการปัญหาขยะในชุมชนเหล่าโพนค้อ

ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญ การสร้างสามัญสำนึก การสร้างความรู้สร้างองค์ความรู้ในการที่จะรักสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่ อบต. มุ่งเน้น โดยเฉพาะทางผู้บริหาร ทางนายก อบต. คืออยากให้เด็กโตไปอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น การสอนในเรื่องการเก็บ การคัดแยก การล้างถุงนมเป็นสิ่งสำคัญ แทนที่จะกินแล้วทิ้งให้เป็นภาระของคนอื่น เราก็เลยให้เด็กกินเสร็จแล้วล้างถุงนม เอาไปตากไว้แล้วเอามาสอนให้เด็กพับถุงนม หลังจากนั้นทาง อบต. ก็จะมารับไปทำโต๊ะเก้าอี้แล้วมอบคืนให้โรงเรียน และก็ให้เขาเห็นว่านี่คือโต๊ะเก้าอี้ที่เขานั่งมาจากที่เขาล้างเขาพับ มันเป็นการสอน ทีนี้พอเขาโตไปจะพบว่าเขาจะล้างถุงพลาสติก เก็บถุงพลาสติก แล้วเขาก็จะรู้ว่าเขาจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง คือเรื่องของเงินของรายได้มันไม่สำคัญ มันสำคัญคือการได้สอนเด็กนักเรียน ว่าทุกอย่างที่มันเป็นขยะ มันสามารถเอามาแปลงเป็นทรัพยากรได้ เป็นสินทรัพย์ได้

การเปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่าภายใต้ความร่วมมือของชุมชน แม้จะไม้ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่สิ่งสำคัญที่ทางทีมงานอยู่ดีมีแฮงสัมผัสและเห็นชัดเจน คือความพยายามที่ไม่ลดละ ในการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ละพัฒนาต่อเนื่อง ด้านหนึ่งเป็นการลงทุนปลูกฝังสำนักสาธารณะของคนในชุมชนให้รู้จักรับผิดชอบต่อขยะทุกชิ้นของตัวเอง อย่างเด็ก ๆ ตัวน้อยที่หลังดื่มนมแล้ว ต้อง ตัด ล้าง ตากแห้ง และคัดแยกถุงนมโรงเรียน หรือขยะพลาสติกของตัวเองให้เรียบร้อย เพื่อจะนำขยะเหล่านั้นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเพิ่มร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนต่อไป สิ่งนี้แม้จะดูเป็นความหวังและภาพฝันที่ห่างไกลออกไป และต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีแฮงของชุมชนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