- คุยกับ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตแพทย์และ อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ทวีความรุนแรงไปหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทะลุหลักพัน และทั่วโลกทะลุไปถึงหลักล้าน ทำให้หลายคนยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น เฝ้าถามตัวเองวันละหลายครั้งว่าตัวเองติดโควิดหรือยัง ทำให้เราต้องกลับมานั่งทบทวนว่า ไม่เพียงแต่สุขภาพกายเท่านั้นที่ต้องดูแล แต่สุขภาพจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน Social Distancing หรือ ระยะห่างทางสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคมกักตัวเอง 14 วัน เห็นจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้ อยู่บ้าน นอนดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนหลายคนชอบ แต่ถ้าคิดไปถึงอนาคตว่าเราต้องทำแบบนี้ไปอีกถึงเมื่อไหร่ จะทำให้เกิดการต้องปรับตัว หรือปรับสิ่งที่ทำโดยประจำในชีวิตประจำวันซึ่งมันจะเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง จะทำอย่างไรที่จะทำให้ความห่างไกล ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ไม่ให้ความกังวลเป็นการทำร้ายจิตใจของตัวเอง จะมีวิธีการใดบ้างในการให้กำลังใจตัวเองและผู้อื่น ?
องศาเหนือ Special : โควิด-19 ก้าวผ่านหื้อได้ ! วันนี้คุยกับตัวแทน หมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล คุณหมอจิตแพทย์ ที่ใช้พื้นที่บนสื่อออนไลน์เพื่อแบ่งปันความรู้ให้กับประชาชนที่สนใจการดูแลสุขภาพจิตใจ พัฒนาตนเอง และยังเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามแลกเปลี่ยนกันเพื่อสื่อสารสองทาง ในเรื่องของสุขภาพจิตใน การจัดการความกังวลภาวะเครียด และอาการแพนิคของทุกคนได้
เพื่อลดความเสี่ยงในภาวะตึงเครียด นพ.ประเวช ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ในทั่วโลกตอนนี้ ถ้าเรามองจากทั่วโลกเป็นภาพรวมจะดูน่ากลัวเกินไป ในทางยุโรปอเมริกาเชื้อโรคแพร่กระจายไปไวและการเสียชีวิตสูงเป็นอย่างมากในแต่ละวัน ซึ่งการเสพข่าวในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลทำให้เราเกิดความตระหนกตกใจ และความกังวลใจขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองของเรา ณ ตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงสถานการณ์ระบาดเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเราเทียบกันกับทางยุโรปสถานการณ์ของประเทศไทยยังถือว่ายังสามารถควบคุมได้
ขณะเดียวกันในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้น มีผู้คนที่พยายามปล่อยข่าวลือ ข่าวลวงบนสื่อออนไลน์ สร้างความกังวลใจให้ผู้คนเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ก่อนว่า เราควรจะเชื่อถือและรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารแบบใด เพราะถ้าเราเชื่อถือข้อมูลข่าวสารลวง เช่น ข้อมุลจากการบอกเล่าโดยไม่มีแหล่งที่มาทางเฟซบุ๊คผู้ที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการและไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงของข้อมูลได้ พยายามโพสบอกผู้คนบนโลกออนไลน์ว่า ตัวเลขของผู้ที่ป่วยในประเทศไทยในเชิงที่มากและน่ากลัวกว่าความเป็นจริง ทำให้คนที่เชื่อถือข้อมูลเหล่านั้นตระหนก และกลัวสิ่งที่ควรสังเกตคือ ต้องตรวจดูข้อมูลนั้นว่าความน่าเชื่อถือมีมากน้อยเพียงใด และต้องไม่ประมาท การที่เราอยู่กับตัวเองและการรับข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความสลดใจ รู้สึกถึงความยากลำบากที่กำลังรอคอยสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด และผลกระทบที่มีต่อชีวิตผู้คนหลากหลาย ถ้าเราไม่ระมัดระวังใจของเราดี ๆ นั้น ใจของเราอาจตกไปตามเรื่องราวที่เรารับข่าวเข้ามา จึงจำเป็นที่ต้องมีวิธีการจัดการดูแลใจตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย นอนให้พอและกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งสองอย่างนี้จะช่วยทั้งในเรื่องภูมิคุ้มกันและลดภาวะความเสี่ยงเรื่องโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้นหลักพื้นฐานที่ไม่ให้ใจของเราเกิดอาการจิตตกและเกิดโรคซึมเศร้าตัวหนึ่งที่สัมพันธ์กันคือ อาหารที่ได้มีคุณภาพไม่ดีพอและแสงแดดที่เราไม่ได้รับ แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่กระทบแรงเท่ากับการที่เราจิตตกในเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพจิตใจให้ผ่อนเบาสบาย
