เครือข่ายการศึกษา สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดประชุมเสวนา รับฟังความเห็นของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย เพื่อที่จะนำไปสู่การจัดตั้งหลักสูตรชาติพันธุ์ เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สูง
ในการประชุมเสวนาในครั้งนี้ มีผู้อาวุโสตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือ เข้ามาร่วมถึง 7 ชาติพันธุ์ เพื่อสะท้อนความคิดเห็น บอกคความคาดหวังของการมีหลักสูตร และความต้องการที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่สูงกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
หลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือของเครือข่ายการศึกษา สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยกับวิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้ ที่จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนี้ ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษารากฐานของตัวเอง ทั้งวิถีชีวิต และวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร และให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาซึ่งการทำเกษตรแบบยั่งยืนบนพื้นที่สูง โดยไม่ทิ้งภูมิปัญญาของแต่ละชาติพันธุ์ การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสะท้อนปัญญาในท้องถิ่นแล้ว ยังร่วมเสนอสิ่งที่หลักสูตรนี้ควรจะมีด้วย อย่างการศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของกลุ่มชาติพันธุ์
สุขศรี ฐิติภัทร์ เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์อาสา กล่าวว่า
เยาวชนชาติพันธุ์ จำเป็นต้องออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก เพื่อไปเรียนข้างนอก พอเรียนจบกลับมาบ้านไม่ได้ เพราะไม่มีที่ทำกิน ซึ่งเป็นเกษตรกรไม่มีที่ทำกิน นั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ถึงจะมีพื้นที่ก็อาจจะทำไม่ได้ ทำไร่หมุนเวียนก็ต้องทำแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ถามว่าพ่อแม่เขาอยากให้ลูกออกจากอกเขาไหม ก็ไม่ แต่สังคมมันบีบบังคับให้คนต้องออกมาจากป่า ด้วยผลจากทั้งตัวกฎหมายและค่านิมยม ซึ่งต่อจากนี้เราจะต้องไม่ปล่อยให้เด็กไหลไปตามกระแสน้ำ เราต้องตามว่าพวกเขาไปไหน ทำอะไร นอกจากนั้นเขาจำเป็นต้องเรียนรู้สังคม การเปลี่ยนแปลงของสังคม แล้วนำกลับไปปรับใช้ในชุมชนตัวเองให้ได้ ซึ่งหลักสูตรนี้จะต้องจะต้องหาช่องทางให้เขากลับบ้านหลังเรียนจบให้ได้
พาตีตาแยะ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า
“เราอยากให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีทักษะในการสื่อสารกับโลกภายนอก ภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเอง หลักสูตรนี้ต้องทำให้เด็กเปิดใจ ผสมผสานความหลากหลายทั้งความรู้ ภูมิปัญญาชุมชน และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปพัฒนาบ้านของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
วิไลลักษณ์ เยอเบาะ หัวหน้ากลุ่มงานฟื้นฟูวัฒนธรรมและการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า
“ ถ้าอยากให้เขากลับบ้าน เขาต้องรู้จักตัวเองว่าเขาเป็นใคร ”
วิธีการคือการที่เขาได้กลับไปในชุมชน ให้เขาได้ซึมซับได้กลับไปวิเคราะห์ชุมชนของตัวเอง หลังจากที่เขารู้ว่าชุมชนเขามีอะไร ทั้งข้อดีข้อเสีย หรือมีปัญหาอะไรเขาจะนำมันกลับมาวิเคราะห์ให้เขากับความถนัดของตัวเอง นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ในหลักสูตรนี้ต้องมี เพราะถ้าเขาไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักชุมชนเขาก็ไม่กล้ากลับบ้าน เพราะไม่รู้จะกลับไปทำอะไร
นอกจากนี้เมื่อเขามีความรู้ และรู้จักชุมชนแล้ว เขาต้องมีกองทุนที่จะรองรองรับเขาหลังเรียนจบด้วย เพื่อสนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากจะขับเคลื่อนในพื้นที่ที่เขาจะทำ นี่จะเป็นช่องทางที่ทำให้เขากลับไปพัฒนาชุมชนได้
