ผลิตภัณฑ์กาบหมากเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นท่ามกลางกระแสรักษ์โลก ในกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีกลุ่มผู้ประกอบการจากชุมชนรวมอยู่ด้วย ซึ่งเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายกว่า 14 เครือข่ายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศภายใต้ชื่อ “เครือข่ายผลิตภาชนะจากกาบหมากท่าดีหมีโมเดล” เรามีโอกาสได้คุยกับพี่หญิง จิตรา ผดุงศักดิ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเครือข่าย ชวนไปทำความรู้จักกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้กันกับพี่หญิง
“เทรนด์โลก” เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
คิดว่ามีผลต่อผลิตภัณฑ์เราอย่างมาก เพราะว่าตอนที่เราจัดตั้งท่าดีหมีขึ้นมาเราคิดเพียงแค่ว่าใช้ในจังหวัดเลยหรือจังหวัดใกล้เคียงแล้วก็เป็นโมเดลเล็ก ๆ แบบชุมชน แต่ปรากฏการณ์ของกระแสรักษ์โลกมันรวดเร็วมาก คือผู้คนมีความตื่นตัวอย่างที่เราคิดไม่ถึงจนสุดท้ายเราคุยกันแล้วเรามาตกผลึกที่ 14 จังหวัด ใน 2 ปี ตกผลึกคืออุดมการณ์เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน ทุกคนที่ลงธุรกิจตรงนี้ ไม่ได้ต้องการที่จะร่ำรวยเป็นเศรษฐีฉับพลันจากการขายจาน ไม่ใช่เลยเราต้องการประคองตัวเองอยู่ได้มีกำไรพอเลี้ยงชุมชน พอเลี้ยงครอบครัว แล้วก็เป้าหมายอย่างน้อยที่สุดช่วยสังคมตามเป้าหมายเรา
ปฏิกิริยา “โควิด”
สถานการณ์โควิดให้บทเรียนและเป็นตัวเร่งปฏิกิริยามันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะ ๆ หลบหรือไม่คำนึงถึงเรื่องธรรมชาติ ยังไงก็แล้วแต่ ยิ่งมีโรคภัยไข้เจ็บ ยิ่งมีเชื้อโรคเยอะ เรายิ่งต้องหันกลับมาดูแลสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้นไปอีก พี่เชื่อว่าจริง ๆ สถานการณ์ตรงนี้ภาชนะจากธรรมชาติไม่ต้องพูดถึงกาบหมากอย่างเดียวก็ได้ อาจจะพูดถึงใบไม้ กาบกล้วย จะค่อย ๆ เติบโตขึ้นแล้วก็การมีพันธมิตรด้วย ถ้าเราอยากให้มีการใช้อย่างนี้ทั่วประเทศหรือว่าใช้กันได้เยอะ ๆ ในราคาที่ถูกลง น่าจะมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่านี้ ทุกวันนี้ก็มีชุมชนเล็ก ๆ ทำกับเครื่องที่ผลิตในไทยบ้างอะไรบ้าง แต่พอทำไปมันไปได้ไม่ไกลพอ ตลาดอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ความฝันของเครือข่ายท่าดีหมีในฐานะที่พี่เป็นที่ปรึกษาสิ่งที่คิด ฝัน คือเมื่อไรที่เราทำให้ภาชนะกาบหมากในเครือข่ายของเราเดินไปได้ไกลแล้วก็กระจายไปทั่วประเทศเราจะพยายามดึงเครือข่ายอื่น ๆ เข้ามาเป็นพันธมิตรเราด้วย เครือข่ายที่มาเป็นพันธมิตรคือเครือข่ายผลิต เช่นอาจะเป็นหมู่บ้านนั้น ชุมชนนี้ เรามารวมกันเป็นเครือข่ายผู้ผลิตทั่วประเทศเป็นพันธมิตรทางด้านการตลาด ถ้าเราสามารถช่วยตรงนี้ได้ โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง จะทำให้การใช้ภาชนะจากธรรมชาติในประเทศเราเป็นไปได้ ผลประโยชน์มันก็ตกกับทุกคน อย่างเช่นชาวสวนกาบหมากที่เมื่อก่อนทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ย่อยสลายไปในสวน บางทีก็เผาทิ้ง กลับมีมูลค่าถึงใบละ 2 บาท ผลประโยชน์ต้นน้ำเลยคือชาวสวน มาถึงผู้ผลิตคือชุมชนเขาได้ค่าแรงงาน เขาได้ผลกำไรจากตรงนี้ แต่ที่ได้มากที่สุดก็คือได้กับสังคมอันนี้ตีมูลค่าไม่ได้เลย ล่าสุดที่เราบอกว่าช่วงโควิดพลาสติกใช้มากเพิ่มกว่า 4 เท่าตัวเรารู้กันอยู่ว่ากำจัดโฟมใช้เงินมหาศาล กำจัดยากด้วย กำจัดพลาสติกก็ใช้เงินมหาศาล แต่กาบหมากคุณไปเผาแล้วทำเป็นถ่านไบโอชาร์เอาไปเป็นปุ๋ยใส่ไว้ในสวนยังได้เลย เพราะฉะนั้นในวงจรของการผลิตภาชนะกาบหมาก หรือจากใบไม้ธรรมชาติ มันได้ประโยชน์ทุกฝ่าย มันแทบจะไม่มีข้อเสียเลย
