5 เรื่องเด่น ประเด็นเหมืองแร่ ปี 2563

5 เรื่องเด่น ประเด็นเหมืองแร่ ปี 2563

ประมวลสถานการณ์ส่งท้ายปี เพจ This Land No Mine รวมรวบ 5 เรื่องเด่น ประเด็นเหมืองแร่ทั่วไทยในช่วงปี 2563 มานำเสนอ ย้ำเตือนสถานการณ์ประเด็นสิทธิและสิ่งแวดล้อมที่ยังคงต้องติดตามต่อ

000

1. ปิดถนนขึ้น-ล่องกรุงเทพ ชาวแม่พริกค้านขอประทานบัตรแมงกานีส

ที่มาภาพ: สมาคมกุศลสงเคราะห์เชียงใหม่

การปิดประกาศคำขอประทานบัตรเหมืองแร่แมงกานีส คำขอที่ 2/2561 พื้นที่ 199 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ของนางสาวกาญจนาพร พันธุ์สุข ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยขี้นก หมู่ 7 และบ้านแพะดอกเข็ม หมู่ 11 ต.แม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่คัดค้านภายใน 30 วันนับแต่วันปิดประกาศ (ปิดประกาศตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2563) เป็นต้นเหตุของความไม่พอใจจนสร้างความคุกรุ่นขึ้นในพื้นที่นำมาซึ่งการปิดถนนทางหลวงหมายเลข 1 ที่ด่านตรวจยาเสพติดแม่พริกในวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา

เนื่องจากว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบเรื่องการปิดประกาศคำขอประทานบัตรดังกล่าวภายหลังจากวันติดประกาศผ่าน 30 วันไปแล้ว จึงได้เริ่มรวมตัวกันออกมาคัดค้านถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการขอประทานบัตรที่หน่วยงานราชการปกปิดข้อมูลให้กับผู้ประกอบการเพื่อสร้างอุปสรรคขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน และยิ่งสร้างความไม่พอใจมากขึ้น จากการที่นายอำเภอแม่พริกนิ่งเฉยและเตะถ่วงการแก้ไขปัญหาต่อข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านคำขอประทานบัตร เพราะเป็นห่วงกังวลว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำจะได้รับความเสียหายจนก่อเกิดผลกระทบหลายด้าน เนื่องจากว่าพื้นที่คำขอประทานบัตรเป็นป่าสาธารณประโยชน์ที่เป็นแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน และเป็นพื้นที่ต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ของคนทั้งอำเภอแม่พริก

จึงเป็นที่มาของการปิดถนนทางหลวงหมายเลข 1 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2563 ท่ามกลางผู้ชุมนุมกว่าพันคนจาก 11 หมู่บ้านใน ต.แม่พริก ตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปจนถึง 4 โมงเย็น โดยมีเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางและรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางมาเจรจาแก้ไขปัญหา จนได้ข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ชะลอหรือระงับการขอประทานบัตรไว้ก่อน 2.เมื่อปฏิบัติตามข้อ 1. แล้ว ขอให้กลับไปทำความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบด้านในเรื่องกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และความสำคัญเชิงคุณค่าในมิติอื่น ๆ ของพื้นที่ก่อนที่จะถูกนำไปเป็นพื้นที่ขอประทานบัตร ให้กับชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในรัศมีผลกระทบทั้งหมด และ 3.ห้ามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมปิดถนน จึงสลายการชุมนุม

นับเป็นความสำเร็จอันภาคภูมิใจของประชาชนชาวอำเภอแม่พริกที่ร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด

ที่มาภาพ: https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000014125

000

2. “คนจันกินผลไม้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ได้กินแร่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต”

ที่มาภาพ: https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000014062

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 63 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีได้ดำเนินการปิดประกาศคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ที่ 8/2549 และที่ 9/2549 ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด รวมพื้นที่ 14,650 ไร่ ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ โดยมีพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง 22 หมู่บ้าน ใน ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสำรวจและการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ลุกขึ้นมาคัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำดังกล่าว จนนำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ของชาวจันทบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อแสดงพลังคัดค้านคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ พร้อมร่วมกันล่ารายชื่อกว่า 100,000 รายชื่อ และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยืนยันไม่ให้มีการสำรวจและการทำเหมืองทองคำใน จ.จันทบุรี

ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกผลไม้หลากหลายพันธุ์ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ระกำ กระท้อน สละ เป็นต้น ซึ่งผลไม้เหล่านี้ล้วนเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ไม่เพียงเท่านั้นบริเวณที่ขอสำรวจแร่ทองคำยังเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำของชาวจันทบุรี ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 1,200,000 ไร่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาวง-เขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ โดยถือว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ที่ต้องถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังหวั่นเกรงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิต ชุมชน สุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยชาวจันทบุรีได้ยืนยันว่า “จะคัดค้านจนกว่า กพร. จะเพิกถอนคำขออาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวให้สำเร็จ” ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์การคัดค้านเหมืองทองคำจันทบุรีต่อไปอย่างใกล้ชิด

‘ทองคำบนดินคือทุเรียนของเรา’ คือประโยคนำในการเคลื่อนไหวของชาวชุมชน

ที่มาภาพ: https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000014062

000

3. #Saveเขายะลา

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/hashtag/Save%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2

จากกรณีที่กรมศิลปากร ได้มีประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดลและต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากในพื้นที่ จ.ยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม จากสาเหตุที่แหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้จำเป็นต้องอาศัยแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลาซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ดังนั้นเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นภาคใต้

ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การเกิดแฮชแท็ก #Saveเขายะลา #เขายะลา เพื่อแสดงออกในการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศของกรมศิลปากรดังกล่าว ที่เข้าข่ายเป็นการออกประกาศเอื้อผลประโยชน์ให้นายทุนเหมืองหินเข้าทำลายแหล่งโบราณคดีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟู เพื่อธำรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรม ของมนุษยชนต่อไปอย่างยั่งยืน

โดยแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่มากถึงราว 3,000 ปี โดยได้มีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน และภาพเขียนสี อยู่ตามถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ซึ่งผลกระทบจากการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่บางส่วนของภูเขายะลาเพียงส่วนเดียวก็สามารถส่งผลกระทบในภาพรวมต่อภูเขาทั้งลูกและแหล่งโบราณคดีด้วย จนเกิดกรณีการที่ภาพเขียนสี ขนาดยาว 3 เมตร ได้พังถล่มลงมา และเกิดรอยร้าวบริเวณอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

การที่กรมศิลปากรออกประกาศเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการช่วยกันกับนายทุนเหมืองหิน เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะตามมาตรา 17 วรรคสี่ ที่ระบุว่า ‘พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ’ ซึ่งการปล่อยปะละเลยและเพิกเฉยให้มีการทำเหมืองหินในพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและเข้าข่ายขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/hashtag/Save%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2

000

4. 26 ปีแห่งการต่อสู้ สู่ชัยชนะ ‘ปิดเหมืองหินและโรงโม่ดงมะไฟ’

ที่มาภาพ: https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000014452

กว่า 26 ปี ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) และโรงโม่หิน ประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองหินและโรงโม่อย่างถาวร แต่ทว่าการเจรจาดังกล่าวกับไม่เป็นผล เนื่องจากจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะปิดเหมืองหินและโรงโม่ให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงได้ทำการปักหลักชุมนุมปิดบริเวณทางเข้า-ออกเหมืองหินและโรงโม่ด้วยตัวเอง พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี

ในวันที่ 4 ก.ย. 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้จัดกิจกรรม ทวงคืนภูผาป่าไม้ ‘เปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน’ หลังใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลางหมดอายุลงเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 โดยชาวบ้านได้เดินเท้าเข้ายึดพื้นที่ทำเหมืองพร้อมทำการปล่อยป้ายผ้ายักษ์ที่ระบุข้อความว่า “ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา” บริเวณภูเขาที่ถูกระเบิดจากการทำเหมือง และชักธงเขียวของกลุ่มที่มีข้อความว่า “เดิน-ปิด-เหมือง” ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงของบริษัทฯ เพื่อประกาศชัยชนะในการยึดคืนพื้นที่เหมืองได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังร่วมกันปักป้ายหมู่บ้านชุมชนผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ทำพิธีบวชต้นไม้เปลี่ยนเขตเหมืองหินในเห็นเขตป่าชุมชน และทำพิธีบายศรีสู่ขวัญภูผาป่าไม้ที่ถูกระเบิดทำลายจากการทำเหมือง

