คุยกับ ชวลิต วิทยานนท์ เมื่อแม่น้ำโขงแห้ง ไม่ได้กระทบแค่คนริมโขง

คุยกับ ชวลิต วิทยานนท์ เมื่อแม่น้ำโขงแห้ง ไม่ได้กระทบแค่คนริมโขง

“เพราะว่าคนรากหญ้าต่าง ๆ อาจจะเอื้อผลประโยชน์ต่อคนกลุ่มที่มีอำนาจน้อย เสียงเขาเบาเพราะว่าผู้มีอำนาจได้ผลประโยชน์จากเขาน้อย ก็เลยไม่ให้ความสำคัญเขามากนัก” ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง กรรมการวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แลกเปลี่ยนกับทีมงาน หลังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสถานการณ์แม่น้ำโขงที่ผันผวนและลดต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ตั้งแต่กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา จนแทบจะเรียกว่าถูกเพิกเฉยจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งในประเทศไทย แม่น้ำโขงจะไหลผ่าน 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคนริมโขง

แม่น้ำโขงที่ผันผวน ขึ้น-ลง จนแห้งขอดแบบนี้ ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไรบ้าง ?
ระดับน้ำโขงที่ลดลงผิดปกติ ผลกระทบที่เห็นชัดเจนก็คือ การดำรงชีพของสัตว์น้ำ สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องของชาวประมงก็อาจจะจับสัตว์น้ำได้น้อยลง หรือจับได้มากในเวลาสั้น ๆ แล้วปีต่อไปก็จะจับไม่ได้เลย อันนี้เป็นผลกระทบที่ชัดเจนที่เห็นโดยตรง และการที่น้ำใสผิดปกติมันก็ทำให้ปลาหลายชนิดที่ติดแอ่ง เมื่อน้ำลดและใส น้ำก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปลาหลายชนิดที่ติดอยู่ไปไหนไม่ได้ก็จะตาย สัตว์น้ำอื่น ๆ ด้วย กุ้ง หอย ปู เช่นกัน สัตว์น้ำเหล่านี้เมื่อตายมันก็กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน แล้วก็สัตว์น้ำเองด้วย ภาวะห่วงโซ่อาหารก็จะเสียไป แล้วก็สัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ชาวประมงใช้ประโยชน์จากมันก็จะหายไปในปีถัดไปหรือว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ครับ

สภาพแม่น้ำโขงแบบนี้ ชาวบ้านควรต้องปรับตัวอย่างไรได้บ้าง ?
สิ่งมีชีวิตกับระบบเนิศที่กระทบกับเรื่องน้ำแห้งนี้ ไม่มีเฉพาะตัวแม่น้ำโขงสายหลักนะครับ มันมีผลกระทบต่อแม่น้ำสาขาด้วย เช่น แม่น้ำสงคราม แม่น้ำอิง แม่น้ำมูล เพราะว่าทำให้น้ำในสาขาแห้งตามไปด้วย  อันที่หนึ่งแห้งตามไปด้วย อันที่สอง อพยพเคลื่อนย้ายขึ้นมาแพร่พันธุ์วางไข่เลี้ยงตัวอ่อน แล้วก็เป็นแหล่งในการจับหาของชาวบ้านก็จะไม่มีครับ แล้วอย่างที่สาม ก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำ หนองบึง พื้นที่รับน้ำท่วมที่อยู่บริเวณใกล้แม่น้ำโขงหรือต้องรับน้ำจากแม่น้ำโขง เมื่อแม่น้ำโขงแห้ง พื้นที่เหล่านี้ก็จะเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไป เมื่อน้ำเหล่านี้แห้ง การใช้น้ำในภาคเกษตรก็จะมีความเดือดร้อน แล้วก็ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ก็จะเสียไป เพราะว่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็อาจจะหายไปรวมถึงเรื่องของนกอพยพ เรื่องของระบบนิเวศอื่น ๆ ด้วยครับ ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะสูญเสียไป

นอกจากยอมรับชะตากรรม ทำอะไรได้ไหม ?
อย่างแรก เราคงต้องศึกษาผลกระทบให้ชัดเจนก่อนว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงแล้วก็นำไปสู่วิธีทำอย่างไรที่จะสร้างข้อแนะนำแนวทางให้ชาวบ้านปรับตัว แล้วก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ประชาสังคมตอนนี้ก็มีการเคลื่อนไหวอยู่ครับ เพราะว่าเขาเดือดร้อน แต่ว่าสิ่งที่เกิดคำถามก็คือว่ารัฐไทยหรือผู้มีอำนาจ ทางรัฐบาลของไทยฟังเสียงของประชาชนหรือเห็นความสำคัญของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขามีความเห็นใจหรือว่าฟังเสียงประชาชนมาก ทางรัฐบาลก็ควรจะคิดว่าคุณจะทำอย่างไร ที่จะมีการเจรจาต่อรองหรือว่าไปดำเนินการพูดคุยกับประเทศต้นน้ำ ให้มีวิธีการลดผลกระทบต่อพื้นที่ใต้น้ำอย่างไร ไม่ว่าในเรื่องขอการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการปล่อยน้ำ การใช้น้ำ รวมถึงเรื่องของการปฏิบัติต่อเขื่อนให้ลดผลกระทบต่อท้ายน้ำให้น้อยที่สุด

ทำไมแม่น้ำโขงจึงเป็นเป้าหมายของหลายกลุ่มทุน แต่เสียงคนริมโขงกลับถูกละเลย ?
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลัก มีความยาวเป็น 1 ใน 10 ของโลก การที่เป็นแม่น้ำสายหลัก ทรัพยากรสำคัญอย่างแรกก็คือตัวน้ำ ตัวน้ำเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่เป็นวัตถุดิบของการสร้างพลังงานไฟฟ้า แล้วก็การใช้น้ำในอุตสาหกรรมภาคเกษตร และที่สำคัญโครงการหลัก ๆ ที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วไม่ได้หวังผลต่อการผลิตตัวน้ำหรือไฟ แต่ว่าเมื่อมีโครงการมากขึ้น ธุรกิจที่เข้ากับโครงการ เช่น การก่อสร้างหรือว่าธุรกิจที่ในเรื่องของตัววัสดุในการก่อสร้างกับโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ก่อนเพื่อน รวมถึงธุรกิจไฟฟ้าก็ได้รับผลประโยชน์ตามมา ส่วนในเรื่องของผลประโยชน์ของคนรากหญ้า เท่าที่ผ่านมารัฐบาลในภูมิภาคมักจะให้ความสำคัญน้อยลงหรือไม่ให้เลย

นอกจากคนริมโขง คนไทยทั้งประเทศควรมองและรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ?
ต้องมีความเห็นใจคนใช้น้ำมากกว่านี้ครับ และก็คงจะต้องรับทราบว่าทุกหน่วยของไฟฟ้า พลังงานที่ใช้ มันได้มาจากความยากจนเดือดร้อนของคนท้ายน้ำ ในขั้นแรกจะกระทบกับคนที่อยู่ริมน้ำโขงหรือผู้ใช้น้ำในลุ่มน้ำโขงก่อนครับ แต่ว่าในระดับต่อไป ถ้าหากว่าทรัพยากรต่าง ๆ สูญหายไปหรือลดน้อยลง คนที่อยู่นอกลุ่มน้ำโขงก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เสียงของคนริมโขงมันแทบไม่ถูกได้ยิน ?
อย่างที่ว่าครับ เพราะว่าคนรากหญ้าต่าง ๆ อาจจะเอื้อผลประโยชน์ต่อคนกลุ่มที่มีอำนาจ จริง ๆ ต้องมองว่าเสียงเขาเบา เพราะว่าผู้มีอำนาจได้ผลประโยชน์จากเขาน้อย ก็เลยไม่ให้ความสำคัญเขามากนัก

ถ้าสถานการณ์น้ำโขงยังแห้งยังแบบนี้ เราต้องเตรียมรับมืออย่างไร ?
อย่างแรก คือ ความยากจนของคนที่อยู่ริมโขง คนที่ต้องใช้น้ำ ความยากจนเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อมีความยากจนปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจคงตามมาในภาคเกษตร ในภาคของประมง ภาคเกษตรนี้จะจำนวนมากกว่า เมื่อภาคเกษตรเดือดร้อนก็หมายความว่าต้องมีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน แรงงานเหล่านี้ประกอบกับเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยอำนวย นำไปสู่การเกิดปัญหาของความอดยาก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