อยู่ดีมีแฮง : “ทองคำ” แห่งลำน้ำโขง ณ บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

อยู่ดีมีแฮง : “ทองคำ” แห่งลำน้ำโขง ณ บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

แสงแดดยามบ่ายในช่วงเดือนเมษา – พฤษภาคม ที่ฝนยังมีปริมาณนี้ และช่วงนี้เพิ่งผ่านพ้นเดือนเมษายน แห่งความกล้าแกร่งของแสงแดดที่แผดเผามาได้ไม่นาน โดยปกติหน้าแล้งแบบนี้แม่น้ำโขงจะลดลงไปอยู่บ้าง ทำให้ชาวบ้านสามารถลงมาอาศัยแม่น้ำโขง เล่นน้ำคลายร้อน หาปู หาปลา หรือแม้แต่อาชีพที่เราไม่พบกันบ่อยนัก นั่นคือ “นักเล่นคำ” นักเล่นคำ หรือ “นักร่อนทอง” ภาษาท้องถิ่นแถบบ้านม่วงบอกว่า “คำ” หมายถึง “ทองคำ” นั่นแหละครับ อีกอาชีพที่แม้ว่าจะไม่ใช่อาชีพหลักที่ใจจดใจจ่อหาทองคำอย่างเดียว แต่เป็นอาชีพของแม่บ้านแม่เรือนซึ่งเป็นลูกหลานแม่น้ำโขง ได้พึ่งพิงอิงแอบอาศัยแม่น้ำแห่งนี้ เป็นดั่งขุมทรัพย์เลี้ยงชีพและครอบครัวมายาวนานรุ่นสู่รุ่น

วันนี้ “อยู่ดีมีแฮง” ทีมบ่าวแมน เลนส์ไทบ้าน ชวนทุกคนออกเดินทางไปพร้อมกันที่บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ไปเยี่ยมยามถามไถ่ พ่อแม่พี่น้องไทบ้านม่วงและไปทำความรู้จักกับนักเล่นคำ ชาวบ้านที่เป็นนักร่อนทองคำในแม่น้ำโขง การเดินทางเริ่มต้นด้วยฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ ฝนตกตลอดการเดินทางไปยังบ้านม่วง แต่เมื่อมาถึงบ้านม่วงฝนกลับจางหายไป ฟ้าสดใสและถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

“ภาษาอีสานเรียกเล่นคำ แต่ภาษากลางเรียกว่าร่อนทอง หลังจากที่เรากรีดยางเสร็จแล้วก็จะมาเล่นคำ เราไม่ได้เล่นตลอดปี จะเล่นคำเฉพาะช่วงที่น้ำลงน้ำแห้งเท่านั้น ถ้าน้ำขึ้นแบบนี้เราก็ไม่ค่อยได้มาเล่น”

สุวนิตย์ ตะวัน หรือ แม่สั้น นักเล่นคำแห่งบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ช่วยอธิบายที่ไปที่มาของการขนานนามในวงการร่อนทองแห่งแม่น้ำโขง เธอเล่าว่าโดยวิถีชีวิตที่อยู่กับแม่น้ำโขงมานั้น เธอมีอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกพืชริมฝั่งโขง หลายปีมานี้ได้หันไปทำสวนยางพารา กลางคืนก็ไปกรีดยาง ตอนเช้าก็ไปเก็บเศษยาง หรือชาวบ้านเรียกว่า “ขี้ยางพารา” เพื่อนำไปขาย ก็เป็นวิถีชีวิตคล้ายกับหลายคนในหมู่บ้าน คนที่เป็นชายจะมีอาชีพประมง หรือทำงานที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก คนที่เป็นหญิง หรือแม่บ้านแม่เรือนก็จะทำเกษตร ทำไม้กวาด ทอผ้า และร่อนทอง ซึ่งเธอเองก็เพิ่งจะลองเล่นคำ หรือร่อนทองได้สัก 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยวิถีที่ผูกพันกับคนรุ่นก่อนทำให้การเล่นคำ เป็นสิ่งที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี

สุวนิตย์ ตะวัน

“การลงไปร่อนทอง เราก็ต้องเตรียม บ้าง ถัง เสียม ตะกร้า แล้วลงไปยังแม่น้ำโขงหาพื้นที่เหมาะ ๆ แล้วของขุดดู พอเราขุดได้แล้วก็นำดินหินกรวดทั้งหมดใส่ตะกร้า แล้วก็ร่อนเอาหินที่เป็นเศษออก แล้วจึงเริ่มการเล่นคำ โดยการเหวี่ยงล้างกับน้ำเพื่อให้เศษกรวดและทรายออกไป”

