ที่ว่า 1 ปีนั่นเพราะนับจากหมุดหมายที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ ลุกขึ้นรวมตัวกันเป็น “สภาลมหายใจเชียงใหม่” ประกาศจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาฝุ่นควันที่นับวันจะทวีความรุนแรงกันซะที หลังทนดูการจัดการของภาครัฐฝ่ายเดียวมานานไม่ไหว จึงก่อตัวเป็น กลุ่มเชียงใหม่จะไม่ทน:ประชาคมสนทนาขึ้น เมื่อสิงหาคม 2562 (ชื่อกลุ่มเมื่อก่อตั้งไม่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ความเห็นทางการเมืองในปี 2563 แต่อย่างใด)
แต่หากนับจากหมุดหมายของการทวีความรุนแรงของปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่และภาคเหนือรวมแล้วกว่า 20 ปี ในช่วงนั้น ผู้เขียนยังเป็นผู้สื่อข่าวที่รายงานข้อสังเกตุของกลุ่มนักวิชาการเล็กๆ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งภาวะ กบต้มสุกของคนเชียงใหม่ที่ถูกรมอยู่ในแอ่งเมือง ผู้ป่วยจากโรคมะเร็งปอดคนเหนือที่มีจำนวนสูงขึ้นมาก ค่า PM.10 ต่อเนื่องที่น่าตกใจ แต่เอาล่ะ ในที่นี้จะขอถือว่าเรากำลังก้าวสู่ปี 15 ของการแก้โจทย์ฝุ่นควันอย่างเป็นทางการ ก็นับตรงที่ปัญหานี้ถูกประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2550
เชื่อว่า ยังพอจำกันได้ 2561 เป็นปีที่ฝุ่นโหมเข้าเชียงใหม่หนักหน่วงจากสภาวะอากาศกด ปีนั้นได้เกิดนวัตกรรมเอาชีวิตรอดหลายอย่างเช่น หน้ากาก DIY เครื่องฟอกอากาศ DIY ห้องปลอดฝุ่น และที่สำคัญคือเครื่องวัดฝุ่นราคาประหยัดแบบเรียลไทม์ที่นักวิชาการหลายสำนักพัฒนาขึ้นมาตามยุคสมัยของ digital และการรณรงค์อย่างหนักหน่วงของประชาชนจนส่งผลสะเทือนเป็นปัจจัยหนึ่งที่กรมควบคุมมลพิษต้องประกาศ ค่า PM.2.5 ควบคู่กับค่า PM 10 เพื่อเตือนและเฝ้าระวังอันตรายต่อสุขภาพ
นับจากนั้น ชาวเชียงใหม่ระบุว่า จะต้องมีส่วนผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างเอาจริงเอาจัง พวกเขารวมตัวกันเป็น “สภาลมหายใจเชียงใหม่” นอกจากรณรงค์ทำกิจกรรมลดฝุ่นควันหลายลักษณะ สื่อสารสร้างความเข้าใจมิติของปัญหาฝุ่นควันที่เหลื่อมทับกับปัญหาภูมิประเทศคือพื้นที่ป่า วิถีชีวิต และความเหลื่อมล้ำบนดอยสูง ระบบการผลิตพืชเชิงเดี่ยว พวกเขายังมองว่ากลไกการทำงานกับหน่วยราชการเป็นส่วนสำคัญที่ต้องผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไข 1 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจเป็นแพลตฟอร์มเราพยายามเป็นพื้นที่กลางของภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกองค์กรที่อยากจะแก้ปัญหาเรื่อง PM 2.5 จะมีตั้งแต่ชุมชน สภาองค์กรชุมชน ประชาสังคม ภาควิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชนทุก ๆ กลุ่ม รวมทั้งภาครัฐที่ทำงานร่วมกัน สิ่งที่พวกเราร่วมมือกันลุกขึ้นมาทำเป็นการสรุปบทเรียนครั้งใหญ่และเราได้พูดคุยกันหลายรอบ สรุปบทเรียนทั้งส่วนของภาคประชาชนเอง ทั้งของภาครัฐก็เชื่อมโยงกันมาโดยตลอด
ขณะนี้เรากำลังเปลี่ยนหลาย ๆ เรื่อง เปลี่ยนจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปีต่อปี มาเป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งในปีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันแบบบูรณาการยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ขึ้นมาจัดการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เริ่มทำงาน เริ่มวางแผน คุยกันปฏิบัติการกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนจะแต่งตั้งช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ต่อมาคือเรามองที่สาเหตุ และคิดว่าจะแก้ปัญหาจากทุกสาเหตุ ที่ผ่านมาเรามักจะมองไปที่พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร เพราะ Hot Spot จับได้แค่เฉพาะพื้นที่ที่มีไฟ แต่รถยนต์ในเมืองเราไม่ค่อยคำนึงถึง ที่จริงรถยนต์หนึ่งคันเปรียบเหมือนกองไฟ 1 กองที่ปล่อย PM 2.5 ตลอด 365 วัน แต่มันจับ Hot Spot ไม่ได้
