OxyfightCovid เติมออกซิเจนผู้ป่วยโควิด ก่อนถึงเตียง รพ.

OxyfightCovid เติมออกซิเจนผู้ป่วยโควิด ก่อนถึงเตียง รพ.

“สวัสดีค่ะคุณต้า 
มีเรื่องขอความช่วยเหลือประสานออกซิเจนด่วนที่คลองเตย
คุณต้าพอจะประสานได้ไหมคะ...”

บทสนทนาทางกล่องข้อความเฟซบุ๊กเพื่อขอความช่วยเหลือไปยังคนแปลกหน้า เริ่มต้น ราว ๆ 21.20 น. คืนวันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม 64 หลังจากที่ทีมนักข่าวพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับข้อมูลขอความช่วยเหลือเร่งด่วน กรณีคุณยายวัย 93 ปี ชาวชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากวัดค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ที่ 70 % ซึ่งปกติร่างกายควรจะมีค่าออกซิเจนในเลือด 95%

“สวัสดีคับ...” 

เวลา 21.32 น. มีข้อความตอบกลับมา ซึ่งทำให้ทีมงานใจชื้นขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมความหวังต่อการช่วยเหลือคุณยายระหว่างที่รอการประสานจากโรงพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อคุณยายไปยังโรงพยาบาล

“ตอนนี้ รถ รพ.มารับคุณยายแล้วนะคะ”
“ครับ ผมอยู่นี่”

ข้อความตอบกลับอีกครั้ง พร้อมภาพอาสาสมัคร OxyfightCovid ในชุด PPE พร้อมปฏิบัติงานซึ่งมาถึงบ้านคุณยายพร้อมกับรถของโรงพยาบาล

“ขอบคุณมากนะคะ”
“ไม่เป็นไรครับ ขอตัวไปถอดชุด PPE ก่อนนะครับ”

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงานนักข่าวพลเมือง ได้รู้จักกับทีมอาสา OxyfightCovid ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของนักเรียนหลักสูตรพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ หรือ EMT รุ่น 2 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผ่าน คชานนท์ แข็งการ กับเพื่อน ๆ 8-9 คน ทำหน้าที่เป็นข้อต่อช่วยเติมออกซิเจนให้ผู้ป่วยโควิด-19  ที่มีอาหารหายใจเหนื่อย หอบ และยังพักอาศัยอยู่ที่บ้านรอรถโรงพยาบาลมารับ โดยมีอุปกรณ์สำคัญ คือ เครื่องผลิตออกซิเจน 14 เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Oximeter) กระจายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี  และพร้อมเคลื่อนที่เร็วตลอดเวลา

“เราประเมินว่า โควิด-19 มันทำลายปอด จึงสันนิษฐานว่าถ้าเชื้อลงปอดจะมีผลต่อการแลกเปลี่ยนของออกซิเจนในร่างกายที่จะแย่กว่าคนปกติ ออกซิเจนในอากาศที่มีอาจไม่เพียงพอ แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับออกซิเจนที่เข้มข้นไปช่วยปอดที่ทำงานได้ลดลง ก็อาจจะไปช่วยทดแทนกันได้บ้าง”  

คชานนท์ แข็งการ เล่าถึงที่มาที่ไปของแนวคิดในการรวมกลุ่มทำอาสากับเพื่อน ๆ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

“เคสแรกที่เราเริ่มช่วยเหลือ คือ วัดค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยได้ที่ 80% แล้วพอให้ออกซิเจนไปสักพักใหญ่ ๆ ค่าออกซิเจนก็กลับมา 90 % กว่า ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ป่วยใช้เวลารอเตียงนานกว่าปัจจุบันนี้นะครับ เราเลยคิดว่ามันทำได้ และผลตอบรับแต่ละเคสคือหายใจได้คล่องขึ้น หายเหนื่อย

เคสส่วนมากที่รับแจ้งมาก็จะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก บางเคสจะมีเครื่องวัดออกซิเจน (Oximeter) หรือมีทีมอาสาเอาไปให้ก่อน ก็จะรู้ว่าอาการเป็นอย่างไร บางรายค่าออกซิเจนต่ำกว่า 90% เคสเหล่านี้จะมีความน่ากังวลค่อนข้างสูง เราจะรีบประสานงานญาติ ประสานผู้ป่วย เพื่อที่จะรีบนำเครื่องเข้าไปช่วย ไปดูอาการ ซึ่งบางครั้งเคสที่ขอความช่วยเหลือเข้ามาก็ไม่มีเครื่องวัดออกซิเจน แต่ญาติจะบอกว่าเขามีอาการเหนื่อยหอบ หายใจตื้น สั้น เราก็จะประเมินอาการคร่าว ๆ ถ้ายังไม่ทราบค่าออกซิเจน  เราจะมีทีมม้าเร็วนำเครื่องวัดออกซิเจน (Oximeter) ไปให้ก่อน ส่วนจะใช้เวลาแต่ละเคสเท่าไร ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณใกล้เคียงมีเครื่องพร้อมให้บริการอยู่ตรงนั้นไหม อย่างกรณีล่าสุดที่มีเคสจากคลองเตย แต่ผมอยู่ที่นนทบุรี เราก็ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือครับ

ส่วนการใช้เครื่องเราจะเอาเครื่องไปให้เขาใช้พร้อมเครื่องวัดออกซิเจนและให้ญาติต้องรายงานกับทีมอาสาเราตลอดว่าก่อนใช้ หรือแรกรับเท่าไร แล้วครบ 1 ชั่วโมงดีขึ้นไหม แล้วก็ติดตามวัดรายงานทุก ๆ 4 ชั่วโมง และต้องประเมินด้วยว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวไหม เพราะบางโรค เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรังจะไม่กล้าตัดสินใจให้ออกซิเจน เพราะโรคนี้ออกซิเจนของผู้ป่วยจะน้อยอยู่แล้ว ซึ่งต้องระวังไม่ให้ออกซิเจนเขาสูงเกินไป