แม่สั้น เล่ากรรมวิธีการร่อนทอง หรือการ “เล่นคำ”ว่า ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก หากใครที่ใจร้อนการเหวี่ยงล้างแต่ละครั้งนั้น อาจจะทำให้ทองหายไปกับสายน้ำ การเตรียมตัวก็เป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเล่นคำ และต้องขนของลงมาจากฝั่งของแม่น้ำโขงซึ่งต้องเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางไกลกว่า 1-3 กิโลเมตรเลยก็ว่าได้ เพราะทองคำและดินที่จะเล่นคำได้นั้นจะต้องเป็นดินที่เป็นตลิ่งน้ำท่วมถึง หรือจุดแอ่งเวินน้ำในแม่น้ำโขง อีกทั้งการเล่นคำแต่ละครั้งจะเป็นช่วงฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ คนร่อนทองจึงต้องแข็งแรงและอดทนจริง ๆ

“เราจะเอาตัวที่มันเป็นเศษสีดำ ๆ เราเรียกว่า ปึก เอาปะปนไปกับทองเลย ทองจะเป็นสีทองชัดเจนเล็ก ๆ ไม่ได้ก้อนใหญ่เพราะเราจะต้องเอาไป เนือง นำเอาสารปรอทไปคลุก เขย่าแล้วก็ร่อนให้สารปรอทจับตัวกับทองคำ” สุวนิตย์ ตะวัน แม่สั้น  อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น การร่อนทองชาวบ้านจะเอาส่วนที่เป็น “ปึก” ที่มีลักษณะสีดำที่ร่อนได้จากการเหวี่ยงหาทองคำ แล้วนำมา “เนือง” การเนืองคือการนำสารปรอทสีเงินนำมาจับตัวกับทองคำที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สามารถรวมกันเป็นก้อนได้ ก่อนที่จะรวบรวมเก็บสะสมในการลงเล่นคำเพื่อให้ได้ทองคำที่ถูกหุ้มด้วยปรอทที่พอจะสามารถนำไปขายได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการลงมาเล่นคำ การนำไปขายชาวบ้านก็จะนำไปขายที่ร้านทองในตัวอำเภอ หรือในจังหวัดหนองคาย ร้านทองจะทำการ “เป่าทอง” การใช้ความร้อนแยกสะสารและชั่งน้ำหนักทองคำจริงที่ได้ ซึ่งราคาก็อยู่ที่ กรัมละ 1,250 บาท ซึ่งชาวบ้านที่เป็นนักเล่นคำก็มีรายได้แต่ละครั้งที่ไปขายอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 บาท ก็เป็นรายได้เสริมของชาวบ้านที่นี่นอกเหนือจากการทำเกษตรและการประมง

บ้านม่วงที่เปลี่ยนไปกับวิถีที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง

บ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เป็นชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง เนื่องด้วยชุมชนมีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพวิถีเกษตรกรรมพืชไร่พืชสวน ทำนาบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย การพึ่งพิงทรัพยากรในอดีต ส่วนใหญ่ใช้แม่น้ำโขงเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ในครัวเรือน แต่หลังจากเกิดผลกระทบจากระดับน้ำที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดผันผวนขึ้นลงเป็นไม่เป็นปกติในช่วง 2-3 ปี ผ่านมานี้ทำให้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาสื่อสารกับสาธารณะว่าได้รับความเดือดร้อน สัตว์น้ำหายาก ย้ำโขงลดจนแห้ง และมีปลาตายเป็นจำนวนมาก พื้นที่เคยไม่มีน้ำกลับมีน้ำในที่ที่ไม่ควรมี อุปกรณ์การประมงได้รับความความเสียหายเนื่องจากการเพิ่มของระดับน้ำฉับพลัน ที่ชาวบ้านคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดจากเขื่อน ที่ไม่มีการแจ้งเตือนกับชาวบ้าน อีกทั้งประเพณีหลายอย่างในชุมชนกำลังได้รับผลกระทบและค่อยจางหายไป

