ศ. นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์
หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทนำ
บทความนี้เป็นการย่อเรื่องราวของมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 เพื่อใช้สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ต่อชีวิตและสุขภาพของมวลมนุษยชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ประกอบการใช้เผยแพร่องค์ความรู้และการแนะนำผู้ป่วย ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันพิษภัยมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 เนื่องจากมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดเชื้อ (infectious diseases) กลุ่มโรคภูมิแพ้ (allergic diseases) และกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases) ประมาณการว่าราวกว่าร้อยละ 95 ของมวลมนุษยชาติได้สูดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 นอกอาคาร (ambient PM2.5) เป็นระยะเวลายาวนานจนเป็นสาเหตุที่ทาให้มีผู้เสียชีวิตราวปีละ 4.1 ล้านคนหรือร้อยละ 7.5 ของการเสียชีวิตทั่วโลก สูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-adjusted life year, DALY) 106 ล้านปีหรือร้อยละ 4.4 ของDALYทั่วโลก ซึ่งการคำนวณดังกล่าวใช้การเสียชีวิตและการสูญเสียปีสุขภาวะจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract infection) ร่วมกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเพียง 4 โรคเท่านั้น (ischemic heart disease, stroke, COPD, และ lung cancer)1 ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 8.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยประมาณการไว้กว่า 2 เท่า หากคำนวณการเสียชีวิตโดยคำนึงถึงการสูดมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิดอื่นร่วมด้วย (ได้แก่ การสูดมลพิษในครัวเรือน การสูดมลพิษควันบุหรี่) ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีระดับมลพิษสูงมากเมื่อเทียบกับเมืองที่มีระดับมลพิษต่ำถึงปานกลาง และการเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังอื่นที่สัมพันธ์กับมลพิษอากาศนอกเหนือจาก 4 โรคที่ใช้คำนวณอยู่เดิม2,3ดังนั้นมาตรการเพื่อลดระดับมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 น่าจะมีประสิทธิภาพในการลดความเสียชีวิตสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัย มีโรคไม่ติดต่อ และมีระดับมลพิษสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่ยังมีรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลาง
นิยาม ส่วนประกอบสำคัญและกลไกที่มีผลต่อสุขภาพ
มลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 คือ อนุภาคมลพิษอากาศขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอนมีส่วนประกอบเป็นของแข็งและ/หรือของเหลว สามารถแขวนลอยในบรรยากาศได้เป็นเวลานานหลายวันจึงมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชากรโลกอย่างเด่นชัด ส่วนประกอบหลักที่สำคัญสามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆดังต่อไปนี้ 1. ผงฝุ่นเขม่าดำ (Black carbon) ซึ่งประกอบไปด้วย organic carbon และ elemental carbon โดย organic carbonเกิดจากการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ต่าง ๆ โดยตรงและจากปฏิกิริยาทางเคมีของสารต่าง ๆ ในบรรยากาศ ส่วน elemental carbon เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงโดยตรง 2. ธาตุต่าง ๆ ทั้ง โลหะ (metal) โลหะทรานซิชัน (transitional metal) อโลหะ (non-metal) แลนทาไนด์ (lanthanides) และแอคติไนด์ (actinides) 3. สารกลุ่ม polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogenic PAHs) และกลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง(non-carcinogenic PAHs) 4. เกลือต่าง ๆ ได้แก่ เกลือคลอไรด์ ไนเตรท ซัลเฟต และแอมโมเนี่ยม 5.สารประกอบทางชีวภาพต่าง ๆ ได้แก่ เชื้อไวรัส ละอองเรณู (pollens) สารพิษจากผนังแบคทีเรีย (endotoxin) สารจากเชื้อรา (glucans)4,5 ส่วนประกอบเหล่านี้มีสัดส่วนเปลี่ยนไปบ้างตามแหล่งกำเนิดมลพิษและฤดูกาล สารบางชนิดใช้ระบุแหล่งกำเนิดของมลพิษได้เช่น Potassium, ,Nitrate, และChloride พบในฝุ่นที่มาจากการเผาเกษตรเพราะสารเหล่านี้เป็นสารที่อยู่ในปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สาร levoglucosan พบมากจากแหล่งกาเนิดจากการเผาป่า6 ส่วนประกอบของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 เหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายโดย 2 กลไกสำคัญ คือ กลไกการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดหลอดเลือดหดตัว (vasoconstriction) และกลไกการเกิดอนุมูลอิสระที่กระตุ้นเซลล์ในเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ให้เกิดการอักเสบ (oxidative stress) อย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง7 เกิดวงจรขบวนการทำลายและซ่อมแซมเซลล์ถี่ขึ้นอย่างชั่วคราวหรืออย่างต่อเนื่องจนสามารถก่อให้เกิดความเสื่อมของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรง ได้แก่ โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจและปอดอักเสบ เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เยื่อบุตาและผิวหนัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคสมาธิสั้น โรคสมองเสื่อม โรคไตเสื่อม โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น1
ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ
เนื่องจากมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง เมื่อสูดหายใจเข้าไปจึงเข้าสู่เซลล์ของถุงลมซึ่งมีจำนวนมาก จึงเกิดการอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ในถุงลมได้อย่างมหาศาล สารเคมีต่าง ๆ ที่เกิดจากการอักเสบที่เซลล์ถุงลมทะลักเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต จึงกระจายการอักเสบไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้อีกด้วย อนุภาคย่อยของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ยิ่งมีขนาดเล็กมากโดยเฉพาะส่วนที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมครอน (PM0.1) หรือเรียกว่ามลพิษฝุ่นจิ๋วPM0.1จะซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือดฝอยได้ง่ายและเข้าสู่เซลล์ของระบบอวัยวะภายในต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างรุนแรง นอกจากนี้มลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 สามารถเข้าสู่สมองผ่านผนังด้านบนของโพรงจมูก กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติชนิดซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ได้โดยตรงทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดแดงหดตัว (vasoconstriction) จากทั้งกลไกการอักเสบและหลอดเลือดแดงหดตัวดังกล่าวมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จึงมีผลกระทบต่อทุกระบบอวัยวะของร่างกาย ผลกระทบมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยสำคัญดังนี้ 1. ระดับความเข้มข้นของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ที่ร่างกายได้รับ 2. ระยะเวลาสะสมที่ร่างกายได้รับมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 3. สัดส่วนของสารชนิดต่าง ๆ ในมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 4. สภาวะของร่างกายขณะได้รับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 โดยผลกระทบต่อสุขภาพจะเด่นชัดในเด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่เดิม ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ และ ผู้ที่มีความไวต่อมลพิษเฉพาะแต่ละบุคคลจากพันธุกรรม 5. ความเข้มข้นและปริมาณที่มลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5สามารถเข้าสู่แต่ละอวัยวะนั้น ๆ8 ผลกระทบดังกล่าวอาจมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ยังไม่ปรากฏอาการ ไม่มีการอักเสบ ไม่ปรากฏอาการแต่มีการอักเสบแฝงในระบบอวัยวะ จนเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ทั้งฉับพลันทันทีทันใด แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยผลกระทบตามระยะต่าง ๆ อาจทาให้เกิดโรคขึ้นใหม่ หรือทำให้โรคเดิมรุนแรงขึ้น ทำให้เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมจนทำให้อวัยวะทำงานเสื่อมเร็วและรุนแรงขึ้น และขบวนการทำลายและซ่อมแซมอาจทำให้เซลล์เสื่อมสภาพถาวร หรือกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็ง
จากรูปที่1 แผนภาพพีระมิดแสดงภาพรวมของผลกระทบต่อสุขภาพอันสัมพันธ์กับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จากสัดส่วนฐานประชากรที่ได้รับผลกระทบ (population attributable fraction, PAF) ส่วนใหญ่สู่ฐานประชากรลดหลั่นน้อยลงตามลำดับความรุนแรงของผลกระทบ โดยฐานประชากรส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบในระดับที่ยังไม่แสดงความผิดปกติทางคลินิก แต่อาจมีความผิดปกติทางสรีรวิทยา ชีวภาพ และ/หรือกายภาพ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งหากสูดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ต่อไปในขนาดสูงและ/หรือนานขึ้นจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะแสดงความผิดปกติทางคลินิกในเวลาต่อมา ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติแบบเฉียบพลัน เกิดในระยะเวลาอันสั้นหรือเกิดในระยะยาว เมื่อมีอาการมากขึ้น คุณภาพชีวิตสัมพันธ์กับสุขภาพ (health-related quality of life) จะลดลง เกิดเป็นโรค 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองเสื่อมสภาพ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเสื่อม เบาหวาน มะเร็งปอด กลุ่มโรคติดเชื้อเฉียบพลัน เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินหายใจ กลุ่มโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจ ของเยื่อบุตาและผิวหนัง ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้ยารักษาหรือยาควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง หากมีโรคเหล่านี้เป็นโรคประจาตัวอยู่แล้ว โรคอาจจะรุนแรงขึ้น ควบคุมได้ยากขึ้น ใช้ยาเพิ่มขึ้น กำเริบง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นต้องมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน บางส่วนต้องนอนโรงพยาบาล ในระยะสั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลันเพิ่มขึ้น เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น เสียชีวิตรายปีเพิ่มขึ้น และในระยะยาวประชากรเหล่านี้มีอายุขัยที่สั้นลง
รูปที่ 1 พีระมิดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นมรณะระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง
ผลการศึกษามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 พบว่ามีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์มาอย่างยาวนาน โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายทั้งในการศึกษาแบบทดลองในสัตว์ทดลอง (animal model experimental study) แบบทดลองผลกระทบทางคลินิกในมนุษย์ (clinical human experimental study) และการศึกษาผลกระทบต่อมนุษย์ในสถานการณ์จริงเชิงระบาดวิทยา (real-life epidemiological study)ด้วยการออกแบบเป็นการศึกษาระยะยาว (longitudinal study) และใช้สถิติมาตรฐานในการวิเคราะห์ (ได้แก่ time-series และ case-crossover methods) ทั้งระดับเมือง ระดับเขต ระดับประเทศ ระดับทวีป และระดับโลก ซึ่งผลการศึกษาสอดคล้องกันทั้งหมดว่า มลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 มีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชากรในทุก ๆ ประเทศทั่วโลก กล่าวโดยสรุปถึงผลกระทบจากมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 ต่อระบบอวัยวะสำคัญหลักในการดำรงชีวิต7,8 ได้แก่ ระบบการหายใจ การอักเสบจากมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ส่งเสริมให้ระบบการหายใจมีการอักเสบมากขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อได้รับสารก่อแพ้ และการอักเสบจากมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ยังทำให้ติดเชื้อ (เช่น ไวรัสไข้หวัด ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แบคทีเรีย) ได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้นหลายเท่า และจำนวนไม่น้อยที่เกิดการอักเสบทั้งแบบภูมิแพ้และแบบติดเชื้อผสมผสานกัน โรคสำคัญที่พบบ่อยได้แก่ การอักเสบทั้งแบบภูมิแพ้และติดเชื้อของโพรงจมูก