เรื่อง : กองบรรณาธิการ ภาพ : สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ
ปัจจุบันในวัยเกือบ 60 วิไลวรรณ แซ่เตีย ยังคงทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิให้แก่แรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2526 ตอนนี้เธอมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
“รัฐบาลไหนทำอะไรให้เราดีก็อยากชื่นชม แต่รัฐบาลไหนทำไม่ดี ก็ต้องพูด” เธอว่าอย่างนั้น
กับข่าวการขอขึ้นค่าแรงจาก 300 บาทเป็น 360 บาท วิไลวรรณบอกว่า เป็นเพราะค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเมื่อปี 2556
ในตอนท้ายๆ ของการสนทนา เธออธิบายเหตุผลของการออกไปร่วมไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร ไว้ว่าเป็นเพราะความอึดอัด กดดัน และไม่มีทางเลือก แน่นอน รวมถึงเหตุผลที่ใครๆ ก็พูดกันในยุคนี้ นั่นคือต้องการปฏิรูปอะไรหลายๆ อย่าง โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดการยึดอำนาจขึ้นเสียก่อน
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ นี่อาจเป็นอุทาหรณ์ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในชุดต่อๆ ไป ได้เรียนรู้
รวมไปถึงเราจะได้รู้จักคำว่าอดกลั้น เพื่อแก้ปัญหาในกติกา หากยังอยากใช้ระบอบประชาธิปไตย
ที่มีการขอขึ้นค่าแรงเป็น 360 บาท ทำไมตัวเลขต้องเป็นเท่านี้ มีสูตรการคำนวณอย่างไร
ตัวเลขนี้มาจากการสำรวจ เรามีการสำรวจทุกปีก่อนนำเสนอเรื่องค่าจ้าง และปีนี้ก็เหมือนกัน ช่วงก่อนสิ้นปี 2557 เราคุยกันว่าเนื่องจากรัฐบาลมีการปรับค่าจ้างมาก่อนหน้านี้ สมัยปี 2554 – 2555 ซึ่งเป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้าง หลังจากนั้นยังไม่มีการปรับ ซึ่ง 300 บาท พอขึ้นแล้วมติของกรรมการค่าจ้างกลางก็ผูกไว้ตรงนี้ ไม่ให้ขึ้น
พอปีนี้ เราเห็นว่าค่าใช้จ่ายบางตัวลด บางตัวเพิ่ม ซึ่งมันมีความแตกต่างกันไป บางอย่างก็สูงลิ่ว เช่น ค่าแก๊ส ส่วนผักผลไม้อะไรก็แล้วแต่ไม่สามารถควบคุมราคาในตลาดได้ทั้งหมด จึงมีการพูดคุยกัน ว่าน่าจะมีการพิจารณาเพื่อเสนอค่าจ้างอีกครั้ง โดยมีการสำรวจค่าครองชีพคนงานแต่ละคน แต่ละประเภทอุตสาหกรรมทั้งหมด ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนใน 12 จังหวัดที่เป็นเครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย เลยได้ตัวเลข 360 บาทมา
ทีนี้คนงานอีกส่วนหนึ่งก็ถามว่า ทำไมค่าจ้างของเรามันลดลง เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2556 มันเป็น 460 บาทด้วยซ้ำ คือช่วงนั้นค่าน้ำมันสูงขึ้น แต่ปัจจุบันมันลดลง ที่สำคัญคือค่าเช่าบ้านไม่เอามาบวกด้วย ส่วนหนี้สินและค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็ไม่ได้เอามาบวก ตัวเลขเลยมีการเปลี่ยนแปลง สรุปที่มาที่ไปคือมาจากผลสำรวจค่าครองชีพของพี่น้องจาก 12 อุตสาหกรรมแล้วเอามาถัวเฉลี่ยว่าค่าจ้างที่สูงที่สุดควรเป็นเท่าไหร่
