เรื่องเล่าของชาวแพสะแกกรัง (2)

เรื่องเล่าของชาวแพสะแกกรัง (2)

“ชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรังถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทยที่เหลืออยู่  เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี  มีประวัติศาสตร์  และวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษาเอาไว้  และการแก้ไขปัญหาชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังนี้  จะเป็นตัวอย่างในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างรอบด้าน  ครบทุกมิติ  ทั้งด้านที่อยู่อาศัย  สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  อาชีพ  รายได้  คุณภาพชีวิต  ตั้งแต่เด็ก  ผู้สูงวัย  คนพิการ  ด้อยโอกาส…..”  สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 11 กรกฎาคม 2563

ภาพเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังถ่ายในปี 2449 คราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี ด้านซ้ายมือปัจจุบันเป็นตลาดเทศบาล  ขวามือด้านบนเป็นวัดโบสถ์ (ภาพจากสมุดภาพเมืองอุทัยธานี  จัดพิมพ์โดยจังหวัดอุทัยธานี)

แผนเยียวยาฟื้นฟูแม่น้ำ-ชาวแพสะแกกรัง 127 ครอบครัว

จากปัญหาปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดน้อยลง  ทำให้ท้องน้ำหดแคบลง  เรือนแพหลายสิบหลังเกยตื้นขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง  ทำให้ลูกบวบพยุงแพเสียหาย  กอผักตบชวาไหลมารวมกันขวางกั้นการเดินเรือ  แม่น้ำบางช่วงเริ่มเน่าเสีย  เพราะปริมาณน้ำลดน้อยลงทำให้กระแสน้ำไม่ไหลเวียน  เกิดดินตะกอนในท้องน้ำ  ประกอบกับน้ำเสียจากชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำจึงยิ่งซ้ำเติมแม่น้ำสะแกกรังให้วิกฤต   ฝูงปลาที่เคยชุกชุมและเป็นแหล่งอาหาร  สร้างรายได้ให้ชาวเรือนแพเริ่มลดน้อยลง

ความเดือดร้อนของชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังเริ่มปรากฏเป็นข่าวตามสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2562  เริ่มจากปัญหาผักตบชวาที่หนาแน่นกีดขวางการเดินเรือ  ซึ่งขณะนั้นน้ำในแม่น้ำสะแกกรังยังมีปริมาณมาก  แต่พอย่างเข้าสู่ช่วงปลายปี  แม่น้ำเริ่มลดระดับลง  เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง  ทำให้เรือนแพบางส่วนเกยตื้น  และเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียติดตามมา  ส่งผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง

แม่น้ำสะแกกรังช่วงใกล้ตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี  น้ำเริ่มแห้ง  เน่าเสีย  มีผักตบชวาหนาแน่น

ชาวเรือนแพจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อทางจังหวัดให้การช่วยเหลือ  รวมทั้ง ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นนักการเมืองในพื้นที่  จนเรื่องมาถึง ‘จุติ  ไกรฤกษ์’  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดดูแลคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย 

รมว.พม.จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  คือ  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี (พมจ.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดอุทัยธานีเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563  โดยทางจังหวัดอุทัยธานีได้แต่งตั้ง ‘คณะทำงานขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือชุมชนชาวแพคลองสะแกกรัง’ ขึ้นมา  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  หลังจากนั้นจึงมีการสำรวจข้อมูลปัญหา  ความต้องการของชุมชน  โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพร่วมเป็นคณะทำงาน  จากนั้นจึงมีการจัดประชุมเพื่อสรุปข้อมูลและร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟูชุมชนชาวแพทั้งระบบ

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น  พบว่ามีเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจำนวน 129 หลัง (ไม่รวมแพที่พักของผู้ประกอบ-แพตากอากาศ) มีผู้อยู่อาศัยประมาณ  300 คน  มีชาวเรือนแพที่ได้รับผลกระทบจำนวน 127 ครัวเรือน  หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลปัญหาและความต้องการของชุมชนจัดทำเป็นแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวเรือนแพเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และรัฐมนตรี พม. เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกัน

16 หน่วยงานหนุนชาวแพแก้ปัญหา 8 ด้าน

                หลังจากใช้ระยะเวลากว่า 5 เดือน  ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา  ที่เทศบาลเมืองอุทัยธานี  มีพิธี ‘ลงนามความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี’  โดยมีนายณรงค์  รักร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธาน  พร้อมด้วยผู้บริหาร พอช. และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวม 16 หน่วยงานร่วมลงนาม   โดยมีผู้แทนชาวแพสะแกกรังและผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ  300 คน

พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง 16 หน่วยงานเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา

                ทั้งนี้ตามแผนงานจะมีการแก่ไขปัญหาทั้งระบบ  เช่น  1.การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ  จะมีการสร้างสถานีสูบน้ำ  ทำเส้นทางบายพาสน้ำ  ขุดลอกคลอง  การบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน  การจัดการผักตบชวาและวัชพืช  ฯลฯ  โดยมีหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบร่วมกับชาวชุมชน  เช่น  กรมชลประทาน  กรมเจ้าท่า  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อบจ.  ฯลฯ

                2.การจัดการสิ่งแวดล้อม  เช่น  การจัดการน้ำเสียจากในเมืองก่อนลงสู่แม่น้ำ  การจัดการขยะในครัวเรือน   ปลูกไผ่  ไม้ประดับ  ผักสวนครัวริมตลิ่ง  แพสีเขียว  ปลูกไม้ดอก  ผักสวนครัว  เตย  บริเวณแพที่พัก   เพื่อให้มีทัศนียภาพสวยงามทั้งลำน้ำ  สนับสนุนโดย อบจ.  สาธารณสุข  เกษตรจังหวัด  พัฒนาชุมชน  ฯลฯ

                3.อาชีพ  ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชัง  แปรรูปปลา  ร้านค้าชุมชนชาวแพ  นำผักตบชวามาผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ  สนับสนุนโดยประมงจังหวัด  เกษตรจังหวัด  พานิชย์จังหวัด  หอการค้า

                4.การท่องเที่ยว  ส่งเสริมวิถีชีวิตชาวแพ   โฮมสเตย์ชาวแพ  ศูนย์การท่องเที่ยวชาวแพ  สนับสนุนโดยกรมเจ้าท่า  ททท.  เทศบาล  วัฒนธรรมจังหวัด  การท่องเที่ยวและกีฬา  ฯลฯ

                5.วัฒนธรรม  ส่งเสริมการตักบาตรทางน้ำ  ประเพณี  วัฒนธรรม  เช่น  งานสงกรานต์  แห่เทียนเข้าพรรษา  ลอยกระทง  ฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน  เกิดศูนย์แสดงวัฒนธรรมชาวแพ  สนับสนุนโดยวัฒนธรรมจังหวัด  การท่องเที่ยวและกีฬา  เทศบาล  มหาวิทยาลัย

                6.พัฒนาคุณภาพชีวิต  เด็ก  เยาวชน  คนด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  คนพิการ  ส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเอง  และได้รับการดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  สนับสนุนโดย พมจ.  รพ.สต.  แรงงานจังหวัด ฯลฯ

                7.ความเข้มแข็งของชุมชน  ส่งเสริมกิจกรรมการรวมกลุ่มของชุมชน  จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  กลุ่มออมทรัพย์  สร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดการพัฒนาชุมชน  สนับสนุนโดย พมจ.  พอช.  กศน.  อบจ.

                8.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชาวแพ  ซ่อมแพและลูกบวบ  ส่งเสริมการซ่อมแซมและอนุรักษ์เรือนแพที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น  โดยใช้วัสดุที่กลมกลืนกับสภาพแวดลอม  ฯลฯ  สนับสนุนโดย พอช.

สภาพเรือนแพที่ทรุดโทรม

ทั้งนี้แผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชาวแพจะเริ่มได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้  โดยจะเริ่มซ่อมแซมเรือนแพซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างมานาน  ประกอบกับลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก  เรือนแพเกยตื้น  ลูกบวบได้รับความเสียหาย  รวมทั้งหมด  127 ครัวเรือน  โดย พอช.จะสนับสนุนงบพัฒนาสาธารณูปโภค  กายภาพ  อุดหนุนการซ่อมแพ  การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน  เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท  รวมงบประมาณทั้งหมด  7,420,000 บาท  ตามแผนงานการซ่อมแพจะแล้วเสร็จบางส่วนในช่วงเดือนตุลาคมนี้ 

