เลือกตั้ง 62 : จริงใจหาทางออกให้อำนาจที่ควบแน่น จริงหรือ ?

เลือกตั้ง 62 : จริงใจหาทางออกให้อำนาจที่ควบแน่น จริงหรือ ?

แก้โจทย์คอร์รัปชั่น ที่พันกับการปฏิรูประบบราชการ เป็นเรื่องใหญ่   กุญแจที่จะไขสู่ความสำเร็จต่อเรื่องนี้อาจมีหลายดอก หนึ่งในนั้น มีผู้เสนอกุญแจ “กระจายอำนาจ”  10 วัน 1000 นาทีชี้อนาคตประเทศไทย จึงตั้งประเด็นนี้ไว้ให้พรรคการเมืองได้ถกแถลงบนพื้นที่ของสื่อสาธารณะ ThaiPBS

ปฏิรูประบบราชการ กับการกระจายอำนาจ จึงเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่หลายพรรคนำมาเป็นจุดขายสำคัญ รวมถึงการแก้ปัญหาคอรัปชั่น ใครเสนออย่างไร

รับชมจากคลิปได้   https://youtu.be/E1r3hRFAkZI

แต่สำหรับตัวแทนประชาชนแล้ว  มี 2 คำถามสำคัญจาก 2 ตัวแทนคือ ผศ.ดร.สถาพร เริงธรรม    หัวหน้ากลุ่มวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ผู้ศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะของประชาชนอย่างลึกซึ้ง  และอีกคำถามจาก ณัฐพงษ์ เชื้ออู่ทรัพย์ //นักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำถามจากผศ.ดร.สถาพร คือ “การกระจายอำนาจกับการปฏิรูประบบราชการส่วนภูมิภาคต้องไปด้วยกัน แต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไรจะทำให้ส่วนภูมิภาคยอมรับการกระจายอำนาจ”

และอีกคำถามจาก ณัฐพงษ์

“แนวทางของการส่งเสริมความเป็นพลเมืองเพื่อรองรับการกระจายอำนาจแต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้การกระจายอำนาจไปถึงมือประชาชน เพราะการกระจายอำนาจอยู่แค่ท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ”

แต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้การกระจายอำนาจไปถึงมือประชาชน ?

แต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้การกระจายอำนาจไปถึงมือประชาชน ?📌 ชมคลิป : http://youtu.be/E1r3hRFAkZI #10วัน1000นาที "คำสัญญา แก้ปัญหาคอร์รัปชันไทย" #ThaiPBSDebate #เลือกตั้ง62 #ส่งเสียงประชาชน

โพสต์โดย Thai PBS เมื่อ วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2019

หลังรับฟังคำตอบจากพรรคการเมืองแล้ว เราได้คุยกับทั้งอาจารย์และน้อง และมีคำถามต่อคำถามที่ทั้ง 2 ตั้งไว้ ว่าทำไมต้องถามเช่นนั้น

“ผมมองว่า จากการที่เราฟังการนำเสนอนโยบายของพรรค ค่อนข้างจะเป็นนโยบายที่เป็นนามธรรมมากพอสมควร เอาเป็นว่าเอา 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องคอรัปชั่นนะ ปัญหาของคอรัปชั่นเป็นเรื่องของการควบคุมพฤติกรรมของคนที่มีอำนาจ ซึ่งในส่วนของพรรคที่มานำเสนอวันนี้ยังไม่ชัดเจนตรงนี้ว่ามีกลไกอย่างไร บางพรรคอาจบอกว่าเรื่องใช้เทคโนโลยี บางพรรคบอกใช้กฎหมาย บางพรรคบอกเรื่องของการให้ความรู้ บางพรรคอาจจะพูดเรื่องการสร้างสำนึกของคน คำถามคือว่าแล้วรูปธรรมของที่มันจะแปลให้มันจับต้องได้คืออะไร ผมคิดว่าตรงนี้ แต่ละพรรคต้องกลับไปทำการบ้าน ให้ชัดเจนขึ้น”

แล้วเรื่องการปฏิรูประบบราชการล่ะค่ะ ?

