เนินมะปราง เป็นชื่อของอำเภอหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศประมาณร้อยละ 45 เป็นภูเขาหินปูนอายุกว่า 300 ล้านปี และมีถ้ำอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญคือมีการปลูกมะม่วงเพื่อส่งออกพื้นที่ใหญ่ของประเทศ มีลำไยคุณภาพ และยังคงรักษาความหลากหลายของวัฒนธรรมของคนที่อพยพมาจากที่ต่างๆ ผ่านภาษา อาหารที่เป็นเอกลักษณ์
วันนี้ชาวเนินมะปรางได้มาพูดคุยกันเพื่อกำหนดอนาคตตนเอง ค้นหาภาพฝันการท่องเที่ยวเนินมะปราง ในงานปั่นเพื่อเนินมะปราง “โอบกอด ขุนเขา สัมผัสไออุ่น ท่องเที่ยวชุมชน คนเนินมะปราง” ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 ณ แลนด์มาร์คบ้านมุง หน้าวัดบ้านมุงที่มีฝูงค้างคาวหน้าย่นบินออกจากถ้ำทุกเย็นเป็นไฮไลท์สำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
ภาพ : ผู้คนเผ้ารอชมฝูงค้างคาวออกจากถ้ำ และการพูดคุยถึงอนาคตเนินมะปราง (ขอบคุณภาพวงเสวนาจาก Soikaww Comemarlar)
ภาพ : สวนมะม่วง และค้างคาวบินออกหากิน
คุณลักขณา ศรีหงส์ ผู้ประสานงานโครงการเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในเขตเมือง แสดงความเห็นว่าส่วนตัวเป็นคนชอบเที่ยว โดยเฉพาะภูเขาได้มาเจอเนินมะปรางรู้สึกว่าสวยงามมาก เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ประทับใจ ซึ่งประสบการณ์ทำงานของเชียงใหม่เขียว สวย หอม เน้นงานด้านการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ การจัดการพื้นที่สีเขียวโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ เรื่องสิ่งแวดล้อมในเมือง ผักและพื้นที่เกษตรเมือง โดยพบว่าเชียงใหม่มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เฉพาะสี่เหลื่ยมคูเมืองเชียงใหม่มีต้นไม้ใหญ่กว่า 300ต้น อีกทั้งเมืองยังมีต้นทุนด้านประวัติศาาตร์ แต่ละหมู่บ้านที่เรื่องราวหลากหลายมาก มีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้นทุน เราใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดรายได้ แต่ความท้าทายที่พบ คือ เชียงใหม่มีเมกโปรเจคที่จะพัฒนาพื้นที่เชิงดอยสุเทพ เพื่อสร้างรายได้ ใช้งบสูง จึงร่วมกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะรักษาทุนทางธรรมชาติ จึงนำเสน่ห์เล็กๆในชุมชนมาพัฒนา พร้อมๆกับการรักษา เอาไว้ จึงใช้การเดิน จักรยาน รถราง ทำให้เกิดเส้นทางการสัญจรในพื้นที่เมืองเพื่อเข้าไปเรียนรู้วิถี ประวัติศาตร์ชุมชมต่างๆ ใช้ ชื่อ โครงการว่าโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาตร์ เขียวชมเมือง สิ่งที่สำคัญที่ทำให้เดินไปข้างหน้าได้ คือ เครือข่ายและ กัลยาณมิตรที่ได้ช่วยกันเผยแพร่ สนับสนุนการทำงานมาตลอด ส่วนข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านมุงนั้นเป็นเรื่อง การพัฒนาทักษะด้านการท่องเที่ยว เช่น อาหาร เส้นทางท่องเที่ยว แผนที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวในชุมชนได้เอง และการจัดการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งที่ได้มาเห็นพบว่าหลายอย่างดีอยู่แล้ว เช่น การจัดการขยะให้รักษาสิ่งแวดล้อม
ภาพ : ปั่นจักรยานตามเส้นทางการท่องเที่ยว อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
คุณมะลิ ทองคำปลิว ตัวแทนคนเนินมะปราง ได้กล่าวว่า เรามีทรัพยากรที่มีคุณค่า มีภูเขาหินที่สวยที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง สิ่งที่ยังคงอยู่คือวิถีความเป็นเนินมะปราง มีผลไม้นานาชนิด เช่น ทุเรียนหลงรักไทย ลำไยที่ชนะการประกวด มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก เราจะเรียงสิ่งเหล่านี้ที่มีอยู่แล้วจัดเรื่องการท่องเที่ยวอย่างไร สิ่งที่เป็นห่วง คือ เราต้องคงความเป็นบ้านมุงไว้ให้ได้ มีค้างคาวให้ดู มีวิธีที่เป็นแบบนี้ ความเจริญมาเร็วมา มากับทุน สื่อ เราต้องเท่าทัน คงความเป็นบ้านมุง อนุรักษ์วัฒนธรรมของเราไว้ให้นานเท่านาน