“บ้านม่วงมีความพิเศษคือ ห่างจากจุดที่เราอยู่ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ที่นั่นคือ สายแร่ทองคำที่พาดผ่านมาจากประเทศลาว ซึ่งคนรุ่นก่อนเล่าว่าจุดนั้นเป็นแหล่งเหมืองทองคำที่มีนักเล่นคำในอดีตไปเล่นกันจำนวนมาก ตามลำห้วยต่าง ๆ พอน้ำลดลงในช่วงหน้าร้อนเขาก็จะตามลงมาเล่นคำจนลงไปกลางแม่น้ำโขง ซึ่งปัญหาในปัจจุบันคือน้ำที่มันขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ ในหน้าแล้ง แทนที่จะลดลงไปในร่องน้ำลึก ซึ่งในลักษณะของทองคำเป็นมวลสารที่มีน้ำหนักไหลมาตามน้ำ ก็จะไหลตามลงไปน้ำลึกยิ่งลึกยิ่งก้อนใหญ่ นั่นแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านขาดโอกาสที่ควรจะได้จากเดิม การร่อนทองบางคนก็ได้ 3,000-4,000 บาท ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดี” ชัยวัฒน์ พาระคุณ หรือ น้าบัน นักวิจัยไทบ้านและเกษตรกรบ้านม่วง เล่า

บริบทชุมชนบ้านม่วงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากวิกฤติในแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยแม่น้ำโขงออกเล่นคำเพื่อพอให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว น้าบันเล่าอีกว่า บริเวณที่เป็นพันโขดแสนไคร้ ถ้าสังเกตจุดนั้นก็เป็นแหล่งเก่าที่มีการขุดเล่นคำกันมากในอดีต ต้องเข้าใจว่าการขุดไม่ได้นำดิน หิน ทรายไปที่ไหน เป็นการใช้ทรัพยากรที่ชาวบ้านและชุมชนที่นี่เราต่างรักและหวงแหนมันที่สุด เพราะในอดีตความเป็นมาของการเล่นคำหรือร่อนทองน้ำ คนโบราณในหมู่บ้านเขามีความเชื่อว่า วัดที่สร้างในหมู่บ้านชุมชนนั้น เมื่อมีการสร้างวัดลงฝังลูกนิมิตก็มักจะนำทองคำ เงิน ฝังลงไปด้วย และชาวบ้านใครที่เป็นนักเล่นคำที่สามารถนำทองมาใส่ลงไปได้นั้นก็ถือว่ามีบุญมาก จึงเกิดเป็นประเพณีร่อนทอง หรือ เล่นคำกันจนทุกวันนี้

ชัยวัฒน์ พาระคุณ

“บ่าง” อุปกรณ์ร่อนทองกับความเชื่อบูชาแม่น้ำโขง

“บาง”เป็นชื่อเรียกอุปกรณ์ “ถาดร่อนทอง” ของชาวบ้านม่วงที่ทำมาจากไม้ มีลักษณะคล้ายกับหมวกของชาวนาเวียดนาม อยู่ดีมีแฮงเดินทางไปยังบ้านของแม่สั้น นักเล่นคำ เพื่อรู้จัก “บ่าง” ให้มากขึ้น

“เห็นเขาบอกว่าเอาบ่างไปเล่นคำ เลยอยากรู้ว่าบ่างนี้เป็นแบบไหนเลยไปขอดูก็ทราบมาว่า บ่าง ก็เป็นชื่อเรียกที่คนรุ่นก่อนพากันเรียกต่อ ๆ กันมาก็มีลักษณะอย่างที่เห็น ทำจากไม้ประดู่ ไม้มะค่า หรือบางคนก็ใช้ไม้อื่น ๆ แต่ก็จะไม่คงทนเหมือนกับไม้ประดู่ และไม้มะค่า เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งไม่แตกง่าย ราคาที่เขาขายกันก็ประมาณ 2,000-4,000 บาท”

แม่สั้นเล่าให้ฟังพร้อมกับชวนเดินไปดู “บ่าง” ที่เก็บไว้หลังบ้านที่มีถึง 3 ชิ้น เธอเล่าว่าบ่างเป็นของหายาก เพราะต้องทำจากไม้เป็นต้นที่เป็นเนื้อเดียวกัน และไปขอซื้อกับคนในหมู่บ้านก็ไม่มีใครอยากขาย เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นของประจำกายในการทำมาหากินตั้งแต่อดีต อีกส่วนก็จะเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ดู ส่วนเธอก็เล่าว่าที่หา “บ่าง” มาไว้ 3 ชิ้น เพื่อเอาไว้ให้ลูกสาวได้สืบสานต่อเผื่อเขาต้องลงไปเป็นนักเล่นคำบ้าง

