ในช่วงสงกรานต์ปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยวิกฤตการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดงานปีใหม่ไทย ตามขนบเดิมได้ถูกยกเลิกไป เพื่อลดปัญหาการชุมนุมของคนจำนวนมาก ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อตามคำสั่งของภาครัฐบาล
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ผมเห็นปรากฎการณ์ครับ ปรากฎการณ์การปรับตัว ปรับเปลี่ยน เพื่อพยายามรักษาประเพณีที่ดีงาม อย่างประเพณีสงกรานต์นี้ไว้ ผมเห็นหลายพื้นที่ หลายชุมชน ไม่ปล่อยให้วันดี ๆ วิถีที่เคยปฎิบัติมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นหายไป พวกเขาปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อรักษาสงกรานต์ ปี 2563 เอาไว้ บนพื้นฐานการเว้นระยะห่างทางสังคม
ผมเห็นวัดท่าล้อ ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง เขามีการจัดสถานที่ไว้รองรับญาติโยมที่จะมาทำบุญในวันสงกรานต์ครับ ซึ่งทุกปี ประเพณีสงกรานต์ในทางภาคเหนือจะมีการไปตานขันข้าวพระ ทำบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถึงแม้ทางวัดคาดว่า ปีนี้ ญาติโยมที่มาทำบุญจะไม่มาก แต่วัดก็ยังมีมาตรการต่าง ๆ มาเพื่อป้องกันทุกคนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด อย่างเช่น การจัดจุดล้างมือ หรือการจัดเก้าอี้ให้มีความห่างกัน พร้อมรณรงค์และควบคุม ให้ญาติโยม ไม่มาวัดพร้อมกัน มาแล้วต้องรีบกลับ นอกจากนี้การให้พรของพระ ยังปรับเปลี่ยนเป็น การให้พรผ่านเสียงตามสายให้ญาติโยมทุกคนได้รับพรกันถ้วนหน้าที่บ้านของตัวเอง
นอกจากในพื้นที่จังหวัดลำปางแล้ว ขึ้นเหนือกันอีกนิดครับ ไปที่จังหวัดเชียงราย ที่บ้านแม่ห่าง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า ที่นั่นทางวัดแม่ห่าง และผู้นำชุมชน เขาร่วมมือกันปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางประเพณี อย่างประเพณี “สืบชะตาส่งเคราะห์” ที่เป็นประเพณีซึ่งเชื่อกันว่า เป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว ซึ่งปกติในทุก ๆ ปี จะมาทำกิจกรรมกันที่วัด แต่ปีนี้มีการเว้นระยะห่างสังคม ผู้นำชุมชนกับวัดก็เลยเกิดความคิดสร้างสรรค์ ว่าต้องเอาวัดไปที่บ้าน
“ แล้วเอาไว้ที่บ้านอย่างไร ? ”
วัดและผู้นำชุมชน เขาร่วมกันจัดการสืบชะตาทำบุญสะเดาะเคราะห์เป็นแบบดีลิเวอรี่ ฟังไม่ผิดครับ แบบดีลิเวอรี่ วิธีการ คือจะนิมนต์พระสงฆ์ในวัด ขึ้นไปบนรถที่จัดเตรียมไว้พร้อมทั้งรดน้ำพุทธมนต์ ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ออกเดินสายรดน้ำมนต์ให้ทุกหลังคาเรือน พร้อมกับให้พร สร้างความเป็นสิริมงคลกับทุกคนในชุมชน สืบสานประเพณีปีใหม่เมือง
“ ทำทุกอย่างเหมือนที่วัด แต่ปรับเปลี่ยนไปทำที่หน้าบ้าน ”
พระครูโฆษิตสมณะคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง จ.เชียงราย เล่าว่า
“เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวบ้าน เพราะว่าหัวใจของปีใหม่เมือง คือการสืบชะตาส่งเคราะห์ เพราะว่าในปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้ทำไม่ดีไม่งาม จึงอยากจะส่งเคราะห์ แต่ในเมื่อปีนี้ ภาครัฐไม่ให้ทำ ซึ่งถ้าไม่ทำชาวบ้านจะขำใจ เราก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร ถ้าอย่างงั้น เดี๋ยวพระสงฆ์จะไปทำให้หน้าบ้าน ทำพิธีต่าง ๆ เหมือนกับมาวัด แต่ว่าย้ายสถานที่ จากวัดไปสู่บ้าน”
“ชาวบ้านจะขำใจ” ในที่นี้แปลว่า ถ้าเกิดไม่ได้ทำการส่งเคราะห์ ชาวบ้านจะคาใจครับ รู้สึกขาดอะไรสักอย่าง รู้สึกจะทำอะไรก็ติด ๆ ขัด ๆ ซึ่งการทำแบบนี้ ก็เป็นการปรับเปลี่ยนวิถี แต่ยังคงรักษาประเพณีไว้ ชาวบ้านบอกว่า
“กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และเป็นการให้กำลังใจให้ประชาชนที่ไม่ได้ไปวัด ได้มีโอกาสทำบุญอยู่ที่บ้าน”
“ดีใจในปี 2563 นี้ พาลูกพาหลานสร้างเจดีย์ทรายหน้าบ้าน ถวายไว้เป็นบุญในภายภาคไปหน้า”
การสืบชะตาส่งเคราะห์ ดีลิเวอรี่ พระสงฆ์สามเณร จะออกพรมน้ำพุทธมนต์ทุกหลังคาเรือน ตามสายบิณฑบาตในหมู่บ้าน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนกว่าจะพรมน้ำมนต์ฆ่าเชื้อครบทุกหลังคาเรือนถึงกลับวัด
นี่เป็นเพียงแค่ 2 พื้นที่ ที่ผมเห็นว่ามีการสืบสานประเพณีปีใหม่เมือง ของคนเหนือ กับวิถีที่เปลี่ยนไป ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ หลายภาค หลายจังหวัด ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำบุญในช่วงโรคคระบาดโควิดนี้ ซึ่งถึงจะมีหลายวิธีการ หลายการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ตามวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ แต่ปลายทางเหมือนกันครับ ซึ่งเพื่อรักษาประเพณีเก่าแก่ของไทยเราเอาไว้
สวัสดีปีใหม่ไทยครับ