ความเศร้ากับการศึกษา เมื่อ COVID-19 ทำร้ายสภาพจิตใจในห้องเรียน

ความเศร้ากับการศึกษา เมื่อ COVID-19 ทำร้ายสภาพจิตใจในห้องเรียน

ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 3 อย่างเป็นทางการแล้ว มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,044 ราย และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมถึง 49,992 ราย (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564) ผลักให้สังคมไทยกลับเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นอีกครั้ง การกลับมาระบาดใหม่ครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมไปถึงนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปิดเทอม ที่ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มความกังวลให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบการศึกษาทั้งสิ้น

ในขณะที่ความจำเป็นในการส่งนักเรียนกลับสู่การศึกษาก็จำเป็นพอๆ กับการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) เพื่อรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพ การเรียนการสอน รวมไปถึงการสอบในหลายสนามจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ พลิกแพลงกันไปตามแต่กระบวนท่าของผู้สอนและผู้เรียนกันอย่างสุดความสามารถ ซึ่งก็มักจะยิ่งทำให้เกิดการเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้เรียนและผู้สอนกันอย่างถ้วนหน้า

หากอิงตามฐานข้อมูลการเก็บแบบสอบถามของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ช่วงวันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นั้น จะพบว่ากลุ่มคนในช่วงอายุ 10-30 ปี มีผู้ที่มีสภาวะเครียดสูงอยู่ที่ร้อยละ 5.32 มีสภาวะเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 6.53 มีสภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 3.43 และมีสภาวะหมดไฟ 11.12 จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 37,042 คน และหากมุ่งสนใจไปที่ข้อมูลการตอบแบบสอบถามของบุคลากรด้านการศึกษาโดยไม่จำกัดช่วงอายุ จำนวน 2,080 ราย จะพบคำตอบอันน่าตกใจว่า มีกลุ่มที่อยู่ในสภาวะเครียดสูงอยู่ถึงร้อยละ 10.43 มีสภาวะเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 11.97 และมีสภาวะเสี่ยงในการฆ่าตัวตายร้อยละ 5.38

ตัวเลขอันน่าตกใจดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคการศึกษาไทยนั้นมีปัญหามากมายสั่งสมอยู่ก่อนแล้ว ทั้งในแง่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสหรือช่องว่างระหว่างการพัฒนา เมื่อถูกผสมเข้ากับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่ 3 จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนทั่วประเทศให้ชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสภาวะเสี่ยงซึมเศร้าและความเครียดสะสมจากการเรียนที่ต้องหยุดชะงักเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ในห้องเรียน การสอบประเมินผล แม้จะมีการจัดโปรแกรมเรียนออนไลน์ก็ตาม

ความเศร้า ความเครียด และความอับจนที่จะเรียนรู้เพิ่ม

ข้อมูลจากเว็บไซต์ International Board of Credentialing and Continuing Education Standards (IBCCES) องค์กรส่งเสริมมาตรฐานสุขภาวะ การศึกษา และความร่วมมือในกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางความคิดในระดับสากล ได้ระบุว่า สภาวะซึมเศร้าและสภาวะเครียดจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตรอบด้านของปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการนอน การกิน สุขภาพจิต สุขภาพกาย ความมั่นใจในตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง และความสามารถในเชิงวิชาการ

การที่ผู้เรียนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ถดถอย พอๆ กับอาการต่อต้านทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างของอาการดังกล่าวมีตั้งแต่การขาดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน มีความสัมพันธ์ที่เหินห่างกับผู้สอนหรือเพื่อนร่วมชั้น ไปจนถึงการไม่สนใจ ไม่ยินดียินร้าย และไม่มี passion ในการวางแผนอนาคตอีกด้วย

นอกจากอาการภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้แล้ว อาการภายในเองก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน เนื่องจากสมองส่วนความจำเพื่อใช้งาน (working memory) จะถูกสภาวะเครียดและสภาวะซึมเศร้าเล่นงานจนการจัดเก็บชุดข้อมูลใหม่ๆ กลายเป็นเรื่องยาก และการเรียกชุดข้อมูลที่เรียนรู้ไปแล้วกลับมาในกระบวนการคิดวิเคราะห์ก็กลายเป็นเรื่องที่ลำบากเช่นกัน

การที่ผู้เรียนถูกสภาวะเครียดและซึมเศร้าเล่นงาน ยังอาจทำให้ความสม่ำเสมอในการวัดผลแตกต่างกัน เช่น วันหนึ่งนักเรียนอาจจะสามารถทำงานชิ้นที่ยากส่งได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แต่วันต่อมากลับไม่สามารถทำงานธรรมดาให้สำเร็จลุล่วงได้ ไปจนถึงการเริ่มหลีกเลี่ยงการเข้าเรียน ซึ่งจะพัฒนาเป็นปัญหาในลำดับต่อไป