โพรงไซนัส การอักเสบหลอดคอ กล่องเสียงและหลอดลม ปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ของโพรงจมูก โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ระบบหัวใจ การอักเสบและการหดตัวของหลอดเลือดจากมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5ทำให้เกิดโรคสำคัญที่พบบ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ระบบหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ(stroke) หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเสื่อม (cerebral atherosclerosis) หลอดเลือดดำชนิดอยู่ลึกอุดตัน (deep vein thrombosis, pulmonary embolism) ระบบสมอง ได้แก่ สมองด้อยประสิทธิภาพ สมองเสื่อม สมาธิสั้น ระบบจิตประสาท ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน ความผิดปกติทางจิตแบบซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ระบบไต มีส่วนทำให้เกิดโรคไตเสื่อมสภาพเรื้อรัง ระบบต่อมไร้ท่อ มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานหรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น และมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ดังนั้นมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 จึงเป็นมลพิษที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยทั้งแบบฉับพลัน ทั้งในระยะสั้น (acute) และทั้งในระยะยาว (long term) มีผลทาให้ช่วงอายุขัยสั้นลง(shortening lifespan)ด้วยโรคต่าง ๆ ดังกล่าว โดยการเจ็บป่วยระยะฉับพลันและระยะสั้นอาจรุนแรงถึงกับต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินหรือต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนการเจ็บป่วยในระยะยาวเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือทาให้โรคไม่ติดต่อดังกล่าวมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทาให้เกิดโรคมะเร็งปอด จากที่ประชากรโลกส่วนใหญ่ในทุกประเทศสูดมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 เป็นระยะเวลายาวนาน ผลกระทบของฝุ่นมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 ต่อชีวิตและสุขภาพดังกล่าวข้างต้น จึงทาให้ช่วงอายุขัย (life span) โดยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลงราว 2.9 ปี3
แหล่งกำเนิดสำคัญในประเทศไทย
โดยทั่วไปแหล่งกำเนิดมลพิษหลักมี 2 แหล่ง คือ แหล่งกำเนิดโดยธรรมชาติ (natural source) เช่น ฝุ่นจากลม พายุ ฝุ่นเถ้าจากภูเขาไฟระเบิด ฝุ่นควันไฟป่าโดยธรรมชาติ ฝุ่นละอองฝอยของเกลือทะเล และแหล่งกำเนิดที่เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น (anthropogenic source) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักทั่วโลก ได้แก่ การเผาผลาญเชื้อเพลิง (เช่น ยานพาหนะ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และครัวเรือน) การเผาผลาญมวลชีวภาพ (เช่น การเผาเกษตร การเผาป่า การเผาขยะ) ซึ่งแต่ละทวีป แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ แต่ละภาค แต่ละท้องถิ่นมีสัดส่วนของแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกันไปได้มากแล้วแต่กิจกรรมกำเนิดมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น
ประชากรของประเทศไทยสูดฝุ่นมลพิษและได้รับผลกระทบด้านชีวิตและสุขภาพจากฝุ่นมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแทบทุกภาคมาอย่างยาวนานราวสองทศวรรษ แหล่งกำเนิดในเมืองใหญ่ (เมืองที่มีประชากรหนาแน่น มีการจราจรคับคั่งและมีโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่) เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ แต่แหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศคือ การเผาชีวมวลการเกษตร ประชาชนของเมืองในพื้นที่เหล่านี้ทำอาชีพการเกษตรเป็นสำคัญ เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งปีพบว่าแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นมลพิษ PM2.5 ที่เป็นปัญหาและมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนมากที่สุด คือ การเผาชีวมวล (เผาซากเกษตร และไฟป่า) ไม่ใช่การปล่อยไอเสียจากการจราจรทางบกหรือจากปากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม9 ในช่วงฤดูแล้งของทศวรรษที่ผ่านมา การเผาเกษตรทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ (ช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน) เนื่องจากมีการเผาในพื้นที่เกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อย ข้าวโพด และข้าว ในทุกภาคยกเว้นภาคใต้ซึ่งยังคงปลูกพืชตระกูลยาง และปาล์มน้ามันเป็นหลัก) และยังมีการเผาในพื้นที่ทาเกษตรพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภูเขา บ่อยครั้งที่เกิดไฟลุกลามออกนอกพื้นที่ปลูกกลายเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของไฟป่า (ภาคเหนือตอนบน) นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มการเผาพื้นที่เกษตรจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกันจากการส่งเสริมเกษตรพันธะสัญญาในกลุ่มประเทศ AEC (Asian Economic Community)10 ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย(ยกเว้นภาคใต้)ได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จากการเผาเกษตรกันอย่างถ้วนทั่ว รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งได้รับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรจากภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน11 เพราะอิทธิพลทางอุตุนิยมวิทยาส่งเสริมให้มลพิษจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรจากจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดห่างไกลโดยเฉพาะ จังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันตก รวมทั้งประเทศกัมพูชาโดยกระแสลมพัดมวลมลพาฝุ่นละเอียดPM2.5 จากแหล่งกาเนิดเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลร่วมกับสภาพความกดอากาศ การกักขังอากาศไม่มีการถ่ายเทเอื้อให้มลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ลอยแขวนในบรรยากาศอยู่นาน12 ทำให้สัดส่วนแหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 มาจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรมีอิทธิพลมากกว่ามลพิษจากการจราจรหรือมลพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม11,13,14
