กลุ่มชาติพันธุ์กับศักยภาพการจัดการชุมชนในสถานการณ์ไฟป่าและโควิด

กลุ่มชาติพันธุ์กับศักยภาพการจัดการชุมชนในสถานการณ์ไฟป่าและโควิด

กลุ่มชาติพันธุ์กับศักยภาพการจัดการชุมชนในสถานการณ์ไฟป่าและโควิด

ชุมชนชาติพันธุ์หลายพื้นที่ในภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับสถานการณ์หมอกควันและโควิดไปพร้อมๆ กัน หลายพื้นที่ประกาศปิดหรือเปิดชุมชนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อป้องกันเชื้อโรค Covid 19 เข้ามาในพื้นที่  อะไรคือศักยภาพของชุมชนที่สามารถจัดการไฟและป้องกันเชื้อโควิดระบาดได้

ผู้เขียน ขอยกตัวอย่าง ชุมชนกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่ประกาศปิดชุมชน หรือเปิดอย่างมีเงื่อนไขได้ ในสถานการณ์ที่รัฐประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาโรคโควิดได้ โดยไม่ต้องกักตุ่นเสบียงอาหาร นั้นคือ  ชุมชนกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ที่ได้ประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาตามหลัก “ทำส่วนน้อย รักษาส่วนใหญ่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” 

ศักยภาพของชุมชนเกิดจากการสะสมองค์ความรู้และการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ 

โดยชุมชนมีต้นทุนที่สำคัญ กล่าวคือ

1. วัฒนธรรม/การดำรงชีวิตของชุมชนสอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

จากอดีตสามชั่วอายุคนถึงปัจจุบัน ชุมชนชาวใช้ชีวิตอย่างเรียบ สมถะ โดยมีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างสอดคล้องและสมดุล หนุนเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันในการใช้ชีวิตและการอนุรักษ์ทรัพยากรไปด้วยกัน ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ พื้นที่นี้ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหาร เพราะการจัดการที่สมดุลและสอดคล้อง จึงมีป่าเป็นหลังพิง จึงมีป่าเป็นแหล่งอาหาร เพราะมีวิถีแบบพึ่งตนเองหรือพอเพียง เรียบง่ายต่อการจัดการชุมชนภายใน ไม่ติดในวัฒนธรรมบริโภคนิยมหรือตามกระแสหลัก

2. รูปแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดิน “แบบหน้าหมู่” หรือการเกษตรในรูปแบบ “ไร่หมุนเวียน” สร้างเอกภาพ ความรัก สามัคคีในชุมชน เกิดความร่วมมือในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยเฉพาะ “การทำแนวกันไฟในพื้นที่จิตวิญญาณ” โดยการร่วมแรงแบ่งปันของคนในชุมชนเอง 

ดอยช้างป่าแป๋มีพื้นที่ทำกินในรูปแบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนรอบหนึ่งประมาณ 7 ปี ในพื้นที่โดยประมาณ 2,308 ไร่ ซึ่งในแต่ละปีจะเปิดพื้นที่ทำกินเพียง 200 กว่าไร่ หรือ10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่โดยแปลงไร่หมุนเวียนทั้งหมดมีการถือกรรมสิทธิ์แบบหน้าหมู่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนในชุมชนมีสิทธิที่ในการใช้ประโยชน์ โดยกติกาชุมชนตามวิถีดั้งเดิม การทำประโยชน์ “แบบหน้าหมู่” ช่วยสร้างความสามัคคีในพื้นที่ ทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋ มีความเป็นปึกแผ่นในการจัดการทรัพยากรทั้งการทำไร่หมุนเวียน และยังสร้างนวัตกรรมการจัดการไฟป่าที่น่าทึ่งเอามากๆ 

3. การจัดการทรัพยากรของชุมดอยช้างป่าแป๋สอดคล้องกับหลักพหุกฎหมายหรือลักษณะเชิงซ้อน 

ทั้งหลักจารีตประเพณีและหลักกฎหมายลายลักษณ์ สอดคล้องกับหลักพหุกฎหมาย กล่าวคือ ชุมชนมีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเอง ผ่านจารีต กติกาชุมชน และหลักประเพณีความเชื่อดั้งเดิมที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ โดยมีกฎหมายหลายฉบับรับรอง ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

4. การจัดการพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษของชุมชนกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

​ชาวกะเหรี่ยงชุมชนดอยช้างป่าแป๋ร่วมกันทำแนวกันไฟยาว 30 กิโลเมตร เป็นแนวกันไฟชั้นในรอบชุมชน และยังมีขอบเขตแนวกันไฟชั้นนอกที่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 21,034 ไร่ นอกจากนั้นยังมีการวางถังน้ำแนวกันไฟเพื่อใช้ดับไฟป่าในช่วงหน้าแล้งของทุกปี เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หากมีไฟป่าเข้ามาในแนวเขตของชุมชนเมื่อไร ชุมชนสามารถระดมกำลังคนไปดับไฟทั้งกลางวันและกลางคืนป้องกันให้ป่าเสียหายน้อยที่สุด

นอกจากนั้น การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋ จะมีการทิ้งไร่ที่ผ่านการเก็บเกี่ยวแล้วเป็นไร่พักฟื้น (ไร่เหล่า) ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับว่าไร่พักฟื้น มีประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ดีกว่าป่าแก่หรือป่าที่ไม่มีการจัดการแบบไร่หมุนเวียนซึ่งต้นไม้ที่โตแล้วเนื่องจากต้นไม้ในไร่พักฟื้นยังอยู่ในระหว่างการเติบโต จึงต้องการรับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่า ทั้งนี้ การจัดการไฟและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ในพื้นที่ไร่พักฟื้นของชุมชน ช่วยลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

ประการสำคัญ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋เป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ระหว่างชุมชนและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)” ได้เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาและนำเสนอข้อมูลรูปธรรมการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ระหว่างวันที่ 12-15 มกราคม 2563 กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากรตามหลัก “คนอยู่กับป่า” นำมาซึ่งกรอบข้อตกลงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ทั้งข้อเชิงนโยบายและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะผลักดันให้มีการคุ้มครอง พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยให้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดกับ ขปส. ซึ่งชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) ตำบลป่าพลูอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนารูปธรรมการจัดการทรัพยากรตามวิถีชุมชนและการอนุรักษ์ อันจะนำมาการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

เช่นนี้ ชุมชนที่มีศักยภาพในการจัดการตนเอง ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาหมอกควัน โดยการสร้างนวัตกรรมาการจัดการไฟ รวมทั้งการปิดชุมชนหรือเปิดอย่างมีเงื่อนไขเพื่อแก้ปัญหาโควิดระบาดโดยชุมชนมีศักยภาพในการจัดการ รัฐส่วนกลางควรส่งเสริมสนับสนุนชุมชนให้มีความยั่งยืนในการจัดการตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยง ควรสนับสนุนชุมชนตามเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยเร่งด่วนทันที

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