ส่งต่อความช่วยเหลือ “ชุมชนเมืองต้องรอด….ปากท้องต้องอิ่ม”

ส่งต่อความช่วยเหลือ “ชุมชนเมืองต้องรอด….ปากท้องต้องอิ่ม”

“มีหน้ากากด้วยนะ ยกขึ้นรถไปเลย”
“ไข่ไก่ระวังด้วยนะคะ น้ำดื่มเอามาวางทางนี้”
“อันนี้เครือข่ายเอามาให้ จัดไปด้วยกันเลยไหม?”

เสียงเอะอะ มะเทิ้ง ช่วยกันขนของยกขึ้น-ลง จัดระเบียบ เช็กจำนวนนับ ส่งเสียงสื่อสารภายใต้หน้ากากอนามัยอุปกรณ์ป้องกันตัวที่สำคัญในยามนี้ ทำให้หลายประโยคต้องถามย้ำซ้ำไปมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงกัน นี่เป็นอีกบรรยากาศความร่วมมือของอาสาสมัครในไทยพีบีเอส เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คุณแม่บ้าน เพื่อนพนักงานและผู้บริหารของ ส.ส.ท. ที่ช่วยกันคนละไม้และคนละสองมือ กับมูลนิธิไทยพีบีเอส องค์กรเครือข่ายและภาคประชาชนที่ระดมความช่วยเหลือเพื่อส่งต่อไปยังชุมชนเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดขึ้นอีกครั้ง

หลังจากก่อนหน้านี้เปิด “ศูนย์ประสานงานฉุกเฉินไทยพีบีเอสสู้โควิด-19” เป็นพื้นที่สื่อกลางในการประสานงาน  ประชาสัมพันธ์ความเดือดร้อน ส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ติดเชื้อ  ที่ยังหาเตียง หรือ รพ.เข้ารักษาไม่ได้ หรือโรงพยาบาลขาดแคลนที่อุปกรณ์ และสิ่งของที่จำเป็น จนถึงประชาชนขาดแคลนอาหารน้ำดื่ม ได้โทรประสานความช่วยเหลือที่เบอร์ 02-790-2111 หรือ 02-790-2630 ถึง 3 เพื่อรับข้อมูลความเดือดร้อนประสานส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษา

ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และน้ำดื่ม เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธารน้ำใจในยามยากที่หลายภาคส่วนส่งผ่านมากับมูลนิธิไทยพีบีเอสเพื่อบริหารส่งต่อไปยังชุมชนที่มีความเดือดร้อนจำเป็นเร่งด่วนให้พอบรรเทาได้บ้างในเบื้องต้น

ชุมชนพัฒนาสร้างสรรค์ 7-12 คลองเตย กรุงเทพฯ

“ถอยรถขึ้นมาเลยค่ะ ซ้ายหน่อย ๆ ระวังมอเตอร์ไซค์นะคะ” เสียงจากอาสาสมัครวัยเก๋า คอยให้สัญญาณกับพี่พนักงานขับรถตู้ที่ขนสิ่งไปแบ่งปัน ณ ชุมชนพัฒนาสร้างสรรค์ 7 – 12 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ หนึ่งในชุมชนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง เมื่อพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในชุมชนคลองเตย จนกลายเป็นครัสเตอร์ใหญ่อีกแห่งของ กรุงเทพฯ โดยที่นี่เราประสานผ่าน “ป้าหมวย” ผู้นำชุมชนที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันร่วมกับอาสาสมัครในชุมชนที่พร้อมใจกันสวมเสื้อกันฝน ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย มาให้บริการชุมชนรอรับของบริจาคและแจกจ่ายแก่สมาชิกอย่างเป็นระบบ

“เราจะให้ลงทะเบียนไว้ ที่นี่มีสมาชิก 121 ครัวเรือน เราตั้งศูนย์บริจาคนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ตอนนี้หลายคนไม่ได้ออกไปทำงาน เขากักตัวกัน คนที่ทำงานก็หยุด เลยต้องช่วย ๆ กัน พอได้ของมาแบบนี้เราก็จะประกาศเสียงตามสาย ใครที่ลงทะเบียนไว้เมื่อเช้าก็จะมารับของให้มาคราวละ 5 – 10 คนนะ เพราะต้องเว้นระยะ และพอเขามาก็ต้องให้เซ็นเอกสาร ล้างมือด้วยเจลแล้วค่อยรับของ” ป้าหมวยช่วยอธิบายเพิ่ม ก่อนที่อาสาสมัครในชุดกันฝนสีชมพูจะสำทับ

