ข้อเสนอแรงงานนอกระบบต่อ ‘รัฐธรรมนูญใหม่’

ข้อเสนอแรงงานนอกระบบต่อ ‘รัฐธรรมนูญใหม่’

เครือข่ายแรงงานนอกระบบยืนยันข้อเสนอของแรงงานต่อรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป และประเด็นสิทธิแรงงาน ในข้อเสนอรัฐธรรมนูญภาคประชาชน

20162602184702.jpg

ที่มา: เว็บไซต์ voicelabour
26 ก.พ. 2559

ในช่วงของการยกร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอผ่านสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ดังนี้

1. รัฐต้องจัดให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองความเสมอภาคการจ้างงาน และกำจัดการเลือกปฏิบัติการจ้างงาน หรือความแตกต่างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างภายใต้สภาพการทำงานเดียวกัน

2. รัฐต้องประกันค่าจ้างที่เป็นธรรมสำหรับแรงงาน ให้สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียงสำหรับคนงานและครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมค่าตอบแทนการทำงานที่ยุติธรรม มีการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปรับค่าจ้างประจำปี ให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ราคาสินค้า/บริการ และอัตราเงินเฟ้อ

3. รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงมีครรภ์ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและโอกาสการจ้างงานสตรี

4. รัฐต้องคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ของแรงงานทุกกลุ่ม ทุกประเภท รวมทั้งแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

5. รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ของแรงงานทุกกลุ่ม ทุกประเภท รวมทั้งแรงงานอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการเจรจาต่อรอง ตลอดจนการจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

6. ปฏิรูประบบประกันสังคม ให้เป็นการประกันสังคมถ้วนหน้าของคนทำงานทุกคน คือ คุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกประเภท รวมทั้งแรงงานอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ และมีสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานเดียว เพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ คณะกรรมการมาจากการเลือกตั้งทางตรงของผู้ประกันตน

7. ปฏิรูปสวัสดิการสังคม เพื่อให้ประชาชนได้รับหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ดี อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา หลักประกันด้านที่อยู่อาศัย และหลักประกันในวัยสูงอายุ และหลักประกันนี้ต้องครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ แรงงานตกงาน/ถูกเลิกจ้าง และคนพิการ/ทุพพลภาพ

8. ปฏิรูประบบภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน และเพื่อให้รัฐมีงบประมาณเพียงพอในการสร้างสวัสดิการสังคม โดยการปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีหุ้น ภาษีรายได้ ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก เป็นต้น

ประเด็นสิทธิแรงงานในข้อเสนอรัฐธรรมนูญภาคประชาชน

– สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง การไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และมีค่าจ้างที่เป็นธรรม

– สิทธิทำงานในสถานประกอบการและสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัย สอดคล้องกับระบบอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประกอบการหรือโดยร่วมกับรัฐต้องชดเชย เยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการทำงาน

– สิทธิที่จะมีหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการ ทั้งในระหว่างการทำงานและเกษียณอายุทำงาน ทั้งนี้ให้มีระบบบำนาญที่สามารถทำให้แรงงานสามารถดำรงชีพได้ตลอดชีวิต

– สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน

– สิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และมีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับสภาพการจ้างงานและบริบทผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