เราได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายกินสบายใจ และที่สำคัญถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมาก ที่เรามีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของคุณสบายใจช็อป ซึ่งเป็นช็อปที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน ปี 2562 ที่ผ่านมา วันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักและทำความเข้าใจมากขึ้นว่ากินสบายใจช็อป อันเป็นช็อปที่พวกเราให้ฉายาว่ามีความอินดี้และเหมาะกับคนนอกกรุงในยุคนี้จะเป็นอย่างไร
พี่มาร์ค หรือ ธวัชชัย นนทะสิงห์ ผู้จัดการช็อป เล่าให้ฟังว่าช็อปที่นี่เป็นของทุกคน ไม่ใช่ช็อปของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่ร้านที่จะเป็นการประกอบการเพื่อทำธุรกิจอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด หากแต่เป็นการกระจายรายได้อย่างมีความเป็นธรรมและสร้างสรรค์ให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม
“ที่นี่คือแหล่งรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร เพื่อให้มีสินค้าเข้ามาสู่ศูนย์กลางและนำไปสู่การกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค ให้ได้ใกล้ชิดและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ๆให้มากที่สุด ซึ่งการทำธุรกิจของเรา เราไม่ได้ต้องการทำเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด แต่สิ่งที่คาดหวังพร้อม ๆ กันคือการทำให้คนรู้จักเส้นทางอาหารปลอดภัย ซึ่งเรามองว่ามันจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันระหว่างกำไรหรือเงินให้กับเกษตรกรและความเข้าใจของผู้บริโภคที่รู้จักผู้ผลิตมากขึ้น”
คำพูดของพี่มาร์ค ซึ่งสะท้อนถึงความมีวิสัยทัศน์ที่มองการประกอบการแบบรอบด้าน และเข้าใจบริบทของการทำงานแบบเครือข่ายเป็นอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่การรวมเครือข่ายกินสบายใจราว ๆ ปี 2556 โดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสื่อในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และได้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนกิจกรรมของของในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงระบบการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในช่วงนั้นคำว่าเกษตรอินทรีย์ยังเป็นคำใหม่ของใครหลาย ๆ คน
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้คนในสังคมรู้จักและเข้าใจความหมายของคำนี้ให้มากที่สุด ซึ่งการที่จะทำให้คนเข้าใจความหมาย ก็ใช่ว่าจะรู้แค่จากการอ่าน ฟัง หรือดูในสื่อเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการเรียนรู้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น มูลนิธิสื่อสร้างสุขจึงคิดค้นและลงมือทำรายการ “กินสบายใจ” ซึ่งออกอากาศในช่องทีวีเคเบิ้ลท้องถิ่นในช่วงนั้น โดยรูปแบบของรายการคือการเชื่อมโยงเอาผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองเข้าไปพบเกษตรกรผู้ผลิตที่อยู่ในสวน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจวิถีชีวิต และรับรู้ว่ากว่าจะมาเป็นอาหารอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมีบนโต๊ะเกษตรกรผู้ผลิตต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นถึงความยากลำบาก และความตั้งใจที่อยากจะให้ผู้บริโภคได้กินอาหารที่ปลอดภัย
หลังจากการทำรายการในยุคนั้น จนต่อมาเครือข่ายกินสบายใจก็เติบโตและขยายรูปแบบการทำงาน พร้อม ๆ กับขยายสมาชิกขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเรียกได้ว่ามีการทำงานที่ครอบคลุมทุกห่วงโซ่สายพานการทำงาน นับตั้งแต่การผลิตพืชผักอินทรีย์ การตรวจรับรองแปลง การแปรรูป การทำการตลาด และการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือว่าเครือข่ายกินสบายใจเดินทางมาไกลกว่าเป้าหมายมาก ๆ เพราะจากเดิมที่เริ่มต้นมากับรายการทีวีท้องถิ่น แต่ปัจจุบันได้พลิกบทบาทที่เป็นเสมือนการหมุนรอบทิศ จนกลายมาเป็นการทำงานที่ครบวงจร
สิ่งที่พวกเรามองว่าเป็นเรื่องที่พิเศษมากคือการเป็น “ผู้ประกอบการ” เพราะเมื่อการทำงานมันเดินทางมาไกล สุดท้ายแล้วทุกคนก็มองถึงความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งการประกอบการคือสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเมื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตโดยมีเป้าหมายลึกๆคือการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์การสร้างระบบนิเวศที่ดี แต่สิ่งที่จะมาเป็นแรงผลักในการขับเคลื่อนต่อคือการทำการตลาด ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีให้สมาชิกเครือข่ายที่ร่วมงานเกิดความมั่นใจว่าพวกเขาต้องอยู่รอด
“การเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่แค่เรื่องกำไร แต่เป็นการทำความเข้าใจระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค”
นี่คือสิ่งที่พี่มาร์คยืนยัน ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ว่า เพราะเราได้สัมผัสด้วยตัวเองว่า การเกิดขึ้นของกินสบายใจช็อป คือการเปิดหน้าร้านเพื่อให้ผู้บริโภคซึ่งส่วนมากเป็นคนเมือง เนื่องจากช็อปนั้นตั้งใจที่จะวางอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะว่าไปก็คือโมเดิร์นเทรดที่เป็นตลาดทันสมัย ดังนั้น ที่นี่จึงเปรียบเสมือนนิทรรศการผักและอาหารอินทรีย์ของชาวอุบลราชธานีที่ทุกคนจะได้มาเรียนรู้
แน่นอน กินสบายใจช็อปไม่ได้โลกสวยหรือเพียงเพราะว่าเป็นการทำงานเพื่อโชว์ของ หากแต่เป็นการทำงานที่เอาจริง และการเอาจริงที่ว่าก็คือความต้องการเห็นผลประกอบการที่มีรูปธรรมและธุรกิจต้องอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผย เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจในเส้นทางอาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้คุณจิน หรือจินตะหลา วิรามาตย์ ตัวแทนจากห้างสรรพสินค้าสุนีย์ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาร่วมหัวจมท้ายและเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่จะว่าไปก็เหมือนเป็นลูกหลานของเกษตรกร
“เรามองว่าอาชีพเกษตรกรมันเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และรวยได้ โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่จะสามารถยกระดับราคาให้สูงขึ้นได้ ดังนั้น โอกาสที่จะก่อให้เกิดกำไรที่ดีจึงมีสูง”
คุณจินย้ำถึงหลักการตลาดว่า สิ่งที่กินสบายใจช็อปทำเป็นเรื่องที่มาถูกทางและห้างก็ยินดีร่วมมือ ซึ่งก็ต้องขอบคุณทางห้างที่ให้ช็อปใช้พื้นที่ฟรีแบบไม่คิดค่าเช่าสถานที่ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นการทำงานร่วมกันของคนในท้องถิ่นที่มองเห็นประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง
จากการทำงานมาประมาณครึ่งปีกว่า นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน ปี 2562 คราวนี้ก็มาดูผลประกอบการในช่วง 5 เดือนแรก จากจุดเริ่มที่กินสบายใจช็อปมีทุนสนับสนุนตั้งต้นโครงการกินสบายใจ เป็นเงิน 120,000 บาท ในช่วง 5 เดือนแรก มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 134,358 บาท ยอดรับซื้อสินค้า 113,592 บาท และสรุปยอดกำไรในช่วง 5 เดือนแรกอยู่ที่ 20,765บาท
โดยสรุปแล้ว ถือว่าธุรกิจนี้ยังไม่สามารถประคองตนเองได้เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายเรื่องการรับซื้อและขายแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกหลายด้าน ทั้งการจ้างค่าแรงงานที่มีถึง 4 คน และยังมีค่าวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน รวมถึงค่าตกแต่งและป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันช็อปก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งทางออนไลน์ และหน้าร้าน ที่แม้จะมีปัญหาอุปสรรคในช่วงเริ่ม แต่พี่มาร์คในฐานะผู้จัดการร้านก็ยืนยันว่า โมเดลธุรกิจนี้ต้องไปรอดและอยู่ได้แน่นอน
ในยุคปัจจุบัน การเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่น นับเป็นเรื่องที่สำคัญและเลี่ยงไม่ได้แล้ว จากเดิมที่ชาวบ้านมักคุ้นชินเฉพาะการเป็นผู้ผลิต แต่ขาดมุมมองเรื่องการตลาด เมื่อต้องก้าวเข้าสู่สนามของการประกอบการ เกษตรกรหัวใจอินทรีย์ จะทำอย่างไรให้ยังคงรักษาหลักการของการพึ่งพาตนเอง ไม่เอาเปรียบใคร และร่วมมือกันทำงานเพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้จริง นี่นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง และการดำเนินกิจการของกินสบายใจช็อปก็ถือเป็นหนึ่งโมเดลที่จะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆทั่วประเทศเห็นว่า ที่นี่มีความตั้งใจ ที่แม้วันนี้ผลประกอบการอาจยังไม่ฟู่ฟ่า แต่ก็ถือว่ามาได้ไกล เพราะมองจากทุนทางสังคมที่เครือข่ายมีการเกาะเกี่ยวกัน และทำงานอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะยืนยันให้เห็นแสงสว่างในอนาคตที่อยู่อีกไม่ไกล
#ชีวิตนออกรุง
#กินสบายใจช็อปอินดี้อินทรีย์ขึ้นห้าง
#อุบลราชธานี