พอปรับค่าจ้าง 300 บาท ค่าครองชีพก็มีการปรับขึ้นตาม แม้แต่ในช่วงที่เราไม่มีการเรียกร้อง ค่าครองชีพมันก็ขึ้น ค่าครองชีพมันลอยตัว ไม่สามารถควบคุมได้ แม้รัฐบาลจะบอกว่ามีธงฟ้า มีการควบคุม แต่ตัวเลขมันก็ควบคุมไม่ได้ทั้งหมดหรอก เพราะบางอย่างถูก บางอย่างแพง ไข่ก็ยังไม่ถูกนะ ซื้อที 10 ลูก 32 – 40 บาท
ที่เพิ่มขนาดนี้ มองได้ไหมว่ามันแสดงถึงสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี
เนื่องจากค่าแรงมันเพิ่มขึ้น สินค้าเขาก็ต้องปรับราคาขึ้นตามค่าจ้าง แม้ค่าจ้างเราไม่ขึ้น สินค้ามันก็ขึ้นอยู่แล้ว ฉะนั้นตัวชี้วัดคำว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะพี่น้องผู้ใช้แรงงานไม่มีกำลังจะใช้จ่าย กำลังซื้อมันไม่เกิด มันไม่นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ คืออย่างช่วงมีการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้แรงงานขยันทำโอทีมากขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีได้ด้วย แต่ในขณะนี้มีการชะลอตัว ไม่มีโอที ค่าครองชีพก็สูง ผู้ใช้แรงงานก็ต้องรัดเข็มขัด อะไรที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ถึงจะซื้อ อะไรต้องประหยัดได้ ก็ต้องประหยัด
ถามตรงๆ ว่าหลังรัฐประหารราคาข้าวของแพงขึ้นไหม
บางอย่างก็แพงขึ้น บางอย่างก็คงที่ ถ้ามองดูสถานการณ์ในขณะนี้นะ เราบอกว่ามะนาวแพง ลูกละ 7 – 8 บาท แต่ก่อนหน้านี้มันก็อยู่ในระดับนี้เหมือนกัน แต่มองรวมๆ มันก็เขยิบขึ้น เพราะว่าค่าอาหารมันเพิ่มขึ้นในช่วง 1 – 2 ปี ที่ผ่านมา ถามว่ามันสูงขึ้นมากไหม ก็ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าที่เป็นค่าใช้จ่ายของเรา ถ้าไปดูในตลาดจะเห็นชัดว่ามันราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะของกิน แต่เครื่องอุปโภคบริโภคมันก็สูงต่ำคละๆ กันไป แต่คนที่ต้องกินต้องอยู่ทุกวันมันจะกระทบ เพราะค่าแก๊สตอนนี้ถังละ 400 กว่าบาท จากที่ 2 ปีก่อน 280 บาท
มีคนพูดว่าแรงงานเวียดนามค่าแรงถูกกว่า ฝีมือดีกว่าด้วย โดยเฉพาะงานรองเท้า ถ้าเกิดเราขอขึ้นค่าแรงอีก มันจะมีปัญหากับแรงงานไทยหรือเปล่า
มองว่าค่าแรงเวียดนามถูกกว่าเรา อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายเขาถูกมากนะ เราต้องไปดูว่าค่าครองชีพเขาถูก ต้องมองในแต่ละประเทศ ทำไมบางประเทศค่าของเขาแพง เพราะว่าค่าแรงเขาแพง ค่าครองชีพเลยแพงไปด้วย
ไม่กังวลว่าฐานการผลิตสินค้าของเราจะไหลออกไปทางเวียดนาม?