และวันที่ 25 ก.ย. 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้จัดกิจกรรม 26 ปี การต่อสู้ สู่ชัยชนะ ‘เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร’ เนื่องจากใบประทานบัตรเพื่อทำเหมืองหินหมดอายุลงในวันที่ 24 ก.ย. 2563 โดยชาวบ้านได้ร่วมกันเดินเท้าเข้าทวงคืนพื้นที่โรงโม่หิน ซึ่งได้ทำกิจกรรมในการหว่านเมล็ดพันธุ์พืชและปลูกต้นไม้ ปักหมุดป่าชุมชนด้วยเสาไม้สีแดง 3 เสา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประกาศฟื้นฟูเหมืองหินและโรงโม่ 225 ไร่ และร่วมกันทำพิธีบายศรีสู่ขวัญขอขมาแม่ธรณี

นับว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่สามารถปิดเหมืองหินและโรงโม่ด้วยสองมือสองเท้าของตนเองจนสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านจะทำการปิดเหมืองหินและโรงโม่ได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องข้อที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังคงปักหลักชุมนุมปิดทางเข้า-ออกเหมืองหินและโรงโม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยทำเหมืองและพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีต่อไป

ที่มาภาพ: https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000014452

000

5. อ้างเรื่องโควิด เปิดช่องคุกคามนักปกป้องสิทธิต้านเหมือง

ที่มาภาพ: ผืนดินนี้ไม่มีเหมือง – This Land No Mine

จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามประชาชนเคลื่อนไหวหรือรวมตัวกัน โดยอ้างเรื่องป้องกันโรคระบาด ทำให้นักปกป้องสิทธิด้านเหมืองแร่ ในหลายพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน เพราะไม่สามารถออกมารวมตัวกันเคลื่อนไหวในพื้นที่ได้ ทั้งที่เป็นการรวมตัวกันเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมาย ทำให้เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ทำเคมเปญเพื่อ “ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง” ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เห็นถึงปัญหาการเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องถูกระงับยับยั้งโดยอาศัยกฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่กระบวนการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ในการทำเหมืองแร่ ไม่ได้หยุดชะงักลงไปด้วย

จากการออกมารณรงค์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กลุ่มรักษ์บ้านแหง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จ.ลำปาง หลังจากมีการรณรงค์ในพื้นที่ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ลงมาพูดคุย เพื่อกดดันตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ให้จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอีก

อีกพื้นที่หนึ่งคือ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ที่คัดค้านการทำเหมืองโปแตช ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยหลังจากมีการอ่านแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนในพื้นที่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกมารวบตัวในขณะที่ทำงานอยู่ในไร่ เพื่อไปสถานีตำรวจโดยไม่มีหมายและไม่แจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ ให้รับทราบ ทั้งยังมีการยึดโทรศัพท์เพื่อไม่ให้ติดต่อกับผู้อื่น พร้อมทั้งข่มขู่ให้บอกชื่อชาวบ้านที่ร่วมแถลงการณ์ หากไม่ทำจะให้ติดคุก

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการย้ำชัด ว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคติดต่อโควิด-19 แต่มีเจตนาชัดในการควบคุมคน ไม่ให้มีการออกมาชุมนุมกัน อีกทั้งยังไม่ได้มีเป้าหมายในการควบคุมเฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่ประเด็นด้านทรัพยากรเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะทรัพยากรแร่ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศ รัฐบาลชุดนี้จึงต้องควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการคัดค้าน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเสียประโยชน์

และอีกหนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านเหมืองแร่ ก็คือกรณีของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ซึ่งคัดค้านการทำเหมืองหิน ในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดยหลังจากมีกระบวนการชุมนุมปิดเหมืองของชาวบ้าน ก็ได้มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นรูปแบบเดิม ๆ จากการข่มขู่คุกคาม สู่การชี้เป้าเพื่อลอบสังหาร โดยอาศัยใบเบิกทางสำคัญคือคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อ้างว่าคนนอกมายุยงปลุกปั่น และการเพิกเฉยในการตามหาตัวผู้กระทำความผิดในการสังหารแกนนำต้านเหมืองในพื้นที่ ทั้งที่เคยมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากการค้านเหมืองหินที่นี่มาแล้วถึง 4 ศพ

ที่มาภาพ: https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000014452

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