พลังชุมชนฟื้นป่า เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชุมชน ต.จริม จ.อุตรดิตถ์

พลังชุมชนฟื้นป่า เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชุมชน ต.จริม จ.อุตรดิตถ์

เครือข่าย ทสม. ต.จริม ปลุกพลังชุมชนให้หวงแหนผืนป่าปกป้องจากไฟป่า ร่วมพลิกฟื้นพื้นที่ให้เป็นป่าชุมชน สานต่อรุ่นสู่รุ่นให้ป่าผูกพันกับชุมชนเพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์จริงและยั่งยืน

นายจำนงค์ ทะมา เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชุมชน ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เรื่องของคนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ร่วมกับป่าในบ้านเรามีเกิดขึ้นอยู่ในทุกภาคแต่ที่เราเห็นเรื่องแบบนี้ได้ชัดมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นทางภาคเหนือ เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีป่ามากที่สุดและคนกับป่าก็พึ่งพาอาศัยกันมาอย่างยาวนานเช่นกัน ถ้าย้อนไปราวสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการเปิดให้สัมปทานป่ากับบริษัทจากประเทศอังกฤษเข้ามาตัดไม้ที่มีมูลค่าในสมัยนั้นก็จะเป็นไม้สักเกือบ 100% หลังจากที่บริษัทจาประเทศอังกฤษเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าทางภาคเหนือของเราก็จะเป็นยุคของกรมป่าไม้ที่รับช่วงต่อ เห็นได้ว่า การใช้ประโยชน์จากป่ามีมานานมากแต่จะเป็นในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง จ.อุตรดิตถ์ ก็เช่นกันถูกสัมปทานไม้สักในป่าออกไปเป็นจำนวนไม่น้อยในยุคนั้นและในปัจจุบัน จ.อุตรดิตถ์มีการปลูกไม้สักมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศด้วยในรูปแบบของสวนป่า

จ.อุตรดิตถ์ นอกจากพื้นที่ปลูกไม้สักจะมาเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีไฟป่าที่สร้างปัญหาหมอกควันและ pm2.5 ในพื้นที่ปลูกไม้สักจำนวนมากก็เป็นต้นเหตุของไฟป่าและฝุ่นควันอยู่ไม่น้อย แต่มีพื้นที่หนึ่งใน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ พยายามที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องของหมอกควันและป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าที่เป็นสาเหตุในพื้นที่ก็คือ ต.จริม ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกับแปลงปลูกไม้สักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จำนวนมาก ทำให้เวลาเกิดเหตุไฟป่ามักจะลามมาเนื่องจากในช่วงฤดูแล้งต้นสักจะทิ้งใบซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี และลามเข้ามายังป่าชุมชนของชาวบ้าน ต.จริม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวพูดคุยตกลงกันของคนใน ต.จริม