“ตอนนี้คือว่าทุกส่วนไม่ว่าจะคมนาคม ขนส่ง โรงงานก่อสร้างพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้านต้องถูกบูรณาการในแผน ต้องขับเคลื่อนกันอย่างหนักมาก ต้องใช้เครื่องมือคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และที่สำคัญเราเสนอแนวทางใหม่ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ใช้ชุมชนเป็นเกณฑ์หลัก และในชุมชนขณะนี้เราพบแกนว่า อปท. สภาองค์กรชุมชน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน ต้องมาผนึกกำลังสร้างแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่โยงมาที่อำเภอและ โยงมาที่จังหวัด”
ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากภาคประชาชนขับเคลื่อนแล้ว เราอยากจะเห็นการสนับสนุนในเชิงนโยบาย ซึ่งขณะนี้ทางภาคธุรกิจหรือทางหอการค้าได้ผลักดันแล้ว คือ ร่างพรบ.อากาศสะอาด และเครือข่ายอากาศสะอาดที่กรุงเทพมหานครก็มีร่าง และมีอีก 1 พรรคการเมืองเสนอร่างเข้ามามี 3 ร่างแล้ว คิดว่าต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน แต่สิ่งที่ภาคประชาชนอยากจะเห็นแผนยุทธศาสตร์ อยากเห็นกลไกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยากเห็นการปลดล็อกระเบียบ นโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ที่มาเอื้อกระบวนการทำงานและการมีส่วนรวมของภาคประชาชนด้วย
“ธงของเรา ณ ขณะนี้ คือ 1.ลด PM 2.5 อย่างยั่งยืนให้ได้โดยเน้นการป้องกัน 2. เพิ่มหรือเน้นฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่ป่า 3. ลดความขัดแย้ง ลดช่องว่างแปลงเป็นความร่วมมือ เราคุยกันว่าโดยหลักการขับเคลื่อน อยากให้เป็นความร่วมมือไม่โทษกันไปโทษกันมา แล้วใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและหลักทางวิชาการเข้ามาช่วยดูเรื่องของระบบนิเวศในแอ่ง ปริมาณ PM 2.5 การจัดการไฟ การบริหารเชื้อเพลิงที่มีหลักวิชาการและทุกฝ่ายยอมรับ คิดว่าถ้าเราสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับนโยบายเชื่อว่าปัญหานี้จะแก้ได้”
คมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งทั้ง ภาคประชาชน นักศึกษาและองค์กร ซึ่งทำงานตามความถนันของแต่ละคนของแต่ละภาคส่วนมาร่วมทำ ภาคราชกาเหมือนเป็นพี่เลี้ยงคอยประคับประคอง เป็นฝ่ายเลขาที่คอยช่วยเหลือ ในเรื่องของธุรการ เชื่อว่าจากเหตุผลตรงนี้และจากแนวทางที่เรากำหนดเอาไว้จะนำไปสู่เรื่องของความท้าทาย ในปีหน้าแต่ละภาคส่วนเองได้กำหนดแนวทางของตัวเองแล้ว ถ้าทำได้ตามแนวทางเชื่อว่าปัญหา PM 2.5 จะได้รับการแก้ไขเป็นอย่างมาก ในส่วนราชการก็ดำเนินการเต็มที่ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ถ่ายโอนภารกิจบางประการให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลรักษาผืนป่าในท้องที่ของตัวเอง ประชาชนในพื้นที่มีส่วนทำให้เกิด PM 2.5 และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา
“ผมเชื่อว่าแนวทางภาคราชการเองให้ความสำคัญของภาคประชาชน ภาคขององค์กรส่วนท้องถิ่น เชื่อเป็นการเดินมาถูกทาง ในส่วนของภาควิชาการ เชียงใหม่เราโชคดีที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีนักวิชาการเชื่อมโยงความรู้ความชำนาญการในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาช่วยในกิจการราชการอย่างต่อเนื่องทั้งเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นชัดเป็นกลุ่มเป็นก้อนชัดเจนอาจจะอยู่ในสภาลมหายใจและ ในกลุ่มต่างๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองถ้าสัมฤทธิ์ผลตามที่เรากำหนดไว้ เช่นในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการทำพื้นที่สีเขียว รถบริการสาธารณะ ทำโซนนิ่งต่าง ๆ ไว้ตามที่ได้กำหนดไว้เชื่อว่าถ้าถึงคราวนั้น ในคราวที่ฤดูร้อนหน้าเข้ามาถึงนั่นเป็นช่วงที่คาดว่าเราจะมีความพร้อมในการป้องกันไว้พอสมควร”
ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในนามนักวิชาการที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้นแต่หมายถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกหลายแห่งในเชียงใหม่ที่ลงมือทำในเรื่อง PM 2.5 ซึ่งที่ปัญหาสะสมมานาน สถาบันการศึกษาซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาของพื้นที่ก็ใช้ข้อมูลและความเป็นวิชาการในการแก้ปัญหา เพราะหากไม่ใช้ข้อมูลทางวิชาการในการแก้ปัญหาอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงหรือผิดทางได้ ซึ่งนอกจากจังหวัดเชียงใหม่ได้ทุ่มงบประมานไปยังระบบต่าง ๆ ในการศึกษาเรื่องนี้มากมาย รวมถึงมีหลายหน่วยงาน เช่น สสส.ที่เป็นกลไกสนับสนุนให้มีการศึกษาด้านวิชาการในระดับพื้นที่จนนำไปสู่การมีข้อมูลที่ชัดเจน เช่น สาเหตุของปัญหาฝุ่นควัน สัดส่วนของฝุ่นควัน กล่าวโดยสรุป สาเหตุหลักแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.จากพื้นที่ในเขตเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าขาย ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งแม้ไม่ได้เป็นสัดส่วนใหญ่ การก่อสร้างในช่วงที่มีการขยายตัวของความเป็นเมือง การขนส่งไม่ว่าจะเป็นฝุ่นข้างทาง ตัวเครื่องจักร ที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ ส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งแม้ในส่วนภาคเหนือไม่ได้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักก็ตาม แต่ว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิด PM 2.5 ในหลายรูปแบบ 2.กลุ่มที่เกิดจากการเผาในที่โล่งซึ่งรวมถึงพื้นที่ในเขตป่า พื้นที่ในชุมชน เช่น การเผาขยะ การเผาวัสดุทางการเกษตรส่วนที่เป็นข้าวโพด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นสาเหตุใหญ่มาก 3.พบแหล่งหมอกควันที่เกิดขึ้นในเขตข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนนี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ได้มาจาการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งมีศูนย์ GISTDA ทำงานร่วมกับทางศูนย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้นใน 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่ายังพบว่ามีฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากการเผา ในภาคกลาง ข้ามแดนขึ้นมาถึงภาคเหนือ