กล่าวโดยสรุปได้ว่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ในประเทศไทยในช่วงฤดูแล้งมีระดับที่สูงมากกว่าช่วงฤดูฝนหลายเท่าทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองใหญ่ และเมืองเล็กหรือเขตชนบทในทุกภาค (ยกเว้นภาคใต้) เกิดจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตร อ้อย ข้าวโพด และข้าว เป็นหลัก ส่วนจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก แหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 มาจากการเผาเกษตรในพื้นที่ราบ การเผาเกษตรในพื้นที่ป่าจนเกิดเป็นไฟป่า และการเผาป่า นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ยังถูกซ้ำเติมด้วยการเผาอุตสาหกรรมเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมา และลาว
ผลการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพในประเทศไทย
ในประเทศไทย ผลงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ต่อสุขภาพยังมีน้อย นอกจากนี้ ผลงานวิจัยถูกจำกัดการนำไปประยุกต์ใช้ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่น จำนวนตัวอย่างที่ใช้ศึกษาน้อย ออกแบบการศึกษาระยะสั้น ศึกษาแบบจำกัดเฉพาะกลุ่มย่อย ขาดการศึกษาแบบทดลอง ขาดการศึกษาทางคลินิกที่แสดงถึงผลกระทบของฝุ่นมลพิษต่อสุขภาพโดยตรง แม้แต่การศึกษาระยะยาวเชิงระบาดวิทยา หรือการศึกษาด้วยการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ ในการคาดการณ์ผลกระทบยังมีรายงานจำนวนน้อย ในบทความนี้จึงขออ้างถึงผลการศึกษาระยะยาวเชิงระบาดวิทยาแบบมาตรฐานพอเป็นสังเขปเท่านั้น
ในปี ค.ศ.2008 มีรายงานผลกระทบต่อสุขภาพของมลพิษฝุ่นหยาบPM10 ในกรุงเทพมหานครเทียบกับเมืองใหญ่ในจีน 3 เมืองที่อยู่ในเขตอบอุ่น ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และอู่ฮั่น โดยพบว่า ค่าเฉลี่ยรายวันมลพิษฝุ่นหยาบPM10 ทุก ๆ 10 มคก./ลบ.ม ที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับจานวนอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยของชาวกรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.25 ซึ่งสูงกว่าอีก 3 เมืองอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นเพราะว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานครใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านหรือนอกอาคารนานกว่า มีเครื่องปรับอากาศน้อยกว่า หรือมีปัจจัยร่วมด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่า อีก 3 เมืองที่อยู่ในเขตอบอุ่น15 ในปี ค.ศ. 2014 มีผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยรายวันมลพิษฝุ่นหยาบ PM10 ทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับจำนวนอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยของชาวกรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ซึ่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตรายวันลดลงกว่าการศึกษาแรกอย่างชัดเจน อาจเพราะเป็นช่วงเวลาการศึกษาที่แตกต่างกัน วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไปจากเดิม มีการป้องกันระมัดระวังตัวเองจากปัญหามลพิษมากขึ้น เช่น มีการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นมลพิษมากขึ้น โดยการเสียชีวิตรายวันมาจากโรคระบบการหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสำคัญเช่นเดียวกับการศึกษาอื่น ๆ ในการศึกษานี้ได้ยังวิเคราะห์เน้นให้เห็นชัดว่าในฤดูร้อนและฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูเผาเพื่อเตรียมการปลูกหรือหลังเก็บเกี่ยวพืชเกษตร มีอัตราการเสียชีวิตรายวันที่สัมพันธ์กับค่ามลพิษฝุ่นหยาบPM10 สูงกว่าในช่วงฤดูฝนอย่างเห็นได้ชัด16 ในปี ค.ศ.2019 มีรายงานผลการศึกษาว่ามลพิษฝุ่นหยาบPM10 สัมพันธ์กับการเจ็บป่วยขั้นนอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคระบบการหายใจ (ปอดอักเสบ หอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) และโรคหัวใจ (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด) โดยผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด17 ในปี ค.ศ. 2019 ผู้เขียนได้รายงานผลกระทบของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ต่อการเสียชีวิตของประชาชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยผลการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่พบว่าทุก ๆ 10 มคก./ลบ.ม ของค่าเฉลี่ยรายวันของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ1.618 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากผลการศึกษานี้สอดคล้องกับผลการศึกษาที่กรุงเทพมหานครในการศึกษาแรกซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบของมลพิษฝุ่นหยาบ PM10 ซึ่งมีความเป็นพิษน้อยกว่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 สาเหตุและอัตราการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับค่าเฉลี่ยรายวันของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 มคก./ลบ.ม.มีดังนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบร้อยละ 7.2-8.9 โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ร้อยละ 8.6 ภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ (sepsis) หรือ ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ (septic shock) ร้อยละ 5.7-6.1 หากนำจำนวนวันที่มีค่าเฉลี่ยรายวันของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายวันที่องค์การอนามัยโลกกาหนดมาคำนวณหาจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมของปี ค.ศ.2019 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี ค.ศ.2017 และ ค.ศ.2018 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นจาก 87 รายในปี ค.ศ.2017 เป็น 151 รายในปี ค.ศ.2018 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 และ 225 รายในปี ค.ศ.2019 หรือเพิ่มขึ้นกว่าปี ค.ศ. 2017 ถึง 158% แม้จำนวนวันที่มีค่าเฉลี่ยรายวันของฝุ่นละเอียดPM2.