ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ร้องเวที SEA โพแทชอุดรฯ ไม่เชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม ด้านนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยไทบ้านบุกเวทีวันที่ 2 ชูป้าย “SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน”
รายงานโดย: นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
วันที่ 1 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 70 คน เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “แผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทชเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อบริหารจัดการแร่โพแทช ที่โรงแรมมณฑาทิพย์ฮอลล์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งจัดโดยบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มชาวบ้านมาถึง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ อส.และตำรวจ ประมาณ 30 นาย กันให้อยู่ทางด้านหน้าประตูโรงแรม และอ้างว่าต้องปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ถ้าชาวบ้านจะเข้าร่วมเวทีจะต้องลงทะเบียนและปฏิบัติตามมาตรฐานที่ทางหน่วยงานผู้จัดวางไว้อย่างเคร่งครัด
กลุ่มชาวบ้านจึงไม่พอใจ ได้แสดงออกโดยการถือป้ายผ้า ชูป้ายกระดาษขนาด เอ4 มีข้อความคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทช และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และเอสอีเอ พร้อมทั้งใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก (โทรโขง) สลับกันพูดโจมตีการจัดเวทีที่ปิดกั้นไม่ใช้ชาวบ้านเข้าร่วม จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.30 น. นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ถ้าชาวบ้านมีหนังสือที่จะยื่นก็ยื่นมาได้ ทางเราจะดำเนินการให้ ส่วนในเรื่องขอประทานบัตร ที่ชาวบ้านคัดค้านมีปัญหาอยู่ มันก้าวข้ามผ่านมาแล้ว คือเวลาชาวบ้านมีปัญหา กฎหมายฉบับใหม่นั้นจะคุ้มครองทุกคน ถ้ามีปัญหาผลกระทบ ภาครัฐจะเข้าไปแก้ไข ไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้านและเอกชน นายมนตรีกล่าว
ด้านนางพิกุลทอง โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า เวทีในวันนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร ถ้าไม่ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งเราค้านเหมืองโพแทชมาเป็นเวลา 20 ปี จะเห็นได้ว่าข้าราชการกับบริษัทร่วมกันผลักดันโครงการมาโดยตลอด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน มันจึงมีความขัดแย้งมาจนถึงทุกวันนี้
“เป็นที่สังเกตว่าการจัดเวที SEA ครั้งนี้ ดำเนินการอย่างเร่งรัด กล่าวคือ ออกหนังสือเชิญลงวันที่ 24 มิ.ย. และให้ส่งแบบตอบรับภายในวันที่ 25 มิ.ย. และไม่ได้เชิญชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียให้เข้าร่วมด้วย”
นางพิกุลทอง กล่าว
พร้อมกันนี้กลุ่มชาวบ้านก็ได้อ่านหนังสือก่อนจะยื่นต่อมือรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี โดยในหนังสือได้ระบุข้อเรียกร้องว่า
“เนื่องจากโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อบริหารจดัการแรโพแทช จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนแรก ก่อนการดำเนินการ จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment Report (EIA) ของโครงการย่อยในระดับพื้นที่ แต่ในกรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ได้มีการจัดทำ EIA แล้วเสร็จไปแล้ว และปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการผลักดันให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทช ดังนั้นด้วยขั้นตอนที่รวบรัดและข้ามกระบวนการเช่นนี้ จึงมิชอบ และกลุ่มฯ ขอเรียกร้อง ให้ยกเลิก EIA ของโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานีก่อน ทำกระบวนการ SEA”
เมื่อกลุ่มชาวบ้าน ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเสร็จ จึงเดินทางกลับโดยไม่ได้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวแต่อย่างใด
ต่อมาในวันนี้ (2 ก.ค.) เวลา 09.00 น. การประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “แผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทชเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อบริหารจัดการแร่โพแทช ซึ่งเป็นเวที ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่โรงแรมกรีนโฮเทล อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน
เวทีดำเนินไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา ประมาณ 10 คน บุกขึ้นไปบนเวทีพร้อมถือป้ายผ้ามีข้อความว่า “SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน” และได้แสดงเชิงสัญลักษณ์บนเวทีเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จนเวทีไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ผู้เข้าร่วมเดินออกจากห้องประชุม และทำให้เวทีปิดลงโดยปริยาย
นายปวริศ แย้มยิ่ง ผู้ประสานงานกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการจัดการแร่โพแทช ซึ่งไม่มีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราไม่เห็นด้วย และเราแสดงจุดยืนและแสดงเชิงสัญลักษ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดเวที
“SEA ไม่เชิญไทบ้าน SEA ไม่มีส่วนร่วม SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน”
ปวริศ กล่าว
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ภาครัฐใช้ประเด็นจากสถานการณ์โควิด กีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วม ซึ่งแท้จริงการเข้าร่วมเวทีต้องเป็นสิทธิของชาวบ้าน และทางกรมทรัพยากรธรณีต้องเตรียมการ
“จากการที่มีเจ้าหน้าที่ อส. และตำรวจมา คุ้มกันประตูไม่ให้ชาวบ้านเข้า ทำให้เห็นชัดถึงการที่ฝ่ายรัฐ มองประชาชนเป็นฝ่ายข้าม ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้มีอาวุธ และรวมตัวกันโดยปราศจากความรุนแรง”
นายสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย