14 มี.ค. 2559 โครงการเฝ้าระวังการพัฒนาแม่น้ำโขง (Mekong Watch) และชาวบ้านลุ่มน้ำโขง เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก ดังนี้
Thai
http://www.mekongwatch.org/platform/suggestions/20160314_thai.pdf
English
http://www.mekongwatch.org/platform/suggestions/20160314_english.pdf
Khmer
http://www.mekongwatch.org/platform/suggestions/20160314_thai.pdf
ภาพ: เขื่อนแม่น้ำโขงในจีน ที่มา: http://www.mymekong.org/mymekong/?p=585
INTERNATIONAL DAY OF ACTION FOR RIVERS แม่น้ำโขงซึ่งจุนเจือชีวิตนับล้านกำลังสูญเสียระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์เนื่องจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา พวกเราอันประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ และนักวิจัยซึ่งมีความห่วงใยต่อประเด็นดังกล่าว ต้องการทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศผู้บริจาค และประชาชนผู้อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ร้อยละ 80 ของประชากรราว 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท พวกเขาพึ่งพาการเกษตร การประมง การจับสัตว์น้ำอื่น ๆ และการเก็บพืชผักเพื่อการดำรงชีวิต ปลาจากแม่น้ำโขงมีความหมายอย่างมากต่อผู้คนในภูมิภาค เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญที่ราคาย่อมเยา และปลายังเป็นแหล่งรายได้หลักด้วย ประเมินกันว่าการประมงในลุ่มแม่น้ำโขงสร้างรายได้ประมาณ 4.2 – 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยอิงตามราคาขายปลีก กล่าวกันว่าประชากรราว 40 ล้านคน รวมถึงคนที่ทำงานเป็นบางช่วง และคนที่ทำงานตามฤดูกาลล้วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจับปลาในแม่น้ำโขง ทุกวันนี้ แม่น้ำโขงเผชิญภาวะหมิ่นเหม่ต่อวิกฤตการณ์อันหนักหน่วง ในประเทศจีน เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดมหึมาจำนวน 6 เขื่อนได้เริ่มเดินเครื่องทำงานในแม่น้ำโขงตอนบนแล้ว ในลุ่มน้ำโขงส่วนอื่นยังมีเขื่อนตั้งอยู่บนแม่น้ำสายต่าง ๆ ดังนี้ แม่น้ำสาขา 6 สายในประเทศลาว และแม่น้ำชีในประเทศไทย แม่น้ำเซกอง สเรปอก และเซซานซึ่งไหลมาจากประเทศเวียดนามและลาวลงสู่ประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ ลาวยังเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮงบนแม่น้ำโขงสายหลักอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า เขื่อนเหล่านี้ โดยเฉพาะเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ทั้งคู่ จะสร้างภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อทรัพยากรปลาที่กำลังลดลงในลุ่มแม่น้ำโขง ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง ทั้งนี้ เมื่อกระแสน้ำธรรมชาติถูกกีดขวางด้วยเขื่อน ดินโคลนอันอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถพัดพาลงไปสู่แม่น้ำตอนล่างได้ การสะสมของตะกอนดินยังทำให้คุณภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำตกต่ำ ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาตะกอนดินที่ถูกพัดพาไปสู่ปากแม่น้ำโขงลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนยังเป็นอุปสรรคต่อวงจรการผสมพันธุ์ของปลา ทำลายแหล่งที่อาศัยและแหล่งอาหาร ทำให้ทรัพยากรปลาลดลงอย่างน่าเป็นห่วง สำหรับปลาหลายสายพันธุ์ในแม่น้ำโขง ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติในช่วงหน้าฝนเป็นการส่งสัญญาณให้ผสมพันธุ์ การปล่อยน้ำของเขื่อนทำให้สัญญานนั้นสูญหายไป การผสมพันธุ์ของปลาจึงถูกรบกวน อีกทั้งระดับน้ำที่แปรปรวนผิดจากธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ ทำให้จำนวนพืชพันธุ์และแมลงในน้ำซึ่งเป็นอาหารของปลาลดจำนวนลง ผู้คนได้รับผลกระทบอย่างสาหัสเช่นกัน เขื่อนทำลายแปลงพืชผักริมน้ำและที่ปากแม่น้ำซึ่งชุมชนท้องถิ่นทำกันมาหลายชั่วคน และเนื่องจากทรัพยากรปลาเพื่อการบริโภคภายในครอบครัวและเพื่อการค้าขายลดจำนวนลง ชุมชนประมงจึงกลายเป็นคนยากจนหรือแม้แต่ล่มสลายในบางกรณี ความเสียหายและการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเป็นเห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับผู้คนจำนวนมากในชุมชนท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำโขง ประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่น: -แม่น้ำไม่ได้ให้เพียงน้ำเพื่อการใช้สอย แต่ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร -หลังจากการสร้างเขื่อนทำให้จำนวนปลาลดลง แหล่งธรรมชาติที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาลดลง การจับปลาทำได้ลำบาก พันธุ์พืชสูญพันธุ์ -วัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำกำลังสูญหาย เด็ก ๆ จึงขาดโอกาสในแสดงความเคารพต่อแม่น้ำ -งานประเพณีที่ต้องใช้พื้นที่ของแม่น้ำในการบูชาต้องสูญเสียไปเนื่องการการสร้างเขื่อน -แม่น้ำโขงเป็นของทุกคน ประชาชนทั้งหมดเป็นเจ้าของแม่น้ำโขงร่วมกัน แม่น้ำโขงไม่ใช่เพียง สำหรับคนที่อยู่ใกล้ หรือเกษตรกร แต่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน -น้ำ ข้าว ปลา อาหารตามธรรมชาติ คือสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้ในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนซึ่งส่งผลเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพยังคงดำเนินต่อไป ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักมีถึง 10 เขื่อน และอีก 100 เขื่อนบนแม่น้ำสาขา แผนการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หากสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป มนุษย์ไม่อาจจะทำอะไรได้อีกเลยเพื่อให้ชีวิตที่สูญพันธุ์ไปคืนกลับมา ตรงกันข้าม กระแสไฟฟ้าสามารถผลิตได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น ด้วยลม และแสงแดด อย่างไรก็ตามการทำลายแม่น้ำกลับได้รับการยอมรับด้วยเหตุผลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ผลกำไรตกสู่มือของของผู้ลงทุนในโครงการเพียงไม่กี่ราย ในขณะที่ภาระการลงทุนเกินความจำเป็นกลับตกเป็นของประชาชนทั่วไปซึ่งถูกบังคับให้ซื้อไฟฟ้าด้วยราคาที่สูง สิ่งที่จะตกไปถึงชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่การสร้างเขื่อน หากไม่ได้มีเพียงการสูญเสีย ก็เป็นเพียงผลประโยชน์อันน้อยนิด พวกเราอันประกอบด้วยชุมชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง และประชาชนผู้ห่วงใย ผู้ซึ่งปรารถนาที่จะปกป้องชีวิตของชุมชนในลุ่มน้ำยังคงไม่ล้มเลิกความหวัง เพื่อตัวพวกเราเอง และผู้คนในรุ่นต่อไป เรามีข้อเสนอแนะ ดังนี้ ถึงรัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำโขง -ขอให้ทบทวนและเปิดเผยต่อสาธารณชนถึงผลกระทบโดยรวมของการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงที่สะสมในระยะยาว ให้จัดการอภิปรายอย่างเปิดเผยถึงอนาคตของภูมิภาคแม่น้ำโขง และแปลงผลการพูดคุยให้เป็นนโยบาย -ขอให้ทบทวนการประเมินแผนการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก และแม่น้ำสาขาที่สำคัญ รื้อถอนเขื่อนหากจำเป็นเพื่อสวัสดิภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมในลุ่มแม่น้ำโขง -ขอให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนเซซานตอนล่าง2 -ให้การชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากโครงการเขื่อนที่มีอยู่ ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อการฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ถึงประเทศผู้บริจาคและองค์กรระหว่างประเทศ -ขอให้ทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือในกรอบการตัดสินใจอื่น ๆ ในการจัดการลุ่มแม่น้ำโขง -ขอให้หยุดสร้างความชอบธรรม หรือสนับสนุนการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วยการให้เหตุผลว่าเขื่อนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่ต่ำ และหันมาส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงิน สำหรับวิธีใหม่ๆ ในการสร้างโครงข่ายและระบบการผลิตไฟฟ้าที่มีการกระจายตัว แทนที่โครงข่ายที่เชื่อมต่อทั้งภูมิภาค -ให้การสนับสนุนด้านการเงินต่อความพยายามในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมที่ถูกทำลายจากโครงการพัฒนาซึ่งประเทศผู้บริจาคให้การสนับสนุนในอดีต -แทนที่จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของบรรษัทขนาดใหญ่ในประเทศของผู้บริจาค ขอให้หันมาส่งเสริมและให้การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกและความมั่นคงของภูมิภาค -โดยเฉพาะประเทศผู้บริจาคที่เริ่มมีบทบาทในการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาเขื่อนนอกประเทศของตน ขอให้ทบทวนโครงการโดยใช้มาตรฐานที่สูงในการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จงสะท้อนบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตของธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และหน่วยงาน และรัฐบาลที่ให้เงินบริจาคอื่น ๆ ถึงชุมชนท้องถิ่นในลุ่มน้ำ -หากสิ่งแวดล้อมถูกทำลายเนื่องจากโครงการของรัฐหรือหน่วยงานพัฒนาอื่น ๆ จงร่วมมือกับชุมชนอื่น ๆ และเรียกร้องการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการฟื้นฟู -แทนที่จะนึกถึงความสะดวกสบายชั่วครั้งชั่วคราว หรือประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ขอให้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดิน และแม่น้ำ โดยพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยรวม ยกตัวอย่าง เช่น งดการจับปลาที่ทำลายล้าง เช่น การระเบิด หลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป เช่น การตัดไม้มากเกินไป และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อสร้างถนนหรือทางน้ำในหมู่บ้าน โดยคำนึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ -ขอให้รวบรวมภูมิปัญญาและความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เรียนรู้แง่มุมทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย ริเริ่มแผนการพัฒนาในพื้นที่ของตน โดยสร้างความสมดุลระหว่างทัศนะของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสม ถึงนักวิจัยและสื่อต่าง ๆ -สำหรับนักวิจัย ขอให้ศึกษาลงลึกเพื่อให้เกิดความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของลุ่มแม่น้ำโขง และใช้ข้อค้นพบเพื่อประโยชน์ของสังคม สำหรับสื่อต่าง ๆ ขอให้สื่อสารกับพลเมืองเกี่ยวกับข้อค้นพบด้วยวิธีการที่เข้าใจง่ายสำหรับสาธารณชน แม่น้ำโขงคือคลังสมบัติของความหลากหลายทางชีวภาพ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อผลประโยชน์ของผู้คนทั่วโลก เราจะเดินหน้าทำงานต่อไปเพื่อให้ข้อเสนอแนะที่กล่าวมากลายเป็นความจริงในชุมชน ในประเทศ และภูมิภาคของเรา เราหวังว่าเสียงของเราจะถูกรับฟัง ลงนาม Cambodia Japan Korea Thailand |