บทความโดย : กฤษฎา บุญชัย
เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 เวลา 11:24 น.
หลังจากกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเดินทางกลับจากการเจรจากับรัฐเรียกร้องสิทธิชุมชนในการหวนกลับไปทำไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน ถิ่นฐานบรรพชน จนได้ทำบันทึกข้อตกลงทั้งการยุติการใช้ความรุนแรง การยินยอมให้ชาวบ้านที่สมัครใจกลับไปทำไร่หมุนเวียน ไม่จับกุมดำเนินคดี ฯลฯ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ยังไม่ทันที่ชาวบ้านจะกลับถึงบางกลอย เค้าลางโต้กลับของรัฐในลักษณะ “ชกใต้เข้มขัด” ก็เริ่มเกิดขึ้น ตั้งแต่การตั้งด่านสกัดตรวจสอบชาวบ้านเข้าพื้นที่อย่างเข้มข้น
พร้อมกับปลุกระดมกลุ่มคนเมืองจัดตั้งในจังหวัดเพชรบุรี ให้ออกมาแสดงความไม่พอใจ และเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการรับรองสิทธิของกลุ่มกะเหรี่ยง ด้วยการชูคำรณรงค์ “Save แก่งกระจาน” เพื่อมาต่อต้าน “Save บางกลอย”
การสร้างกลุ่มต่อต้านมวลชนเป็นยุทธวิธีหลักที่รัฐมักนำมาใช้ เพื่อทำให้เห็นว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านไม่ใช่ความเห็นพ้องของสังคม
โดยใช้กลไกอุดมการณ์ของรัฐ จากแนวคิด ความเชื่อที่รัฐปลูกฝังมานานจนกลายเป็นกระแสหลัก ซึ่งในที่นี้คือ “ป่าอนุรักษ์ปลอดคน” “ป่าต้นน้ำ” ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนเมืองในเรื่องภาวะภัยแล้ง และการเอาเขตมรดกโลกมาเป็นหน้าตาของคนในจังหวัด พร้อมไปเชื่อมผลประโยชน์กับกลุ่มจัดตั้ง เพียงเท่านั้นม็อบหนุนรัฐคัดค้านชุมชนก็เกิดขึ้นได้แล้ว
ทำให้รัฐเปลี่ยนตนเองในฐานะคู่ขัดแย้งที่เป็น “จำเลย” ให้กลายเป็นกรรมการกลางที่กำลังทำหน้าที่เพื่อ “ส่วนรวม”
วิธีการปลุกม็อบต้าน ถูกใช้บ่อยตั้งแต่การคัดค้านการผลักดันร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่รับรองสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ คัดค้านการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ โดยอาศัยพลังความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ กลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นและระดับชาติ และแนวร่วมทางอุดมการณ์
รัฐได้เปลี่ยน “โจทก์” ให้เป็น “จำเลย” โดยใช้เทคโนโลยีข่าวสาร
คล้อยหลังการชุมนุมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเพียง 1 วัน ยังไม่ทันที่กลุ่มที่ไปชุมนุมจะกลับถึงบ้าน ข่าวการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ที่มีวัตถุต้องสงสัยเป็นดินประสิว ลูกตะกั่วก็แพร่สะพัด แม้การจับกุมดังกล่าวเป็นคนละกลุ่ม คนละช่วงเวลา ไม่ใช่กลุ่มชาวบางกลอยที่ไปเรียกร้อง
รัฐยังเผยแพร่ภาพเขาหัวโล้นในพื้นที่บางกลอยบนใจแผ่นดิน โดยอ้างว่า นี่คือการบุกรุกทำลายป่าของกะเหรี่ยงบางกลอย แม้ว่าชาวบ้านจะยืนยันมานานแล้วว่า นั่นคือไร่หมุนเวียน ในพื้นที่ไร่เก่าที่ชาวบ้านเคยทำกินและปล่อยทิ้งให้พักฟื้นเพื่อรอกลับมาทำไร่อีกรอบ
นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการรุกทางกฎหมาย ด้วยการแจ้งความกับแกนนำชาวบ้านที่เคยชนะคดีศาลปกครองที่ตัดสินให้การรับรองสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย รัฐยังได้ปฏิบัติการข่มขวัญคนในพื้นที่ ทั้งการตัดสัญญาณโทรศัพท์ การใช้เฮลิคอปเตอร์ขนกำลังเจ้าหน้าที่ราวกับจะไปจับกุมผู้ก่อการร้าย
ปฏิบัติการของรัฐทั้งหมดนี้บอกได้เลยว่า รัฐได้ฉีกข้อตกลงที่ทำกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยแล้ว นับเป็นข้อตกลงที่อายุสั้นที่สุดเพียงไม่เกิน 5 วัน
ฉากทัศน์ของการปลุกมวลชนจัดตั้ง การโจมตีทางสื่อ การใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ากดดัน การใช้มาตรการทางกฎหมายใส่ร้ายป้ายสี กำลังบ่งบอกว่า รัฐพร้อมแล้วที่จะใช้กลไกความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งกลไกปราบปราบ และกลไกอุดมการณ์
บทเรียนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เผชิญกับการใช้อำนาจรัฐเต็มรูปบ่งบอกว่า พื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ที่การสร้างความเข้าใจและความชอบธรรมต่อสาธารณะเพื่อไปกดดันการ “ชกใต้เข็มขัด” ของรัฐให้กลับมาอยู่ในกติกา
ดังตัวอย่างเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ที่เอาชนะการใช้อำนาจรัฐและกลุ่มจัดตั้งได้ ด้วยการทำให้ประเด็นผลกระทบสารเคมีร้ายแรงเป็นประเด็นร่วมของสังคม สร้างภาคีต่าง ๆ ที่ห่วงใยมิติสุขภาพเข้ามาร่วมขับเคลื่อนอย่างหลากหลาย อิสระแต่เชื่อมโยง มีกลไกวิชาการที่เข้มแข็ง มีการรุกทางยุทธศาสตร์ด้วยการตรวจสารเคมีในพืชผักอาหาร มีเครือข่ายขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น ที่ติดตามตรวจสอบนโยบายและสร้างความตื่นตัวในท้องถิ่น และสร้างรูปธรรมระบบผลิตอาหารทางเลือกเพื่อเป็นต้นแบบปฏิบัติการและนโยบายให้เป็นจริง
ปัญหาความรุนแรงจากรัฐที่คนกะเหรี่ยงบางกลอยเผชิญเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าที่ชาวบ้านจะสู้โดยลำพัง
ถึงเวลาที่ภาคประชาสังคม ภาคี #saveบางกลอย ควร “สนธิกำลัง” อย่างเร่งด่วนเพื่อคืนสิทธิชุมชนและปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจัดการป่าให้เป็นประชาธิปไตยให้จงได้