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายวันที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเพิ่มมากขึ้นเพียง10 และ 14 วันตามลาดับ แต่ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายวันและค่าสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก (รูปที่ 2ก และ 2ข) ผลการศึกษาเฉพาะอำเภอเชียงดาวที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละเอียดPM2.5 จากการเผาป่าและการเผาเกษตรที่สำคัญพบว่า อัตราการเสียชีวิตในชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.519ซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของทั้งจังหวัดกว่า 2 เท่า ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับประชาชนในอำเภอเชียงดาวสูดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ต่อวันนานกว่าประชาชนทั้งจังหวัดเนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาเกษตรและเผาป่า ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร บ้านพักอาศัยเป็นแบบเปิดโล่งรับอากาศและมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จากภายนอกเข้ามาในตัวบ้านได้ตลอดเวลา (open house style) ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ ทาให้สูดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ยาวนานทั้งในบ้านและนอกบ้านตลอดเวลากลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ประชาชนอาจมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า มีโรคประจาตัวมากกว่า มีผู้สูบบุหรี่หรือเคยมากกว่าและสูบหนักกว่า ค่าเฉลี่ยของประชาชนทั้งจังหวัด ส่วนการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงจนต้องมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกาเริบเฉียบพลันซึ่งสัมพันธ์กับมลพิษฝุ่นหยาบ PM10และฝุ่นละเอียดPM2.5 ปอดอักเสบในชุมชนสัมพันธ์กับมลพิษก๊าซ SO2, CO, และ O3กลุ่มอาการหัวใจล้มเหลวสัมพันธ์กับมลพิษก๊าซ O3 กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสัมพันธ์กับมลพิษก๊าซ NO2 และโรคเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบเฉียบพลัน (stroke) สัมพันธ์กับมลพิษก๊าซ SO2 นอกจากนี้ยังพบว่าในผู้ป่วยที่นอนรับการรักษาในโรงพยาบาลได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประชาชนในชุมชนราว 4 เท่า โดยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ15 ต่อทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. ของค่าเฉลี่ยมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 รายวันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากในผู้ที่เจ็บป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในปี ค.ศ. 2016 ผู้เขียนได้รายงานความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการกาเริบของโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบที่ทาให้ต้องมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 และ 35 ตามลำดับภายใน 7 วันหลังที่ค่าเฉลี่ยรายวันมลพิษฝุ่นหยาบPM10 สูงเกิน 50 มคก./ลบ.ม.ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด20แต่ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายวันมลพิษฝุ่นหยาบ PM10 ที่120 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงเกินกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้มาก ซึ่งหากพิจารณาอัตราการกำเริบที่ระดับเกินระดับมาตรฐานของประเทศไทย อาจทำให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงเพราะเห็นว่าไม่พบว่าสัมพันธ์กับการกำเริบของทั้งสองโรคดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีโรคกำเริบตั้งแต่ระดับมลพิษฝุ่นหยาบPM10 เกินค่าที่องค์การอนามัยโลกกาหนดไปแล้ว ในปี ค.ศ. 2019 ผู้เขียนได้รายงานผลการศึกษาผลกระทบของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและสมรรถภาพปอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงฤดูหมอกควัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงฤดูฝน21
รูปที่ 2ก จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันชาวเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับค่าฝุ่นมรณะที่เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (Modified from Pothirat C et al. Int.J.Environ. Health Research 2019 Oct 1:1-10)
รูปที่ 2ข ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นรายวัน ค่าต่ำ-สูงสุดรายวัน จำนวนวันที่ค่าสูงเกินมาตรฐาน และจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่ สัมพันธ์ กับค่าฝุ่นมรณะที่เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เปรียบเทียบในช่วงฤดูเผาเกษตรปีพ.ศ.2560 – 2562 (Modified from Pothirat C et al. Int.J.Environ. Health Research 2019 Oct 1:1-10)
เกณฑ์ระดับความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพโดยองค์การอนามัยโลก
ผลการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่า ไม่มีค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ที่ต่ำสุด ที่ถือว่าปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำถึง ความเป็นไปได้ที่ประเทศต่าง ๆ ควรกำหนดเป้าหมายในการควบคุมและมีแผนการในการลดระดับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ลงตามลำดับ โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนำไปสู่เป้าหมายที่แนะนำ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายที่แนะนำล่าสุดในปี ค.ศ. 2005 ไว้ 2 ค่าดังนี้ ค่าเฉลี่ยรายวันไม่เกิน 25 ไมโครกรัม (มคก.)/ลบ.