ส่วน 16 หน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือ MoU. (Memorandum of Understanding)  ประกอบด้วย  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  พมจ.อุทัยธานี  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  ปกครองอำเภอเมืองอุทัยธานี  กอ.รมน.จังหวัด  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  โครงการชลประทานจังหวัดอุทัยธานี  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด  ประชาสัมพันธ์จังหวัด   เกษตรจังหวัด  ประมงจังหวัด  สหกรณ์จังหวัด  การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด  เจ้าท่า (นครสวรรค์) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  ฯลฯ

ณรงค์  รักร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  กล่าวว่า  การร่วมกันพัฒนาชีวิตชาวแพสะแกกรังไม่ใช่จะทำแล้วเสร็จสิ้น  แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป  เช่น  การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย  กรมชลประทานพยายามดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไล่น้ำเสียในแม่น้ำสะแกกรัง  และต่อไปจะมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเพื่อดันน้ำเสียออกไป  ทำให้แม่น้ำสะแกกรังมีคุณภาพดีขึ้น   ส่วนปัญหาเรื่องผักตบชวา  ขณะนี้กำลังจัดเก็บ  แต่ชาวชุมชนเรือนแพตั้งแต่ต้นน้ำลงมาจะต้องช่วยกันดูแลเรื่องผักตบชวาและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฝั่งแม่น้ำด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี (กลาง) ในพิธีลงนามความร่วมมือ

ต่อยอดภูมิปัญญาชาวเรือนแพ : มรดกทางวัฒนธรรม

            ชาวชุมชนเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังหากเป็นคนรุ่นเก่าจะเรียกแม่น้ำว่า “คลอง” เพราะเรียกขานกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม  และยังสืบทอดภูมิปัญญาติดต่อกันมาช้านาน  เช่น  การทำประมงพื้นบ้าน  การแปรรูปปลาเป็นปลาย่างและปลาแห้ง  การสร้างเรือนแพและซ่อมแพ  ฯลฯ 

                ศรีวภา  วิบูลย์รัตน์  อายุ 67 ปี  เจ้าของแพ ‘ปลาย่าง  ป้าแต๋ว  อุทัยธานี’  เล่าว่า  อุทัยธานีมีทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและสะแกกรังจึงมีปลานานาชนิด  ที่รู้จักกันดีก็คือ ‘ปลาแรด’  แต่ก่อนนั้นปลายังชุกชุม  มีปลาต่างๆ  เช่น ปลาเทโพ  ปลากด  สวาย  ช่อน  ชะโด  กราย  ปลาเนื้ออ่อน  ฯลฯ  เมื่อจับได้มากชาวแพก็จะนำมาแปรรูปเพื่อเก็บเอาไว้ได้กินนานๆ  เช่น  ทำปลาร้า  ปลาส้ม  ปลาแห้ง  ปลาย่าง  ปลารมควัน  นำมาทำปลาป่น  น้ำพริกปลาย่าง   และนำไปขายที่ตลาดเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวมานานหลายสิบปี

ป้าแต๋ว’ สืบทอดการทำปลาย่างปลากรอบจากรุ่นสู่รุ่น  โชว์ปลากรอบทำจากปลาเนื้ออ่อน  ราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท

                “ป้าเกิดอยู่ในแพนี่แหละ  ส่วนปู่ย่าก็อยู่กันมานานตั้งแต่สมัย ร.5 ท่านเสด็จมาที่อุทัยฯ  ป้าทำปลาย่างขายมาตั้งแต่สมัยสาวๆ  เอาไปขายบนตลาดริมแม่น้ำ  พอตอนหลังมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวดูแพ  จึงเริ่มทำปลาย่างขายบนแพ  ใช้วิธีรมควันแบบโบราณตามที่เห็นพ่อแม่เคยทำมา  ตอนแรกก็ต้องนำปลามาล้างให้สะอาด  ควักเอาไว้พุงออก  แล้วไปตากแดดให้แห้ง  จากนั้นจึงเอามาย่างบนตะแกรง  ใช้ขี้เลื่อยเป็นเชื้อไฟ  ย่างไฟอ่อนๆ 3-4 วันจึงจะแห้งจนกรอบดี  แล้วต้องเอาเสื่อลำแพนมาคลุมเพื่อให้ความร้อนระอุไปทั่ว  ถ้าย่างไม่เป็น  หรือใช้ไฟแรงเกินไป  จะทำให้เนื้อปลาขม”  ป้าศรีวภาหรือ ‘ป้าแต๋ว’ บอกเคล็ดลับ