จะคลายความกังวลลงได้อย่างไร ในเรื่องความกังวลที่พอดีเป็นเรื่องดี แต่ถ้าความกังวลที่มากจนเกินพอดีนั้นอาจจะเป็นเพราะพื้นฐานของความกังวลของคนไม่เท่ากัน โดยหลักการแล้วการแพร่เชื้อของคนสู่คนคือการที่เรา มือสกปรกแล้วไปจับสิ่งต่าง ๆ จนคนอื่นมาจับสิ่งเหล่านั้นต่อ หรือการไปรับเชื้อโรคมายังพื้นที่ที่มีเชื้อโรคอยู่ เช่น ในการไปที่สาธารณะมีคนพบปะพูดคุยกัน และเป็นพื้นที่แออัด จะทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อกลับมาที่บ้าน แต่ถ้าเราอยู่ที่บ้านเปิดห้องให้มีอากาศถ่ายเทเข้ามาได้ดี พยายามให้แสงแดดส่องและ ทำความสะอาดห้องอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ การล้างมือครั้งเดียวของเราสามารถอยู่ได้นานยกเว้นการที่เราไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ พอเรารู้แล้วว่าเชื้อโรคมันจะแพร่อย่างไร เราต้องไปป้องกันในจุดนั้น ถ้าเราป้องกันมากเกินไปและเกินจุดที่สำคัญเหมือนเราป้องกันเกินความพอดีเป็นการใช้พลังงานทางความคิดเกินความพอดีไปด้วย หรือสำหรับคนที่ยังคงต้องไปทำงานหรือออกนอกบ้าน ในการไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้อง ซึ่งในตอนนี้ไม่แนะนำถ้าไม่จำเป็น เราควรทำตัวให้เหมือนเรามือเชื้ออยู่ในตัว ถ้าเป็นเหตุจำเป็นหรืออาศัยอยู่บ้านเดียวกันการไปถึงบ้านต้องแนะนำข้อปฏิบัติคือ ล้างมือ อาบน้ำ เปลี่ยนชุด ก่อนจะเข้าไปหาพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และอยู่ให้ห่าง 2 เมตร ไม่ใกล้ชิดท่านมากในเวลานี้
ส่วนการจัดการในความกังวลเรื่องการเข้าใกล้ผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านนั้น และความกังวลของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเวลาที่กลุ่มนี้ได้รับเชื้อไวรัสมีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนที่ง่ายกว่าผู้ที่มีอายุน้อย ข้อมูลในช่วงหลังของทางยุโรป และอเมริกาก็พบว่าผู้ที่มีอายุน้อยนั้นก็สามารถป่วยได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรผู้สูงอายุก็ควรระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ ระมัดระวังตัวในที่นี้คือถ้าเป็นไปได้ควรอยู่แต่ในบ้าน
ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในต่างจังหวัดถ้ามีพื้นที่ และสามารถเปิดหน้าต่างได้ มีที่เดินเล่นยังมีโอกาสได้ออกนอกบ้านบ้าง สิ่งนี้ถือว่าเป็นความสงบสุขได้ดีเลยทีเดียว แต่กับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมืองและพื้นที่คับแคบนั้น ส่วนนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียดมากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการหาวิธีการให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลิน จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้าใจว่าร่างกายของคนทำงานอย่างไร เช่น การดูแลความสะอาดและหากิจกรรมทำในพื้นที่ที่สามารถทำได้ อาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากเกินไป แต่สิ่งที่ยากคือการที่ลูกหลานนั้นมาเยี่ยมไม่ได้ คุณหมอแนะนำว่าถ้าอยากจะเข้าไปเยี่ยมท่านคือ อย่างที่บอกไปเบื้องต้นคือ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และรักษาระยะห่าง ป้องกันให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด อย่างน้อยการได้เจอหน้ากันอาจลดความตึงเครียดของผู้สูงอายุได้
กักตัวอย่างไร ให้ไม่เกิดความเครียด ความเครียดนี้แก้ไม่ได้ด้วยรายบุคคล ระบบที่ดีต้องเริ่มจากชุมชนเป็นสร้างกระบวนการทางสังคม เช่น ในตอนนี้ในต่างจังหวัดเริ่มมีผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงไปถึงบ้านก็การมีคนมาคัดกรองต้องรับ เสร็จแล้วขอให้ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงกักตัว กระบวนการกักตัวมีผู้คนช่วยผลัดเปลี่ยน แวะเวียนมาดูให้ความรู้และคำปรึกษา