ตอนที่ประเมินกับญาติจะประสานงานกันผ่านไลน์ เพราะแต่ละเครื่องจะมีอาสาคอยดูแลอยู่ ซึ่งเครื่องวัดออกซิเจนจะใช้ง่าย เพราะมีปุ่มเปิด-ปิด ปุ่มเดียว ใช้วัดที่นิ้วมือ เพราะฉะนั้นเราก็ทำนิ้วเราให้สะอาด แต่ถ้าคุณผู้หญิงทำเล็บ หรือทาสีมาหนาหน่อย หรือมีวิ๊ง วิบวับ ก็ต้องทำความสะอาดก่อน จากนั้นก็หนีบสวมกับนิ้วมือแล้วอ่านค่าออกซิเจน ซึ่งค่าออกซิเจนในร่างกายจะอยู่ที่ 95 – 100 % ความผันผวนก็อาจจะบวกหรือลบ 1   ต้องวัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แต่ถ้าค่าออกซิเจนต่ำกว่า 90 % อันนี้ถือว่าผิดปกติ และน่าเป็นห่วงอาจจะเกิดภาวะพร่องออกซิเจนและอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะที่แย่ลง”

นอกจากการทำงานแข่งกับเวลาที่ผู้ป่วยรอออกซิเจน อีกความท้าทายของทีมอาสา คือ ความปลอดภัยของทีมงานซึ่งจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและรัดกุมอย่างมากในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19

อันดับแรกคนในครอบครัวต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมด ทั้งผู้ดูแล ผู้ให้ข้อมูล ญาติ หรือใครที่แจ้งเข้ามา ว่าเขาตรวจโควิดแล้วหรือยัง ผลออกหรือยัง อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร สภาพที่อยู่อาศัยสามารถเข้าไปได้ไหม เพราะว่าทั้งเรื่องผลิตออกซิเจน ก็น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม และอาสาใส่ชุด PPE จึงจำเป็นต้องทราบรายละเอียด

ความท้าทายช่วงนี้ ยังมีความเสี่ยง ความปลอดภัยของทีมงานด้วย บางครั้งเมื่อต้องเข้าไปในสถานที่แออัด ที่ชุมชน เรายังพบคนในชุมชนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยซึ่งจะโผล่มาดูว่าใครมา ใส่ชุด PPE มาทำอะไร และเรื่องการบริหารการส่งต่อเครื่องผลิตออกซิเจนเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยให้เร็วที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการวิกฤติ เพราะว่าออกซิเจนมีความสำคัญต่อร่างกาย แล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อปอดเขาจะถูกทำลายมีผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซ ซึ่งแน่นอนว่า อาการจะค่อนข้างแย่กว่าปกติ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรก็ได้ให้เครื่องเข้าไปถึงผู้ป่วยให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาการเขาอาจจะแย่ลงและส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย

เมื่อใช้เครื่องเสร็จแล้ว ทีมงานจะประสานไปรับเครื่องมาทำความสะอาด ซึ่งต้องใส่ชุด PPE อีกรอบ เพื่อไปรับเครื่องที่หน้าบ้านผู้ป่วย แล้วห่อด้วยถุงแดงก่อนขนย้ายและนำมาทำความสะอาดอีกครั้งก่อนนำไปช่วยผู้ป่วยรายต่อไป”

เริ่มต้นการทำงานไม่ถึงสัปดาห์ แต่อาสา OxyfightCovid ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังพักรักษาตัวที่บ้านระหว่างรอเตียงโรงพยาบาล กว่า 10 ราย โดยการประสานความร่วมมือผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เราต้องรอด และช่องทางของไทยพีบีเอส

“ทางผู้ป่วยและญาติจะแจ้งมาที่เพจเราต้องรอดและไทยพีบีเอส ซึ่งทางเพจเราต้องรอดจะมีหมอมีพยาบาลอาสาคอยประเมินอาการเบื้องต้นและประสานหาเตียงควบคู่กัน ถ้ามีโรงพยาบาลหรือรถมารับ เราก็จะให้ทางแพทย์ทางเจ้าหน้าที่ดูแลต่อ แต่ถ้ายังไม่ได้รถ ไม่รู้จะมารับเมื่อไร เราก็จะประสานกันต่อว่ามีอาสาแถวนั้นไหม ถ้าเราไปดูแลได้ เราก็จะไปเพราะวิ่งกันทั่วอยู่แล้วครับ”

ท่ามกลางความอลหม่านจากสถานการณ์ผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ยังคงเพิ่มจำนวนไม่ลดละ การประสานส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันให้ได้เตียงเพื่อเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล การเฝ้าระวัง และการดูแลผู้ป่วยซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้านให้หายใจได้สะดวก อยู่ในภาวะปลอดภัย เป็นอีกความหวังที่อาสาสมัครทุกฝ่าย และ OxyfightCovid  พยายามช่วยขยายเวลาให้ผู้ป่วยและทุกคนมีแรง รอ… อย่างมีความหวัง

“คุณต้าคะ มีเคสขอความช่วยเหลือค่ะ
อาการไข้ขึ้นสูง หายใจเหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
เครื่องตรวจวัดออกซิเจน 3 ครั้ง
93%  111%
92%  113%
93%  116%
ยังไม่ได้ติดต่อที่ไหนค่ะ ที่อยู่ ... เบอร์โทร ... ”

“กำลังไปครับ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