“ผมคิดว่าในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการ จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่สามารถจะให้อำนาจกับประชาชน ถ้าอำนาจไม่สามารถส่งผ่านมือประชาชนต่อให้การกระจายอำนาจมีกี่ครั้ง มันก็ยังมาไม่ถึงมือประชาชน เพราะมันจะถูกติดกับด้วยกับดักของโครงสร้างของรัฐบาลกลาง หน่วยงานของภูมิภาคอยู่ตลอดเวลา และองค์กรส่วนปกครองของท้องถิ่นจะไปไหนไม่ได้ คำถามผมคือว่า จะทำอย่างไรให้การส่งผ่านอำนาจลงมาถึงท้องถิ่นให้ได้ และคำถามของนักศึกษา คือว่าจะส่งผ่านต่อจากท้องถิ่นไปถึงมือประชาชนทำอย่างไร อันนี้เป็นการจุดความคิดทุกพรรคการเมือง ถ้ามีความจริงใจที่กระจายอำนาจและส่งเสริมให้เกิดการปกครองของประชาชนจริง ๆ จะต้องคิดและต้องตัดสินใจและกำหนดแนวทางให้ชัดเจนมากขึ้น”

 

การปฏิรูประบบราชการ การลดปัญหาคอรัปชั่นมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ต้องแก้ไขอย่างไร

“การปฏิรูประบบราชการกับการคอรัปชั่นมันเหมือนสิ่งที่อยู่บนเหรียญเดียวกัน เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามอำนาจ อยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป แนวโน้มที่คนกลุ่มนั้นจะใช้อำนาจเพื่อคอรัปชั่นจะเกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นทางที่ดีก็คือว่าจะต้องทำให้เกิดอำนาจที่มันเคยรวมศูนย์ควบแน่นที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กระจายออกมาให้ได้มากที่สุด นอกจากกระจายไปในส่วนต่าง ๆ องค์กรต่าง ๆ จะต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เรื่องกระจายอำนาจ เรื่องปฏิรูป เรื่องคอรัปชั่น มันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถจะแก้ไขปัญหา อำนาจที่มันเข้มข้นอยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ที่ส่วนราชการ เข้มข้นอยู่ที่นักการเมืองได้ เราพยายามจะไปหากฎหมาย เราจะไปเรียกร้องหาคุณธรรม จริยธรรม ร้องหาคนดี แต่เราไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ สุดท้ายมันไม่มีใครที่จะยอมเปลี่ยนผ่านหรือส่งผ่านอำนาจไป พออำนาจมันไม่เกิด มันไม่ถูกเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปราชการโดยคิดเพียงแต่ว่า ถ้าอยากมีหน่วยงานไหน ก็ไปตั้งหน่วยงานสิ ถ้าไม่มีกฎหมาย ก็ไปใช้กฏหมาย ผมคิดว่าเราแก้ปัญหากันมา 70 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่มีประชาธิปไตยมา จนถึงปัจจุบันนี้ เราก็ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องคอรัปชั่นอยู่ แต่เราไม่มองถึงเรื่องสมมุติฐานว่า อำนาจรวมอยู่ที่ไหน แล้วเราจะทำอำนาจที่รวมศูนย์ควบแน่นนั้นอ่อนตัวลงได้อย่างไรแล้วจะมีกลไกอย่างไรที่ทำให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล การให้สิทธิและการให้อำนาจ พี่น้องประชาชนในการเข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจหน่วยงานของรัฐ อันนี้มันจะเป็นโจทย์เดียวกัน”

แล้วอำนาจในมือประชาชนจะช่วยได้อย่างไร?

“ผมชอบพูดอยู่เสมอว่าบางครั้งเราบอกว่าคอรัปชั่น ท้องถิ่นคอรัปชั่นโกงเยอะ แต่คำถามคือว่าการโกงของท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ประมาณหลายหมื่นแห่งกับการโกงโครงการโปรเจคของรัฐบาลกลางแค่โครงการเดียว คุณเอาระดับมาดูกัน แล้วปัญหาที่บอกว่าท้องถิ่นคอรัปชั่นเยอะ เพราะว่าอะไร เพราะระบบการตรวจสอบมันเยอะมาก มันร้องเรียนทุกวัน นายก อบต. ชาวบ้านก็ร้องเรียนเดินขบวนตลอดเวลา ฉะนั้นปัญหามันถึงเยอะ อันนี้คือความถูกต้อง ของการกระจายอำนาจที่มันทำให้ถูกตรวจสอบได้ง่าย  พอตรวจสอบได้ง่ายก็ปัญหาเยอะ แต่เรามองปัญหานี้กลับกัน มองว่า โอ้ย พวกนี้ คอรัปชั่นเยอะแต่ถ้าไปดูระดับมันต่างกัน นี่คือประสิทธิผลของการกระจายอำนาจ แต่ที่ไม่เห็นเพราะว่ามันมีกลไกในการปกป้องเป็นพรรคพวกเป็นเครือข่าย อย่าลืมว่า ข้าราชการที่เขาทำงานกับอำนาจกับกฎหมาย เขารู้ช่องทาง นักการเมืองเขารู้ช่องทาง เขาสามารถที่จะใช้ตรงนี้ได้จะไปจับโกงเขายังไง  แต่พวกที่อยู่ตามท้องถิ่น มันจะรู้ช่องทางแต่คุณก็ต้องพลาดได้มันใกล้ตัว”