“เมื่อเราทราบสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้แล้วในแง่ของการที่จะนำไปสู่การป้องกัน หรือการแก้ปัญหา คือในฝั่งของสุขภาพมีการให้ข้อมูลประชาชนในเรื่องของการดูแลป้องกันตัวเองอย่างไร หรือทางด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี ช่วยกันระดมเครื่องมือในการที่จะป้องกัน SAFE ZONE มากมาย ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่จะป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ในฝั่งด้านสังคมมนุษย์ มีความพยายามจะหาระบบที่แก้ปัญหาได้เป็นอย่างไร มองในมุมของมาตรการของภาครัฐและมาตรการทางประชาสังคม มาตราการทางกฎหมาย ลองถอดจากปัญหาที่เกิดขึ้น จากระบบการแก้ไขปัญหาและศึกษาเปรียบเทียบจากกรณีของหลายประเทศเขามีกลไกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เรื่องของกฎหมายอากาศสะอาดซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็น 2 แนวคิดหลัก ในการที่จะสู่การวางระบบต่อไปในอนาคตข้างหน้า
อ.ไพสิฐ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในเรื่องของการแก้ปัญหา ภาครัฐให้ความสำคัญและทุ่มงบประมาณมามากมาย เกิดคำถามว่าระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมาทำไมปัญหาไม่หมดไปจากภาคเหนือรวมถึงยังขยายตัวไปยังภาคอื่น ๆ ด้วยอย่างเช่นภาคอีสาน ภาคใต้ก็มีปัญหาเหมือนกัน จากการศึกษาพบว่าในประเทศไทยเราเองระบบในการวางเพื่อแก้ปัญหาตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมไฟไหม้ฝนแล้ง หมายความว่าต้องรอให้เกิดภัยมาก่อนจึงทำให้นำไปสู่การทำให้กลไกต่างๆ ทำงาน ในขณะที่ PM. 2.5 การใช้ฐานคิดแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้ เลยต้องนำมาสู่การปรับเปลี่ยนตัวกฎหมาย กฎระเบียบ วิธีการทำงาน วิธีคิด โครงสร้างองค์กรปรับระบบต่าง ๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบราชการที่ไม่ได้เกิดการบูรณาการขึ้นมา รวมถึงนำไปสู่การต้องเปลี่ยน mind set กลไกในการแก้ปัญหาที่ต้องเน้นเรื่องของการป้องกันมากกว่าเรื่องของการแก้ไข เหมือนที่ท่านรองผู้ว่าให้ภาพไปเมื่อกี้ว่า จุดเริ่มต้นที่เราเริ่มทำตั้งแต่ตอนต้นๆ
สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายซึ่งเป็นผลกระทบที่มาจากอากาศสะอาด ด้านความสำคัญกับเรื่องของการมีอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐคงจะต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดคือจึงเป็นสิทธิที่เกิดกฎหมายฉบับนี้ผ่านงานของรัฐสภามาได้จะเป็นการสถาปนาที่ในอากาศสะอาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การวางระบบในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ใหม่ ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ใช้ช่องทางของการที่ประชาชนร่วมลงชื่อมา 10,000 ชื่อได้การสนับสนุนของหอการค้าในภาคเหนือซึ่งเป็นตัวตั้งตัวดีหลักของการของเชียงใหม่ได้ผลักดันและ รวบรวมรายชื่อครบ 10,000 รายชื่อส่วนใหญ่ให้กับรัฐสภาการที่จะนำเอากฎหมายฉบับนี้บรรจุวาระในการพิจารณาและเวลานี้อยู่ในช่วงของการตรวจสอบรายชื่อ สิ่งนี้เป็นภาพใหญ่ ๆ ของบทบาทภาพวิชาการดำเนินการอย่างไรบ้าง สุดท้ายคือ ท่านอธิการบดีเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้จึงจัดตั้งศูนย์ข้อมูลวิชาการข้อมูลการแก้ปัญหาหมอกควัน ได้มีการทำโครงการ CMU Model เป็นลักษณะของการที่จะเซ็ตรูปแบบในการที่จะเข้าไปบูรณการในพื้นที่โดยทีม มช. รวมถึงเครือข่ายของนักวิชาการด้านอื่น ๆ จะเข้าระดมแล้วไปช่วยลิสตัวโมเดลที่จะแก้ปัญหาว่าหากเรามองในพื้นที่ขึ้นมา รูปแบบที่เกิดการแก้ปัญหายั่งยืนในเรื่องของปัญหาฝุ่นควันจะออกมารูปแบบแบบไหน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ท่านสามารถจะสอบถามได้จากผู้ทรงคุณวุติ ซึ่งมีบูธและผู้ให้ข้อมูลอยู่ด้วย
