คลองเตยปันกันอิ่มกับรอยยิ้มในวันสงกรานต์’ 63

คลองเตยปันกันอิ่มกับรอยยิ้มในวันสงกรานต์’ 63

ที่นี่กรุงเทพฯ : นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เดินทางมาที่ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับรู้ข้อมูลของชุมชนคลองเตย ผ่านสื่อสารมวลชน  ทั้ง ในรายการข่าวโทรทัศน์  และละครหลังข่าว  จนทำให้มีภาพจำถึงความหวาดหวั่นต่อชุมชนที่ถูกเรียกว่า “สลัมคลองเตย”

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2563 สงกรานต์ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี ทั้ง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เราทุกคนไม่ต้องสาดน้ำในวันสงกรานต์ แต่หันมาแบ่งปันเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้กัน และไม่ต้องใส่เสื้อแฟชั่นลายดอกสดใส แต่เปลี่ยนมาใส่หน้ากากหลากสีสัน

ผู้เขียนเอง สงกรานต์ปีนี้ ไม่ได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพราะการเดินทางจากกรุงเทพฯ ดูจะสร้างความห่วงกังวลให้คนรอบข้างไม่น้อย การทำงานตามปกติเพราะสงกรานต์ปีนี้ไม่มีวันหยุด จึงดูเป็นวันสงกรานต์ที่น่าจดจำเช่นกัน

หลังมีการปิดให้บริการร้านค้าและสถานประกอบการต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ใช่แค่ กลุ่มลูกจ้างรายวัน หาบเร่แผงลอย และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนเปราะบางในเมือง เช่น เด็ก คนแก่ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน รวมถึงแรงงานนอกระบบ อย่างที่ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่ผู้เขียนได้เดินทางมาทำความรู้จักในวันนี้ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย 

ชุมชนที่นี่มีความเป็นอยู่ที่แออัด เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด และคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน เมื่อต้องหยุดงานจึงขาดรายได้ แต่อีกด้านหนึ่งในภาวะวิกฤตแบบนี้เรามักจะได้เห็นน้ำใจและการแบ่งปันที่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราทุกคนผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ภาพ : Music Sharing (มิวสิคแชริ่ง)

เสียงเพลงและการแบ่งปัน :  Music Sharing (มิวสิคแชริ่ง) คือ กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานเรื่องศิลปะและดนตรีกับเด็กและเยาวชนร่วมกันระดมทุนจากภาคเครือข่ายและเว็บไซต์เทใจดอทคอม เพื่อเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนของกลุ่มคนเปราะบางในชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ ศิริพร พรมวงศ์ หรือ “ครูแอ๋ม” หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ Music Sharing  ถึงที่ไปที่มา ไอเดียและความสำคัญ ในการระดมทุนและแบ่งปันครั้งนี้ ผ่านกิจกรรม “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” และทำงานร่วมกับชุมชนในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลประชากรในแต่ละครัวเรือน เพื่อทำแผนที่ชุมชนและกระจายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากที่สุด

จากดนตรีกับเด็กและเยาวชน สู่การช่วยชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย ปันกันอิ่ม

“เมื่อก่อนเรามาสอนดนตรีเด็ก ๆ ทุกวันอังคาร และวันเสาร์ มีกิจกรรมที่เป็นเรื่องดนตรี ศิลปะ การเรียนการสอน ของเล่น กีฬา อะไรพวกนี้ค่ะ ซึ่งปกติแล้วเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่เราจัดเทศกาลคลองเตยดีจัง เป็นการที่ให้เด็กมาแสดงมาโชว์ร่วมกับศิลปิน ถือว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีที่เราจัดทุกปี เด็ก ๆ หลายคนก็เตรียมตัว เราเองก็เตรียมงานเหมือนกันสำหรับงานนี้” ศิริพร บอกเล่าท้าวความถึงเทศกาลคลองเตยดีจัง

“หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดเราก็ประเมินกันว่า เราจะจัดไม่จัด หรือจะเลื่อนไหม จะทำยังไงดี จนกระทั่งจากแผนที่วางไว้ว่าจะจัดใหญ่แล้วจะมาจัดเล็ก ๆ เวทีเดียว สรุปว่า ทุกอย่างไม่สามารถทำได้เลย ด้วยเงื่อนไขการระบาดของโควิด-19  หลังจากที่เราไม่สามารถจัดงานคลองเตยดีจังได้ เราก็เลยมีโอกาสได้ลงไปคุยกับชุมชนว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง จากงานคลองเตยดีจังที่เราจะจัดเป็นเทศกาล เราก็เลยคิดหากิจกรรมที่จะมาช่วยเหลือชุมชน ณ ตอนนี้รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย”  