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า
การศึกษาในยุคแรกของไทย ซึ่งมาผลมาถึงปัจจุบัน เป็นการศึกษายุคสร้างชาติ เอากรุงเทพฯ เป็นหลัก การศึกษานั้นบังคับให้คนสมาทานต่อกรุงเทพ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนต่างจังหวัดรู้สึกว่าตัวเองสู้คนกรุงไม่ได้ เป็นผลทำให้เราสูญเสียตัวเองมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนกลับมาภาคภูมิใจในบ้านของตัวเอง กลับมาพัฒนาบ้านของตัวเอง
สิ่งแรกที่ควรจะทำในหลักสูตรนี้คือ การให้เยาวชนได้รู้จักตัวเอง รู้จักรากเหง้าของตัวเอง เป็นใครมาจากไหน มีความเชื่อในชุมชนอย่างไร นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ ก็ต้องเท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เท่าทันสื่อ รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์จากสื่อ เอามันมาเสริมรากเหง้าของตัวเองให้แข็งแรงได้อย่างเหมาะสม
ด้านนักวิชาการด้านการเกษตร ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้ มองว่า
“ เกษตรกรต้องเป็นผู้ประกอบการ จึงจะสำเร็จ “
เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องมีความรู้ครบวงจร ทั้งความรู้เรื่องเกษตรการผลิต การแปรรูป ความรู้เรื่องการตลาด เรื่องเทคโนโลยี เรื่องกฎหมายหรือการเมือง สิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมให้เขามีช่องทางที่จะประยุกต์ใช้ ให้สำเร็จได้ในยุคปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ต้องถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร หลักสูตรนี้ต้องครบวงจร
นอกจากนั้น อ.ดร.ชมชวน ยังเสนอข้อคุณสมบัติเด็กที่จะเข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ โดยกล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาเรียนต้องอยู่บนฐานของชุมชน เป็นเด็กที่มาจากกระบวนการของชุมชน อย่างเช่น เป็นเด็กที่ชุมชนเลือกให้เข้ามาเรียน โดยการสนับสนุนค่าเทอม หรือค่าใช้จ่าย นี่จะทำให้เกิดความผูกพันธุ์ระหว่างตัวเด็กกับชุมชน ลดช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษา เพราะเกิดจากการร่วมมือกับส่งเสริมเยาวชนในชุมชนของตัวเอง เป้าหมายของเด็กไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาส่วนตัว แต่ต้องยกระดับถึงการแก้ปัญหาชุมชนไปจนถึงเรื่องของนโยบาย ซึ่งนี้อาจจะเป็นโมเดลให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว เล่าถึงขั้นตอนต่อจากนี้ว่า
ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมือง ว่าในหลักสูตรควรจะมีอะไรบ้าง ต่อไปจะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ว่าพวกเขาต้องการที่จะรู้อะไร ต้องการรูปแบบการเรียนรู้แบบไหน นอกจากนั้นก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการและภาครัฐ เพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป พอได้ครบทุกเวทีขั้นตอนต่อไปคือการเอาทุกอย่างมาวิเคราะห์กำหนดเป็นรายวิชา เป็นหลักสูตรออกมา และบรรจุเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา
” คาดว่าจะสามารถเปิดหลักสูตรได้ในปีการศึกษา 2564 “
โดยสรุปข้อเสนอใหญ่ ๆ ที่ต้องการมีในหลักสูตร ดังนี้
- เปลี่ยนทัศนคติพ่อแม่ และชุมชน ให้มองว่าลูกหลานที่เรียนจบมา ควรจะมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง นั่นจะนำไปสู่ให้วางแผนรองรับลูกหลานเมื่อเรียนจบ
- ให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจบริบทในชุมชนของตัวเอง ปัญหาในชุมชน รวมถึงโครงสร้างเรื่องกฎหมายที่มีผลต่อชุมชน
- สามารถการประยุกต์ความรู้กับพื้นที่ชุมชนของตัวเองได้
- หลักสูตร social movement รู้เท่าทันสื่อ
- ให้มีความรู้เรื่องครบวงจร การผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยี
- ให้มีกองทุนที่จะสนับสนุนสิ่งที่เขาอยากจะทำในชุมชน เมื่อเรียนจบ
- มีเวทีแลกเปลี่ยนการเกษตรอยู่เรื่อย ๆ