ไพรัช โตวิวัฒน์ ตัวแทนภาคคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่นควัญก่อให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ หรือกระทบต่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ การอยู่อาศัย ท่องเที่ยว หากยังคงปล่อยให้มีฝุ่นควันอย่างต่อเนื่อง ลำดับความน่าอยู่ของของจังหวัดจะลดลงเรื่องๆ จากการจัดอันดับของกลุ่ม DigitalNomad ที่เคยให้อันดับเชียงใหม่ที่ 1-5 ตกไปอันดับที่ 87 ในช่วงที่มีฝุ่นควัน ดังนั้นภาคเอกชนรวมกันโดยมี กกร.ร่วมทำงานกับภาคเอกชนเป็นคณะทำงานร่วมด้วยกัน จัดตั้งเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้นมาดังนั้นจะมีผู้ร่วมภาคเอกชนต่าง ๆ เป็นผู้ร่วมและมีทางด้านวิชาการได้เห็นความสำคัญเป็นผู้ถือหุ้นของเชียงใหม่เพื่อวิสาหกิจเพื่อสังคม สิ่งที่ทำคือ เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการที่เราจะเป็นการที่ลงมือในระดับมีบริษัทที่รับผิดชอบโดยตรง สิ่งที่เรามาทำคือการจัดหาทุน หาตลาดเรื่องของงานด้านวิชาการให้กับเกษตรกรที่ติดกับเรื่องของการปลูกพืชที่ก่อมลพิษ ได้รายได้น้อย เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เราได้รวบรวมเป็น ธกส. บริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการขายผลผลิต และรวมถึงรวบรวมทางด้านวิชาการต่าง ๆ ในการเพาะปลูกมาด้วยกัน
“ปีนี้สิ่งที่เราทำอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการระดมทุน เราจะใช้เทคโนโลยีของ Blockchain มาร่วมระดมทุน เพื่อเอามาชดเชยให้กับเกษตรกรที่ร่วมโครงการ การจัดหาความพร้อมต่าง ๆ เพื่อให้หมู่บ้านที่เข้ามาร่วมโครงการได้ปลูกพืชเปลี่ยนพืชเปลี่ยนอาชีพ ที่มีผลผลิตและมีมูลค่าสูงกว่าให้กับทางด้านเกษตรกรเพื่อไม่ให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มาทำลายสิ่งแวดล้อม ในปีนี้จะมีเรื่องของการระดมทุนและคนบริจาคและสามารถติดตามได้ว่าเงินที่บริจาคไปลงในพื้นที่ไหน แล้วเกิดผลอย่างไรบ้างเรื่องหลักๆ และเป็นบทบาทที่ทำในปีนี้”
บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ ในฐานะสื่อมวลชนอิสระ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันเป็นความท้าทายในด้านการสื่อสารของนักสื่อสารมาก เพราะโจทย์เรื่องนี้ยิ่งใหญ่ยิ่งโตเรื่อย ๆ ปี 2550 เป็นปีแรกที่เอามีการนำเรื่องนี้เข้าเป็นมติคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกและจนถึงปัจจุบันซึ่งกำลังจะเข้าปีที่ 15 แล้วที่เรายังคงอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นตนจึงแบ่งยุคของการแก้ปัญหาฝุ่นควันคือ
ยุคที่ 1 การผลักดันของประชาชนและกลุ่มวิชาการในเชียงใหม่ที่พยายามดันปัญหานี้มาหลายปี พยายามนำเสนอเรื่องภูมิศาสตร์แอ่งเชียงใหม่ลำพูนกับปัญหาฝุ่นควัน สถิติคนเป็นมะเร็งปอดสูง แต่เสนอเรื่องนำเสนอเข้าราชการในที่ศาลากลางจังหวัด ไม่ได้รับความสนใจเรื่องนี้จนกระทั่งรัฐบาลรับเข้าไปเป็นมติ ครม. ในปี 2550
ยุคที่ 2 เป็นยุคกลาง หรือยุคมืด คือเป็นยุคที่แน่นิ่งใช้การวัดค่าฝุ่นเป็น PM 10 ซึ่งระดับความรุนแรง เมื่อเทียบกับ 2.5 แตกต่างกันมาก แต่ยุคนั้น ต่อให้ PM 10 แรงแค่ไหนถ้าเปรียบเทียบกับ PM 2.5 เรายังยิ้มได้อยู่ เพราะฉะนั้นความรู้สึกของสังคมกระตุ้นอย่างไรก็ยังไม่รู้ว่านี่เป็นปัญหาที่รุนแรง จึงเกิดความลักลั่นทางด้านนโยบายจะเอาอย่างไรดีกันแน่ เกรงกลัวผลกระทบทั้งด้านการท่องเที่ยว และเรื่องต่าง ๆ มันไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาในแต่ละปีหมุนเวียนไปเป็นจังหวะมีงบประมาณมาเพื่อแก้ในแต่ละจังหวะ ส่วนใหญ่ก็ดับไฟป่า