ที่มาของกิจกรรมคลองเตยดีจังปันกันอิ่ม

เราทำโครงการออกมาเป็น 2 อย่าง อย่างแรกก็คือ คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม กับ คลองเตยดีจังปันกันเล่น ซึ่งปันกันเล่นหมายความว่าให้เด็ก ๆ ไปเล่นที่บ้าน

ปันกันอิ่ม ตอนแรกเราคิดว่า เนื่องจากว่าชุมชนคลองเตยมีหลายครอบครัว บ้านแต่ละหลังก็มีจำนวนคนเยอะมาก เราไม่รู้ว่าใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีข้อมูลว่า ใครตกงาน ใครป่วย หรือ มีปัญหาเรื่องอะไร ก็เลยเริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูลก่อนซึ่งพอเราสำรวจข้อมูลก็พบว่ามีคนตกหล่นเยอะมาก แล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากการตกงานรวมถึงลดงานประมาณ 70% และหลายครอบครัวที่กำลังจะถูกตัดน้ำตัดไฟ ไม่มีข้าวจะกิน เราก็เลยตกลงจัดโครงการปันกันอิ่มแล้วระดมทุนเป็นข้าวสาร อาหารแห้งให้ไปก่อน แล้วก็ทำโครงการคล้ายกับว่าเป็นสะพานบุญให้ร้านค้าเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะส่งต่ออาหารให้กับชุมชนโดยใช้ระบบคูปอง

เรารับบริจาคเงินจากคนข้างนอกแล้วเราก็จะทำเป็นระบบคูปองให้ร้านค้า ร้านค้าก็จะเป็นร้านค้าชุมชนซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เอาคูปองไปแลกในร้านค้าชุมชน เขาจะกินข้าวเวลาไหนก็ได้ เขาไม่ต้องเดินออกนอกพื้นที่ก็สามารถที่จะเลือกกินได้ตามความชอบของตัวเอง เช้าอาจจะกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง กินโจ๊ก ตอนเที่ยงกินส้มตำ ตอนเย็นกินก๋วยเตี๋ยว ทำให้คนสามารถที่จะเลือกกินได้ เพราะบางทีเราทำอาหารเป็นหม้อ ๆ พอแจกแล้วถ้าไม่ได้กินตอนนั้น มันก็อาจจะเน่าหรือเสีย บางคนก็ไม่ได้ชอบแบบนั้น แล้วเวลาที่เราเอาของไปแจกคนก็จะออกมารวมตัวกันค่อนข้างเยอะ

เราเลยคิดแผนนี้เพื่อที่จะออกแบบระบบระยะยาว เพราะเราคิดว่าต่อไปพวกเราก็อาจจะเข้าชุมชนไม่ได้ถ้าการระบาดมันมากขึ้น ก็เลยเริ่มระดมทุนทำเรื่องนี้ แต่มันก็จะมีเรื่องถุงยังชีพที่เอาไปให้ก่อน ซึ่งพอเราสำรวจเราพบว่าตกหล่นมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ คนที่มีทะเบียนบ้านบางชุมชนมี 243 หลังคาเรือนตามทะเบียน แต่พอไปสำรวจแล้วมีเกือบ 500 หลังคาเรือนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน เป็นคนเร่ร่อน หรือบ้านที่เป็นเพิงสังกะสีที่ปลูกไว้ขยายครอบครัวออกมา พอเราสำรวจเสร็จแล้วคือปัญหา คือ คนที่ได้รับบริจาค หรือช่วยเหลือส่วนใหญ่ ก็จะเป็นคนที่อยู่ในระบบเท่านั้น ปริมาณก็แทบจะเท่าตัวกับคนที่เราดูแลอยู่ จากนั้นก็เริ่มมีคนสนใจมีคนมาบริจาคของให้มากขึ้น รวมถึงงบประมาณในการสนับสนุน”  

นอกจาก ศิริพร พรมวงศ์  หญิงสาวร่างเล็กที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ ลุยงานแบบไม่สนลมฝนในวันที่พายุฤดูร้อนเข้า กทม.ต้อนรับสงกรานต์ในบ่ายวันที่ 13 เมษายน แบบนี้  อีกคนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุย คือ  อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล หรือ “ฟ้า” ผู้ประสานงานโครงการคลองเตยดีจังปันกันอิ่ม ผู้เขียนจึงให้เธอได้อธิบายการทำงานของระบบคูปองฯปันกันอิ่ม ที่เธอเล่าด้วยความเขินอายปนความภาคภูมิใจเล็ก ๆ ว่าคูปองนี้เธอออกแบบเอง และปรับแก้อยู่หลายครั้ง ภายใต้ความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวในการมีส่วนร่วมกับอาสาสมัครคนอื่น ๆ  