                ป้าแต๋วบอกด้วยว่า  เมื่อก่อนปลาเนื้ออ่อนในแม่น้ำสะแกกรังยังมีชุกชุม  ราคาแค่กิโลกรัมละ 5-10 บาท  แต่ตอนนี้ปลาเนื้ออ่อนแทบจะหาไม่ได้แล้ว  ต้องซื้อมาจากที่อื่น  ราคาปลาสดกิโลฯ ละ 500 บาท  เมื่อเอามาทำปลากรอบน้ำหนักจะหายไปหลายเท่าตัว  ราคาขายปลาเนื้ออ่อนย่างกรอบตอนนี้ตกกิโลฯ ละ 2,000 บาท  ถ้าเป็นปลาช่อนหรือปลากดราคากิโลฯ ละ 1,000 บาท 

                “ช่วงน้ำแล้งและโควิดเกือบ 7 เดือน  ป้าขายปลาไม่ได้เลย  เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมา  ถ้าจะช่วยกันขุดลอกคลอง (แม่น้ำ) และเก็บผักตบได้ก็จะดี  เพราะน้ำในคลองจะไหลได้สะดวก  ถ้าคลองสะอาดนักท่องเที่ยวก็อยากจะมา  จึงอยากให้ช่วยกันดูแลไม่ให้น้ำเน่าเสีย  ชาวบ้านก็จะได้มีอาชีพ  มีรายได้”  ป้าแต๋วบอก

                บุญโรจน์  จันทร์วัด  อายุ 63 ปี  ช่างสร้างและซ่อมแพฝีมือดีแห่งแม่น้ำสะแกกรัง  เล่าว่า  เมื่อก่อนตอนแกยังเด็กๆ เรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังมีมากกว่านี้  ราวๆ  700 หลัง  แต่ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ  200 หลัง  เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากจะอยู่แพ  ลูกหลานปล่อยให้ผุพังหรือทิ้งร้าง  บางรายก็ขายเปลี่ยนมือ   เมื่อก่อนจะใช้ไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็งสร้างเป็นเรือนแพ  เพราะมีความทนทาน  อยู่ได้นานเป็นร้อยปี  ส่วนลูกบวบพยุงแพจะใช้ไม้ไผ่สีสุก  เพราะเนื้อละเอียด  ปล้องไผ่ข้อใหญ่  น้ำทะลุข้อไม่ได้  ใช้งานได้นาน 3-5 ปีจึงเปลี่ยนลำที่ชำรุดออก

ลุงบุญโรจน์ (ซ้าย) ช่างแพมือดีนั่งอยู่บนลูกบวบที่มัดเป็นช่อง

                “ผมเริ่มทำงานซ่อมแพกับพ่อตั้งแต่อายุได้ 12 ปี  ได้ค่าแรงประมาณวันละ 10-15 บาท  ตอนนั้นค่าแรงซ่อมแพ  เปลี่ยนลูกบวบราคาช่องละ 150 บาท  แต่ตอนนี้ค่าแรงขึ้นเป็นช่องละ 5,000 บาท  เพราะงานมันลำบาก  ต้องดำน้ำลงไปเปลี่ยนลูกบวบใต้น้ำ  ใช้ช่างช่วยกัน 3-4 คน  แพหลังหนึ่งจะมีลูกบวบประมาณ 4 ช่อง ใช้เวลาเปลี่ยนช่องละ 1 วัน  ถ้าเปลี่ยนทั้งหมดจะต้องใช้เวลาประมาณ 4 วัน  เฉพาะค่าแรงตอนนี้ราคา 20,000 บาท”  ลุงบุญโรจน์บอก

                ลุงบอกด้วยว่า  การสร้างเรือนแพจะต่างจากการสร้างบ้านบนบก  เพราะการสร้างบ้านบนบกช่างจะใช้ลูกดิ่งเพื่อวัดแนวตั้งฉาก  ทำให้การสร้างบ้านได้ระดับ  ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง  แต่การสร้างแพจะต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย  เพราะไม่งั้นเวลาเดินหรืออยู่บนเรือนแพ  แพจะเอียงไป-มาตามน้ำหนัก 