ยุคที่ 3 เป็นยุคของการสร้างมาตรฐานใหม่ที่มีปัจจัยแรกคือ การรณรงค์ใช้ค่า PM 2.5 เป็นการณรงค์ตั้งแต่กรีนพีซและระดับพื้นที่ด้วย รณรงค์กันมาตั้งนานแล้วแต่พึ่งจะมาประกาศใช้เมื่อปี 2561 ได้ใช้จริง ๆ ในปี 2562 ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่รวมทั้งมือถือให้เราได้ดูค่าอากาศแบบเรียลไทม์ได้ด้วย ภาพถ่ายดาวเทียมก็ชัดเจนขึ้น มันเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของคนไปด้วย จึงเกิดการกระเพื่อมของการตื่นขึ้นมา ซึ่งในทางการสื่อสารพบว่าสิ่งที่เราไม่รู้เยอะไปหมด เมื่อก่อนเราแค่คิดว่า เราแค่สื่อสารว่า PM 2.5 คืออะไรเส้นผมคนผ่าซี่เท่านี้เท่านั้นแล้วคนจะตกใจ แต่ปรากฏว่าพอนำเสนอไปคนไม่ตกใจนี่เป็นโจทย์ของการสื่อสาร
“จริง ๆ แล้วปริมณฑลของการสื่อสารของนักสื่อสาร สำหรับผมจำแนกออกมาเป็นภูเขา 4 ลูก
ภูเขาลูกที่ 1 คือปฏิบัติการ คือก่อนหน้านี้ เมื่อมีไฟมา เกิด Hot Spot เจ้าหน้าที่ก็ไปดับ ก่อนหน้านี้ไม่ได้เอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เข้ามาจริง ๆ ทางฝ่ายราชการเขาบอกว่าเขามอบอำนาจให้ อปท. แล้ว อปท.ไม่เห็นทำเลย ปีนี้เราพบว่าจะต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดปฏิบัติการร่วม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังดำเนินการเพื่อให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการทำงาน และเป็นปฏิบัติการเพื่อการป้องกันมากกว่าการไล่ตามฝุ่น
ภูเขาลูกที่ 2 นอกจากเรื่องของข้อมูลข่าวสารความรู้ ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่มีการนำเสนอเรื่องภาวการณ์กดอากาศ คืออากาศมักกดลงมา เป็นการที่อากาศบีบในช่วงเดือนปกติ อากาศมันยกสูงเกิน 10 กิโลเมตรจากพื้นดิน แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเมษายน ลดลงมา 3-4 กิโลเมตร อาจารย์หลาย ๆ ท่านก็มีความพยายามนำเสนอเรื่องของการเคลื่อนที่ต่าง ๆ ของภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ทั้งหมดที่เราพึ่งมารู้ รวมถึงการเคลื่อนของหมอกควันจากต่างประเทศซึ่งเรื่องพวกนี้รวมทั้งการรณรงค์ ความรู้นำมาสู่ความเข้าใจและการเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม เรื่องนี้จริงๆ แล้วเราก็พบว่าสิ่งนี้มันยังไม่ไปถึงไหนเลยนี่ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งรวมทั้งสื่อสารมวลชนที่จะต้องเข้าไปนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ด้วย
ภูเขาลูกที่ 3 เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนการผลิต รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ สภาลมหายใจเชียงใหม่มีการดำเนินการไปจับคู่พื้นที่ผลิตผลทางการเกษตรกับ อปท. ต่าง ๆ รวมทั้งทางหอการค้าด้วยที่พยายามเปลี่ยนข้าวโพดให้เป็นการผลิตอย่างอื่น ในเมืองจีนเขาเปลี่ยนการผลิตเป็นนโยบายให้เปลี่ยนการผลิตใหญ่ของเขา เขาจึงเอาชนะปัญหามลพิษของเขาได้ ทีนี้การเปลี่ยนการผลิตต้องใช้นโยบายระยะยาว ความเจตจำนงของการแน่วแน่ทางนโยบายเพื่อให้แก้ เรื่องนี้ควรมีการผลักดันและเรากำลังทำอยู่
ภูเขาลูกที่ 4 ลูกสุดท้ายคือเจตจำนงทางการเมือง รวมทั้งเจตจำนงทางนโยบาย ซึ่งภาควิชาการในเชียงใหม่กำลังผลักดันเรื่อง พรบ.อากาศสะอาดซึ่งในแต่ละเรื่องมีรายละเอียดที่จะต้องสื่อสารเป็นระยะ
“เรารวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจ ต่างคนต่างต้องแบ่งงานทำหลากหลาย แต่ที่สุดแล้วรวมกันอยู่ในภายใต้ 4 เรื่องนี้ ซึ่งแต่ละเรื่องนี้ต้องผลักไปพร้อมกัน”บัณรสกล่าว
