‘รัฐธรรมนูญไทย’ คนรุ่นใหม่ขอมีส่วนร่วม ‘write for เรา’

‘รัฐธรรมนูญไทย’ คนรุ่นใหม่ขอมีส่วนร่วม ‘write for เรา’

 

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้จัดงาน “Road Map คนรุ่นใหม่กับรัฐธรรมนูญไทย New Gen” เพื่อให้นิสิต นักศึกษาได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษา และประชนทั่วไปเข้าร่วม รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมรับฟังและดูแลความปลอดภัยภายในงานด้วย

นายกองค์การนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การปฏิรูปการเมือง ปี 40 จะเห็นได้ สังคมไทยยังอยู่ในวังวนแห่งการปฏิรูปที่ดูจะไร้จุดสิ้นสุด

20151011152951.jpg

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับสภาวการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารที่เปลี่ยนไป และพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรที่เปลี่ยนไป

องค์การนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงปัญหาตรงนี้ และคำนึงถึงความสำคัญของกระบวนการว่า จะต้องมีพื้นที่สำหรับทุกๆ ความคิดเห็น และทุกๆ ชุดข้อมูลอย่างแท้จริง

องค์การนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงอยากรับรู้ทั้งเสียงของคนรุ่นปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่ต้องอยู่กับปัจจุบัน แต่ยังต้องร่วมกันสรรค์สร้างสังคมไทย เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้หลงเหลือคุณค่าทีจำเป็นต้องรักษาไว้

จึงทำให้องค์การนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรารถนาที่จะเป็นเลขานุการที่จะรับผิดชอบในการรวบรวม ประมวล และถ่ายทอดทุกความคิดความรู้ ทุกชุดข้อมูล จากทุกเสียงในสังคม เพื่อส่งต่อความเข้าใจซึ่งกันกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

20151011115353.jpg

บุญญาพร แสงมณี นิสิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีแรกที่เราเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ขึ้นมาพูด ได้ขึ้นมาแสดงความคิดเห็น ต่อไปก็อาจมีเวทีอื่นที่ต่อยอดจากงานนี้ และจะเป็นเวทีที่มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายมากขึ้นออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และส่วนตัวแล้วอยากเสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ใช่แค่ให้ประชาชนไปลงมติแล้วก็จบ แต่ว่าอยากให้เสียงของคนที่ไปลงประชามติได้มีพื้นที่ในการแสดงออก แล้วก็ได้มีผลต่อรัฐธรรมนูญบ้าง

บุญญาพร กล่าวด้วยว่า อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจรัฐธรรมนูญ 1.คนรุ่นใหม่หลายคนคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว เพราะฉะนั้นก็อยากให้คนรุ่นใหม่ ลองมองในอีกมุมหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใกล้ตัว 2.หลายๆ คนอาจจะคิดว่า เราไม่สามารถเข้าไปกำหนดรัฐธรรมนูญได้ มันเป็นกฎหมายสูงสุด มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจับต้องได้ แต่ก็อยากให้คนรุ่นใหม่หันมามองว่าทุกวันนี้เราจะสามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

“เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่ทุกคนมีสมาร์โฟนอยู่ในมือ เราจะเข้าถึงข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะสื่อสารตอนไหนก็ได้ เราจะแสดงออกทางความคิดหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะว่าพื้นที่ทางการเมืองมันย้ายจากบนท้องถนน ย้ายจากหน้าทำเนียบ ย้ายจากถนนราชดำเนิน มาอยู่บนหน้าจอของเราทุกคน” นิสิตคณะรัฐศาสตร์กล่าว

 

20151011152925.jpg

ส่วน ณัฐพงษ์ ทรายหมอ นิสิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ส่วนที่ต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญเป็นส่วนของเนื้อหาที่บัญญัติละเอียดในส่วนที่เราจะต้องเข้าใจตรงกันอยู่แล้ว เช่น สิทธิเสรีภาพ แต่ว่าการบัญญัติไว้ก็ถือเป็นหลักประกัน แต่จะเป็นไปได้ไหมถ้าในหลักประกันเราควรจะกระชับและชัดเจนสั้นลง เพื่อที่ว่าประชาชนทุกคนจะได้เข้าถึง โดยไม่ต้องอ่านเป็นร้อยๆ มาตรา

ณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่าจะขับเคลื่อนในส่วนที่ทำให้ทุกคนหันมาสนใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ เพราะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนให้ความสนใจและก็จับตามอง แต่ว่าถ้าเราสามารถทำให้คนรุ่นใหม่ร่วมจัดการได้ก็ดี เพราะว่ากฎหมายเปลี่ยนไปตามยุค ตามสมัยเพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ต้องมาเป็นพลังขับเคลื่อน

นิสิตคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คงเป็นเรื่องของโครงสร้างทั้งสามอำนาจก็คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และก็อำนาจตุลาการครับ เนื่องจากว่าที่ผ่านมาเราใช้คำว่ารัฐสภามาโดยตลอด แต่ว่ารัฐบาลชุดนี้เพิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นคำว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำให้มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควรทั้งในเรื่องของจำนวนสมาชิกต่างๆ

“รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นมา มันจะมีความชอบธรรมไม่ได้เลย ถ้ามันไม่ได้ตอบสนองต่อทุกฝ่ายในสังคม นักการเมืองจะมีความชอบธรรมไม่ได้เลย ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายของเราทุกคน” ณัฐพงษ์กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