“ป้า ๆ นี่ก็กลัวนะโรคโควิด แต่เราต้องป้องกันตัว ป้าอายุ 64 แล้ว กลัวกว่าพวกเราอีก แต่อยากมาช่วย ป้าจะกดเจลแอลกอฮอล์ใส่มือคนที่มารับของ เราให้เขากดเองไม่ได้ เดี๋ยวไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคไหม นี่กดแบบนี้”

พูดจบก็ต้องละมือจากปุ่มกดมือถือไปรับเจลจากคุณป้าตามคำเชิญชวน พร้อมกล่าวขอบคุณออกไป เสียดายไม่เห็นว่าคุณป้าหน้าเป็นเช่นไรเผื่อเจอกันคราวหน้าแบบไม่มีหน้ากากอนามัยจะได้ทักทายถูกคน

ชุมชนคลองเตยเป็นอีกพื้นที่ซึ่งมีแรงงานหลากหลายอาชีพผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพฯ อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนับแสนคน ในชุมชนย่อย ๆ กว่า 46 ชุมชน ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ตามที่คนในชุมชนเรียก คือ ฝั่งโรงหมู และฝั่ง 70 ไร่ ท่ามกลางความห่วงใย ความกังวล ความหวาดกลัว ความสับสนอลหม่าน ด้านหนึ่งที่ได้เห็น คือ ความพยายามจัดการดูแลกันของคนในชุมชนตามกลไกที่มีช่วยเหลือ แบ่งปัน ดูแลกันอย่างใส่ใจ

โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก – โครงการบ้านทานตะวัน – มูลนิธิเด็ก

“ช่วยกันดูนะคะ เดี๋ยวจะเลยซอย นี่ไงกระทุ่มล้ม 18 เลี้ยวเลยค่ะ”
“วัดอุณหภูมิติดสติ๊กเกอร์ก่อนนะครับ เชิญทางนี้ครับ”
“อย่าเพิ่งเข้ามาค่ะ ผ่านเครื่องพ่นฆ่าเชื้อก่อนนะคะ”

แค่เห็นภาพวาดการ์ตูนสีสันสดใส แม้จะไม่ได้ยินเสียงเด็ก ๆ เพราะทีมงานมาถึงในช่วงบ่ายซึ่งเป็นเวลานอนกลางวัน แต่ที่นี่ก็ยืนยันถึงการเป็นสถานที่ดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างชัดเจน

นมกล่อง ไข่ไก่ น้ำดื่มขวดเล็ก กล้วยหอม กระเทียม ข้าวสาร ค่อย ๆ ถูกลำเลียงลงจากรถเพื่อจัดวางในพื้นที่อาคารเล็ก ๆ ที่จัดโซนไว้สำหรับรับของบริจาคเพื่อป้องกันการเข้าสู่พื้นที่อาคารของบุคคลภายนอก ณ โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก โครงการบ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก เป็นอีกการจัดการที่แสดงถึงความใส่ใจและป้องกันอย่างเป็นระบบของที่นี่ ซึ่งปัจจุบันมีน้อง ๆ ในความดูแลรวม 100  คน อายุตั้งแต่แรกเกิด – 8 ปี นาทีนี้แม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อในชุมชนใกล้เคียง แต่จำเป็นต้องยกระดับการป้องกันสูงสุดให้กับน้อง ๆ และเจ้าหน้าที่รวมถึงผู้มาร่วมบริจาคเป็นอีกวิถีใหม่ของทุกคนในที่นี่

กุณนภา เพชรอินทร์ นักสังคมสงเคราะห์ โครงการบ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก ให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 รอบนี้ ส่งผลให้มีคนมาบริจาคสิ่งของน้อยลง เพราะทุกคนต้องระมัดระวังเรื่องการกักตัว เรื่องค่าใช้จ่าย แต่ที่มูลนิธิกลับมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากค่าใช้จ่ายประจำ และส่วนหนึ่งที่เพิ่มมาคือ เมื่อมีน้อง ๆ เจ็บป่วยทั้งจากโรคประจำตัว มีไข้ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องพาน้อง ๆ ไปหาคุณหมอที่รพ.เอกชนที่มีความแออัดน้อย และใช้เวลารวดเร็วเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโควิด-19 และนอจากนี้ยังมีแนวโน้มของความต้องการจากผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาอยู่ในความดูแลเพิ่มขึ้นเพราะหลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างสาหัส

มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สลัมสี่ภาค

“เครื่องนี้มันใช้ยังไงนะ ทำไมกดไม่ติด”
“เอ๊ะ ..​. หรือมันไม่มีถ่าน ใครก็ได้ไปซื้อมาหน่อยจะได้ทดลองใช้เลย”
“เราต้องทดลองวัดกันเองก่อน พรุ่งนี้จะได้อบรมกับแกนนำ”

ความฉงนปนสงสัยใคร่ดูของพี่ ๆ เครือข่ายต่อ “เครื่องวัดอุณหภูมิ” อีกหนึ่งในอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงเพื่อคัดกรองบุคคล ที่นอกจากหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ ได้รับความสนใจพอ ๆ กับ “เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว” (Oximeter) ที่แกนนำเครือข่ายสลัมสี่ภาคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะได้เรียนรู้ ทดลองใช้ พร้อมจัดระบบตั้งรับเพื่อป้องกันความเสี่ยงในชุมชนซึ่งจะมีอบรมเชิงปฏิบัติการในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม นี้

“พรุ่งนี้เราจะคุยกัน เราต้องให้แกนนำเขากระจายกันดูแลสมาชิกให้ได้ พรุ่งนี้จะอบรมกันค่ะ หลายชุมชนขาดหน้ากาก ตอนนี้ไม่มีเงินซื้อกัน” พี่หน่อย วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย อธิบายถึงความจำเป็นในการขอรับสนับสนุนจากมูลนิธิไทยพีบีเอส ทั้ง หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องวัดออกซิเจน “แล้วตอนนี้หลายชุมชนในเครือข่ายเรา เขากำลังตั้งครัวกลางนะคะ เพราะชาวบ้านเขาไม่ได้ทำงาน บางส่วนต้องกักตัว เครือข่ายเรามีกันทั่วประเทศ อย่างที่เหล่านาดี 12 ขอนแก่น เขาก็ตั้งโรงครัวแล้ว อ่อนนุช 14 ไร่ ก็มีนะ แล้วก็ชุมชนริมคลองสามเสนด้วยค่ะ เดี๋ยวไปดูกัน”

ชุมชนริมคลองสามเสน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

“จอดตรงนี้นะครับ ริมถนนนี่แหละ พวกเราช่วยดูรถด้วยนะ”

เสียงดังฟังชัดจาก สมนึก ทับน้อย คณะกรรมการชุมชนริมคลองสามเสน แจ้งแก่สมาชิกอีก ราว ๆ 10 คน ที่มาช่วยขนสิ่งของลงจากรถตู้และรถกระบะของทีมงานมูลนิธิ ทั้ง ไข่ไก่ อาหารแช่แข็ง ข้าวสาร น้ำดื่ม เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย เป็นสัญญาณการส่งต่ออีกความช่วยเหลือมายังสมาชิกในชุมชนที่มีกันอยู่ 382 ครัวเรือน มีสมาชิกรวมกว่า 3,000 คน โดยส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน แม่บ้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และพนักงานบริษัท

หลังจากที่นี่พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย ซึ่งได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีคนในชุมชนที่ต้องกักตัว สังเกตอาการ รวมถึงกลุ่มคนสูงวัยที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เว้นระยะห่างระหว่างกัน ทำให้พวกเขาเห็นตรงกันว่าการอยู่ภายในบ้าน งดออกนอกชุมชนถ้าไม่จำเป็นจะปลอดภัยในนาทีนี้

“ต้องทำข้าวกล่องจากครัวกลางไปเดินแจกนะ มื้อละ 100 กล่อง วันหนึ่ง 3 มื้อ ก็ 300 กล่อง มีทั้งคนที่กักตัว เพราะเขามีความเสี่ยง คนแก่ที่อยู่ในบ้าน และสมาชิกพวก ๆ กันนี่แหละ อย่างน้อง ๆ ที่มาช่วยเนี่ยหลายคนไม่ได้ทำงานแล้ว เขาก็มารอรับของ แล้วเอาไปจัดสรรแบ่งปันกันครับ”