ประมาณปี 2554 เป็นต้นมาว่า จะกันพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านที่ถูกย้ายชุมชนมาจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวแห้งแล้งเพราะบริเวณพื้นที่ต้นน้ำส่วนมากจะเป็นแปลงปลูกต้นสักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ป่าบริเวณนั้นขาดความอุดมสมบูรณ์จากการปลูกต้นสักเพียงชนิดเดียวทำให้ระบบนิเวศน์เสียหาย ป่าต้นน้ำที่เคยมีน้ำน้ำก็ค่อยๆ หายไป ชุมชนได้รับความเดือนร้อนจากการที่ไม่มีน้ำ ชาวบ้านจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะกันพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้ฟื้นกลายเป็นป่าของชุมชนเพื่อได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นายจำนงค์ เล่าว่า ตกผลึกความคิดร่วมกันเอาทุ่งเลี้ยงสัตว์เดิม ช่วยกันปลูกป่าจนเกิดป่าชุมชนขึ้นมามีเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ แต่ถูกรับรองขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนเพียง 368 ไร่ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชุมชนหรือ ทสม. ในพื้นที่ร่วมกับคนใน ต.จริม ช่วยกันป้องกันดูแลรักษาจนทำให้ต้นไม้เริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ มีการจัดตั้งกรรมการดูแลป่าชุมชนเพื่อทำหน้าที่ในการจัดการดูแลป่าชุมชนในพื้นที่ตัวเอง หลายคนสงสัยว่า ในการฟื้นฟูป่าที่เคยเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นป่าที่คน ต.จริม ได้ใช้ประโยชน์ใช้ทั้งเวลาและงบประมาณไม่น้อย จึงเป็นหน้าที่ของ ทสม.ในพื้นที่ที่ทำงานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์เข้ามามีส่วนช่วยได้มาก คือช่วยทั้งเรื่องของการจัดหาทั้งกล้าไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆ ที่จะเอาเข้ามาปลูกเสริมให้พื้นที่ป่าชุมชนที่กำลังฟื้นตัว โดยพันธุ์ไม้ก็ผ่านกระบานการคิดว่า ต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงด้วยเช่น เลือกไผ่ซางหม่นเข้ามาปลูกเพื่อให้คนในชุมชนสามารถใช้หน่อไม้ในการบริโภคและต้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย รวมไปถึงเรื่องของการทำฝายก็ทำหน้าที่ประสานงานจัดหาอุปกรณ์และทุนสนับสนุนให้

ส่วนเรื่องของการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.จริม ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากการจัดการเชื้อเพลิงในแปลงปลูกไม้สักและลามเข้ามายังพื้นที่ของป่าชุมชน ในส่วนของ ทสม.ที่มีโอกาสได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ ก็นำปัญหาดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบจนเกิดความเข้าใจตรงกันมีการเพิ่มความระมัดระวังในการจัดการเชื้อเพลิงในแปลงปลูกไม้สัก โดยการทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามเข้าไปยังป่าชุมชนของ ต.จริม โดยต้นปีที่ผ่านมาไฟป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนเรื่องของการป้องกันชาวบ้านเองก็มีการจัดทำแนวกันไฟรอบป่าชุมชนของตัวเองทุกปี รวมไปถึงการมีจุดเฝ้าระวังไฟป่าในป่าชุมชนมากถึง 8 จุด โดยการแบ่งพื้นที่ตามความรับผิดชอบของแต่ละชุมชนซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกันเป็นอย่างดีและเป็นการช่วยลดปัญหาลงได้เป็นอย่างมาก

จากการทำงานอย่างหนักของชาวบ้านและเครือข่าย ทสม.ของ ต.จริม เริ่มกลายเป็นกิจวัตรประจำปีไปแล้ว ที่ร่วมกันทำแนวกันไฟรอบป่าชุมชนของตัวเอง ในช่วงหน้าไฟก็ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือดับไฟป่าที่จะเกิดขึ้น เริ่มเข้าฤดูฝนก็ต้องเตรียมตัวกันทำฝายและการปลูกต้นไม้เพื่อแทนที่ต้นไม้ที่เสียหายในช่วงฤดูไฟป่า ปัจจุบันก็เห็นเป็นรูปธรรมในการจัดการป่าชุมชนของคณะกรรมการป่าชุมชนและเครือข่าย ทสม.ในพื้นที่ ที่ครบวงจร ในอนาคตก็มองถึงเรื่องของการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเช่นเรื่องอาหารที่อยู่ในป่าหรือแม้แต่การนำไม้ออกมาใช้ประโยชน์ในชุมชนและทำอย่างไรให้ป่าผูกพันกับชุมชนและชุมชนได้ใช้ประโยชน์จริงๆ และปล่อยให้แต่ละโซนทั้ง 8 โซนที่ร่วมดูแลป่าชุมชนจัดการปลูกพืชที่คนในแต่ละโซนต้องการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ พร้อมที่จะเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในชุมชนศึกษาเรื่องของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนของตัวเองและการขยายพันธุ์พืชเพื่อแจกจ่ายในชุมชน เอาไปปลูกในป่าชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนได้มากขึ้นไปอีก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