งานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 4 ‘ฟังเสียงผู้เฒ่าไร้สัญชาติ’ ในพื้นที่เชียงราย

งานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 4 ‘ฟังเสียงผู้เฒ่าไร้สัญชาติ’ ในพื้นที่เชียงราย

งานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2558 ณ  บ้านใกล้ฟ้า ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ooo

ผู้เฒ่าหลี่เฉียวเสอ แซ่ลี  อายุ 92 ปี เดินทางมาจากยูนาน ประเทศจีน เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 60 กว่าปีก่อนพร้อมกับทหารกองพล 93 จนมีเมียเป็นชาวลีซออยู่ที่บ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และนับจากนั้นมาผู้เฒ่าก็ปักหลักอยู่ที่นี่มาโดยตลอด

ทั้งเมียและลูกๆ ของผู้เฒ่าหลี่เฉียวเสอ ต่างได้รับบัตรประชาชนและสัญชาติไทยกันหมด รวมทั้งเพื่อนๆ ทหารจากกองพล 93 ยกเว้นผู้เฒ่าที่ยังคงถือบัตรเลข 6 (ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว) เนื่องจากชื่อของผู้เฒ่าตกหล่นเพราะแยกตัวออกไปอยู่หมู่บ้านห่างไกล

ปัจจุบันลูกคนหนึ่งของผู้เฒ่าอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย และอีกคนหนึ่งทำงานอยู่ชลบุรี นานๆครั้งถึงจะได้พบหน้ากันสักครั้ง

หลายครั้งที่ผู้เฒ่าอยากเดินทางไปเยี่ยมลูกหลาน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะการเดินทางข้ามเขตเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายสำหรับคนที่ถือบัตรเลข 6

ยังมีผู้เฒ่าผู้แก่บนดอยแม่สลองอีกนับร้อยคน รวมทั้งคนเฒ่าในภาคเหนือและภาคอีกสานอีกนับพันๆ คน ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับผู้เฒ่าหลี่เฉียวเสอ

ooo

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ “ครูแดง” เตือนใจ ดีเทศน์ และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เนื่องจากผลสำรวจชุมชนในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย อุบลราชธานี และแม่ฮ่องสอน ในลุ่มน้ำโขง-สาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลการคมนาคม ไกลจากศูนย์กลางการบริการของรัฐ พบว่าผู้เฒ่าซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ อาข่า เมี่ยน ลีซู ลาหู่ จีนยูนนาน ไทลื้อ ขมุ ม้ง คนเมืองล้านนา คนเชื้อสายลาว และชาวปกาเกอะญอ ซึ่งส่วนใหญ่พูด ฟังอ่าน เขียน ภาษาไทยไม่ได้ และไม่เข้าใจกฎหมาย 

ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ต้องมีปัญหาสถานะทางกฎหมาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1 ผู้ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่มีเอกสารแสดงตนทางกฎหมาย เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แม้ว่าจะได้อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยนานกว่า 30 ปีแล้ว กลุ่มนี้จึงไม่ปรากฏตัวตนตามกฎหมายของรัฐไทย เป็นผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้

2 ผู้ได้รับการสำรวจ มีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว (ขึ้นต้นด้วยเลข 0) มีบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่มีสิทธิในสวัสดิการสังคมและสิทธิในการเดินทาง สิทธิทางการเมือง 

3 กลุ่มผู้ถือบัตรเลข 6 อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในรัฐไทยระหว่าง วันที่ 3 ตุลาคม 2528 – วันที่ 18 มกราคม 2538 ที่ได้ยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าว/เข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวร แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่ได้รับอนุมัติ 

4 กลุ่มผู้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในรัฐไทย ก่อน วันที่ 3 ตุลาคม 2528 ที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ตั้งแต่ พ.ศ.2536-2543 จนถึงปัจจุบันแต่ติดเงื่อนไขตามกฎหมายสัญชาติ พศ.2508 มาตรา 10 ที่กำหนดให้ผู้แปลงสัญชาติต้องมีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง ไม่เป็นภาระต่อประเทศ จึงยังไม่สามารถแปลงสัญชาติเป็นไทยได้

ooo

ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2558 เป็นครั้งที่ 4 ที่ครูแดงและมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาจะจัดงานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติอีกครั้ง ณ  บ้านใกล้ฟ้า ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยช่วงบ่ายวันที่ 28 พฤษภาคม จะมีเวทีเสวนา “ฟังเสียงผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” โดยผู้เฒ่าชนเผ่าต่างๆ จากพื้นที่ และนำเสนอข้อมูลสภาพปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ดำเนินรายการโดยคุณเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา

จากนั้นเป็นการนำเสนอข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ และข้อเสนอระดับนโยบายและกฎหมาย โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกฤษฏา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง นางอัมรา พิศาพิชญ์  ประธานกสม. รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายหรือผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.หรือผู้แทน ดำเนินรายการ โดยนายวีระ อยู่รัมย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