“ก่อนจะลงไปเล่นคำก็บอกกับเจ้าบ่างว่าวันนี้ขอให้หาทองคำได้เยอะ ๆ นะ แล้วก่อนจะไปก็นำดอกไม้ 1 คู่ เทียน 1 คู่ ธูป 1 ดอก จุดเพื่อบอกกล่าวทั้ง บ่าง และแม่น้ำโขง ก่อนเสมอซึ่งเป็นความเชื่อของเราชาวนักเล่นคำ เพราะการลงไปเล่นคำในแม่น้ำโขงถ้าท่านไม่ให้ หายังไงก็ไม่ได้”

นอกจากนั้น แม่สั้นเล่าว่า ในทุกวันพระไม่ว่าจะ 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ จะไม่นิยมลงไปเล่นคำหรือร่อนทองที่แม่น้ำโขง เพราะต่างมีความเชื่อว่า การที่ลงไปวันพระนั้น เป็นการรบกวนพญานาคที่ท่านจำศีลในวันพระ การขุดร่อนทองเป็นการทำเสียงดังและรบกวน อันเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่มีมายาวนาน

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งชีวิตและจิตวิญาณ

การดำรงชีพในแม่น้ำโขงนั้นไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่สร้างรายได้และเลี้ยงชีพของชาวบ้านริมฝั่งโขงเพียงเท่านั้น เพราะยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก ครอบครัว เรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เชื่อมโยงจิตใจของผู้คนให้รวมเข้าอยู่ด้วยกัน

“เหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเรามาตลอด มันเป็นส่วนหนึ่งของสายเลือด เป็นครอบครัว เป็นความรู้สึก” ชัยวัฒน์ พาระคุณ หรือน้าบันปิดท้ายด้วยประโยคสั้น ๆ ของการที่เต็มไปด้วยพลังมหาศาลที่อยากจะเห็นแม่น้ำโขงกลับมาเป็นดังเดิมทั้งที่รู้ดีว่าทุกสิ่งอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป

“เล่นคำ พอได้อยู่ได้กิน ไม่ใช่ทำเป็นอาชีพ ให้เป็นอาชีพเสริมช่วงงานก็มาเล่นคำเพราะไม่ได้จ้างกัน ก็ดีกว่าเราอยู่เฉย ๆ ไม่มีเงินทองที่จะไปใช้จ่ายในครัวเรือน” สุดใจ วิลันดร หนึ่งในนักเล่นคำบอกเล่าถึงการลงมาร่อนทองในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีที่มีการร่อนทองที่ทำให้มีอาชีพเสริมและรายได้ในการใช้จ่ายในครอบครัว อีกทั้งการลงมาเล่นคำได้พบปะกับเพื่อนฝูงชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ก็ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย กินข้าวร่วมกัน ซึ่งเป็นความสุขที่หาซื้อไม่ได้ ความผูกพันนี้ยังสะท้อนผ่านคำกลอนสอนใจ และผญาอีสานที่ แม่สุดใจ ทิ้งประพันธ์และร้องเป็นทำนองสรภัญญะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของนักเล่นคำแม่น้ำโขงแห่งบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ครับ

แม่สุดใจ วิลันดร

“ฟังก่อนท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง

บ้านม่วงและบ้านหนอง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง

งานบ่ได้ทำจึงพากันมาร่อนทอง

เอาหินนั่งยองยอง บ้างร่อนทองแกว่งไปมา บ้างร่อนทองแกว่งไปมา

เจ็บขาก็ต้องทน ถึงสิจนก็ต้องเจียม

เอาจอบและเอาเสียมมาขุดดินถิ่นน้ำโขง มาขุดดินถิ่นน้ำโขง

ยามเย็นตะเว็นลงดีใจล้นได้เห็นทอง

มื้อนี้สมใจปองได้เอาทองเมือบ้านเฮา ได้เอาทองเมือบ้านเฮา”

สรภัญญะโดยแม่สุดใจ วิลันดร นักเล่นคำบ้านม่วง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