ชีวิตนอกกรุง : โลกดิจิทัล โลกแห่งโอกาสของกิจการท้องถิ่น

ชีวิตนอกกรุง : โลกดิจิทัล โลกแห่งโอกาสของกิจการท้องถิ่น

ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างแก่วิถีชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะกิน เที่ยว ช็อปปิ้ง ทุกอย่างกระโดดเข้ามาอยู่ในระบบออนไลน์ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ให้บริการ สามมารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟนที่ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ทำได้ทุกอย่างที่กล่าวมาทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นเหมือนยานพาหนะที่พามนุษย์ชาติก้าวเข้าสู่อีกโลก ที่เรียกว่า “โลกดิจิทัล”

โลกดิจิทัลดินแดนที่ทุกคนบนโลก ไม่ว่าจะอยู่มุมไหน ก็มาเจอกันได้ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านเครื่องมือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยเราเองก็เข้าสู่ยุคสมัยนี้มาหลายปีแล้ว โดยจากการสำรวจโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปี 2562 พบว่าคนไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ หรือราว 40 ล้านคน เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยจะใช้โซเชียลมีเดีย ดูหนัง/ฟังเพลง และค้นหาข้อมูลมากสุดตามลำดับ จะรู้ตัวหรือไม่ ตอนที่อ่านอยู่นี้ เราก็กลายเป็นเพื่อนร่วมโลกดิจิทัลกันไปแล้ว

กิจกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย ข้อมูลจากจากสำรวจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ใครมีทักษะด้านเทคโนโลยี รู้เท่าทันก็ปรับตัวใช้เครื่องมือออนไลน์สร้างโอกาสได้ จะทำธุรกิจหรือใช้กับชีวิตประจำวัน เชื่อว่าคงตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มาก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดบ้านเรา ที่ความห่างไกลถูกย่อเข้ามา การค้าขายแลกเปลี่ยนมีตลาดกว้างขึ้น แม้กระทั่งสามารถสื่อสารตัวตนสู่โลกภายนอกได้ง่ายขึ้น ผู้ประกอบการหลายพื้นที่ในท้องถิ่นจึงปรับตัว สร้างตัวตนในโลกทั้งสองใบ

ที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติที่สวยงาม เมื่อก่อนที่นี่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก เพราะไม่มีถนนเส้นหลักผ่าน แต่ทุกวันนี้ที่นี่ครึกครื้นไปด้วยผู้คนจากต่างถิ่น เพราะเริ่มมีการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดขอนแก่น โดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี “หนองสมอ” หนองน้ำสาธารณะที่ ต.ภูผาม่าน ก็กลายเป็นอีกจุดหมายของนักท่องเที่ยว

ถ้าเราไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีเฟซบุ๊กทำการตลาดหรือส่งต่อ ผมว่าน่าจะเติบโตช้า

กุลชาติ เค้นา ผู้ร่วมก่อตั้งการท่องเที่ยวชุมชน “วิวผาม่าน”

คุณกุลชาติ เค้นา หรือกุล อีกคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันการท่องเที่ยว เล่าถึงอีกปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยว อ.ภูผาม่าน ที่หนองสมอเกิดได้ โตเร็ว จากการนำโซเชียลมีเดียมาสื่อสารกับลูกค้าผ่านเพจวิวผาม่าน ทำให้แหล่งท่องเที่ยวโนเนมถูกบอกต่อในโลกออนไลน์ จนตอนนี้ผู้คนหลั่งไหลมาเยี่ยมเยือน

คนส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มไหนเราก็ควรมีตัวตนในแพลตฟอร์มนั้น เช่นคนเดินทางใช้ Google maps ในการเดินทาง คนเล่นเฟซบุ๊กเราก็ควรมีเพจในเฟซบุ๊ก ไอจีเกาะกลุ่มที่ถ่ายรูปสวย ก็ควรจะมีระดับหนึ่งเพื่อให้เขาเช็คอิน

กลุ่มลูกค้าต่างถิ่น โดยเฉพาะคนเมืองคือกลุ่มเป้าหมาย คุณกุลและทีมงานจึงต้องใช้เครื่องมือเชื่อมคนท้องถิ่นและคนเมืองมาเจอกัน ด้วยตัวตนบนโลกออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก และปักหมุดบน Google Maps เพื่อนำทางให้มากันได้ในโลกจริง เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สร้างอาชีพแก่คนท้องถิ่น นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่โลกเสมือนถูกสร้างคู่กับโลกความจริง เกิดจากการเห็นตัวอย่าง เรียนรู้ ทำจริง ของคุณกุล ที่อยากใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ตัวเองมีกับกิจการที่บ้านเกิด

ร้านอาหารธุรกิจครอบครัวคุณกุล

ฟาร์มคิดร้านอาหารเล็ก ๆ ใน อ.ภูผาม่าน เป็นสนามแรกของการเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารของคุณกุล จากที่ทำงานในสายเทคโนโลยี ออกแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์อยู่ในเมืองกรุงกว่า 10 ปี เมื่อถึงวันที่ต้องกลับบ้านมาทำงานแบบ Remote work จึงนำองค์ความรู้มาทดลอง ปรับใช้กับธุรกิจที่เปิดใหม่ในต่างจังหวัด

ธุรกิจสมัยใหม่ควรสร้างตัวตนในโลกออนไลน์บ้าง อย่างน้อยๆ Basic สุด ๆ ผมคิดว่า Google maps ร้านควรมี ไม่มีเพจก็ได้นะ ผมไม่ถนัดการทำการตลาดบนเฟซบุ๊ก แต่ผมจะไปทานข้าวร้านคุณผมจะไปอย่างไร ลูกค้าควรจะมีคำตอบแล้ว Google maps ควรพาไปถูกนะ มันเป็นการเปิดโอกาสธุรกิจให้ตัวเองด้วย ถึงแม้จะอยู่ในป่าคนก็ไปถูกได้ เพราะว่า GPS มันไปได้หมด

เปิดกิจการมาแล้ว 1 ปีกว่า ที่นี่ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาดสาย จากการสอบถามลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาเยือน พบว่าเกือบทั้งหมดรู้จักร้านผ่านแฟนเพจ และเดินทางมาโดยการใช้ Google maps นำทาง เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าตัวตนบนโลกออนไลน์ที่เชื่อมถึงกัน ก็นำพามาเจอในโลกความจริงด้วย ซึ่งคุณกุลก็ตอกย้ำประโยชน์ของเครื่องมือนี้อีกครั้ง ด้วยผลการเติบโตบนโลกออนไลน์ทั้งการเข้าถึง และการรีวิวของลูกค้าในหน้าร้านออนไลน์ของ Google maps

“มีคนเข้ามาดูเดือนละหมื่นแปด สัญลักษณ์ที่ชี้ขึ้นคือมีคนเข้าเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น มาดูเพิ่มขึ้นทุกเดือน ผมไม่ได้ทำการตลาดแม้แต่นิดเดียว มี 27 รีวิว เมื่อก่อน 3 เดือนที่แล้ว มี 9 รีวิว ก้าวกระโดดมาหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จากคนเข้าถึงแล้วมารีวิวเพิ่ม”

ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านพ้นการระบาดระลอกแรกของโควิด-19 คุณกุลบอกว่าน่าพึงพอใจ กิจการพอดำเนินต่อไปได้ และสิ่งที่น่าดีใจอีกอย่างคือ มีลูกค้าหน้าใหม่แวะเวียนเข้ามาเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มรู้จักมากขึ้น