ส่วนน้องต้า  ณัฐพงษ์ เชื้ออู่ทรัพย์  ซึ่งดูการตอบคำถามของพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน น้องให้ความเห็นว่า

“ดูแต่ละพรรคจะเอาจริงเอาจังที่จะปราบคอรัปชั่นก่อนเลย และแต่ที่ผมชอบที่สุดคือเรื่องของกระจายอำนาจที่แต่ละพรรคให้ความสนใจ ถึงแม้จะไม่ค่อยตอบโจทย์ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้สักเท่าไหร่  การเปลี่ยนผ่านมันต้องใช้เวลา ในประเด็นการกระจายอำนาจ ผมค่อนข้างโอเคกับทุกพรรค ซึ่งก็อาจจะเพิ่มข้อมูลในการตัดติดใจของผมได้ครับ”

ทำไมถึงสนใจที่จะต้องกระจายอำนาจต่อไปที่ประชาชน การกะจายอำนาจไปที่ประชาชน ทำไมสนใจเรื่องนี้

“ปัจจุบันเหมือนการกระจายอำนาจติดอยู่แค่ส่วนท้องถิ่น เท่าที่รู้นะ เหมือนมันไม่ค่อยเต็มที่ มันครึ่งใบยังไงก็ไม่รู้ ไม่เห็นผลจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ผมก็เรียนบริหารท้องถิ่นมา แล้วทีนี้ผมคิดว่าถ้ามันไปถึงมือประชาชนจริง ๆ น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ดีกว่าไปอยู่ที่องค์กรหนึ่งเขาอาจจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนแบบไม่เต็มที่ ผมเลยคิดว่าการกระจายอำนาจที่ถึงมือประชาชนอย่างที่แท้จริงนี้ มันจะช่วยให้รัฐรับรู้ความต้องการของประชาชนแล้วประชาชนในพื้นที่นี้เขาสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่เขามีได้อย่างเต็มที่

ศิริลักษณ์ คำสงค์ น้องนุ๊ก ที่มาเฝ้าหน้าจอติดตาม 100 นาทีร่วมกันบอกว่า

“ด้วยวัยของเราเข้าถึงสื่อ ข่าวสารได้เยอะขึ้นที่สัมผัสมานะคะ คนที่เป็นวัยเดียวกัน เขาสนใจเรื่องนโยบาย ฟังรายการวันนี้แล้วหนูมองว่ามันก็ยังน่าจะเป็นไปได้ แต่บางนโยบายของบางพรรคก็ยังมีไม่ชัดเจนไม่เป็นรูปธรรมเพียงพอที่จะจูงใจให้เราเลือกได้ แต่บางพรรคก็ชัดเจน ตอบโจทย์ คิดว่านโยบายมีผลมาก ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ สมมุตินะคะ ถ้าเป็นในอดีตระบบก็จะเป็นแบบ คนรู้จักกัน คนที่มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่พอเราเป็นการเมืองยุคใหม่ เราเข้าถึงความเป็นพรรคการเมืองมากขึ้น รู้ว่านโยบายแต่ละพรรคเป็นไงบ้าง

24 มีนาคม 2562 พร้อมเลือกตั้งไหม? ทำไมถึงอยากเลือก

“พร้อม!! อยากเลือก ต้องได้เลือก ครั้งแรกด้วย ที่อยากเลือกเพราะว่าคือที่เราเรียนมารัฐประศาสนศาสตร์ เราเรียนเรื่องการปกครองมาแต่ว่าในความที่บริบทปัจจุบันมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นประชาธิปไตย สำหรับหนูนะคะ ที่มองหนูคิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นเหมือนกุญแจทางออก ทำให้เราพัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้มากขึ้นค่ะ”

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