“คูปองฯปันกันอิ่ม” โรงทานยุคโควิด-19 ที่ไม่ต้องอยู่วัด

คูปองโครงการคลองเตยดีจังปันกันอิ่ม  คือ ให้ผู้ได้รับผลกระทบมีอาหารที่สดใหม่ และเป็นการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน โดยวิธีการ คือ จะมีผู้ให้ที่เป็นผู้บริจาค บริจาคเงินผ่านทางโครงการ แล้วทางเราก็จะแปลงเงินตรงนี้มาเป็นคูปองอาหารเหมือนในห้างสรรพสินค้าที่เขาทำ Food Court คนในชุมชนหรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไปใช้แทนเงินสด ไปซื้ออาหารกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เราก็จะให้ประมาณ 30 บาท / คน / มื้อ ซึ่งผู้รับคูปองก็จะได้อาหารที่สดใหม่และตรงกับความต้องการ เพราะบางคนอยากกินข้าวผัดกะเพรา บางคนอยากกินก๋วยเตี๋ยว หรือบางคนไม่สบายป่วยอยากกินโจ๊ก ข้าวต้ม ก็สามารถเลือกที่จะกินตามความต้องการ คล้าย ๆ กับการทำ โรงทาน” อภิญญา อธิบายถึงแนวคิดของคูปองฯปันกันอิ่ม พร้อมยกคูปองตัวอย่างให้ผู้เขียนประกอบการเล่าเรื่องของเธอ

“แต่คูปองนี้ ข้อดี คือ จะได้อาหารที่สดใหม่ เลือกได้ว่าอยากกินอะไร และเลือกได้ว่าอยากกินเวลาไหน คืออย่างโรงทาน บางทีถ้าเราไม่ทำมื้อเช้าเขาอาจจะมีข้าวกินในมื้อเช้าแล้วแต่เขาเลือกไม่ได้ เขาก็ต้องไปกินแต่ว่าคูปองนี้ถ้าเขามีข้าวในมื้อเช้าแล้ว เขาอาจจะไปใช้มื้อเที่ยง หรือ มื้อเย็นก็ได้ ร้านค้าก็จะเหมือนสะพานบุญที่เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ โดยหน้าที่ของร้านค้า คือ ทำอาหารที่สดใหม่ ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค แล้วก็ทางร้านค้าก็จะได้รายได้เสริมเศรษฐกิจในชุมชนก็จะหมุนเวียน เพราะว่าการที่เราแจกคูปองให้กับการค้าในโครงการมันก็จะอยู่ที่ชุมชน ลดการกระจายตัวและการเดินทางออกนอกพื้นที่”

นอกจากเรื่องกินแล้ว ยังมีเรื่องเล่นของเด็ก ๆ และเยาวชนซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่ทีมอาสาสมัคร Music Sharing กำลังออกแบบและระดมความช่วยเหลือมายังชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย

ปันกันอิ่มแล้วต้องปันกันเล่น

“คลองเตยดีจังปันกันเล่น คือ เราคิดกันว่าจะทำยังไงให้เด็ก ๆ ได้เล่นที่บ้าน ได้เขียนหนังสือได้วาดรูปกับพ่อแม่ เนื่องจากว่าเด็กไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ เราก็เลยทำเรื่องรับบริจาคจากทั่วไปรวมถึงงบประมาณมาทำของเล่นให้เด็กเป็นชุดการเรียนรู้ แล้วก็ส่งให้ตามบ้าน เพราะตอนนี้เราเช็คว่าบ้านไหนมีเด็กอายุเท่าไหร่ เช่น บ้านนี้มีเด็กตั้งแต่ 0-9 ปี บ้านนั้น 9-12 ปี เพราะฉะนั้นมันก็จะได้จัดชุดตามข้อมูลที่เราเก็บไว้แล้ว

ด้านหนึ่ง ร้านค้าเล็ก ๆ ในชุมชนก็เป็นอีกพื้นที่เป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือในการกระจายความช่วยเหลือในระยะยาวหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้น โดยทางอาสาสมัครและชุมชนได้ออกแบบให้มีการใช้ “คูปองฯปันกันอิ่ม” เป็นการใช้คูปองแทนเงินสดเพื่อนำไปซื้ออาหาร ของใช้จำเป็น ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชนและประชากรในแต่ละครัวเรือนก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ในระยะยาว”   

ภาพ : Music Sharing (มิวสิคแชริ่ง)