“ปัญหามี” เราอาจท้อแต่ไม่ถอย
ความท้อใจ ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องตอนแรกก่อนที่เขาจะเริ่มทำ มันก็มีเรื่องกระแสของทุนใหญ่เข้ามา คือคนที่มีทุนเยอะ สั่งเครื่องจักรมาเป็น 5 ตัว 6 ตัว 7 ตัว แล้วก็ทำการตลาด แล้วก็ไปกว้านซื้อวัตถุดิบตัดหน้ากลุ่มชุมชนเล็ก ๆ แล้วก็ทำการตลาดคือเป็นการตลาดในรูปแบบในวงกว้าง แรก ๆ มันก็ทำให้เครือข่ายกลุ่มเล็ก ๆ ของเราที่แต่ละกลุ่มสร้างขึ้นเกิดความวิตกกังวลเหมือนกัน อย่างเช่นมีบริษัทเคยทำอะไหล่รถยนต์อยู่บริษัทนึง จู่ ๆ ก็หันมาทำเครื่องจักรทำกาบหมากแล้วก็ทำการตลาดตัวนี้ด้วยศักยภาพก็อาจจะดีกว่า มันก็ทำให้แรก ๆ กลุ่มก็วิตกกังวล แต่หลังที่เราได้พูดได้คุยกันแล้วเรารู้ว่าจริง ๆ แล้วเราอย่าไปมองภายนอกให้เรามองที่ตัวเราเองว่าเราจะพัฒนาศักยภาพของกลุ่มแต่ละกลุ่มให้มันมีศักยภาพสูงสุดได้ขนาดไหน เรามาช่วยกันทำการตลาด และก็ยืนอยู่บนขาของเราเอง ช่วยการให้กำลังใจเราทำตรงนี้เพื่ออะไร เราได้ศึกษาเรียนรู้มาว่ากาบหมากมีเยอะมาก เยอะจริง ๆ อยู่ที่ว่าเราจะไปเอาตรงไหนให้มันใกล้ที่สุด สำหรับเครือข่ายแต่ละจังหวัด เพื่อที่จะลดต้นทุนค่าขนส่งลง แค่นี้ล่ะค่ะ
“แบรนด์จากชุมชน” เติบโตตามผู้ประกอบการที่เกิดจากชุมชน
ผู้ประกอบการชุมชนเล็ก ๆ ก็มีความฝันเหมือนกัน มันก็เป็นความฝันของชุมชนเล็ก ๆ คุณก็มาร่วมกับเราได้มันต้องโตเป็นรูปแบบเครือข่าย ธุรกิจตัวนี้เดินคนเดียวยากมาก แล้วก็เหนื่อยมาก ทุกวันนี้ที่เราไปได้ถึงขนาดนี้ เพราะว่าเราไปกันนามของเครือข่าย เราไม่ทิ้งกัน เรามีอะไรเราปรึกษากัน เรามีสินค้าตัวไหนที่ ๆ เราขาด เราก็เอาของอีกเครือข่ายนึงมาเติม ตรงไหนมีกาบหมากเยอะ เราก็ช่วยส่งไปให้กัน คือเราเป็นหูเป็นตากัน เครือข่ายนี้เราเรียกว่าเครือข่ายผู้ผลิตภาชนะจากกาบหมากท่าดีหมีโมเดล เหตุที่ชื่อว่าท่าดีหมีโมเดล เพราะว่าเราเริ่มต้นมาจากที่โครงการกลุ่มผลิตภาชนะจากกาบหมากท่าดีหมี อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นจุดแรกของเครือข่ายของเราที่เกิดขึ้นที่นั่น โดยครั้งแรกที่ทำคุณชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการ จ.เลย ท่านสนับสนุนเราเพียงแค่ต้องการที่จะทำขึ้นมาเพื่อลดขยะในพื้นที่ แต่หลังจากที่โครงการนี้เกิดขึ้นมาแล้วปรากฏว่ามีประชาชนทั่วประเทศสนใจไปศึกษาไปเรียนรู้ มันก็เลยกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ในเรื่องของผลิตภัณฑ์เพื่อทำจากธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นแล้วก็มีคนอยากจะผลิตเยอะหลายจังหวัดมาก ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจ ในเรื่องของหลักการ ในเรื่องของอุปสรรคปัญหา ในเรื่องของการตลาดทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็พยายามพูดคุยกันก่อน ทำความเข้าใจกัน