“เย็นนี้จะทำอะไรกินคะ?”
“นี่ไง ก้ามปูอัด นี่ดูน่ากินนะ หลายคนยังไม่เคยกิน เดี๋ยวทอดแล้วเอาไปแจก มีน้ำจิ้มด้วยจะลองชิมไหม” พ่อครัวจำเป็นยกกับข้าวที่ปรุงจากอาหารแช่แข็งซึ่งองค์กรเครือข่ายได้ที่ร่วมบริจาคและส่งต่อมากับมูลนิธิไทยพีบีเอส ให้กลุ่มแม่บ้านจัดสรรแบ่งปันใส่กล่องเพื่อแจกจ่ายแก่สมาชิกต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในอาหารมื้อเย็นวันนี้

“วันนี้ก็ขอขอบคุณทุกท่านมากนะครับ ขอให้ทุกคนปลอดภัยไปด้วยกันนะครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับ สู้นะครับ” สมนึก ทับน้อย ประกาศผ่านเสียงตามสาย ทั้งขอบคุณและให้กำลังใจกัน แม้จะไม่สามารถมองเห็นใบหน้า แต่มั่นใจเหลือเกินว่าใต้หน้ากากอนามัยและเฟซซีลนั่นจะมีรอยยิ้มแห่งความอิ่มเอมใจ “ขอบคุณมากนะคะที่มาช่วย” “ขอบคุณนะครับ” “ขอบคุณค่ะ” ต่างคนต่างยกมือไหว้ค้อมตัวลง และส่งยิ้มให้กันพร้อมกับแสงอาทิตย์ที่ลับไปและแสงไฟนีออนมาแทนที่

“วันนี้ทุกคนคงเหนื่อย พรุ่งนี้เสร็จงานแล้วอาจต้องขอประชุมหารือกันสักรอบนะคะ”
“วันนี้สำเร็จราบรื่น และแผนปฏิบัติพรุ่งนี้ลงตัวพร้อม ขอบคุณทุกท่านนะคะ ขอส่งต่อ คำขอบคุณ คำชื่นชม  ความสุขของ เด็ก ๆ บ้านทานตะวัน ของพี่น้องที่ลงไปช่วยเหลือทุกแห่งมาให้..ทุกคนค่ะ”

ท่ามกลางความยากลำบากและทุกเข็ญที่แวะเวียนมาทดสอบ มาสร้างสิ่งท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้ได้แสดงความเข้มแข็งของร่างกาย จิตใจ ทั้งส่วนตัวและกลุ่มคน สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นความหวัง คือ ความพยายามหาทางออกร่วมกันในระดับชุมชนด้วยกลไกขนาดเล็ก การส่งต่อพลังกายและพลังใจไปถึงกัน เหล่านี้เป็นอีกความหวังที่สังคมไทยพร้อมแบ่งปัน และต้องการในโมงยามนี้

ไทยพีบีเอส ขอเชิญทุกท่านร่วมบริจาคเข้าโครงการ“ชุมชนเมืองต้องรอด… ปากท้องต้องอิ่ม”ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของ ช่วยเหลือชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบ โควิด-19 เพื่อจัดหาอาหารแห้ง สิ่งของจำเป็นให้ชุมชนแออัด จัดหาอาหารสดทำ “ตู้กับข้าวเคลื่อนที่” ให้ชุมชนระหว่างกักตัว

ผู้สนใจร่วมสบทบทุน ชื่อบัญชี : มูลนิธิองค์การกระจายเสียงเเละเเพร่ภาพสาธารณะเเห่งประเทศไทย (มูลนิธิไทยพีบีเอส) เลขที่บัญชี : 071-015-6235 ธนาคารกรุงไทย สาขาการปิโตรเลียม (ออมทรัพย์ )

*เงินบริจาคส่งต่อความช่วยเหลือโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ *

หรือสามารถนำสิ่งของบริจาคมามอบได้ที่ “ศูนย์ประสานฉุกเฉิน ไทยพีบีเอสสู้โควิด-19” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูล- แจ้งขอความช่วยเหลือ ได้ทาง ศูนย์ประสานฉุกเฉิน ไทยพีบีเอสสู้โควิด-19

▪️โทร. 02-790- 2111 (20 คู่สาย ทุกวัน 09.00-16.00น.)
▪️ LINE ID : @RongTookThaiPBS
▪️ Website กรอกข้อมูลร่วมบริจาค : www.thaipbs.or.th/Covid19Services

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