เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการหิ้วปิ่นโต มาปาร์ตี้บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ทวงถามผลักดันร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เปลี่ยนเบี้ยยังชีพรายเดือน เป็นบำนาญถ้วนหน้า ดูแลประชาชนเท่าเทียม 3,000 บาท/เดือน
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกว่า 200 คนจัดกิจกรรมปาร์ตี้ปิ่นโต นัดกินข้าวหน้าทำเนียบรัฐบาล ทวงลายเซ็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้รับรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ….
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการมาทวงถามนายกรัฐมนตรีให้เซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่ประชาชนกว่า 13,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หลังจากอยู่ในวาระการพิจารณาของนายกฯ นานกว่า 5 เดือน
“หากเรามีบำนาญพื้นฐาน จะเป็นหลักประกันที่ไม่ทำให้ใครต้องล้มละลายจากการไม่มีกิน เมื่ออายุ 60 ปี เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในชีวิต เหมือนระบบหลักประกันด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักค้ำทางสังคมอีกเสาหนึ่ง และหากเรามีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน ก็หวังว่านายกฯ จะเซ็นรับรองกฎหมายนี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ว่าจะทำบำนาญถ้วนหน้า ก็อยากให้เร่งทำร่างกฎหมายประกบคู่ไปกับร่างของประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้าเป็นกลไกที่รัฐสามารถใช้แก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวได้ ซึ่งหากถามว่าเงินที่จะนำมาจัดสรรอยู่ที่ไหน คำตอบคือ ความพร้อมของประเทศอยู่ที่เจตจำนงของรัฐ ซึ่งประชาชนต้องไม่นิ่งเฉย ต้องส่งเสียง ทวงถาม ทำให้เสียงดังอย่างต่อเนื่อง ว่าประชาชนต้องการหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคงเมื่อสูงวัย
ด้านนางสาวเนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค อ่านแถลงการณ์ว่า การมีเงินบำนาญรายเดือน 3,000 บาท ที่อ้างอิงจากเส้นความยากจนในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณค่า ในขณะที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินเพื่อส่งเสียพ่อแม่ แต่จะมีโอกาสสร้างอนาคตของตัวเองได้มากขึ้น
“หากเงินบำนาญถ้วนหน้าเปรียบดั่งข้าว ขอให้ข้าวมื้อนั้นเพียงพอแก่การกิน แก่การยังชีพ ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ เพื่อให้พวกเรามีชีวิตขับเคลื่อนประเทศต่อไป เราขอยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเสมอหน้ากัน และรัฐต้องหยุดมองประชาชนเป็นภาระของประเทศ ที่แค่ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือชั่วคราว ต้องหยุดส่งต่อความจนเรื้อรัง ที่ผูกโซ่ตรวนจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า”
นางสาวเนืองนิช กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีข้อเรียกร้องจำนวน 2 ข้อ คือ
1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดถ่วงเวลาพิจารณากฎหมายด้วยการเร่งให้คำรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติฯ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอ เพื่อให้กระบวนการพิจารณากฎหมายได้ดำเนินการตามกลไกของรัฐสภาทันที
2.ให้ทุกพรรคการเมือง ที่หาเสียงว่าจะทำบำนาญประชาชน ออกมาร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเสนอร่างกฎหมายประกบคู่กับร่างกฎหมายของภาคประชาชน เพื่อให้เห็นการร่วมมือกันสร้างบำนาญถ้วนหน้าให้กับคนไทยทั้งประเทศ
สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ….
1.ความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมาย
เพื่อให้เกิดสิทธิที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีหลักประกันทางรายได้และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
2.สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1) ชื่อกฎหมาย “บำนาญแห่งชาติ” สื่อถึงการที่ผู้สูงอายุทุกคนมีบำนาญเป็นหลักประกันรายได้รายเดือนเพื่อการดำรงชีวิต บำนาญ หมายถึง เงินตอบแทนที่ได้ทำงานมาเป็นเวลานาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อออกจากงาน บำนาญแห่งชาติ จึงหมายถึง เงินตอบแทนที่ได้ทำงานมาตลอดชีวิตจนเข้าสู่วัยสูงอายุ
2) กำหนดนิยาม “บำนาญแห่งชาติ” เพื่อให้ครอบคลุมคนทำงานทุกคน ทั้งในและนอกระบบประกันสังคมที่อยู่ในวัยสูงอายุ คือ มีอายุหกสิบปีขึ้นไป ให้ได้รับบำนาญ โดยให้ถือเป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้จากงบประมาณ เนื่องจากการมีบำนาญที่เหมาะสมเพียงพอต้องมาจาก 3 ระบบรองรับคือ (1) บำนาญพื้นฐานจากรัฐ (2) บำนาญจากการสะสมของคนทำงานเอง ทั้งจากการสะสมร่วมกับนายจ้างในระบบประกันสังคม สะสมร่วมกับรัฐในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ (3) คนทำงานที่มีศักยภาพ มีรายได้สูงเพียงพอต่อการสะสมหรือลงทุน เพื่อให้เกิดดอกผลเป็นรายได้รายเดือนของตนเอง นอกเหนือไปจากที่ได้รับจาก (1) และ (2)
3) กำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคนเมื่ออายุหกสิบปี ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ โดยให้อ้างอิงจากประกาศเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ สามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่จ่ายจากงบประมาณให้กับผู้สูงอายุทุกคนมาเป็นบำนาญพื้นฐานตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ประเทศมีการจัดการระบบบำนาญทั้งระบบ มีภาพรวมการจัดการงบประมาณที่เกี่ยวกับระบบบำนาญ ทั้งการจัดบำนาญพื้นฐาน บำนาญให้ข้าราชการ การจัดเงินสะสมเพื่อสมทบกับประชาชนที่ออมเพื่อบำนาญในกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม
4) กำหนดให้มีคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ที่มีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อกำหนดนโยบายบำนาญแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้เสียภาษีให้รัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม
5) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ให้กำหนดนโยบายบำนาญในภาพรวม เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพการดำเนินการให้มีบำนาญสำหรับประชาชนทุกคน และการกำหนดอัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสม ที่อ้างอิงจากข้อมูลเส้นความยากจนของหน่วยงานรัฐ คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีการทบทวนในทุกๆ สามปี ซึ่งในระยะยาว หากสังคมไทยมีการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ที่ประชากรวัยทำงานทุกคนมีศักยภาพด้านรายได้ที่สามารถสะสมร่วมกับรัฐ หรือนายจ้างเพื่อบำนาญของตนเองในจำนวนที่มากพอต่อการดำรงชีวิตเมื่ออายุหกสิบปีขึ้นไป ก็อาจมีการปรับอัตราบำนาญพื้นฐานเพิ่มลดได้ตามสถานการณ์ในเวลานั้นๆ
6) กำหนดให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบจัดตั้งสำนักงานบำนาญแห่งชาติขึ้นในกระทรวง มีผู้อำนวยการสำนักงานเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของข้าราชการสำนักงาน เป็นกรรมการ และเลขานุการของคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ โดยสำนักงานทำหน้าที่จัดทำแผนงบประมาณประจำปีเป็นค่าใช้จ่ายบำนาญพื้นฐาน การบริหารจัดการสำนักงาน และการจ่ายเงินไปยังผู้รับบำนาญพื้นฐานทุกคน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูล จัดทำแผนแม่บทบำนาญแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติพิจารณา
7) บทเฉพาะกาล เพื่อเป็นการยกระดับให้มีระบบบำนาญของประเทศ การจัดให้มีบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคนสามารถดำเนินการได้เลย ด้วยการออกประกาศตามอำนาจของคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ยกเลิกการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายให้ทุกคนอยู่แล้ว เปลี่ยนเป็นจ่ายบำนาญพื้นฐานให้ผู้สูงอายุทุกคนในอัตราที่สูงกว่าเบี้ยยังชีพและเป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้