ไม่ได้กังวล เพราะว่ามันเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เวลาเราบอกว่าจะมีการเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง ตั้งแต่สมัย 300 บาท แล้วทำให้มีการปิดกิจการ การเลิกจ้าง มันมีแน่นอน พราะว่าถึงไม่มีการปรับค่าจ้าง บางโรงงานก็มีการบริหารจัดการหรือสภาพความเป็นอยู่ที่แย่อยู่แล้ว ถ้าปรับค่าจ้างเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบมันก็มีบ้าง
แต่บางสถานประกอบการก็มีข้อคิดเห็นต่างเหมือนกัน เขาบอกว่าค่าจ้างที่ปรับขึ้นไม่กระทบ เพราะว่าเขาสามารถจ่ายได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะในปัจจุบันฐานค่าจ้างขั้นต่ำมันเท่าเทียมกันหมด ถ้าคุณยังไปเลือกว่าคุณจะจ้างต่ำกว่านี้ก็ไม่มีคนมาทำงานกับคุณ เพราะว่าการจ้างงานเองก็ต้องมีการแข่งขันเหมือนกัน เช่น มีค่าจ้างอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีสวัสดิการอื่นๆ ด้วย เช่น คุณอาจมีที่พัก มีรถรับส่งคนงาน อาจมีค่าอาหารกลางวันให้ แต่ถ้าคุณบอกว่าค่าจ้างเดิม 300 บาทมันแพง แถมยังไม่มีสวัสดิการให้เลย คนงานก็ต้องไปเลือกดูว่าโรงงานไหนมีค่าจ้างระดับ 300 บาท มีโอที มีหอพัก มีรถรับส่ง มีสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งสวัสดิการก็แตกต่างกันไป
การผลิตเดี๋ยวนี้ก็มีการแข่งขัน ถ้าหากคุณอยากได้คนงานที่เป็นคนงานในบ้านเรา แรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยง เพราะเวลาจ้างเขาถูก ไม่มีโอที เวลาออกเขาก็ออกเป็นยวง อย่าลืมว่าสถานการณ์ในขณะนี้ เวลาคนงานอยู่ด้วยกันเยอะๆ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีสหภาพแรงงาน ความเป็นพี่เป็นน้องที่คนงานมีให้กัน เขาก็มีอำนาจในการต่อรองของเขาด้วย เช่น ถ้านายจ้างบอกว่าวันนี้เงินออกไม่ตรงเวลานะ เขาก็จะบอกว่าถ้าเงินไม่ออก ก็ไม่ทำโอทีให้นะ หรือถ้าบอกว่าไม่มีโอที เขาก็ไปหาโรงงานอื่นทำ แต่ถ้ามีสวัสดิการดี มีหอพัก มีอาหารให้กิน เขาก็อยู่ได้
สถานประกอบการก็มีการแข่งขันกันเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ เขาต้องจ้างคนงานที่สามารถผลิตงานให้เขาได้ และอยู่กับเขานานได้ด้วย บางบริษัทบอกว่าไม่จ้างแรงงานข้ามชาติ ถือว่าแรงงานไทยอยู่กับเขามานาน ยินดีจ่ายให้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำไป
ถ้าคุณไม่ปรับเรื่องสวัสดิการหรือค่าจ้างให้เหมาะกับน้ำพักน้ำแรงที่เขาทำให้คุณ 300 บาท ทำงานทั้งวัน เขาก็ไม่อยากอยู่ ถึงบอกว่าบางทีเราก็ต้องมองตามความเป็นจริงนะคะ เวลาทำงานก็อยากมีค่าจ้างที่เหมาะสม มีสวัสดิการ
สวัสดิการที่แรงงานควรได้รับคืออะไรบ้าง
สวัสดิการที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกฎหมายกำหนดอยู่แล้วใช่ไหมคะ วันพักผ่อนประจำปี วันหยุดประเพณี กรณีลาป่วย ลาคลอด คือว่ากฎหมายกำหนดไว้ แต่ถ้านอกเหนือจากกฎหมายกำหนด เช่น ถ้าบริษัทไหนมีผลกำไรดี ก็อาจจะมีโบนัสบ้าง อาจมีการเพิ่มค่าครองชีพนอกเหนือจากกฎหมายกำหนด เช่น อาจให้เดือนละ 300 – 500 ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะจัดให้ หรืออาจมีการปรับค่าจ้างประจำปีบ้าง 5 – 10 บาท หรือ 20 บาท ตามกำลังที่บริษัทจะจัดให้ อาจมีเบี้ยขยันรายปี กี่พันก็ว่ากันไป เบี้ยขยันรายเดือน ก็บวกตามค่าจ้าง แล้วแต่กำลังในการจ่าย หรือมีอาหาร เช่น มีข้าวเปล่าให้ 1 – 2 มื้อ มีหอพัก มีรถรับส่ง ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายกำหนด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกว่ายังขึ้นให้ไม่ได้เพราะนายจ้างยังคงมีภาระ คำว่า ‘ภาระ’ ของรัฐมนตรี คืออะไร
คำว่าภาระตอนนี้คือค่าจ้าง 300 บาทนี่แหละ และคงรวมเรื่องจิปาถะของนายจ้างที่ต้องจ่าย การบริหารจัดการทั้งหมดเขาถือว่าเป็นภาระของนายจ้าง แต่อย่าลืมว่าการลงทุน ลูกจ้างก็ลงทุนเหมือนกัน ลงทุนยังไง ลูกจ้างเองก็เช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเดินทางมาทำงาน ถือว่าเป็นการลงทุน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ถือว่าเป็นการลงทุน วันหนึ่งเราลงทุนเท่าไหร่ เดือนหนึ่งลงทุนเท่าไหร่ แล้วเรามาทำงาน นายจ้างจ่ายให้เรา 300 บาท ทั้งๆ ที่เราก็มีส่วนในการลงทุนที่ทำให้เราอยู่ได้เหมือนกัน
แต่ถ้าเรามองถึงความเป็นจริงว่า ปีนี้กำไรของนายจ้างได้ขนาดไหน ลองถัวเฉลี่ยให้เกิดความเป็นธรรม สมมติปีนี้ได้กำไรกี่ร้อยล้าน หักค่าใช้จ่ายเหลือเท่าไหร่ มีคนงานเหลือเท่าไหร่ จัดสรรปันส่วน ถ้าเป็นเหมือนที่พูด คนงานคงไม่ต้องมาขอค่าจ้างขั้นต่ำหรอก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีไงคะ มีบางบริษัทเท่านั้นที่เข้าใจความเป็นอยู่ของคนงาน ก็ดูแลให้ แต่บางบริษัทไม่ได้สนใจ อยู่ได้ก็อยู่ไป ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็แล้วแต่ อยู่มาจนอายุ 40 – 50 อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไปอยู่ที่อื่น พอไม่มีทางเลือกก็ต้องอยู่
มีเสียงบ่นจากโรงงานขนาดเล็กว่า ที่ขอขึ้นไปแล้ว 300 บาททำให้ต้นทุนเพิ่ม อยู่ลำบาก ตรงนี้มองอย่างไร
น้อยมากที่โรงงานเล็กจะจ่าย 300 บาท แม้แต่เวลาเราร้องเรียน เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าเข้าใจสภาพการทำงานของสถานประกอบการเล็กๆ คนงาน 4 – 5 คน หรือเวลามีคนแจ้งมา แล้วเราไปเจรจาเอง ทางลูกจ้างก็จะบอกว่า นายจ้างจ่ายเพิ่มให้อีกประมาณ 16 บาท เป็น 216 บาท แต่มีโอทีให้ทำนะ แล้วเราสามารถไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรได้ เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่สามารถมีกลไกในทางบังคับให้นายจ้างจ่ายทั้งหมดได้ อันนี้เราต้องเอาความเป็นจริงมาคุยกัน แล้วสถานประกอบการเล็กๆ ไม่ต้องมาบ่นหรอก มีบางบริษัทเท่านั้นที่จ่าย 300 บาท แต่เราก็อยากให้ทุกบริษัทได้ดูแลลูกจ้าง เพราะนั่นมันหมายถึงคุณภาพชีวิตของเขาด้วย
การเปิด AEC จะมีผลกระทบกับแรงงานไทยอย่างไร
ตรงนี้เป็นกังวลนะ อย่างเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐบาลยุคก่อนเราก็ค้าน ไม่เห็นด้วย มันมีตั้งแต่เรื่องค่าจ้าง การละเมิดสิทธิ์แรงงาน สวัสดิการ ความไม่ปลอดภัย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันนี้เราไม่เห็นด้วย รัฐบาลชุดนี้จะทำเราก็ไม่เห็นด้วย คือจะทำอะไรก็แล้วแต่ คนที่มีส่วนได้เสียต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จังหวัดนั้นๆ ที่คุณจะไปเปิด ชาวบ้านในจังหวัดเขาได้มีส่วนร่วมไหม ได้รู้รายละเอียด รู้ข้อมูลไหมว่าถ้าเปิดแล้วจะเกิดผลกระทบอะไร เศรษฐกิจพิเศษคืออะไร ประเภทอุตสาหกรรมที่มาลงคืออะไร แล้วสิ่งแวดล้อมล่ะ ค่าจ้างล่ะ การคุ้มครองสิทธิของเขาตามกฎหมายล่ะ
“กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ หันกลับไปดูเลย ย้อนไปปี 2543 – 46 เคยปรับค่าจ้างให้คนงานไหม ปรับ 1 – 3 บาท ในขณะที่เศรษฐกิจบูมด้วยซ้ำไป แล้วทำไมไม่คิดบ้างล่ะ ที่ผ่านมาคุณไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สนใจคนงานในช่วงเศรษฐกิจดี…”
แล้วเรื่องการส่งเสริมหรือพัฒนาฝีมือแรงงานที่เราคุยกันมานานมาก?
การพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมาดูค่าตอบแทนด้วย เพราะเวลาเราเรียกร้องค่าจ้าง ไม่ได้มองเรื่องค่าจ้างแลกข้าวอย่างเดียว แต่มองเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งมีเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน อายุการทำงานด้วย การพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำมันต้องโยงไปถึงโครงสร้างค่าจ้าง ถ้ามีการเพิ่มค่าจ้างให้ตามอัตราฝีมือแรงงานหรืออายุงาน คนที่จะมายึดโยงค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มากเท่าไหร่ ลูกจ้างกับนายจ้างก็ไม่ต้องมาทะเลาะกัน
กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ หันกลับไปดูเลย ย้อนไปปี 2543 – 46 เคยปรับค่าจ้างให้คนงานไหม ปรับ 1 – 3 บาท ในขณะที่เศรษฐกิจบูมด้วยซ้ำไป แล้วทำไมไม่คิดบ้างล่ะ ที่ผ่านมาคุณไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สนใจคนงานในช่วงเศรษฐกิจดี
ตอนนี้ก็เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร
ตอนนี้การเรียกร้องที่ทำได้คือไปยื่นหนังสือ เข้าไปได้ 100 คน ก็ยังไปกันอยู่
ปกติเวลาเรียกร้อง ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันมีความลำบากอย่างไร
ในฐานะที่ทำงานเรื่องนี้มานาน เราจะเห็นสถานการณ์ของการเลือกตั้ง การเมือง พูดกันตลอดว่าในระบอบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่คนต้องอยู่ดีกินดีด้วย ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องมีเสียงในทุกๆ อย่าง เวลาเราเคลื่อนไหวในช่วงที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มันก็ไม่ได้อย่างที่เรียกร้อง เพราะเวลาการเมืองมีอำนาจ เขาไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงเรา
ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ปี 2545 – 2548 ย้อนหลังไปดูซิ ขึ้นค่าจ้างทั้งปี 1 บาท ยังมีเลย ไปเถียงแทบตายกว่าจะได้มา 1 บาท หรือแม้แต่เราเสนอกฎหมายภาคประชาชน ยังไม่เอาเข้าสภาเลย ไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย หรือมาจากรัฐประหาร มันก็ขึ้นอยู่กับความใส่ใจ ความสนใจในบริบทของสถานการณ์การเมืองนั้นๆ เพราะเราเรียกร้องกับทุกสถานการณ์ นำเสนอมาโดยตลอด แต่ผ่านมาก็ไม่ได้อะไรมากมาย อันนี้คือเปรียบเทียบให้เห็นว่าชีวิตของคนงานต้องต่อสู้ เรายังไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรหรอก
ถึงอย่างไรเราก็ต้องกลับไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ดี ในระยะยาว มีข้อเสนออะไรเพื่อให้รัฐบาลฟังเสียงเรา
ที่ผ่านมาเวลาที่เสนออะไรเข้าไป รัฐบาลที่เป็นเจ้าของทุน เขามีอำนาจที่จะให้หรือไม่ให้ อันนี้คือความเป็นจริง ไม่ว่าจะพรรคไหน ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ขอไม่เอ่ยถึงชื่อ เราอาจได้มาบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่ได้ตามที่เราอยากได้หรอก แต่ในช่วงสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างในขณะนี้ เราก็นำเสนอ เผื่อมันได้ เช่น ออก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มันมีผลกับเรา ก็ต้องออกไปบอกว่าคุณออกมาแบบนี้มันไม่ดีนะ ต้องมีการแก้ไข หรือกรณีการเสนอกฎหมายประกันสังคม ที่จะไปตัดสิทธิ์ว่างงาน เราก็ออกไปเคลื่อนไหวว่าไม่ได้ อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรา ต้องคงไว้ คือไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ในฐานะคนปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน เราต้องออกไป
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 49 เรื่องระบอบทักษิณเป็นกระแสทางการเมือง การที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยออกไปร่วม เพราะเห็นว่าหลายประเด็นในระบอบนี้มีผลกระทบกับเรา ก็ออกไปเรียกร้องให้มีการทบทวนซึ่งอำนาจของรัฐบาลในช่วงที่ไม่ฟังเสียงประชาชน หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง มีเลือกตั้งใหม่ ก็หวังนะว่านายกฯ เป็นผู้หญิง อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และฟังเสียงของคนยากคนจน
ต้องพูดว่าถึงแม้ยุคนั้น 300 บาทมาจากการหาเสียง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลประโยชน์ แต่การบังคับใช้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง พี่น้องเราในเขตพื้นที่ต่างๆ ยังไม่ได้รับอานิสงส์อย่างทั่วถึง อันนี้ต้องไปโทษกลไกของการดำเนินการ และแม้จะขึ้น 300 มันก็มีเงื่อนไขต่ออีกว่าไปลดหย่อนภาษีให้แก่นายจ้างอีก 23% ก็ถือว่าเจ้าของทุนที่ไม่ได้ปรับค่าจ้างได้ประโยชน์จากส่วนนี้
ต่อมาเราเสนอกฎหมาย พ.ร.บ. ประกันสังคม เราเสนอมาทุกยุคทุกสมัย เพิ่งมายุคที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็มีการรับรองไว้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่เราก็ไปเสนอกฎหมายภาคประชาชน ในช่วงที่มีการเสนอ ไปเฝ้าอยู่เกือบเดือน เพราะทราบมาว่าอยู่ในอันดับที่ 18 – 19 ใกล้เข้ามาแล้ว เมื่อไหร่รัฐบาลจะรับ แต่มันก็มีกฎหมายใหม่เข้ามา ผลสุดท้ายก็อย่างที่เห็น รัฐบาลที่เราตั้งความหวังไว้ว่าจะรับร่างภาคประชาชน ซึ่งเราเป็นคนไปให้ข้อมูลว่ามีความจำเป็นยังไงที่ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมทั้งฉบับ พอเราไปชี้แจงแล้วในมติของที่ประชุมเห็นชัดเจนเลยว่ามีการชูนิ้วให้กัน เป็นสัญญาณที่ชัดเจนเลยว่า สมาชิกพรรคการเมืองเองก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของภาคประชาชนอย่างแท้จริง คือเขาฟังมติพรรค ก่อนกฎหมายทุกฉบับจะเข้า พรรคต้องมีการคุยกันก่อนว่ากฎหมายไหนที่จะมีการรับรองเพื่อผ่านสภา กฎหมายไหนที่จะไม่รับรอง ไม่ให้เข้าสภา
พรรคมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คือต้องเคารพพรรค จะไม่มีการแตกจากกันเลย จำได้ว่าในสมัยนั้นมีคนที่เห็นด้วยกับเรา 5 หรือ 7 คน ที่อยู่ในพรรครัฐบาล นอกนั้นไม่เห็นด้วยเลย… ทำให้ภาคประชาชนและสายแรงงานเสียใจมาก ในฐานะที่รัฐบาลมาจากเสียงภาคประชาชนแล้วกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2550 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 บางมาตราก็ดีกว่าปี 40 มันมีความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ภาคประชาชนเสนอกฎหมายและภาคประชาชน 1 ใน 3 ต้องไปเป็นกรรมาธิการในการพิจารณาร่างในชั้นวาระที่รับร่างไปแล้ว เช่น มีคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง 36 คน ผู้ใช้แรงงานก็ต้องได้ 1 ใน 3 เหมือนกัน
“รัฐบาลที่เราตั้งความหวังไว้ว่าจะรับร่างภาคประชาชน ซึ่งเราเป็นคนไปให้ข้อมูลว่ามีความจำเป็นยังไงที่ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมทั้งฉบับ พอเราไปชี้แจงแล้วในมติของที่ประชุมเห็นชัดเจนเลยว่ามีการชูนิ้วให้กัน เป็นสัญญาณที่ชัดเจนเลยว่า สมาชิกพรรคการเมืองเองก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของภาคประชาชนอย่างแท้จริง”
ในฐานะที่ทำงานด้านแรงงานมาตลอด ขอความรู้หน่อยว่าจริงๆ แล้วคนต่างจังหวัดอยากมาทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ ไหม
มันมีความต่างกันอยู่ เช่น คนทางภาคใต้จะมาทำงานในโรงงานน้อย เพราะว่าเขามีความรู้ การศึกษาที่แตกต่างกันไปทำให้บริบทความรู้ของเขามากขึ้น อีกอย่าง ทางใต้เขามีสวน มีพื้นที่ทำอยู่ทำกินสมบูรณ์ มีพื้นที่ทำเกษตร ทำสวนยางเยอะ ถ้าในโรงงานเราแทบบอกได้เลยว่ามีคนงานจากทางใต้ไม่มากนัก คนทางเหนือก็ไม่เยอะ เพราะคนทางเหนือก็ชอบงานอีกแบบ อาจเป็นงานบริการ และทางภาคเหนือก็ยังมีพื้นที่ทางการเกษตรเยอะอยู่ ซึ่งแตกต่างกับภาคอีสาน
สำคัญสุดคือเรื่องการศึกษา คนรุ่นเราแทบไม่ได้เรียนกันเลย รุ่นหลังอาจเรียนกันมากขึ้น แต่มันยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินที่จะส่งลูก การศึกษาฟรีมันไม่ได้ฟรีทั้งหมด อย่าลืมว่าหนังสือหนังหาก็เป็นภาระของครอบครัวเยอะมาก… โรงงานขณะนี้อย่างต่ำก็ต้องจบ ม. 3 ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นแรงงานแบบเข้มข้น ไม่ได้ใช้วุฒิการศึกษา อาจอยู่ในระดับตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งจริงๆ เขาก็รับ ม. 6 นะ ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน
แสดงว่าเราต้องปฏิรูปเรื่องที่ดิน เรื่องการศึกษากันใหม่