สภาวะดังกล่าวไม่ได้เล่นงานเพียงแค่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับผู้สอนด้วยเช่นกัน โดยงานศึกษาของ ไนยรา ออซมิซ-เอทเชอบาร์เรีย (Naiara Ozamiz-Etxebarria) และคณะ ในหัวข้อ ‘The Psychological State of Teachers During the COVID-19 Crisis: The Challenge of Returning to Face-to-Face Teaching’ ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology ฉบับวันที่ 12 มกราคม 2021 พบว่า บรรดาคณาจารย์มีสภาวะความเครียดเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มมาตั้งแต่เกิดการล็อคดาวน์ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนไปสู่ออนไลน์ในระยะเวลาอันจำกัด และยังมีข้อค้นพบว่า การต้องทำงานทางไกลผ่านระบบสื่อสารออนไลน์ สร้างความกังวล ตึงเครียด เหนื่อยล้า และลดขีดความสามารถในการทำงานลง รวมไปถึงการค้นพบว่าในช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครูเพศหญิงมีโอกาสที่จะตกอยู่ในสภาวะเครียดและซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะครูที่สอนในระดับประถมศึกษา

ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ความเครียดและอาการซึมเศร้าจึงกำลังเข้าโจมตีทั้งผู้เรียนและผู้สอน จนทำให้พัฒนาการด้านการเรียนการสอนประสบปัญหาในภาพรวมเป็นอย่างมาก และปัญหาด้านสุขภาวะทางจิตนั้นก็ยังไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควรเหมือนกับปัญหาด้านสุขภาพที่มองเห็นได้ชัดอย่างการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือมาตรการกักกันโรค ทำให้สังคมยังสนใจปัญหาด้านสภาพจิตใจในห้องเรียนน้อยจนน่าเป็นห่วง

เครียดแล้วไง ผ่านไปได้ก็แล้วกัน

สภาพปัญหาดังกล่าวยังคงทวีความหนักหน่วงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กระบวนการแก้ไขปัญหาเองก็ยังมีออกมาให้เห็นอย่างไม่หยุดหย่อน แต่การแก้ไขสภาวะความเครียดสะสมและสภาวะซึมเศร้าจากวิกฤติ COVID-19 ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคนว่าสามารถแก้ไขที่จุดใดได้บ้าง โดยที่ยังคงรักษาระยะห่างทางสังคมและดำรงชีวิตอย่างระมัดระวังต่อการติดเชื้อได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตเองก็มีข้อแนะนำพื้นฐานในการจัดการแก้ไขปัญหาความเครียดที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละบุคคลเอาไว้บนเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต ดังนี้

  1. เข้าหาคนใกล้ชิด คนที่ไว้ใจได้
  2. ยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น
  3. จัดตารางในชีวิตประจำวันให้สมดุลมากขึ้น แบ่งเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวให้ชัดเจน
  4. ทำงานอดิเรก และมีเวลานอนอย่างเพียงพอ

วิธีแก้ไขปัญหาอย่างกว้างๆ 4 ข้อดังกล่าว จะสามารถนำมาปรับใช้กับบรรยากาศในการเรียนของแต่ละคนได้ เพื่อขจัดปัญหาสภาวะเครียดและซึมเศร้าทั้งในครูและนักเรียน โดยอาจจะต้องเริ่มออกแบบกิจกรรมที่ทำให้ทั้งครูและนักเรียนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในระดับที่นักเรียนสามารถพูดคุยระบายปัญหากับครูผ่านการสื่อสารทางไกลได้ รวมถึงการออกแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเหลือเวลาว่างเพียงพอในการไปทำงานกิจกรรมอดิเรกของตนเอง โดยไม่ต้องจมอยู่กับหน้าจอเพียงอย่างเดียวจนเกิดสภาวะด้านลบสะสม

การสร้างข้อตกลงในการเรียนการสอนออนไลน์ ไปจนถึงวิธีการเรียน ตารางเรียน วิธีวัดผลการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนมีเวลาในการจัดการกับความเครียดของตนเอง สร้างความรู้สึกเข้าใจ ปลอดภัยที่จะเข้าหา และมีความสุขไปกับการเรียนในชั้นเรียนวิถีใหม่ได้มากขึ้น

อ้างอิง:

  1. IBCCES
    https://ibcces.org/blog/2019/05/01/impact-anxiety-depression-student-progress/
  2. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
    https://datastudio.google.com/embed/u/0/reporting/48c35429-9361-4a4f-87a9-6afcc7767f67/page/FkgUB
  3. Naiara Ozamiz-Etxebarria, Naiara Berasategi Santxo, Nahia Idoiaga Mondragon and María Dosil Santamaría. (2021). The Psychological State of Teachers During the COVID-19 Crisis: The Challenge of Returning to Face-to-Face Teaching. Frontiers in Psychology. 11. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2020.620718

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