ยกระดับศักยภาพชุมชน คนคลองเตยต้องดูแลกันเองได้

ตอนนี้ คือ เราทำเรื่องระบบอาหารให้เขารู้ว่า วันนี้เขาจะกินอะไร อย่างน้อยก็ให้ท้องอิ่มก่อน ส่วนเรื่องต่อไปที่จะทำ คือ เราอยากจะทำเรื่องการจ้างงาน ให้เขาเอากลับไปทำที่บ้าน ออกแบบงานยังไงให้เขารู้สึกว่า ไม่ใช่แค่การมาขอรับบริจาคอย่างเดียว แต่ว่าเขาได้ลงมือทำ แล้วก็ได้รับเป็นเงินด้วย  อาหารก็อาจจะสำคัญ แต่ว่าเงินก็สำคัญเหมือนกัน เพราะอาหารมันเอาไปจ่ายค่าน้ำ-ไฟ ไม่ได้ บางบ้านก็กำลังจะถูกตัดไฟ อาหารอาจจะแค่ประทังในช่วงแรกเพื่อลดรายจ่ายของเขา ต่อไปก็จะเป็นเรื่องการจ้างงาน ซึ่งตอนนี้เราก็ออกแบบอยู่ว่าอะไรที่เป็นงานที่เขาเอากลับไปทำที่บ้านได้”    

จากการพูดคุยกับทีมอาสาสมัคร การลงพื้นที่สำรวจร่วมกับชุมชนพบข้อมูลว่าขณะนี้มีสมาชิก 27,545 คน ใน 10 ชุมชนแออัดเขตคลองเตย และมี 3,287 คนใน 10 ชุมชน  ที่ทางโครงการได้เข้าไปช่วยเหลือ

ภาพ : Music Sharing (มิวสิคแชริ่ง)

โดยเบื้องต้น เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 อาสามัคร ยังได้แพ็คถุงยังชีพจำนวน 800 ชุด เพื่อนำไปให้กับชุมชนโรงหมูซึ่งข้อมูลตามทะเบียน มีจำนวน 449 หลังคาเรือน แต่จากที่มีการสำรวจร่วมกับชุมชน มีจำนวนประมาณ 789 หลังคาเรือน ซึ่งรวมถึงกลุ่มบ้านเช่า ตึกแถว ครอบครัวขยายที่มีการต่อเติมบ้าน แรงงานข้ามชาติ และคนไร้บ้านที่อาศัยในชุมชน  ซึ่งชุมชนโรงหมูที่มีสมาชิกกว่า 700 ครัวเรือน ยังอยู่ระหว่างสำรวจประชากรเพื่อให้ความช่วยเหลือในชุมชนใกล้เคียง เช่น ชุมชนบ้านมั่นคง /ชุมชนริมคลองวัดสะพาน /แฟลช 23,24,25 ให้ได้ฐานข้อมูลประชากรที่เป็นปัจจุบัน

นี่คือ การมาเยือนชุมชนคลองเตยครั้งแรกของผู้เขียน ในวันสงกรานต์ที่ไม่ได้กลับบ้าน แม้รอยยิ้ม เสียงหัวเราะจากการสาดน้ำ ปะแป้ง แต่งตัวสดใสจะไม่เกิดขึ้น แต่รอยยิ้มจากการแบ่งปัน และการมีส่วนร่วมได้ยกของบริจาคหลบฝนพายุฤดูร้อนในตอนบ่ายของวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2563 นั้น จะยังบันทึกชัดในความทรงจำ

ดีจัง คลองเตยปันกันอิ่ม

ภาพ : Music Sharing (มิวสิคแชริ่ง)
ภาพ : Music Sharing (มิวสิคแชริ่ง)
คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่ม(16 เม.ย.63)

น้ำใจและการแบ่งปันเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนเปราะบางในเมืองใหญ่ อย่างชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่ตอนนี้มีหลายฝ่ายเริ่มเข้าไปให้ความช่วยเหลือ หมุดนี้คุณนาตยา สิมภา ทีมข่าวพลเมือง C-site ลงพื้นที่ติดตามกลุ่ม Music Sharing อาสาสมัครที่ทำงานเรื่องศิลปะและดนตรีกับเยาวชน ซึ่งร่วมกันออกแบบกิจกรรม “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” ระดมทุน ข้าวสาร อาหารแห้ง ของใช้จำเป็น และถุงยังชีพ รวมถึงอาหารพร้อมรับประทาน เพื่อช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวชุมชนโรงหมูในเขตคลองเตย(16 เม.ย.63)#กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS.ติดตาม กินอยู่รู้รอบ ได้ใน วันใหม่ไทยพีบีเอส จ.-ศ. เวลา 07.30 – 08.00 น.📌 รับชมทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3📌 ชมสดออนไลน์ : www.thaipbs.or.th/Live📌 ชมย้อนหลัง : www.thaipbs.or.th/WanMaiThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพุธที่ 15 เมษายน 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