แถลงการณ์ร่วมต่อกรณีการพบศพชาวโรฮิงญา รัฐต้องดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและจัดสรรการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม
6 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ voicefromthais เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมต่อกรณีการพบศพชาวโรฮิงญา รัฐต้องดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและจัดสรรการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม โดยเครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มูลนิธิผู้หญิง (Foundation for Women) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch) มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงานกลุ่มชาติพันธ์ (MAP Foundation) ระบุ
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เข้าตรวจสอบค่ายที่พักพิงแห่งหนึ่งตามรายงานที่ได้รับแจ้ง โดยเจ้าหน้าที่พบศพ จำนวน 26 ศพ ในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งคาดว่าจะเป็นศพชาวโรฮิงญาหรือชาวบังคลาเทศ ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซียโดยผ่านกลุ่มขบวนการขนชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทย เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของกลุ่มชาวโรฮิงญาหรือชาวบังคลาเทศ และยังมีข่าวปรากฏผ่านสื่อมวลชนเป็นระยะๆว่าอาจจะมีการพบศพของชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศเพิ่มเติมในพื้นที่ทีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเพิ่มเติมอีกหลายจุด
ปัจจุบันมีจำนวนชาวโรฮิงญาทั้งจากประเทศพม่าและบังคลาเทศอพยพเข้ามาในประเทศไทยในจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหนีภัยประหัติประหารอันเกิดจากสถานการณ์ด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ภายในประเทศพม่าและมีทั้งกรณีที่ต้องการแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า โดยอาศัยช่องทางของกลุ่มขบวนการขนชาวโรฮิงญาจากพื้นที่รัฐอาระกัน ประเทศพม่า จากการติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลด้านการอพยพเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ทางเครือข่ายฯพบชาวโรฮิงญาประสบกับความยากลำบากในระหว่างการเดินทาง บางกลุ่มได้เดินทางโดยเรือประมงในสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและได้รับอาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อ หรือบางกลุ่มได้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยจับกุมในขณะที่มีการเดินทางรถยนต์ นอกจากนี้ จากการดำเนินการคัดแยกกลุ่มชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ พบว่าบางรายยังเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยมีกรณีศึกษาที่ทางสมาชิกของเครือข่ายฯ ได้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดสงขลา
ในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาพบว่า มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขบวนการค้ามนุษย์และขบวนการขนชาวโรฮิงญาในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนชาวโรฮิงญาที่ได้รับการคัดแยกว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และที่อยู่ในห้องกัก และยังไม่รวมถึงกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อยู่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยกลุ่มขบวนการนายหน้า
เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติและองค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญาที่เข้าเมืองมาโดยการนำพาของกลุ่มขวนการนายหน้า และการจัดการปัญหาของรัฐไทย จึงมีข้อเรียกร้องรัฐบาลไทยพิจารณาต่อเสนอดังต่อไปนี้
1.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลกรณีพบศพที่สงสัยว่าเป็นชาวโรฮิงญาหรือชาวบังคลาเทศ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการประสานงานกับญาติของผู้ตายจากประเทศต้นทางที่สงสัยว่าศพที่ขุดพบอาจจะเป็นสมาชิกของคนในครอบครัว
2.เร่งสืบสวน สอบสวน เพื่อติดตามหาผู้ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการขยายผลเพื่อทราบตัวผู้ที่อาจจะมีส่วนร่วมกับการทำธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ เช่นในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอหัวไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพบตัวชาวโรฮิงญา ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติต่อต้านการค้ามนุษย์และ พันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยได้เป็นภาคีสมาชิกอย่างเคร่งครัด
3.การเดินทางอพยพของกลุ่มคนดังกล่าว มีทั้งกลุ่มเด็ก สตรีและผู้ใหญ่โดยผู้ที่อพยพเข้ามาคนหนึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ผู้แสวงหาที่พักพิง แม้ประเทศไทยจะยังมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย แต่รัฐบาลไทยในฐานะที่กลุ่มคนดังกล่าวอพยพเข้ามาจะต้องจัดให้มีกระบวนการคัดแยกบุคคลอย่าง เป็นระบบ โดยเด็กและสตรี ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ
4.รัฐควรกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องเพื่อสร้างความปลอดภัยและการจัดสถานที่พักพิงชั่วคราวและเพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์โดยมิชอบอีกครั้ง ในกรณีที่มีการคัดแยกโดยทีมสหวิชาชีพว่าผู้อพยพชาวโรฮิงญารายใดเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
5.รัฐควรดำเนินการเยียวยาต่อผู้เสียหายกรณีที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ หรือครอบครัวของผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 เป็นต้น
6.สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่จากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญา อย่างเป็นอิสระ เพื่อพิสูจน์สถานะบุคคลและความต้องการของกลุ่มดังกล่าวตามกรอบหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาคประชาชนจากหน่วยต่างๆ สามารถเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม รวมทั้งทบทวนพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่แสวงหาที่หนีภัยประหัติประหารโดยการออกนโยบายเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองกลุ่มคนดังกล่าวให้มีความสอดคล้องกับหลักอนุสัญญาระหว่างประเทศในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์