ถ้ามองรวมๆ ในขณะนี้ ท่านนายกฯ ก็บอกจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม มีการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส และให้พี่น้องได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อันนี้ก็แก้กันไป ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องการศึกษาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ จะทำยังไงให้คนยากคนจนมีโอกาสได้เรียนฟรีถึงปริญญาตรี เด็กเก่งๆ ที่เป็นลูกคนยากคนจนเขาอยากเรียน แต่ไม่มีทุนเรียน การไปกู้เงินเรียนใช่ว่าอยู่ๆ เขาจะให้ ต้องมีการมาดูบ้าน ดูที่ดินว่ามีเท่าไหร่ ต้องมีคนค้ำประกัน ภายใน 15 ปีต้องส่งทุนคืน คนจนจริงๆ ต้องมีโอกาสให้เขา ไม่ได้หมายถึงว่าเรียนฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงินนะ คือต้องให้โอกาสเขากู้ ถึงเวลาก็เอาเงินมาคืนเพื่อให้น้องๆ ได้ใช้ต่อ
ต้องทำอย่างไรให้คนกลับบ้านเกิดหรืออยู่ที่บ้านเกิด โดยไม่ต้องมากระจุกกันในกรุงเทพฯ
เวลาเราพูดถึง 300 บาท ก็กลับไปสร้างโรงงานแถวบ้าน จะได้ไม่ต้องมาอยู่ที่นี่ แต่กลายเป็นว่าไปสร้างโรงงานแถวบ้านแล้วบางโรงงานก็ไม่ได้จ่าย 300 บาท กฎหมาย กระบวนการ กลไก ก็ไม่สามารถบังคับให้จ่ายได้ เขาก็ไม่อยากอยู่ มันต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่เราเห็นด้วยว่ากระบวนการแก้ไขก็คือการศึกษาฟรี การรักษาพยาบาล เรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ให้คนยากคนจนได้มีจริงๆ เขาจะสามารถจัดสรรปันส่วนที่ดินที่คนรวยมีอยู่เยอะๆ ให้เกิดความเป็นธรรมได้ยังไง สำหรับคนไม่มีที่มีทาง หรือคนที่มีอยู่แล้ว ทำยังไงจะไม่ถูกไล่ที่ ไม่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกทั้งที่อยู่มา 20 – 30 ปี ไม่ถูกดำเนินคดีเหมือนกับที่เราได้ยินข่าว
เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากทำเกษตรหรือเปล่า
มันขึ้นอยู่กับการเรียนการสอน การให้ความรู้ อย่างน้อยเรามีที่ทางที่เรารักษาไว้ ไม่อยากทำเกษตรก็เอาไปขายไม่ได้นะ ต้องเก็บเอาไว้เผื่อลูกเผื่อหลาน ต่อให้ไม่มีที่ทำกิน เราก็ต้องมีบ้านอยู่ อย่างน้อยมีที่ไว้ปลูกผัก ทำนาของเราบ้าง ไม่ทำนาแล้วเราซื้อข้าวกินเหรอ ในอนาคตข้าวยิ่งแพง เราทำยังไงล่ะ ผักก็แพง เราไม่คิดอยากปลูกผักกินเหรอ เห็นด้วยนะกับเศรษฐกิจพอเพียง หรือเศรษฐกิจที่ทำให้อยู่ได้
โดยส่วนตัวอยากจะกลับไปอยู่บ้าน บ้านอยู่หน้าเขื่อนด้วย ไปปลูกผัก เลี้ยงไก่ที่บ้าน หรือลูกหลานคนไหนไม่เรียนหนังสือเราก็บอกว่าถ้าไม่เรียน ก็ต้องทำนา ทำสวนนะ เพราะถ้าไม่เรียน แล้วยังขี้เกียจทำงานด้วย จะเอาที่ไหนล่ะเงิน มันต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่ การศึกษา กระบวนการในการให้ความรู้ด้วย มีหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง
เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน
ไม่นานหรอก กลับแน่นอน ตอนนี้เห็นคนเริ่มจะกลับบ้านกัน กลับไปคิดต่อยอดจากสิ่งที่เรามี ว่าเราจะอยู่รอดได้ยังไง เหมือนกับการคิดว่าถ้าเรามีทุนเราจะไปทำอะไร เช่น เราจะไปทำสวนอะไรดีที่ขายได้ ปลูกหน่อไม้ ขายไข่เป็ด ปลูกผักด้วย มันก็อยู่ได้ กลับไปพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ต้องไปคิดว่าคุณจะปลูกอะไรที่ทำให้อยู่ได้