“ก็จะมีกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนเมืองที่เขายังมีความเป็นเมืองอยู่เข้ามา เราก็ดูพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ ลูกค้าเราก็เริ่มหน้าแปลกขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็เก็บข้อมูลว่า ทำไมถึงมาภูผาม่านมาแล้วตรงปกไหมครับ ถ้าเขาบอกว่าตรงปก ไม่ตรงปก ดีไม่ดีเราก็เก็บมา พยายามปรับปรุง และสื่อสารความเป็นเราให้ตรงกลุ่มเป้าหมายไปเรื่อย ๆ”

นอกจากเป็นจุดเชื่อต่อกับลูกค้า เครื่องมือจาก Google ยังช่วยให้การจัดการในร้านง่ายขึ้น เพราะจะรวบรวมข้อมูลแสดงให้เจ้าของธุรกิจรู้ว่าคนมาเยอะวันไหน เวลาไหน ทำให้การเตรียมของเพื่อขายก็ง่ายขึ้น

คุณกุลได้บอกอีกว่า เครื่องมือเพจหรือการปักหมุดบน Google maps ไม่ได้เป็นเครื่องมือใหม่ ที่ต่างประเทศและในเมืองใหญ่ใช้กันมานาน คือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ หรือเรียกว่า Digital transformation แต่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นบ้านเรา ส่วนใหญ่ยังไม่หยิบจับนำมาใช้ พร้อมทดลองให้ดูด้วยการกดค้นหาร้านอาหารที่ อ.ภูผาม่าน จาก Google จะค้นเจอเพียงไม่กี่แห่ง ทั้งที่มีมากมายหลายร้าน นั่นทำให้อาจเสียโอกาสการเข้าถึงลูกค้า มากกว่านั้นเมื่อเห็นร้านค้าและบริการน้อย ทำให้นักท่องเที่ยวขาดแรงจูงใจที่จะเข้ามา คุณกุลจึงเริ่มปฏิบัติการสร้างสื่อสารกับชุมชน ให้ร่วมกันสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

การที่จะให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นนำเทคโนโลยีมาใช้ ถือเป็นภาพฝันที่คุณกุลอยากเห็น แต่ว่าการเข้าไปบอก หรือไปชวนให้มาทำ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเกิดความยั่งยืนได้ยาก จึงต้องเริ่มจากให้เขามองเห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญ เกิดความอยากทำด้วยตัวเองก่อนจึงจะไปต่อได้ การลงมือทำฝันให้เป็นจริง จึงเริ่มด้วยการชวนคุย ชวนคิด แสดงให้เห็นความสามารถของเครื่องมือออนไลน์ เมื่อเขาอยากทำจึงพาลงมือปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องคนในบ้านเกิด เดินไปต่อด้วยกันได้

เป้าหมายเราคืออยากพัฒนา เพื่อสร้างพื้นที่ เปิดพื้นที่บางอย่างให้อนาคตของลูกเราด้วย มันจะเกิดการเรียนรู้ของลูกเราไปในตัว เขาอาจจะยังไม่เห็นหรอกแต่ว่าในมุมเรา ถ้าเทคโนโลยีได้แตะกับผู้บริโภค เมืองมันจะมีชีวิต เกิดระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ คนมาเยี่ยมเยือนภูผาม่านรู้สึกประทับใจ ไปไหนก็มีข้อมูลร้านอาหารการกินเต็มไปหมด ข้อมูลที่พักเต็มไปหมด ที่พักก็ไม่ลำบาก คนก็ต้องประทับใจ มันก็มีผลกับธุรกิจท้องถิ่น

ในยุคก่อน ระยะทางที่ห่างไกลเมืองใหญ่ คนต่างจังหวัดอาจจะเสียเปรียบหลายอย่าง แต่ในยุคโลกาพิวัตน์ เทคโนโลยีสามาถช่วยลดช่องว่างความเสียเปรียบหลายอย่าง หากผู้ประกอบการในท้องถิ่นรู้เท่าทัน ปรับใช้ให้ตอบโจทย์กิจการตัวเอง การใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับผู้คน ก็อาจเป็นทางรอดให้ก้าวไปต่อได้ในโลกอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