ส่วนขนาดของแพจะสร้างตามความต้องการของเจ้าของแพว่าอยู่กันกี่คน  มีตั้งแต่ 6 X 8 ตารางเมตรขึ้นไป  ส่วนใหญ่จะมีชานแพเหมือนชานบ้าน  เพื่อใช้เป็นที่ซักล้าง  ตากผ้า  ทำครัว  หรือนั่งเล่น   ข้างในเป็นห้องนอน  ที่ว่างกลางห้องใช้กินข้าวส่วนหลังคาหากเป็นแพเก่าสร้างตั้งแต่สมัย ร.5- ร.6 จะเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้อง  หรือสร้างเป็นจั่ว  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสีเกือบหมด  ส่วนลูกบวบที่ใช้พยุงแพ  จะใช้ไม้ไผ่มามัดรวมกัน  แบ่งเป็นช่อง  ช่องหนึ่งจะใช้ไม้ไผ่ประมาณ 200 ลำ  มีตั้งแต่  3-4 ช่องขึ้นไป

เรือไม้สัก  ปัจจุบันยังมีอยู่เกือบ 100 ลำ  สมัยก่อนราคาลำละ 600 บาท  มีความทนทาน  ใช้งานได้หลายสิบปี  พ่อค้าจากกำแพงเพชรจะผูกเรือล่องแม่น้ำลงมาขายที่ชุมชนชาวแพสะแกกรัง  ตอนนี้ราคาไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท

ปัจจุบันยังนิยมใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นลูกบวบ  แม้ว่าจะมีถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร  หรือมีทุ่นโลหะมาแทนลูกบวบ  แต่ก็สู้ไม้ไผ่ไม่ได้  เพราะไม้ไผ่จะมีความหยืดหยุ่นและถ่ายเทน้ำหนักได้ดีกว่า  ไม่ยวบยาบหรือโคลงเคลงเหมือนถังพลาสติก  หรือผุพังง่ายเหมือนทุ่นโลหะ 

นอกจากนี้ลูกบวบไม้ไผ่มีอายุการใช้งานอย่างต่ำ 3-5 ปี  เวลาจะเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนเฉพาะลำที่ชำรุดเพราะแช่น้ำมานาน   ราคาไม้ไผ่สีสุกขนาดยาว 8 เมตร  ตอนนี้ราคาลำละ  60 บาท  หากจะเปลี่ยนลูกบวบทั้งหมดจะต้องใช้เงินซื้อไม้ไผ่ประมาณ  30,000-40,000 บาท  ไม่รวมค่าแรงอีกประมาณ 20,000 บาท

 “เมื่อก่อนมีช่างซ่อม-สร้างแพในสะแกกรังเยอะ  แต่ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 10 คน  เพราะค่าไม้ไผ่แพงขึ้น  ค่าแรงก็สูงเพราะต้องใช้ช่างหลายคน  เมื่องานมีน้อยลง ช่างจึงค่อยๆ หายไป  ลูกหลานก็ไม่อยากทำงานนี้  เพราะเป็นงานหนักและลำบาก  ต้องอาศัยประสบการณ์  อีกอย่างคนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากจะอยู่แพ  เพราะมันไม่สะดวกเหมือนอยู่บนบก  พอไปเรียนหนังสือในเมือง  เมื่อจบแล้วก็ไปหางานอื่นทำ  หรือไปอยู่ที่กรุงเทพฯ…

ต่อไปก็ไม่รู้ว่าเรือนแพที่นี่จะเป็นอย่างไร  แต่พวกผมก็จะอยู่ต่อไป  เพราะอยู่แพมันสบาย  อากาศไม่ร้อน  ลมพัดเย็นสบาย  และยังพอหาผักหาปลาในคลองกินได้  แต่ถ้ามีการอนุรักษ์แพก็จะดี  เพราะจะได้อยู่กันไปนานๆ  ชาวบ้านก็จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว  จากการล่องเรือดูแพ  และผมก็อยากให้มีการแก้เรื่องน้ำเสีย  และขุดลอกคลองให้ลึกกว่านี้  เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก  น้ำก็จะไม่เน่า  เพราะเดิมน้ำลึกประมาณ 3-4 วา (6-8 เมตร)  แต่ตอนนี้เหลือประมาณวากว่าๆ เท่านั้น”  ลุงบุญโรจน์บอกในตอนท้าย

วันนี้แผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังกำลังเริ่มต้นแล้ว  โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน  เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตชาวแพให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม    เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี  และเป็นชุมชนเรือนแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย…!!

นักท่องเที่ยวนิยมใส่บาตรตอนเช้าที่ท่าน้ำบริเวณตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