ม และค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม22 การตั้งเกณฑ์เป้าหมายมาตรฐานดังกล่าว เป็นไปตามมติจากคณะผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกันพิจารณาตามหลักฐานงานวิจัยจากทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพให้เหลือความสูญเสียน้อยเท่าที่จะยอมรับและบริหารจัดการได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนแต่ละประเทศจะกำหนดค่ามาตรฐานของประเทศตนเองอย่างไรขึ้นอยู่กับระดับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ของแต่ละประเทศ ความรู้ ความเข้าใจ ความตั้งใจและความจริงจังในการปรับปรุงคุณภาพอากาศของผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศในการไตร่ตรองพิจารณาชั่งความสมดุลเรื่องชีวิตและสุขภาพกับงบประมาณการลงทุนเพื่อปรับปรุงสภาวะแวดล้อมของแต่ละประเทศ และทิศทางความเห็น การยอมรับของภาคการเมืองการปกครอง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ประเทศที่มีความก้าวหน้าในการลดระดับมลพิษ สามารถพิจารณาได้จากการมีผู้นำฝ่ายปกครองมีคำมั่นสัญญาต่อประชาคม (political commitment) ที่ชัดเจน กำหนดนโยบาย งบประมาณ แผนการดำเนินการ วิธีการดำเนินการ และการประเมินผลที่ทันต่อสถานการณ์แนวโน้มระดับมลพิษอากาศ เป็นรูปธรรม นำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการและการประเมินผลชัดเจน จากการศึกษาในต่างประเทศในหลายประเทศพบว่างบการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศมีความคุ้มทุนสูงมากหลายสิบเท่าและเห็นผลดีอย่างรวดเร็วทั้งในด้านชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจ ทาให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับอากาศที่มีคุณภาพได้ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน และ สหรัฐอเมริกา
ค่าเฉลี่ยของมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 รายวันหรือ 24 ชั่วโมง นิยมใช้ในการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและสุขภาพในระยะสั้น และค่าเฉลี่ยรายปีนิยมใช้ในการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและสุขภาพระยะยาวต่อการเกิดโรคเรื้อรังของระบบอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง และช่วงอายุขัยที่สั้นลง ส่วนค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ในระยะสั้นกว่า 24 ชั่วโมงหรือไม่ถึงชั่วโมงมีผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน23 ส่วนจะมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันตามปัจจัยทั้ง 5 ที่กล่าวข้างต้น จึงนิยมใช้ค่ารายชั่วโมงที่ผ่านมาล่าสุดหรือนาค่ารายชั่วโมงล่าสุดไปคานวณกับค่ามลพิษอากาศอื่น ๆ ที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่นหรือประเทศนั้น ๆ เป็นดัชนีคุณภาพอากาศ (air quality index) เพื่อใช้เตือนประชาชนในการวางแผนบริหารความเสี่ยงในการดาเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจาวันในชั่วโมงถัดไป24
คำแนะนาหลักสำหรับประชาชนในการดูแลตนเอง
1. ติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่หรือใกล้เคียงที่สุดเป็นระยะ ๆ โดยเลือกดัชนีที่สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงเวลาชั่วโมงล่าสุดเป็นสำคัญ หากไม่มีค่าคุณภาพอากาศในบริเวณใกล้เคียงที่ตัวเองอยู่การใช้เครื่องวัดค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 แบบพกพา แม้ไม่แม่นยำเท่าเครื่องมาตรฐานแต่ได้ค่าสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ราคาถูก มีประโยชน์ในการติดตามแนวโน้มค่ามลพิษส่วนบุคคลและสามารถร่วมกันทำเป็นเครือข่ายในพื้นที่ที่ละเอียดขึ้น(แต่มีข้อจากัดหากวัดในที่ความชื้นสูงมาก จึงต้องหมั่นตรวจสอบและปรับค่า) ไม่ควรใช้ดัชนีคุณภาพอากาศย้อนหลังรายวันมาใช้ในการวางแผนดาเนินกิจกรรมปัจจุบันในชีวิตประจาวัน การใช้ค่าคุณภาพอากาศหรือค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จากสถานีมาตรฐานที่ตั้งห่างไกลเกินไป สถานที่ตั้งไม่เหมาะสม และรายงานเฉพาะค่า 24 ชั่วโมงย้อนหลัง ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพอากาศและค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ในอากาศรอบตัวเองได้ อาจทำให้ประเมินสถานการณ์มลพิษผิดพลาด เสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของประชาชนแท้จริง อาจไม่ใช่ดัชนีคุณภาพอากาศที่ถูกกำหนดตามมาตรฐานอุตสาหกรรมและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น
2. ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อไม่ให้มลพิษอากาศเข้ามาสะสมในอาคาร และใช้เครื่องฟอกอากาศประสิทธิภาพสูง (high efficacy particulate air filter, HEPA filter)ซึ่งสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ถึง 99.7% ในอาคารที่มีขนาดเหมาะสมกับปริมาตรห้อง เช่น ห้องทำงาน ห้องเรียน หรือห้องที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน ข้อควรระวังหากปิดห้องสนิทจนอากาศภายในและภายนอกไม่สามารถถ่ายเทกันได้ระบบไหลเวียนอากาศไม่เพียงพอ (ทำให้รู้สึกอึดอัด ปวดหรือมึนศีรษะ อ่อนล้า) แนะนำให้เปิดพัดลมระบายอากาศออกร่วมด้วย หรือหากไม่มีพัดลมระบายอากาศออก อาจเปิดแง้มห้องเพื่อช่วยในการระบายอากาศเป็นระยะ ๆ แต่สำหรับห้องที่มีร่องหรือรอยแตกอยู่บ้างแล้วเช่นตามขอบประตูหน้าต่าง ฝาผนังหรือพื้นถือว่ามีการช่วยระบายอากาศอยู่บ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสภาพห้องแบบใด ควรมีเครื่องตรวจวัดค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 แบบพกพาราคาถูกเพื่อวัดประสิทธิภาพของการฟอกอากาศ และติดตามค่าในอากาศที่อยู่รอบตัวเอง (microenvironment) จนค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 หรือค่าดัชนีคุณภาพอากาศลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับแต่ละบุคคล
3. ควรสวมหน้ากากชนิด N-95 เมื่ออยู่นอกอาคาร หรืออยู่ในอาคารที่ไม่มีระบบหรือเครื่องฟอกอากาศเพราะสามารถกรองมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แต่จำเป็นต้องสวมให้ถูกวิธี โดยต้องเลือกขนาดที่ใส่ได้กระชับกับรูปจมูกและใบหน้า หากเริ่มอึดอัดหรือเหนื่อยให้ถอดออกเพียงชั่วครู่ก็จะรู้สึกสบายขึ้นแล้วรีบสวมใหม่ ทำสลับกันไปเช่นนี้จนค่ามลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 หรือค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยกับตนเอง การใส่หน้ากากN95 ที่มีวาล์วระบายลมหายใจออกจะทำให้อึดอัดน้อยลง และใส่ได้นานขึ้น ไม่แนะนาให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
4. หลีกเลี่ยงการทำงาน การออกกำลังกายนอกอาคารหรือในอาคารที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ โดยเฉพาะการทำงานหรือออกกาลังกายอย่างหนักและต่อเนื่องนาน ๆ เพราะทำให้สูดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 เข้าปอดและร่างกายได้มากกว่าปกติหลายเท่า อาจทำให้โรคที่ซ่อนเร้น เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบแคบอยู่แล้วแต่ไม่ปรากฏอาการ โรคภูมิแพ้โพรงจมูกและหอบหืดที่มีการอักเสบและมีความไวเกินของเยื่อบุต่อการถูกกระตุ้นอยู่แล้วแต่ยังไม่ปรากฏอาการเกิดกำเริบเฉียบพลัน เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ อาจต้องงดการทำงานหรือออกกำลังกายขึ้นกับระดับมลพิษPM2.5 และคุณภาพอากาศในช่วงเวลานั้นและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล
5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ แม้จะมีระบบปรับอุณหภูมิอากาศให้รู้สึกเย็นสบาย เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ ภายในอาคารเล่านี้หากดูด้วยสายตามักไม่เห็นความพร่ามัวของอากาศในอาคารจากฝุ่นมลพิษที่หนาแน่น และจะไม่ได้กลิ่นเผาไหม้หากไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาไหม้ ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในอาคารดังกล่าว ควรใช้เวลาให้น้อยที่สุดและควรสวมหน้ากาก N-95 และทำตามคำแนะนำข้อ3
6. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรังเช่นหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการสูดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ได้เร็วกว่าคนปกติ จึงไม่ควรขาดนัด ขาดยาที่แพทย์ให้ใช้ควบคุมโรคในช่วงมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 อยู่ในระดับสูงกว่าที่องค์การอนามัยโรคกำหนด และควรหมั่นสังเกตอาการ โรคกำเริบ ถ้ามีอาการกำเริบควรใช้ยาหรือรักษาเบื้องต้นตามที่แพทย์เคยแนะนำ และไปพบแพทย์โดยเร็วหากอาการไม่ทุเลาจนเป็นปกติ
7. ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือแข็งแรง ถ้ามีอาการผิดปกติที่รบกวนชีวิตประจำวันควรรีบพบแพทย์ เช่นกัน อาการสำคัญที่ควรรีบไปพบแพทย์อย่างฉุกเฉิน ได้แก่ แน่นอกหรือเจ็บอกหรือเจ็บท้องใต้ลิ้นปี่เหมือนมีของหนักกดทับ เหนื่อยหอบผิดปกติ ปวดมึนศีรษะ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าหรือแขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน มองไม่เห็นฉับพลัน มีอาการไอแบบระคายเป็นชุด ไอมีเสียงดังหวีด มีไข้และหอบเหนื่อย เป็นต้น
8. สวมแว่นตาขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันดวงตาจากมลพิษ ใช้น้ำเกลือมาตรฐานล้างตาหรือใช้น้ำตาเทียมหยอดตาหากรู้สึกระคายเคืองตา
9. ใช้น้ำเกลือล้างจมูก เมื่อมีอาการคัดแน่นจมูกหรือมีมูกเมือกในโพรงจมูกเพื่อล้างเมือกมูกเมือกและฝุ่นหยาบ ลดอาการคัดจมูก หรือ กลั้วคอ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ แต่การใช้น้าเกลือล้างจมูกไม่สามารถล้างฝุ่นละเอียดออกจากเยื่อบุโพรงจมูกได้ เพราะฝุ่นละเอียดเหล่านี้จะซึมซับเข้าในผนังเยื่อบุและเส้นเลือดฝอยทันทีที่สูดเข้าไป
10. ไม่เป็นผู้ก่อมลพิษเองหรือเลี่ยงการก่อมลพิษเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อมลพิษในอาคาร ได้แก่ ไม่กวาดในอาคาร ควรใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือใช้ผ้าเปียกชื้นเช็ดถู ไม่สูบบุหรี่ ไม่จุดเตาหุงต้ม ไม่ก่อสร้างต่อเติมหรือทำสีอาคาร ไม่ก่อมลพิษนอกอาคาร ได้แก่ ไม่เผาทุกชนิดในที่โล่ง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้รถโดยไม่จำเป็นและไม่ใช้รถดีเซล หรือรถควันดำ
บทสรุป
มลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 เป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุกคามชีวิตและสุขภาพของมวลมนุษยชาติทุกประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ แต่มวลมนุษยชาติไม่ค่อยร่วมมือใส่ใจจริงจังในการลดระดับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เนื่องมาจากประชากรที่เพิ่มขึ้นและอยู่อาศัยกันหนาแน่นขึ้น มีการพัฒนาการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมมากขึ้นทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการคมนาคมที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง อุตสาหกรรมการเกษตรที่มีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่และเพื่อทำลายซากเกษตร ตลอดจนการเกิดไฟป่าทั้งจากน้ามือมนุษย์และจากภัยธรรมชาติ แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูงจะประสบความสำเร็จในการลดหรือชะลอการเพิ่มขึ้นระดับมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 เพิ่มขึ้นหลายประเทศโดยในช่วงระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมามีการใช้เชื้อเพลิงคุณภาพสะอาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่ออุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 น้อยลง แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย-ปานกลางยังคงขาดแคลนอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่กลับมีการเร่งการผลิตสูงขึ้นเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทำให้ในภาพรวมมลพิษฝุ่นละเอียดPM2.5 จึงมีแนวโน้มที่จะยังคงครองตำแหน่งมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการคุกคามชีวิตและสุขภาพของมวลมนุษยชาติดังกล่าวต่อไปอีกยาวนาน เว้นแต่ทุกประเทศร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสร้างสมดุลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจสีเขียว (green economy)25 เพื่อการพัฒนาสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนเหมือนที่หลายประเทศประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างคุ้มค่ากับการลงทุนในการพัฒนาแบบเศรษฐกิจสีเขียวดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
1. GBD 2015 Risk Factors Collaborators (2016) Global, regional, and national comparative risk assessment of 79 behavioral, environmental and occupational, and metabolic risks or clusters of risks, 1990– 2015: A systematic analysis for the global burden of disease study 2015. Lancet 388:1659– 1724
2. Burnett R, Chen H, Szyszkowicz M, Fann N, Hubbell B, Pope III CA, et al. Global estimates of mortality associated with long-term exposure to outdoor fine particulate matter. PNAS 2018; 115:9592-7
3. Lelieveld J, Pozzer A, Po schl U, Fnais M,Haines, A Mu nze T.Loss of life expectancy from air pollution compared to other risk factors: a worldwide perspective. Cardiovascular Research2020; 116:1910–7.