สิ่งที่คุณต้องเจอคืออะไร สิ่งที่คุณจะได้คืออะไรสิ่งที่สังคมจะได้คืออะไร หลังจากสิ่งที่เราคุยกัน สุดท้ายภายใน 2 ปีค่ะ มีผู้ผลิตภาชนะจากกาบหมากทั้งหมดในเครือข่ายเรา 14 จังหวัดแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่ภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เรามีครบหมดแล้ว ต้นทุนเป็นชุมชนลงทุนกันเองซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าใจแล้วก็ต้องการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เพราะฉะนั้นเขาถึงพร้อมที่จะลงทุนตรงนี้ ก็ใช้งบประมาณส่วนตัวกันเกือบทั้งนั้นเลย แต่ก่อนลงทุนก่อนทำเราคุยกันก่อนว่าทำตรงนี้ เราเดินเดี่ยวมันลำบากนะเพราะว่างานเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นงานที่ทำยาก เราตัดสินใจว่าเรามาจับกลุ่มกันเรามาเป็นเครือข่ายกัน โดยพี่ก็เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้แต่ละเครือข่าย มันก็เกิดขึ้นจากโดยท่าดีหมีโมเดล เกิดจากท่าดีหมีเชียงคาน ต่อด้วยนครพนม จันทบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี บางแสน บางละมุง เชียงราย ลำพูน แล้วก็จะไปทางใต้ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ตอนนี้มี 14 กลุ่มแล้ว
“เดินไปด้วยกันเป็นกลุ่ม”
เครือข่ายเรามี 14 จังหวัดของท่าดีหมีโมเดล แต่ว่าคนอื่น ๆ ชุมชนเล็ก ๆ ก็คือพันธมิตรของพวกเรานะคะ พันธมิตรในเชิงของอุดมคติ เชื่อว่าผู้คนที่สร้างกลุ่มเล็ก ๆ ทำภาชนะเพื่อธรรมชาติไม่มีใครคิดหรอกว่าตัวเองจะต้องร่ำรวยจากตรงนั้น ทุกคนสร้างด้วยใจ ทำด้วยใจ เพราะไม่ว่าคุณจะมีเครื่องจักรแบบโยกมืออันเล็ก ๆ หรือคุณจะมีเครื่องจักรอินเดียขนาดใหญ่ หรือคุณจะมีเครื่องจักรขนาดไหนขอให้คุณตั้งมั่นในเป้าหมายของตัวคุณเองไว้ก่อนแล้วค่อย ๆ เดิน แล้วก็อย่าเดินเดี่ยว จับมือกันเดิน งานเพื่อสิ่งแวดล้อม งานภาชนะจากธรรมชาติ กว่าเราจะให้สังคมได้ยอมรับ กว่าเราจะให้ผู้คนหันมาใช้ คำถามมีเป็นร้อย สด สะอาดไหม เอาใบไม้มาทำเหรอ แล้วมันจะแทนโฟมได้เหรอ ราคาขนาดนี้ เราก็ต้องค่อย ๆ ใจเย็น สู้ไป ตอบไปว่ามันแทนไม่ได้หรอกค่ะ ในโลกนี้มันยากที่อะไรซักอย่างนึงจะไปแทนที่สิ่งนึงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าคุณได้ก้าวเข้าไป ค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ กำจัดมันออกไป ค่อยปลูกฝังแนวความคิด ช่วยเหลือกันเช่นกลุ่มที่ด่านซ้าย คนเฒ่า คนแก่ คนพิการ โรงพยาบาลด่านซ้ายมีเครื่องเล็ก ๆ 1 ตัว แล้วไปเอาใบไม้ในชุมชนมาทำ พี่ก็สอนให้นั่งกลัดด้วยไม้ทีละอัน ๆ จากที่เราไปเรียนรู้มาจากอินเดีย จนสุดท้ายตอนนี้กลุ่มนี้แข็งแกร่ง ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลด่านซ้ายและก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ พี่คิดว่าเขาเดินไปได้ไกลด้วยกำลังใจกับด้วยความมุ่งมั่น เพราะฉะนั้นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทำเรื่องภาชนะกาบหมาก หรือใบตองตึง ใบตองใบอะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้อย่าท้อใจ คุณต้องก้าวผ่านปัญหาให้ได้ ก้าวผ่านอุปสรรคให้ได้ แล้ววันนึงคุณก็ต้องแข็งแกร่ง เราพร้อมที่จะเดินไปด้วยกัน พร้อมที่จะมาเป็นพันธมิตรกันยังไง สำคัญที่สุด ค่อย ๆ ทำค่อย ๆ คิดค่ะ