“เหมืองแร่ถ่านหิน 1 ปี” การต่อสู้และก้าวย่างของคนอมก๋อย

“เหมืองแร่ถ่านหิน 1 ปี” การต่อสู้และก้าวย่างของคนอมก๋อย

“อัตลักษณ์” แห่งชนเผ่าที่มีความพิเศษแตกต่างจากพื้นที่อื่น

“จิตวิญญาณ” ที่จะปกป้องผืนแผ่นดินบ้านเกิด

“ผืนป่า” ที่หล่อเลี้ยงชีวิต

ภาพความสวยงามของผืนนาหรือ แม้กระทั่งวิถีชีวิตของชาวอมก๋อย ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ในวันนี้ คือวันที่พวกเขาต่อสู้มาครบ 1 ปี เพื่อชีวิตของคนอมก๋อย

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เป็นวันครบ 1 ปี การต่อสู้เหมืองแร่อมก๋อย ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันเดินขบวนรอบตัวเมืองอมก๋อย ถึงหน้าอำเภออมก๋อย ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ชื่องานว่า “เหมืองแร่ถ่านหิน 1 ปี ของการต่อสู้และย่างก้าวของคนอมก๋อย” เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินที่บ้านกะเบอะดิน พร้อมกับอีกสองโครงการยักษ์ใหญ่ เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในอำเภออมก๋อยเข้าร่วม มีทั้งเยาวชน นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงตัวแทนนายอำเภออมก๋อย เข้าร่วมกิจกรรมรับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้ ขบวนรณรงค์ยังแสดงจุดยืนคัดค้านอีกสองโครงการใหญ่ คือ โครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล ที่มาพร้อมกับแผนการสร้างเสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะต้องผ่านบ้านกะเบอะดิน และอีกหลายชุมชนในอำเภออมก๋อย ชาวบ้านให้เหตุผลว่า หากโครงการใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าต้นน้ำ และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย

กะเบอะดิน ชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่งในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประชากรในหมู่บ้านราว 300 คน นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ ชื่อของหมู่บ้านกะเบอะดิน มาจากคำว่า “กะเบอะ” ซึ่งเป็นชื่อของหม้อชนิดหนึ่งในภาษา “ปกาเกอะญอ” ซึ่งเมื่อมารวมกับคำว่าดินจะแปลว่า “หม้อดิน” ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านในสมัยก่อนจะทำปั้นหม้อดินเพื่อขายให้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนกระทั่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนบ้านกะเบอะดินได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของพวกเขาเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติ และธรรมชาติรอบตัวในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการใช้ชีวิตประจำวันหรืออาชีพของชาวบ้านในชุมชนล้วนต้องพึ่งพิงธรรมชาติไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งรวมแม้กระทั่งพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชน แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านกะเบอะดินเป็นกลายที่ต้องตาต้องใจของนายทุนซึ่งต้องการจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่

ในวันนี้ 22 ตุลาคม 2563 เป็นวันที่ 2 ของงานกลุ่มเยาวชนกะเบอะดินได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตของชาวบ้านอมก๋อย และได้เปิดเผยข้อมูลแผนที่ที่ชื่อว่า “ที๊ง คู เท้ะ ฌี้ หรือแผนที่ต้นน้ำดีที่อมก๋อย” ผลงานชิ้นสำคัญของกลุ่มเยาวชนและชาวบ้านกะเบอะดิน พวกเขาต้องการจะบอกเรื่องราวตัวตนอัตลักษณ์ รวมถึงวิถีชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่ของเขาผ่านแผนที่และนิทรรศการภาพถ่ายนี้ โดยเยาวชนอธิบายว่า ทรัพยากรน้ำของที่นี้ เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิตพืชผลเกษตรในหมู่บ้านแห่งนี้อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม เกี่ยวโยงกันกับวิถีความเป็นอยู่รวมทั้งรายได้ที่มาจากการผลิตในฐานะของเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ต่างยึดโยงกับแหล่งน้ำลำห้วยต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา

เลื่อนดูแผนที่ต้นน้ำดีที่อมก๋อย หากมีการเหมืองในพื้นที่ทั้งก่อนและหลัง

ดวง พรชิตา ฟ้าประทานไพร : เยาวชนบ้านกะเบ้อดินที่ร่วมต่อสู้กับชาวบ้านและออกมาร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรมในครั้งนี้กล่าวว่า “เธอเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน ตั้งแต่ 1 ปีที่ผ่านมา ถ้าหากว่ามีโครงการขนาดใหญ่ของทางรัฐเกิดขึ้น พวกเราจึงมีข้อกังวลเกี่ยวกับ สุขภาพ ที่ดินทำกิน วิถีชีวิตของชาวบ้าน ถนนหนทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ด้วยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมเกือบทั้งหมด วันนี้ที่เราออกมาจัดกิจกรรมร่วมกัน เราอยากจะให้ทุกคนในพื้นที่อมก๋อยและพื้นที่ใกล้เคียงในหมู่บ้าน รวมถึงสื่อต่าง ๆ และคนภายนอก ให้เขาได้เห็นว่าคนอมก๋อยไม่เอาเหมืองแร่เพราะอะไร”

ติดตามความเคลื่อนไหวในวันครบรอบ 1 ปี การคัดค้านเหมืองแร่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ คุณชเร เล่าว่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการเดินรณรงค์และจัดเสวนาเพื่อระลึกถึงการต่อสู้แล้ว กลุ่มเยาวชนยังมีการมาสื่อสารเรื่องราวตัวตนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตผ่านแผนที่และนิทรรศการภาพถ่าย เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่สร้างรายได้และยังสามารถรักษาวิถีชีวิตของชุมชนไว้ (26 ต.ค.63) #กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง ติดตาม กินอยู่รู้รอบ ได้ใน วันใหม่ไทยพีบีเอส จ.-ศ. เวลา 07:00 – 07:30 น.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