และภายใต้การทำงานหลายอย่าง อย่างเข้มข้นและหนักหน่วงต่อเนื่องในพื้นที่ ก็มีพื้นที่กลางอีกพื้นที่หนึ่ง ที่เชื่อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและอยู่ในกลไกการแก้โจทย์ฝุ่นควัน ทั้งภาคนโยบาย ประชาชน เอกชน ราชการ ภาควิชาการให้มาพบกัน คือ โครง Countdown PM2.5 : Chiang Mai ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย (Scenario Thailand Foundation) มาเป็นผู้จัดกระบวนการเป็นปีที่ 2
ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย หรือ (Scenario Thailand Foundation)กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. มูลนิธิฯ และจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีแก้ปัญหามลพิษ ทางอากาศ โดยระดมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสะท้อนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน พร้อมจัดทำเป็นแผนปฏิบัติแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สำเร็จและเป็นต้นแบบการทำงานให้กับพื้นที่อื่นๆ ที่กาลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานนี้ ทุกฝ่าย ต้องแบ่งปันข้อมูลกัน และเกิดกระบวนการเรียนรู้ความสำเร็จและความท้าทายจากการทำงานที่ผ่านมา
นายพิทยา จินาวัฒน์ ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.กล่าวว่า ปัญหาที่เรื้อรังมานานของภาคเหนือคือฝุ่นควัน ส่งผลกระทบหลายด้าน รวมทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า ของรัฐกับคนต่าง ๆ สสส.จึงเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของภาคีต่างๆในพื้นที่ โดยหลักของการทำงานเราจะดูว่าในพื้นที่ มีใครที่ทำงานบ้าง เราต้องการที่จะสนับสนุนในเรื่องของการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในระดับของชุมชนและระดับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดนวัตกรรมและจะขับเคลื่อนให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย
ข้อสังเกตุหนึ่งของผู้เขียนที่เป็นสื่อมวลชนและเข้าร่วมกระบวนการในโครงการ เคาท์ดาวน์ PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 พบว่าการเวิร์คช็อปเป็นเสมือนพื้นที่กลางที่สามารถทำให้คนจากหลายส่วน ที่กรอบคิดและภารกิจหน้าที่รับผิดชอบต่างกันที่ต่างเป็นคนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาฝุ่นควัน ได้มาพบ แลกเปลี่ยนกัน ที่สำคัญคือ ได้ รับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อม มองไปข้างหน้าอย่างมีความหวังและหาทางออก มากกว่าสาละวนอยู่ที่หน้าตัก
สิ่งที่ผู้ร่วมในกระบวนการปีที่ 2 มองภาพอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกันคือ การเกิดกลไกระดับชาติที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ออกแบบการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ ลดฝุ่นควันในเชียงใหม่ 40 %ใน 5 ปี และระหว่างนี้มีสิ่งที่ต้องทำอะไรอีกบ้างได้ร่วมกับระดมและวิเคราะห์กัน
1 ปีของการย้อนมองความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะฝ่าความซับซ้อนของปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่และเภาคเหนือ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังคงมีความหวัง ความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ทันควันและหาทางลดความเสียงของชีวิตเราจากปัญหานี้ให้ได้ เพราะเราต่างมีลมหายใจเดียวกัน