ในส่วนของตัวเราเองการที่เราต้องอยู่เองตามลำพัง สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับนิสัยของตัวเราเองว่าเป็นคนอย่างไร ถ้าเป็นคนไม่สันโดษ ชอบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและกำลังเครียดมาก อยากจะพักจากความเหนื่อยล้ามาตลอด ในตอนการพักช่วงวันแรกนั้นทุกคนจะมีความสุข ซึ่งถ้าคนเหล่านี้อยู่ไปสักช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นจะเริ่มเกิดความกังวลใจ เพราะเราอยู่กับตัวเองไม่ค่อยเป็น ซึ่งทำให้ตัวนายแพทย์เองคิดถึงในสมัยที่ไปวัดบ่อย ๆ มีคำหนึ่งในวัดที่สามารถนำคำนี้ มาใช้ได้กับยุคสมัยปัจจุบันคือ “อยู่เองคนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา” คำพูดนี้เป็นสิ่งที่บอกเราเลยว่า การอยู่ด้วยตัวเองตามลำพังสิ่งที่ยากที่สุด และจะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้โดยมีความสุข คือ ความคิดที่วิ่งวนอยู่ในหัวของเราเอง ถ้าความคิดเราหยุดคิดได้เราจะอยู่ได้อย่างไร้ซึ่งความกังวล การที่ตัวเราเองอยู่คนเดียว 3-7 วันเป็นเรื่องที่ยาก จากสังเกตดูแล้วมันก็เกิดจากความคิดที่วิ่งวนอยู่ในหัวเราและการที่ตัวเราเองอยู่เฉย ๆ ไม่เป็น ซึ่งถ้าเรารู้ตัวเองแล้วว่าเราอยู่เฉย ๆ ไม่เป็นนั้น เราควรต้องเริ่มออกแบบพฤติกรรมการอยู่ในบ้าน และพฤติกรรมที่น่าทำที่สุดนอกเหนือจากพฤติกรรมที่ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อแล้วนั้น คือพฤติกรรมที่ทำให้ภูมิคุ้มกันเราดีขึ้น เช่นการนอนให้พอ ลุกขึ้นมาออกกำลังกายบริเวณในบ้านออกมาเจอแสงแดด และยังคงมีความสัมพันธ์ติดต่อกับเพื่อนฝูง ญาติมิตรได้อยู่ เพียงแต่ถ้าเรานั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวเอง ถ้าเราต้องแยกทุกอย่างออกจากตัวเรา เช่น อยู่ได้แต่ในห้อง เราก็ใช้วิธีใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อลดความตึงเครียดและเป็นการลดความเสี่ยงให้ผู้อื่นติดเชื้อจากเรา การออกแบบชีวิตตัวเอง เราต้องเลือกเวลา เช่น การดูภาพยนตร์ออนไลน์ เราต้องบริหารเวลาให้พอดี ลองเอาเวลามาคิดว่าถ้าเรารู้ตัวเองว่าในอนาคตสายอาชีพตัวเองในอนาคตจะตกงานยาว เช่นอาชีพการท่องเที่ยว โรงแรม ตรงนี้เราต้องกลับมานั่งคิดว่าในอนาคตเราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร ดังนั้นแนะนำว่าในช่วงที่บุคคลเหล่านี้อยู่บ้านและไปไหนไม่ได้ สิ่งที่น่าจะทำมากที่สุดคือ การเลือกใช้เวลาอย่างมีจุดหมาย การพัฒนาความรู้และความสามารถ เพื่อเราจะได้เตรียมตัวในการปรับชีวิตใหม่ในอนาคต คิดมองไปข้างหน้าว่าในอนาคตเราจะทำอะไร เพราะต่อให้ไวรัสโควิค-19 ในตอนนี้คลี่คลายไปแล้วนั้น ก็ต้องเตรียมตัวในเรื่องของอาชีพที่จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ซึ่งเราต้องมาตั้งคำถามใหม่เลยว่าในเชิงการจัดการของประเทศนั้น ทีมวิชาการกับรัฐควรไปหาคำตอบว่า เราควรจะวางตำแหน่งตัวเองโดยการหวังพึ่งระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหรือการบริการอย่างไร
“โจทย์ครั้งนี้เราต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายฝ่าย แม้ว่าเราจะมองว่าบุคลากรทางการแพทย์ดูเหมือนเป็นด่านหน้าในจุดนี้ แต่จริง ๆ แล้วจุดชี้ขาดความสำเร็จอยู่ที่สมาชิกของสังคมแต่ละคน เพราะถ้าทุกคนร่วมมือกันนั้น การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นน้องลง และถ้าเรามีชุดความรู้อยู่แล้วจะรู้วิธีการควบคุมมัน ตัวชี้ขาดจึงไม่ได้อยู่ที่แพทย์ ตัวชี้ขาดอยู่ที่พฤติกรรมของประชาชนไทยทุกคน ดังนั้นถ้าทุกคนรู้ตัวมีความรับผิดชอบ ค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องนั้นและปฏิบัติตัวได้ ในเชิงของการควบคุมโรคจะทำได้ง่ายขึ้น และถ้าเราควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น การกำหนดนโยบายของรัฐบาลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด สังคมก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างแน่นอน”