4. Carlos I. Falcon-Rodriguez, Alvaro R. Osornio-Vargas, Isabel Sada-Ovalle, Patricia Segura-Medina. Aeroparticles, Composition, and Lung Diseases. Front Immunol. 2016; 7: 3. Published online 2016 Jan 20. doi: 10.3389/fimmu.2016.00003
5. Long C.M, Nascarella MA, Valberg PA. Carbon black vs. black carbon and other airborne materials containing elemental carbon: physical and chemical distinctions. Environmental Pollution2013;181:271-86
6. Chantara S, Thepnuan D, Wiriya W, Prawan S, Tsai YI. Chemosphere 2019; 224:407-416
7. Yang Yang, Zengliang Ruan, Xiaojie Wang, Yin Yang, Tonya G, Mason Hualiang, et al.
Short-term and long-term exposures to fine particulate matter constituents and health: A systematic review and meta-analysis. Environmental Pollution2019; 247:874-82
8. American Thoracic Society. What Constitutes an Adverse Health Effect of Air Pollution? Am J Respir Crit Care Med 2000; 161: 665–673
9. Shuai Yin, Xiufeng Wang, Xirui Zhang, Meng Guo, Moe Miura Yi Xiao. Influence of biomass burning on local air pollution in mainland Southeast Asia from 2001 to 2016. Environmental Pollution2019; 254(Part A):
10. Phairuang W, Suwattiga P, Chetiyanukornkul T, Hongtieab S, Limpaseni W, Ikemori F, et al. The influence of the open burning of agricultural biomass and forest fires in Thailand on the carbonaceous components in size-fractionated particles. Environ Pollut. 2019 Apr; 247:238-47
11.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง, สิทธิชัย พิมลศรี. การประเมินผลกระทบจากการเผาชีวมวลต่อระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ในช่วงที่มีปัญหาหมอกควันในพื้นที่ประเทศไทยโดยใช้แบบจาลอง WRF-CMAQ. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2561; 1:34-48
12. Duc HN, Bang HQ, Quang NX. Modelling and prediction of air pollutant transport during the 2014 biomass burning and forest fires in peninsular Southeast Asia. Environ Monit Assess2016 ; 188:106
13. Phairuang W, Hata M, Furuuchi M Influence of agricultural activities, forest fires and agro-industries on air quality in Thailand. J Environ Sci (China). 2017Feb;52:85-97
14. Worasom K. http//towardsdatascience.com
15. Wong CM, Vichit-Vadakan N, Kan H, Qian Z. Public Health and Air Pollution in Asia (PAPA): a multicity study of short-term effects of air pollution on mortality. Environ Health Perspect2008; 116:1195-1202
16. Guo Y, Li S, Tawatsupa B, Punnasiri K, Jaakkola JJ, Williams G. The association between air pollution and mortality in Thailand. Sci Rep 2014; 4:5509
17. Phosri A, Ueda K, Phung VL, Tawatsupa B, Honda A, Takano H. Effects of ambient air pollution on daily hospital admissions for respiratory and cardiovascular diseases in Bangkok, Thailand. Sci Total Environ 2019; 651:1144-53
18. Pothirat C, Chaiwong W, Liwsrisakun C, Bumroongkit C, Deesomchok A,Theerakitikul T, et al. The short-term associations of particular matters on non-accidental mortality and causes of death in Chiang Mai, Thailand: a time series analysis study between 2016-2018. Int.J.Environ. Health Research 2019; 1:1-10
19. Pothirat C, Chaiwong W, Liwsrisakun C, Bumroongkit C, Deesomchok A,Theerakitikul T, et al. Acute effects of air pollutants on daily mortality and hospitalizations due to cardiovascular and respiratory diseases. J Thorac Dis2019; 11:3070-83.
20. Pothirat, C.; Tosukhowong, A.; Chaiwong, W.; Liwsrisakun, C.; Inchai, J. Effects of seasonal smog on asthma and COPD exacerbations requiring emergency visits in Chiang Mai, Thailand. Asian Pac. J. Allergy. Immunol2016, 34, 284–289.
21. Pothirat C, Chaiwong W, Liwsrisakun C, Bumroongkit C, Deesomchok A,Theerakitikul T, et al. Influence of Particulate Matter during Seasonal Smog on Quality of Life and Lung Function in Patients with Chronic Obstructive Pulmonary Disease. Int. J. Environ. Res. Public Health 2019; 16: 106
22. World Health Organization. Air Quality Guidelines. Global update 2005 Particulate matter, ozone, nitrogen dioxide and sulfur dioxide
23. World Health Organization. REVIHAAP Project: Technical Report2013
24. Kanchan K, Gorai AK, Goyal P. A Review on Air Quality Index System. Asian Journal of Atmospheric Environment 2015;9: 101-113
25. Wikipedia. Green Economy. https://en.wikipedia.org/wiki/Green_economy