“ลัมปี-สกิน” ระบาด 57 จังหวัด ก.เกษตรฯ เตรียมช่วยเหลือเยียวยา

“ลัมปี-สกิน” ระบาด 57 จังหวัด ก.เกษตรฯ เตรียมช่วยเหลือเยียวยา

นอกจากสถานการ์โควิด-19 โรคระบาดในโค-กระบือ“ลัมปี-สกิน” ยังซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน โดยข้อมูลจากกลุ่มควบคุมป้องกันโรคปศุสัตว์ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี-สกินในประเทศไทย พบการระบาดของโรคในโค-กระบือ ทั้งหมด 57 จังหวัด

ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ปทุมธานี พระนครศรีอยุทธยา ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และสมุทรปราการ
ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี
ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันตก 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี
ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร และยะลา

โดยมีข้อมูลความเสียหายเบื้องต้น พบโคกระบือป่วยสะสม 316,984 ตัว ตายสะสม 15,004 ตัวโคเนื้อป่วยสะสม 312,706 ตัว ตายสะสม 12,698 ตัว โคนมป่วยสะสม 2,623 ตัว ตายสะสม 45 ตัว และกระบือป่วยสะสม 1,655 ตัว ตายสะสม 206 ตัว ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบคัดกรองข้อมูลที่แท้จริงจากพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจมีการรายงานคลาดเคลื่อนจากการแจ้งโรคที่เกิดจากการป่วยตายจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี-สกิน

หลังมีการระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา กรมปศุสัตว์ได้มีแนวทาง มาตรการในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี-สกิน โดยการประชุมหารือ ชี้แจงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค ประกอบด้วย

1. กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการควบคุมโรคลัมปี-สกิน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการ โดยกำหนดลักษณะของพื้นที่การระบาด เพื่อดำเนินตามแนวทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ การดำเนินการของตลาดนัดค้าสัตว์ การดำเนินการของสัตว์ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ กำหนดแนวทางในการรักษา การเฝ้าระวังโรค การตั้งจุดตรวจสัตว์ของด่านกักกันสัตว์

2. การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังทางอาการตามนิยามที่สำคัญ คือ มีตุ่มเนื้อ (nodule) ลักษณะเป็นก้อนแข็ง กลมนูนขึ้นบนผิวหนังตามลำตัว หัว คอ ขา เต้านม หรืออวัยวะเพศ รวมทั้งเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ – ๕ เซ็นติเมตร ซึ่งต่อมาตุ่มจะแตกมีเนื้อตายเป็นวง เกิดเป็นแผลหลุม และตกสะเก็ดเมื่อแผลหาย อาจร่วมกับมีอาการไข้และหายใจลำบาก และอาจทำให้ตายได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามแนวทางรู้โรคเร็ว ควบคุมโรคได้ทันที โรคสงบได้โดยเร็ว โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ได้ทันที หรือสายด่วน call center : 063-225-6888  หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป และสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี สกิน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือที่ https://sites.google.com/view/dldlsd/home

3.ให้เกษตรกรมีการป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยการใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์และบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดจำนวนแมลงพาหะในการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การกางมุ้ง ใช้ไฟไล่แมลง กับดักแมลง เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง โดยสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ทำการประสานหน่วยงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการพ่นยาฆ่าแมลง ยุง แมลงดูดเลือดต่างๆที่เป็นพาหะของโรค นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ได้มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนให้แก่สำนักงานปศุสัตว์เขต รวมถึงสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบางแห่งดำเนินการจัดซื้อยาฆ่าแมลงเพื่อควบคุมพาหะของโรค ลดการแพร่ระบาดและความสูญเสียแก่เกษตรกร

4. ทำการรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นโรคที่ติดเชื้อไวรัสที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาที่จำเพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ ซึ่งแบ่งการรักษาตามอาการเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ทำการรักษาโดยให้ยาลดไข้ ระยะที่2 ระยะที่มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง โดยให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่3 ระยะตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้รักษาโดยให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่4 ระยะแผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ทำการรักษาด้วยยารักษาแผลภายนอกจนกว่าแผลจะหายเป็นปกติ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนให้แก่สำนักงานปศุสัตว์เขต รวมถึงสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบางแห่งดำเนินการจัดซื้อเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ป่วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้มีการแจ้งแนวทางการรักษาโรคลัมปี สกิน ให้กับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว

5.การประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้แก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการ ดังนี้

  • การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน ให้กับหน่วยงานในพื้นที่ในการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ทั้งในสัตว์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านและสัตว์ในพื้นที่ของเกษตรกร โดยให้มีการตรวจสอบอาการของสัตว์ หากมีอาการตามนิยามของสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ได้แก่ พบตุ่มนูน (nodule) บนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุมในเวลาต่อมา หรือสัตว์มีไข้และหายใจลำบาก ในโคนมอาจพบน้ำนมลดอย่างรวดเร็ว อัตราการป่วยมากกว่าร้อยละ 5 ให้เกษตรกรแจ้งสัตว์ป่วยให้ปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัด หรืออาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที และประกาศพื้นที่โรคระบาด เพื่อที่จะได้เข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นและควบคุมไม่ให้โรคเกิดการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ด้วยโรคนี้มีแมลงดูดเลือด ได้แก่ แมลงวัน เหลือบ ยุง เห็บ เป็นต้น เป็นพาหะนำโรค ซึ่งทำให้การควบคุมการเกิดโรคให้อยู่ในวงจำกัดยากมากขึ้น รวมทั้งยังมีช่องทางในการแจ้งการเกิดโรคให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้นทางช่องทางสายด่วน 063-2256888 และแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 แจ้งการเกิดโรค รวมทั้งมีหนังสือการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการสมาคมโคเนื้อ/โคนม/กระบือ สหกรณ์โคเนื้อ/โคนม/กระบือ ในการแจ้งเตือนเกษตรกรให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรค ป้องกันและควบคุมโรค
  • การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรให้รู้และเข้าใจเรื่องโรค และสถานการณ์ของโรคผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์https://dcontrol.dld.go.th/webnew/index.php/th/ เฟสบุ๊ค กลุ่มแอพพลิเคชันไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ยูทูป และการออกสื่อรายการวิทยุ โทรทัศน์ เช่น จส.100 รายการถกไม่เถียง ทางโทรทัศน์ช่อง 7 เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้และแนวทางในการควบคุม ป้องกันโรค เพื่อลดความสูญเสีย
  • กรมปศุสัตว์ได้ให้จังหวัดทุกจังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์ (kick off) ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี-สกิน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน โดยให้มีกิจกรรมการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้แก่เกษตรกรเรื่องโรคและการป้องกันโรคมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ได้เข้าถึงเกษตรกรเพื่อให้ความช่วยเหลือ

6. การใช้วัคซีนในการควบคุม ป้องกันโรค ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้ในการควบคุม ป้องกันโรคในพื้นที่บางส่วนแล้วจำนวน 360,000 โด๊ส

7. กรมปศุสัตว์จัดให้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดให้มีกิจกรรม kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี-สกิน โดยมีการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ได้แก่ จัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย เพื่อลดความสูญเสียแก่เกษตรกร จัดให้มีหน่วยพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค พ่นสารกำจัดแมลงพาหะนำโรค แจกสารกำจัดแมลง ยารักษา แร่ธาตุ  และวิตามิน เพื่อบำรุงร่างกายฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ และสร้างความรับรู้ให้แก่เกษตรกรเรื่องโรคและการป้องกันโรค

หลักเกณฑ์/เงื่อนไข การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

กรณีโรคระบาดลัมปี-สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) โรคระบาดในสุกร และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว มีแนวทางการดูแล เยียวยา ช่วยเหลือ และชดเชยให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค – กระบือ ดังนี้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

(1) เมื่อมีสัตว์ตายเป็นจำนวนมากด้วยเหตุโรคระบาด และเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินด้วยเหตุโรคระบาด
(2) เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีสิทธิขอรับการช่วยเหลือต้องขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(3) การสำรวจความเสียหายเป็นอำนาจของคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ในวงเงินทดลองราชการตามข้อ 8 โดยพิจารณาจากวงเงินทดลองราชการตามข้อ 8 (4) ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 50 ล้านบาท หรือตามข้อ 8 (8) ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท แล้วแต่กรณี หากเป็นวงเงินทดลองราชการตามข้อ 8 (4) (ก.ช.ภ.จ.) โดยผู้ว่าราชการจังหวัด จะเสนอเรื่องมายังสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาอนุมัติเงิน ส่วนการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แต่ละรายนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ดังนี้

โค อายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 6,000 บาท
โค อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี อัตราตัวละไม่เกิน 12,000 บาท
โค อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี อัตราตัวละไม่เกิน 16,000 บาท
โค อายุมากกว่า 2 ปี ขึ้นไป อัตราตัวละไม่เกิน 20,000 บาท
กระบือ อายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 8,000 บาท
กระบือ อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี อัตราตัวละไม่เกิน 14,000 บาท
กระบือ อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี อัตราตัวละไม่เกิน 18,000 บาท
กระบือ อายุมากกว่า 2 ปี ขึ้นไป อัตราตัวละไม่เกิน 22,000 บาท
ทั้งนี้ ไม่เกินรายละ 2 ตัว

โรคระบาด“ลัมปี-สกิน” เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบแอฟริกา ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยพบการระบาดในไทย จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 มีรายงานพบโรคครั้งแรกที่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนจะระบาดส่งผลกระทบกับเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งโค-กระบือที่เกษตรกรเลี้ยงแต่ละตัวมูลค่านับหมื่นบาท หรือบางตัวอาจจะหลายหมื่น เปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินที่เดินได้ เมื่อต้องเจ็บป่วย-ล้มตายจึงเสียหายไม่น้อย การป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมการระบาดจึงเป็นความหวังสำคัญที่จะลดผลกระทบความเสียหายที่จะซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะยากลำบากในสถานการณ์โควิด-19

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