ภาพ : มะม่วงฟ้าลั่นส่งออกไปเวียดนาม
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ จากสถาบันสิทธิและสันติศึกษาได้กล่าวว่าวันนี้เราได้รับสิ่งดีงาม ความสุขจากสองข้างทาง ปลอดภัยจากการปั่นจักรยานในเนินมะปราง ผมปั่นจักรยานมาหลายที่แล้วเห็นว่าที่นี่มีศักยภาพมาก โดยเฉพาะด้านทรัพยากร สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี คือ ในแต่ละแห่งมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น ภูเขาที่บ้านมุงต่างกับที่น่าน ต่างกับที่ญี่ปุ่น แต่ทำไมคนไทยจำนวนมาแห่ไปดูภูเขาในต่างประเทศ ทั้งที่เมืองไทยมีทรัพยากรที่สมบูรณ์สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ตนคิดว่าเพราะเราไม่สามารถนำมาสร้างเอกลักษณ์ให้สมบูรณ์ โดดเด่นในระดับสากล
“ผมเรียนที่ญี่ปุ่นเห็นว่ามีจัดการทุกเมืองให้เป็นแหล่ท่องเที่ยวได้หมด คนกระจายไปเที่ยวในทุกที่ บางแห่งเพียงเดินทางไปซื้อขนม ไปซื้อน้ำแร่บริสุทธิ์ ไปวัดเพื่อดูต้นไม้อายุสองสามร้อยปี ก็เพราะพื้นที่เขารักษาสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แล้วมาแปรเป็นด้านการท่องเที่ยว”
ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่าสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องทรัพยากร คือ1.คน การต้อนรับที่เป็นมิตร 2.ความปลอดภัย ไร้อาชญากรรม เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะมองระดับสูงมาก เพราะ ในหลายประเทศมีประกาศเตือนนักท่องเที่ยวหากประเทศนั้นไม่ปลอดภัย 3.อาหาร ไทยเรามีอาหารท้องถิ่นที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ 4.วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเห็นมาอยู่ในหมู่บ้าน โดยชุมชนจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึง ดูแลจัดการได้เอง หากยกการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำงานเรื่องการจัดการตนเอง จัดการด้านทรัพยากรท่องเที่ยว และอยากเห็นสิทธิของชุมชน ที่จะอยู่ในความดูแลของท้องถิ่นถ้าทำสำเร็จภาพฝันด้านการท่องเทียวจะประสบความสำเร็จ
ภาพ : กิจกรรมปั่นเพื่อเนินมะปราง
นายพิทักษ์ สายทองดี ผู้ใหญ่บ้านมุง ได้กล่าวว่าในส่วนตัวตนได้คิดมานานเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่เกิดเพราะเมื่อก่อตนข้อมูล สื่อต่างๆไม่ทั่วถึง แต่ปัจจุบันได้มีการเผยแพร่ มีกิจกรรมให้คนสามารถเข้ามาร่วมได้ และมองว่าในอนาคตเรื่องการท่องเที่ยวก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัย อยากจะฝากผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำในด้านการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมให้ชุมชนด้วย
นายพิษณุชัย ทรงพุฒิ ผู้ก่อตั้งเพจที่นี่เนินมะปราง พิษณุโลก ได้กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นมือเล็กๆที่ช่วยสร้างสรค์ ให้คนรู้จักเนินมะปราง เราสามารถทำได้ เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เห็นที่นักท่องเที่ยวเข้ามา เรื่อยๆ ตนเริ่มสื่อสารเรื่องเนินมะปราง เนื่องจากหลังจากเรียนจบ กลับมาบ้านของตนเองเห็นศักยภาพของพื้นที่มากมาย ขาดเพียงการประชาสัมพันธ์ชุมชน จึงเริ่มต้นและประสานความร่วมมือเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดอนาคตเนินมะปรางด้วยกัน
ภาพ : ถ้ำผาท่าพล (ขอบคุณภาพจากคุณพิษณุชัย ทรงพุฒิ) และ ภูเขาหินปูนในพื้นที่เกษตรกรรม